เมื่อประมาณสิบกว่าปีก่อน ผมใช้เวลาหลายวัน ในการเฝ้าติดตามถ่ายภาพนกแต้วแล้วท้องดำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม (เขานอจู้จี้) อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เพื่อมาทำสารคดี หลังจากทราบข่าวว่ามีการพบนกที่เคยคิดว่าสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้ว
จำได้ว่า แต่ละวัน นั่งอย่างสงบ ซุ่มเงียบตรงพื้นดินแฉะ ๆ ใกล้ลำธารเล็ก ๆสายหนึ่ง ไม่พูดจากับใครทั้งวัน เพื่อเฝ้ารอให้นกแต้วแล้วท้องดำออกมา
เราทราบดีว่าเป็นนกที่เดินหากินตามพื้นดิน รูปร่างอ้วนป้อม คอสั้น หัวโต หางสั้น ลำตัวยาวประมาณ 20 เซนติเมตร
หวังว่าจะเห็นนกเดินหาแมลงหรือขุดหาไส้เดือนกิน บางวันนั่งหนาวสั่นกลางสายฝนอันชุกชุมของป่าดิบชื้นที่ราบต่ำในทางใต้
แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เห็นตัวสักที
“แต้ว แต้ว “ บางครั้งผมโชคดีตื่นเต้นได้ยินแต่เสียงร้องดังเป็นระยะ แต่ก็แค่นั้นจริง ๆ ในที่สุดก็ต้องถอนตัวออกมาเพราะเกรงว่าจะรบกวนเกินไป
ผมสังเกตว่าป่าแห่งนี้เริ่มจะถูกบุกรุก เพื่อเปลี่ยนผืนป่าให้กลายเป็นสวนปาล์มมากขึ้นเรื่อย ๆ และโชคร้ายของนกแต้วแล้วท้องดำที่เป็นนกหากินตามพื้นดินในป่าที่ราบต่ำ พื้นที่เดียวกับที่จะเปลี่ยนเป็นสวนปาล์ม หรือการทำเกษตรอื่น
นอกจากนี้การลักลอบจับนกมาขายก็เป็นภัยที่ร้ายแรงเช่นกัน เพราะผู้คนทางภาคใต้ของไทยนิยมการเลี้ยงนกไว้ในกรง ดังจะเห็นจากการพบบ่วงดักนกจำนวนมากวางอยู่ตามชายป่าเขานอจู้จี้
ผมสังหรณ์ใจว่า อีกไม่นานนกแต้วแล้วท้องดำในเวลานั้นที่นับได้ไม่เกิน 13 ตัวจะรอดจากการสูญพันธุ์หรือไม่
เพื่อนผมหลายคนโชคดี สามารถถ่ายนกแต้วแล้วท้องดำได้ ผมก็เคยสัญญากับตัวเองว่า สักวันหนึ่งจะกลับมาดูนกแต้วแล้วท้องดำให้เห็นกับตาและติดตามข่าวคราวของนกที่จัดเป็นหนึ่งในสิบห้าชนิดของสัตว์ป่าสงวนไทยอย่างสม่ำเสมอ ด้วยข้อมูลว่าปริมาณของนกลดลงไปเรื่อย ๆ ตามการบุกรุกทำลายป่า
นกแต้วแล้วท้องดำ (Gurney’s Pitta, Pitta gurneyi) ได้ชื่อว่าเป็นนกสวยที่สุดหนึ่งในสามสิบชนิดของโลก แต่พบแค่ในเทือกเขาตะนาวศรีฝั่งพม่าและไทยเท่านั้น ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่นาย John Henry Gurney นักสะสมตัวอย่างสัตว์และนักเขียนชาวอังกฤษ มีการค้นพบนกแต้วแล้วท้องดำครั้งแรก ในประเทศพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2418 และเคยพบในเมืองไทยเมื่อปี 2495 หลังจากนั้น ไม่มีใครสามารถเก็บตัวอย่างนกแต้วแล้วท้องดำได้อีกเลย
จนเกิดกระแสความเข้าใจว่านกแต้วแล้วท้องดำได้สูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2529 ผศ.ดร. ฟิลลิปป์ ดี ราวน์ และคุณอุทัย ตรีสุคนธ์ จึงได้พบนกแต้วแล้วท้องดำในพื้นที่ป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ จังหวัดกระบี่อีกครั้ง
