กินไส้กรอกสะเทือนถึงป่าต้นน้ำ

IMG_8751

เมื่อประมาณเกือบยี่สิบปีก่อน เมืองไทยมีโครงการปลูกป่าเกิดขึ้นอย่างมากมายทั้งภาครัฐและเอกชนต่างพากันจับจองพื้นที่รกร้างเพื่อปลูกป่าถาวรกันอย่างครึกโครม เรียกได้ว่า กิจกรรมของบริษัทส่วนใหญ่ก็คือพาพนักงานไปปลูกป่า

จังหวัดน่านเป็นพื้นที่เป้าหมายอันหนึ่ง ที่มีหน่วยงานต่าง ๆ มาปลูกป่ากันหลายแห่ง ซึ่งแทบจะไม่ต้องไปปลูกอะไรเลยเพราะน่านเป็นจังหวัดที่มีภูเขาหรือที่ราบสูงเกือบร้อยละ ๗๐ สภาพภูเขายังเป็นป่าสมบูรณ์ค่อนข้างดี ภูเขาหัวโล้นจากฝีมือการบุกรุกทำเกษตรของชาวเขาก็ยังไม่รุนแรงมาก มองไปทางไหนก็มีแต่ความเขียวขจีของต้นไม้จนน่านได้รับฉายาว่า เป็นสวิสเซอร์แลนด์ของเมืองไทย จากความสวยงามของภูเขา ป่า และความชุ่มชื้น

ช่วงเวลานั้นผู้เขียนเดินทางไปน่านบ่อยมาก เพื่อทำสารคดีเรื่องการปลูกป่า เป็นความร่วมมือร่วมใจระหว่างภาครัฐ เอกชนและคนในพื้นที่ชาวน่านตื่นตัวกันมาก ปลูกป่ากันทั่วทั้งจังหวัด ชาวบ้านพาพวกเราไต่ภูเขาไปบนยอด ดั้นด้นเดินไปถึงป่าต้นน้ำของแม่น้ำน่านเห็นตาน้ำพุ่งออกมาดั่งน้ำพุ หลายแห่งไหลมารวมตัวเป็นลำธารเล็ก ๆ ลงไปหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนด้านล่างไปตลอดปีไม่มีเหือดแห้ง

จังหวัดน่านได้รับคำชื่นชมว่าเป็นตัวอย่างของการร่วมมือกันทุกฝ่ายเพื่อฟื้นฟูป่าอุดมสมบูรณ์กลับคืนมาได้อย่างยอดเยี่ยม

แต่ที่ไหนได้ เพียงไม่ถึงสิบปี น่านกลายเป็นจังหวัดที่มีการทำลายป่ามากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

ปลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสขึ้นเครื่องบินโดยสารขนาด ๑๒ ที่นั่งจากจังหวัดน่านไปจังหวัดเชียงใหม่พอเครื่องบินขึ้นไปได้ไม่กี่นาที ภาพที่ปรากฏคือภูเขาหัวโล้นสีน้ำตาลราวกับทะเลทรายสุดลูกหูลูกตา เครื่องบินขับผ่านไปหลายนาทีแต่ก็ยังบินไม่พ้นภูเขาหัวโล้น แทบไม่น่าเชื่อว่าป่าเมืองน่านจะถูกบุกรุกได้ขนาดนี้

บอกตามตรงว่าสะเทือนใจมาก แม้ว่าจะทราบข่าวมาตลอดว่า น่านมีการบุกรุกป่ามหาศาลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแต่ไม่เคยเห็นภาพจริงต่อหน้าเลย

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการตัดไม้ทำลายป่ากันมหาศาลในป่าเมืองน่าน เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพาะปลูก ป่าชุมชนหลายแห่งที่ชาวน่านเคยร่วมแรงร่วมใจกันดูแลก็ถูกบุกรุกถากถางเป็นไร่ข้าวโพด ไม่นับรวมการบุกรุกในอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่ง

แน่นอนว่า มีบริษัทยักษ์ใหญ่ทางการเกษตรหลายแห่ง ไปส่งเสริมให้ชาวพื้นราบและชาวเขา หันมาปลูกข้าวโพดและถั่วเหลือง โดยรับประกันราคาแถมบางแห่งยังมีบริการเมล็ดพันธุ์ให้ รวมถึงสารเคมีที่ใช้ในการเพาะปลูกทุกชนิด

ผศ.ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี และผศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน จากศูนย์ศึกษานโยบายเพื่อการพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้ทำวิจัยเรื่อง “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นโยบายเพื่อรายได้ สู่วิกฤตป่าต้นน้ำ” เคยให้ข้อมูลว่า ป่าเมืองน่านเป็นต้นแม่น้ำน่านซึ่งมีปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงที่สุด ๕๐% เมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมา มีป่าสมบูรณ์มากถึง ๙๐ % แต่ปัจจุบันเหลือเพียง ๖๐% ที่สำคัญ มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงเป็นอันดับสองของประเทศ และน่ากังวลว่า มีการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรมสูง ๑.๔ ล้านลิตรไหลลงสู่แม่น้ำน่าน

พื้นที่ป่าเมืองน่าน ลดลงอย่างรวดเร็ว จากเดิม ๕.๓ ล้านไร่ เหลือเพียง ๔.๖๕ ล้านไร่ แต่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กลับเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมปี ๒๕๔๘ จำนวน ๒ แสนไร่ เป็น ๑ ล้านไร่ในปัจจุบัน หรือราว ๑ ใน ๗ ของพื้นที่จังหวัด

หรือพูดง่าย ๆ คือป่าต้นน้ำเมืองน่าน หายไปแล้วประมาณล้านไร่ เพื่อเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด และถั่วเหลืองเพื่อนำมาทำเป็นอาหารสัตว์ ให้กับหมู ไก่ วัว ฯลฯ

