ติดหล่มที่ป่าทุ่งใหญ่

DSC_1479_resize_exposure_resize

ใครจะเชื่อ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรปลายเดือนมีนาคม อากาศกำลังร้อนจัด แต่มีฝนจะตกหนักราวหน้าฝนกลางผืนป่า

ผมไม่ได้เข้าป่าทุ่งใหญ่มานานนับสิบปี จนกระทั่งสบโอกาสติดตามมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และทีมงานสารคดีทางโทรทัศน์ชุด สามัญชนคนไทย เข้าไปถ่ายทำสภาพชีวิตการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

การเดินทางเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ ต้องมีการขออนุญาตตามระเบียบจากทางกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพื่อป้องกันไม่ให้มีการรบกวนธรรมชาติมากเกินไป

ตอนเข้ามาครั้งแรก ผมยังจำบรรยากาศของความสมบุกสมบันในการเดินทางได้ว่าเป็นอย่างไรเพราะป่าทุ่งใหญ่ ได้ชื่อว่าการเดินทางลำบากที่สุดแห่งหนึงในบรรดาป่าเมืองไทย

แต่การเดินทางครั้งนี้ดูจะทุกลักทุเลมากกว่า
เราใช้เวลาสามชั่วโมงกว่าขับรถมาถึงอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ก่อนการเดินทางจริงจะเริ่มต้น

ถนนลาดยาง ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นถนนลูกรัง และเป็นถนนดินในป่า เราสังเกตเห็นป้ายโฆษณาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดของบริษัทยักษ์ใหญ่ เห็นป้ายขายปุ๋ย แต่เขียนให้สวยหรูว่า หมอดิน ของบริษัทรายเดียวกัน

เห็นไร่ข้าวโพด เริ่มจะรุกประชิด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ ต้นน้ำแม่กลอง ต้นน้ำแควใหญ่ กำลังจะเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพดกระนั้นหรือในอดีตคนกระเหรี่ยงหลายชั่วอายุคนแถวอำเภอสังขละ ทราบดีว่า มีป่าผืนหนึ่งในตำบลไล่โว่ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม โดยเฉพาะตรงบริเวณที่เรียกว่า “เวียผะดู” แปลเป็นไทยว่า “ทุ่งใหญ่” จะมีกระทิงออกเล็มหญ้าระบัดภายหลังจากไฟไหม้ทุ่งในหน้าแล้งของทุกปี

จนกระทั่งในในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ นายประเสริฐ อยู่สำราญ ป่าไม้เขตบ้านโป่งซึ่งหน้าที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่ได้ทำหนังสือถึงกรมป่าไม้ขอให้ดำเนินการกำหนดพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยด่วน ทั้งนี้เนื่องจากป่าแห่งนี้มีสัตว์ป่าชุกชุมและเห็นสัตว์ป่าเป็นประจำ นับวันจะยิ่งเพิ่มจำนวนการถูกล่ามากขึ้นหากยังเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

แต่ก่อนที่จะมีการประกาศจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าทุ่งใหญ่กลายเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ จากข่าวในช่วงเดือนเมษายน ๒๕๑๖ ว่า ได้มีนายทหาร ตำรวจและดารานักแสดงนำอาวุธสงครามและเฮลิคอปเตอร์ของทางราชการเข้าไปล่า สัตว์ในบริเวณป่าผืนนี้ โดยตั้งแค้มป์พักที่ริมห้วยเซซาโว่ มีการนำเนื้อสัตว์ป่าซึ่งล่าได้มาทำเป็นอาหารเลี้ยงฉลองวันเกิดกันอย่างสนุกสนาน แต่ในวันออกจากป่าทุ่งใหญ่ได้เกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก บริเวณอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม สร้างความไม่พอใจให้กับคนทั่วไป ที่ไม่พอใจการปกครองแบบเผด็จการของทหารในสมัยนั้นอยู่แล้ว กลายเป็นชนวนอันหนึ่งทำให้เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

ในอีกด้านหนึ่งก็ได้สร้างกระแสการตื่นตัวการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างกว้างขวาง จึงมีการผลักดันให้ประกาศป่าผืนนี้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในเขตอำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๑๗ มีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๒,๒๗๙,๕๐๐ ไร่ โดยให้ชื่อว่า “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร” แต่เนื่องจากเขตฯ มีขนาดใหญ่โตมาก มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ และการเดินทาง ปัจจุบันจึงมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ทางอำเภอทองผาภูมิ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก ทางอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

