“ พบมหาวิทยาลัยเถื่อนหลายแห่ง สกอ.ไม่รับรอง เตือนจบแล้วเป็นโมฆะ”
หากเราลองเข้าไปค้นหาคำว่า “มหาวิทยาลัยเถื่อน” ในกูเกิล จะพบหลายหัวข้อแต่มีความหมายคล้ายกันคือ เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนเก็บค่าหน่วยกิต บางแห่งอ้างว่าเป็นสาขาจากต่างประเทศ แต่คุณภาพการศึกษาต่ำกว่ามาตรฐานมากจนทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาอุดมศึกษา (สกอ.) ไม่รับรองคุณวุฒิทางการศึกษา
แต่ “มหา’เถื่อน หลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการไม่รับรอง” ที่ผู้เขียนกำลังกล่าวถึง ไม่ได้มีนิยามเหมือนกับที่กล่าวเลย
ไม่เคยโฆษณา แค่เปิดรับสมัครในเฟสบุ๊กได้ไม่กี่วัน ก็เต็มแล้ว และเมื่อลองเข้าไปในหน้าเฟส “มหา’ลัยเถื่อน” จะเห็นข้อความว่า
“สวัสดีปีใหม่ครับสมาชิกทุกท่าน ยืนยันการจัดงาน “มหา’ลัยเถื่อนปี ๒” วันที่ ๒๑-๒๕ ม.ค ๕๘ นี้ ณ มะขามป้อมอาร์ตสเปซ เชียงดาว ขอสงวนสิทธิ์สำหรับผู้ที่มีรายชื่อจากการลงทะเบียนแล้วเท่านั้น
การเตรียมตัว
- ที่พักเป็นห้องนอนรวมแบบเกสต์เฮาส์ แยกชายหญิง มีหมอนและผ้าห่ม สำหรับผู้ที่ขี้หนาว เตรียมถุงนอน ผ้าห่ม หรือเต๊นท์ไปได้ตามสะดวก
- อากาศช่วงเวลานั้นอาจจะค่อนข้างหนาวเย็น ขอให้ท่านเตรียมเสื้อผ้ามาให้เพียงพอเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจช่วยทำให้ ท่านอบอุ่นขึ้น เอริ๊กกกก
- มหา’ลัยเถื่อนรับสมัครไม่เกิน ๖๐ คน ทุกคนต้องเดินทางมากันเอง เพื่อมาเข้าเรียนร่วมกันห้าวัน เสียค่าลงทะเบียนคนละสองพันบาท รวมค่าอาหารและค่าที่พัก โดยมีเงื่อนไขว่า คนมาเรียนต้องมาถ่ายทอดความรู้แลกเปลี่ยนกัน การผลัดกันเรียนเปลี่ยนกันสอน
ไม่ได้ผูกขาดความรู้อยู่ที่ครูคนเดียวเพราะเชื่อว่า คนทุกคนก็มีประสบการณ์มีความรู้ที่น่าสนใจ
ก๋วย หรือ พฤหัส พหลกุลบุตร ผู้ร่วมก่อตั้ง ได้บอกผู้เขียนถึงจุดเริ่มต้นของมหา’ลัยเถื่อนว่า
“ เมื่อราวสองปีก่อน ได้มีกลุ่มนักการศึกษา นักกิจกรรมการเรียนรู้และเยาวชน ประมาณเกือบสามสิบคนแลกเปลี่ยนกันถึงปัญหาวิกฤติการศึกษาไทยและ ได้ข้อสรุปว่าเราน่าจะสร้างเครือข่ายกันหลวมๆ เพื่อร่วมกันสร้างแนวทางการศึกษาที่เราอยากเห็น เพราะว่าจริงๆ มนุษย์ทุกคนมีความสนใจมีความกระหายใฝ่รู้อยู่ ”
นั่นคือการหาโอกาสมาแลกเปลี่ยนถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ร่วมกัน และวิชาที่เรียนกันคงไม่ค่อยมีในหลักสูตรการศึกษา
และเชื่อว่าจะมีคนทำงานแล้วจำนวนหนึ่งสนใจอยากหาความรู้ใหม่ ๆ โดยมหา’ลัยเถื่อนครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๗ ที่มะขามป้อมอาร์ตสเปซ บรรยากาศกลางท้องนาในอำเภอเชียงดาว มีหัวข้อสนุก ๆ น่าสนใจหลายอย่าง อาทิ “ความประทับใจในธรรมชาติ” โดย หมอหม่อง นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ “ความรัก ศิลปะบทกวี มีใบไม้เป็นครู” โดย พี่จืด กลุ่มเด็กรักป่า “ละครกับการเสริมพลังอำนาจ” โดย ปองจิต สรรพคุณ หรือ เจ๊จ๋อน มะขามป้อม ฯลฯ
มหาวิทยาลัยเถื่อนครั้งที่ ๒ ที่เพิ่งจบไปไม่นานมานี้ มีนักเรียนตั้งแต่ หมอผ่าตัด นักธุรกิจ ครู คนทำงานสื่อ ฯลฯ มาร่วมกันเรียนรู้