น่าอนาถใจไหม เราทำลายผืนป่ามหาศาล ป่าต้นน้ำน่าน ที่มาหล่อเลี้ยงแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยงดูผู้คนหลายสิบล้านคนเพื่อเปลี่ยนมาทำอาหารสัตว์

เพียงไม่กี่ปี เราปล่อยให้มีการทำลายป่านับล้านไร่ โดยที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลยหรือ และที่น่าแปลกใจคือชาวบ้านพื้นราบหรือชาวเขาผู้บุกรุกเผาป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีฐานะดีขึ้น ยังยากจนเหมือนเดิมบางคนยังเป็นหนี้เป็นสินมากขึ้น จากค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงและว่าแม้จะมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้นและมีราคาสูงในช่วงที่ผ่านมา แต่ปัญหาความยากจนของชาวบ้านยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ต้องกู้เงินนอกระบบมากขึ้นเนื่องจากพืชเศรษฐกิจชนิดนี้มีต้นทุนสูงนั่นเอง โดยในปี ๒๕๕๔ จ.น่านมีสัดส่วนคนจนมากเป็นอันดับที่ ๒๑ ของประเทศ

แน่นอนว่า มีอีกหลายคนที่เป็นหนี้จากการผ่อนรถมอเตอร์ไซค์ หรือรถปิกอัพ

หรืออีกมุมมองหนึ่งคือ เราเปลี่ยนป่าต้นน้ำให้กลายเป็น รถกระบะโตโยต้า อีซูสุ ฯลฯ

และอีกด้านหนึ่งก็เป็นการส่งเสริมพืชจีเอ็มโอ อย่างถั่วเหลืองและข้าวโพดให้มีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น

นักวิจัยยังรายงานด้วยว่า ทุกปีหากข้าวโพดมีราคาตกต่ำ ชาวบ้านจะรวมตัวปิดถนน เพราะเกิดปัญหาความยากจน แต่ปีใดที่ข้าวโพดมีราคาสูงก็เป็นสาเหตุการเกิดหมอกควันในพื้นที่ เพราะยิ่งมีการเผาป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้นและไม่นับรวมถึงปัญหาดินถล่มในช่วงหน้าฝน เพราะไม่มีต้นไม้ใหญ่คอยยึดพื้นดินที่มีความลาดชันสูง

สุดท้ายมนุษย์อย่างเรา ก็บริโภคสัตว์เหล่านี้ ในรูปของอาหารสด อาหารแช่แข็งหรือไม่ก็เป็นอาหารแปรรูป อย่างไส้กรอกหมู ไส้กรอกเนื้อ ไส้กรอกไก่ รวมไปถึงแฮมเบอร์เกอร์ชนิดต่าง ๆ

ไม่แปลกใจที่อยากจะบอกว่า ทุกครั้งที่เรากินไส้กรอก เราอาจจะมีส่วนในการทำลายป่าเมืองน่าน และรวมถึงป่าบนภูเขาทางภาคเหนือไม่ว่าจะเป็นป่าทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ฯลฯ

พอหน้าหนาวมาถึง การเผาซากไร่ก็เกิดขึ้นแทบทุกหย่อมหญ้า เพื่อเป็นการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในฤดูกาลใหม่ หลายครั้งการเผาซากไร่ก็ลุกลามเข้าไปในป่า เกิดไฟป่า เกิดปัญหาหมอก ควัน พิษในอากาศ ทุกปีในภาคเหนือส่งผลให้คนเหนือป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้นทุกปี

สิบกว่าปีก่อน ผู้เขียนเคยอ่านบทความของกลุ่มกรีนพีซ ที่ออกมาให้ข่าวว่า การกินแฮมเบอเกอร์ของชาวอเมริกันมีส่วนในการทำลายป่าอะเมซอน

รายงานข่าวชิ้นนั้นได้เชื่อมโยงให้เห็นว่า แต่ละปี ผืนป่าอะเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ แหล่งผลิตก๊าซออกซิเจนให้กับชาวโลกได้ถูกเผา บุกรุกเพื่อแผ้วถางป่าให้เปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมปีละ ๑๕ ล้านไร่ โดยชาวบ้านได้รับการสนับสนุนให้ปลูกข้าวโพดและถั่วเหลือง มีบริษัทยักษ์ใหญ่มารับซื้อผลผลิตทางการเกษตร

ถั่วเหลืองและข้าวโพดได้ถูกแปรรูปมาทำอาหารสัตว์ เพื่อเลี้ยงวัว ไก่ จำนวนหลายล้านตัว ก่อนที่สัตว์เหล่านี้จะถูกแปรรูปอีกทีมาเป็นแฮมเบอเกอร์หรืออาหารฟาสต์ฟู้ด ป้อนให้กับร้านอาหารทั่วสหรัฐอเมริกา

ดังนั้นเมื่อคนอเมริกันหม่ำแฮมเบอร์เกอร์ หรือไก่ย่างเคเอฟซี พึงระลึกไว้เสมอว่า พวกเขามีส่วนในการทำลายป่าดิบชื้นผืนใหญ่ที่สุดในโลกอันอุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และป่าต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำอะเมซอน

ไม่มีอะไรได้มาฟรี ทุกสิ่งทุกอย่างมีรายจ่ายกันทั้งนั้น

สมัยก่อนเราอาจมีคำพูดว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

ทุกวันนี้อาจจะเปลี่ยนเป็นคำพูดที่ว่ากินไส้กรอกสะเทือนถึงป่าต้นน้ำน่าน

 

สารคดี มค.58

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.