เราใช้เวลาอีกวันหนึ่งเต็ม ๆ กว่าจะเดินทางเข้าสู่ใจกลางป่าทุ่งใหญ่ เส้นทางเดินทัพสำคัญของกองทัพไทยในอดีตที่จะข้ามไปพม่า จึงเป็นเหตุผลที่ตั้งชื่อป่าแห่งนี้ว่า ทุ่งใหญ่นเรศวร

ผมนั่งรถมากับพี่ซัน มาโนช พุฒตาล อากาศร้อนจัดเกือบ ๔๐ องศา ระหว่างทาง เราเห็นชาวกระเหรี่ยงเดินอยู่ตามทาง เราบอกให้ติดรถมาด้วย แต่ได้รับการปฏิเสธ บอกว่าเดินเร็วกว่านั่งรถ สักพักอยู่ดี ๆ แดดเปรี้ยง ก็เปลี่ยนเป็นเมฆดำทะมึน ฝนกระหน่ำลงมาอย่างหนัก

พี่ซันเอ่ยขึ้นว่า “พลาดแล้ว ที่เอารถคันนี้มา เพราะคิดว่าถนนจะแห้ง ฝนไม่ตก”

ปรกติเส้นทางในป่าแห่งนี้ หากเป็นหน้าฝน การขับรถเข้ามาแทบจะหมดสิทธิ์ หากไม่เก๋าจริง เพราะความชันของพื้นที่และถนนอันเละเป็นโคลน

พี่ซันพยายามบังคับให้รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อสายพันธุ์อังกฤษไปตามร่องเดิม บางทีร่องลึกมาก ช่วงล่างใต้ท้องรถครูดกับพื้นถนน บางทีก็ต้องหาขับหาร่องใหม่ ไปได้สักพัก ก็ติดหล่มโคลนอันเละ เร่งเครื่องอย่างไรก็ไม่ขึ้น หยุดรถเอาวินซ์ไปผูกกับต้นไม้ข้างหน้า เพื่อช่วยออกแรงลากรถแต่หลายครั้งไม่สำเร็จ ต้องใช้แรงคนทั้งลาก ทั้งขย่มรถให้หลุดจากโคลน พอขับไปได้ไม่กี่เมตร ก็ต้องออกแรงลากรถกันอีกเป็นอย่างนี้เกือบตลอดทาง

ระยะทางเพียง ๘๐ กิโลเมตร อาจจะใช้เวลาห้าหกชั่วโมง ทำให้นึกถึงคำพูดของชาวกระเหรี่ยงคนนั้น

การเดินทางในป่า พึ่งขาตัวเองดีกว่าจริง ๆ แต่สิ่งอันวิเศษ เราได้เห็นความสมบูรณ์ สภาพป่าหลากหลายมาก ตั้งแต่ปาไผ่ขนาดใหญ่ ป่าเบญจพรรณ ไปจนถึงป่าดิบชื้น ที่พอผ่านเข้าไป อุณหภูมิลดลงทันที

เราขับผ่านหน่วยพิทักษ์ป่าซ่งไท้ ที่เราเคยมาพักแรมเมื่อสิบกว่าปีก่อน แวะทักทายเจ้าหน้าที่นำถุงนอนและเครื่องยังชีพหลายอย่างมาให้ คนเหล่านี้คือผู้พิทักษ์ตัวจริง ที่ดูแลผืนป่าแทนคนไทยทั้งชาติ

แม้ชีวิตความเป็นอยู่จะค่อนข้างลำบาก พี่ซันสังเกตเห็นผึ้งจำนวนมากบินว่อน ปณต เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ระดับปริญญาตรีแต่หลงใหลป่าจนถอนตัวไม่ขึ้น บอกว่า “น้ำผึ้งเดือนห้าเขาว่าดีที่สุดใช่ไหมครับ ก็คือช่วงนี้แหละ ผึ้งสะสมน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ครับ”

ผึ้งเป็นสัตว์สำคัญมากในระบบนิเวศ ช่วยทำให้เกิดการผสมพันธุ์ของพืชในป่า หากขาดผึ้งการสืบทอดเผ่าพันธุ์ของต้นไม้อาจจะถึงทางตันเลยทีเดียว