โดยวันแรกตามธรรมเนียม มักจะเอาผู้อาวุโสมากล่าวเปิด แต่ที่นี่กล่าวเปิดด้วยเด็กวัยรุ่น ชื่อ น้องกระติ๊บ วลิสา สุขกำเนิด รองเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทเถื่อนทอล์ค แถมด้วยการปาฐกถาหรือเถื่อนทอล์คหัวข้อ “การศึกษาเพื่อความเป็นไทในมุมมองวัยรุ่น” โดย เธอเปิดเรื่องด้วยการตั้งคำถามว่า อัตลักษณ์ของเด็กในวัยเรียนหายไปไหน
อุปมาให้เห็นผ่านละครเรื่องฮอร์โมน เด็กทุกคนมีอัตลักษณ์ ความรู้สึกนึกคิด ความหวัง และการแสวงหาทางออกด้วยตนเองที่แตกต่างกันแต่โรงเรียนกลับเป็นสถานที่ที่ลดทอน “อัตลักษณ์ของเด็ก” ลดความคุณค่า ทำให้เด็กเรียนเหมือนกัน และเชื่อเหมือนกัน
ไม่แม้แต่จะเปิดโอกาสให้เด็กตั้งคำถามว่า “ทำไม” หรือชวนเด็กตั้งเป้าหมายในชีวิตเป็นของตนเอง
หลังจากนั้นคุณพ่อคือ ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด ได้มาถ่ายทอดวิชา “ชีวิตคิดไปก็คล้ายเกม” โดยมีนักเรียนคนหนึ่งเขียนสเตตัสในหน้าเฟส มหา’ลัยเถื่อนว่า
“ คุณครูคนนี้เป็นคุณครู ประหลาดพิกลกว่าอาจารย์มหาลัยคนอื่น เพราะทำแต่ละอย่างกลับหัวกลับหางกับชาวบ้าน เช่น ทำห้องเรียนให้เป็นห้องเล่นเกมทางเศรษฐศาสตร์ที่นักเรียนได้ทดลองเป็นชาวนา ชาวประมง แรงงานรับจ้าง ฯลฯ ด้วยตัวเอง, ให้นักเรียนออกข้อสอบเอง และสอบการออกข้อสอบของนักเรียน แล้วเอาข้อสอบของนักเรียนมาสอบกันเอง / คุณครูคนนี้บอกว่าเราวัดผลการสอนได้จากการที่ผู้สอน (ผู้สอนจริงๆ) ฉลาดขึ้นทุกครั้งที่สอน / ที่สำคัญคือ ถ้าคิดอะไรได้แล้ว ยังไม่มั่นใจ จงทำไปเลย เพราะถ้ามัวแต่รอให้มั่นใจ อาจจะไม่มีวันได้ทำ”
คุณพาฝัน ศุภวานิช หรือพี่นวลแห่งสำนักพิมพ์วงกลม ผู้ผลิตหนังสือคู่มือท่องเที่ยวประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปี มีหนังสือออกมามากกว่า ๓๐๐ ปก ได้เล่าประสบการณ์ความสุขจากการเดินทางไปทั่วโลกว่า
เป็นการ “เจอนั่น(journal) เจอนี่(journey)”
“ การเดินทางทำให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเอง หนังสือของสำนักพิมพ์ต้องการให้คนอ่านได้เรียนรู้และใช้ชีวิตเหมือนที่คนประเทศนั้นๆ เขาใช้กันและไม่ดูถูกคนอื่น โดยสร้างทางเลือกให้กับคนเดินทางได้เลือกด้วย”
พี่นวล ยอมรับว่า สิบกว่าปีที่ผ่านมา มีหนังสือออกจำหน่ายหลายแสนเล่ม สร้างยอดขายไม่ต่ำกว่าร้อยล้านบาท
แต่สุดท้ายธุรกิจหนังสือก็ไม่ได้ยั่งยืนสวยงามเหมือนฝันของหลายคน
ดร.ภาสกร อินทุมาร แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ บอกเล่าประสบการณ์การไปเรียนรู้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนชายขอบในประเทศอินเดีย ต่อกรณีปัญหาที่ทำกินโดยเล่าผ่านผู้นำที่ชื่อ “ราชโคบาล” อดีตนักเต้นระบำ ผู้เดินทางไปทั่วอินเดีย และรณรงค์ให้ชาวบ้านมามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง
มากกว่าอาศัยบารมีของผู้นำอย่างเดียว โดยใช้แนวทางอหิงสาแบบเดียวกับมหาตมะ คานธี จนมีผู้เข้าร่วมขบวนการนับแสนคน
ราชโคปาล เดินคุยกับชาวบ้าน “ถ้าเราไม่ลุกขึ้นทำอะไรสักอย่าง ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนไป” จากนั้นชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านก็เริ่มสะสมเงินวันละ ๑ รูปีและข้าวสารวันละกำมือหนึ่งใส่ไว้ในไหของหมู่บ้าน เป็นการเตรียมตัวเดินทางครั้งใหญ่ของคนจำนวนมหาศาล