ขณะที่ในประเทศพม่าอยู่ในสงครามกลางเมือง ไม่มีข่าวคราวใด ๆ เกี่ยวกับนกแต้วแล้วท้องดำเลย
กระทั่งต้นปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญนกคนหนึ่ง ถือโอกาสถามไถ่ถึงสถานภาพของนกแต้วแล้วท้องดำ และตกใจกับคำพูดสั้น ๆ ของเขาว่า
“ เราไม่พบร่องรอยของนกแต้วแล้วท้องดำมาสองปีแล้ว มีความเป็นไปได้สูงว่ามันอาจจะสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยแล้ว”
ก่อนหน้านี้ไม่นาน สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ได้เคยรายงานว่ามีการบันทึกภาพนกแต้วแล้วท้องดำเพศเมียจับคู่กับนกแต้วแล้วลายเพศผู้ ซึ่งเป็นคนละชนิดกัน เป็นการจับคู่อย่างผิดธรรมชาติและอาจเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่านกแต้วแล้วท้องดำในธรรมชาติมีจำนวนประชากรน้อยมาก จนนกตัวเมียถูกบังคับให้จับคู่กับนกเพศผู้คนละชนิด หรือผืนป่าถูกทำลายแบ่งแยกเป็นหย่อมป่าเล็ก ๆ จนประชากรนกไม่สามารถเดินทางไปหากันได้
ปรากฏการณ์นี้น่าจะส่งสัญญาณถึงการสูญพันธุ์ที่ใกล้มาถึง
“ เป็นความโชคร้ายของนกแต้วแล้วท้องดำ ที่หากินอยู่บนป่าที่ราบลุ่มต่ำ อันเป็นพื้นที่เหมาะกับการปลูกยางพารา สวนปาล์มและไร่กาแฟ นกชนิดนี้หากินตามพื้นดิน และอยู่ประจำถิ่น ไม่ได้อพยพไปไหน เพราะที่นี่คือบ้านของพวกเค้า เมื่อบ้านถูกบุกรุก พวกเขาคงไม่ได้หนีไปไหน นอกจากสูญพันธุ์” เพื่อนคนนี้ที่เฝ้าติดตามนกแต้วแล้วท้องดำมาร่วมยี่สิบปีระบายคำพูดออกมา
นกแต้วแล้วท้องดำ คงกำลังก้าวตามสัตว์ป่าสงวนของไทย ไม่ว่าจะเป็น นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร สมัน กูปรี และกระซู่ที่สูญพันธุ์ไปจากโลกและเมืองไทยไปชั่วนิรันดร์
ในท่ามกลางข่าวร้าย ยังพอมีข่าวดี ๆ ว่า เริ่มมีการค้นพบนกแต้วแล้วท้องดำในประเทศพม่า หลังจากสงครามกลางเมืองสงบลง
แต่การสูญหายไปของนกที่สวยติดอันดับโลกชนิดนี้ ก็ไม่คงทำให้คนทั่วไปรู้สึกอะไร มีการพูดถึงกันน้อยมากในสื่อไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุหรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
หรือว่า นกแต้วแล้วท้องดำสูญพันธุ์ไป ก็ช่างเหอะ ก็อีแค่นกตัวหนึ่ง ไม่เห็นเกี่ยวกับเราเลย คุณว่าไหม
กรุงเทพธุรกิจ 19 พฤหัส 2558
Comments
คิดเหมือนกันค่ะว่าน่าได้มีโอกาสได้เห็นเค้าสักครั้ง แต่ดูแล้วคงไม่มีมั้้งคะ
เมื่อ 14 ปีก่อนหนูเคยได้มีโอกาส เข้าไปในพื้นที่แห่งนั้น
ตอนนั้น อยู่ ม.3 ค่ะ อาจารย์ขอตัวแทน หยุดเสาร์อาทิตย์ด้วย เพื่อนๆ ก็เลยจูงแขนไป ไม่เจอนกค่ะ
หัวหน้าเขาให้ไปทำอะไรสักอย่างกับต้นไม้ แล้วเขาบอกไว้ “อีก 20 ปีกลับมาดูนะ”
วันนี้ 26/10/2560 ผมพึ่งได้เห็นตัวเป็นๆ อยู่ที่ประเทศลาว ไม่รู้มันหนีมาจากไหน ไม่หนีคนด้วยครับ เลยจับมาดูถ่ายรูปเพราะเห็นสวยดี แต่ไม่มีใครรู้จัก เลยลองหาข้อมูลดูครับ เลยรู้ว่าคือนกชนิดนี้ แล้วก็เลยปล่อยมันบินกลับไปในป่า