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีช่าวว่า เกษตรกรพืช ผลไม้ในทวีปอเมริกาเหนือประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำเพราะเมื่อมีการใช้สารเคมี และยาฆ่าแมลงมากในพืชไร่และสวนผลไม้ ทำให้ผึ้งค่อย ๆ หายไปในระบบนิเวศส่งผลให้ไม่มีตัวกลางในการทำให้เกิดการผสมเกสรของดอกไม้

เราพักกินข้าวริมห้วยเซซาโว่ แหล่งต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำแควใหญ่ และเป็นห้วยเดียวกับเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อนคณะพรานในเครื่องแบบ แอบมายิงสัตว์ป่าและมาตั้งค่ายพักแรมแถวนี้ จนเป็นข่าวใหญ่โต

สักพัก ทุ่งเซซาโว่ ทุ่งหญ้าขนาดใหญ่อยู่ตรงหน้า มันกว้างใหญ่จริง ๆ นอกจากทุ่งหญ้าแล้ว ยังมีต้นไม้สำคัญคือ ต้นปรง และต้นเป้ง เป็นสัญญลักษณ์ของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรที่มีแห่งเดียวในประเทศ สภาพทุ่งหญ้านี้จึงเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะช้าง กระทิง เก้ง กวาง โดยมีเสือโคร่งมาซุ่มหาเหยื่อแถวนี้เช่นกัน

ปณตพาเราแหวกหญ้า พร้อมทีมงานถ่ายทำสารคดี มาดูรอยเท้าของกระทิงจำนวนมากที่เพิ่งเดินผ่านไปไม่นาน รอยยังใหม่ สด รวมถึงกองอึหลายแห่ง ร่อยรอยของไฟป่ายังเห็นอยู่ มีหญ้าอ่อนระบัดเป็นดึงดูดให้สัตว์กินหญ้าออกมาหากินแถวนี้มากขึ้น

คืนนั้นเราได้ดูคลิปภาพถ่ายสัตว์ป่า ที่เจ้าหน้าที่แอบถ่ายไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเสือดำ เสือดาว เสือโคร่ง ฝูงกระทิง ช้าง สมเสร็จ ฯลฯ พิสูจน์ได้ว่า ป่าทุ่งใหญ่อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่ามากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“แต่การลักลอบล่าสัตว์ป่ายังมีอยู่ หากเราไม่ออกลาดตระเวน พื้นที่ ๑.๓ ล้านไร่ เรามีเจ้าหน้าที่ ๑๕๐ คนแบ่งเป็น ชุดลาดตระเวน แต่ละคนเดินป่ากันเดือนละพันกว่ากิโลเมตร”

วีรยา โอชะกุล หัวหน้าเขตฯ หญิงเหล็กวัย ๔๕ ปีผู้อาสาเข้ามาทำหน้าที่พิทักษ์ผืนป่าแห่งนี้บอกกับทีมงานพิทักษ์ป่าคนหนึ่ง บอกกับเราว่า พวกเขามีอาวุธประจำกาย แต่ลูกกระสุนเบิกไม่ได้เพราะตามกฎระเบียบทางราชการ หากยิงกระสุนออกไป ก่อนจะมาเบิกใหม่ ต้องทำรายงานว่ากระสุนแต่ละนัด ยิงไปทำไม ที่ไหน เมื่อใด ได้ผลอย่างไร

“สุดท้ายก็ไม่มีใครกล้าเบิก เพราะระบบราชการมันยุ่งยากมากในการเบิกจ่าย แม้จะอยู่ในป่าระบบราชการยังตามมาบั่นทอนจิตใจ”

“ พวกผมก็แบกแต่ปืน กระสุนมีไม่กี่นัด เพื่อความอุ่นใจในการเดินป่า หากเจอกับพวกล่าสัตว์ก็ต้องเสี่ยงเอาแต่ก็หลงรักป่าทุ่งใหญ่ เวลาเข้าเมืองได้ไม่นาน ก็คิดถึงอยากกลับมาอยู่ป่ามากกว่าครับ”

ความเงียบ ความงาม ความสมบุกสมบัน เสน่ห์ของป่าทุ่งใหญ่ ทำให้หลายคนติดหล่ม ยากจะถอนตัวจริง ๆ

 สารคดี พค. 2558

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.