โดยในอีกห้าปี คือปี ๒๐๒๐ จะมีการเดินทางไกลครั้งใหญ่ของชาวบ้านจากอินเดียไปถึงกรุงเจนีวา ยกระดับการเคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่นกลายเป็นสากล บอกเล่าปัญหาความไม่เป็นธรรมเรื่องที่ดินทำกิน
คอร์สของมหาวิทยาลัยเถื่อน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การนั่งฟังวิทยากรอย่างเดียว มีการฝึกภาคปฏิบัติสลับกันไปเป็นระยะ อาทิ การอบรมละคอน ของพี่ก๋วย แห่งกลุ่มมะขามป้อม เพื่อทำให้เห็นถึงจิตวิญญาณของละครคือ
การเชื่อมต่อกับความนึกคิดของผู้คนด้วยการใช้ท่าทางของเราในการทำให้เกิด ความรู้สึกและความเข้าใจร่วมกัน
การลงมือทำเองยังมีอีกหลายกลุ่ม อาทิการอบรมการทำการ์ตูนหรือแอนนิเมชั่นโดยใช้ดินน้ำมัน โดย ครูยิ่งพงศ์ มั่นทรัพย์ แห่งพันตาครีเอชั่น
และใช้กล้องเว็บแคม โน้ตบุ้กช่วยในการถ่ายทำ ตลอดระยะเวลาสี่ห้าชั่วโมง น่าทึ่งว่าผู้เข้าอบรมตั้งแต่เด็กจนถึงวัยคุณแม่ สามารถสร้างหนังการ์ตูนสองสามนาทีได้ด้วยตัวเอง
อีกด้านหนึ่งของท้องทุ่ง เปิดอบรมด้านการสำรวจธรรมชาติ โดยครูอ้อย สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์แห่งมูลนิธิโลกสีเขียว
มีการแบ่งกลุ่มให้ไปสำรวจสิ่งมีชีวิตรอบ ๆ มะขามป้อมอาร์ตสเปซ เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง บนพื้นที่ไม่กี่ไร่
นักเรียนโค่งสามารถสำรวจพบดอกไม้ ดอกหญ้ากว่า ๔๐ ชนิด สัตว์ชนิดต่าง ๆร่วม ๕๐ ชนิด เป็นความมหัศจรรย์ที่นักเรียนเหล่านี้ไม่คาดคิดเลยว่าสรรพสิ่งรอบ ๆ ตัวเราช่างหลากหลายเหลือเกิน เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยสังเกต
ยังมีวิชาสนุก ๆ น่าสนใจ อาทิ “คิดนอกกรอบ แต่ตอบโจทย์” โดย พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง “คิดเห็นเป็นภาพ”
โดยครูมะโหนก ศุภวิชช์ สงวนคัมธรณ์แห่ง กลุ่ม blackbox “สีใจความเข้าใจด้านจิตวิญญาณ”
โดย ครูมอส อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธุ์ขจี แห่ง 7arts inner place ฯลฯ
วันสุดท้ายมีการแลกเปลี่ยนความรู้สึก หลายคนพูดตรงกันว่า มีเสียงหัวเราะทั้งวัน ตื่นเต้นกับความรู้ใหม่ ๆ ได้กลับมาเป็นเด็กอีกครั้ง
เป็นการเรียนที่สนุก ไม่น่าเบื่อ ได้ลงมือทำอะไรเอง บรรยากาศชวนเรียนรู้มากกว่าในห้องเรียนจริง ๆ และสงสัยว่าในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาจริง ๆ ทำไมเรียนไม่สนุกเหมือน มหา’ลัยเถื่อนเลย หรือเราควรสร้างมหา’ลัยเถื่อนให้กระจายไปทั่วประเทศ
เหมือนกับพี่ก๋วย อธิการบดีมหา’ลัยเถื่อน ที่เพื่อน ๆ ยกตำแหน่งให้ ได้ทิ้งท้ายว่า
“เราสามารถที่จะเชื่อมโยงสร้างเครือข่าย สร้างพลังการเรียนรู้แบบนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง
คิดว่ามันจะมีพลังในการขับเคลื่อนหรือสร้างแรงสั่นสะเทือนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของการศึกษาในบ้านเรา
ได้สอดคล้องกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป”
มาเถื่อนกันเถอะ
สารคดี กพ. 58