ภายหลังการรัฐประหาร และมีรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นปกครองประเทศเรามักจะได้ยินว่า โครงการแรก ๆ ของรัฐบาลที่พยายามผลักดัน คือการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพมหานคร มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท แต่เมื่อได้รับเสียงคัดค้าน จากความไม่คุ้มค่าในการลงทุน
สุดท้ายโครงการนี้ก็ค่อย ๆเงียบหายไป
แต่ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีเสียงดังมากขึ้นเรื่อย ๆ กับโครงการสร้างทางจักรยานเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง เส้นทางจะเริ่มต้นจากสะพานพระราม 3-สะพานพระนั่งเกล้า รวมระยะทาง 50 กิโลเมตร หรือฝั่งละ 25 กิโลเมตร ใช้เงินก่อสร้างโดยรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยเฟสแรกที่จะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้ มีระยะทาง14 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึง สะพานปิ่นเกล้า มูลค่าค่าก่อสร้างประมาณ 14,000 ล้านบาท
แนวความคิดนี้เริ่มต้น ภายหลังเมื่อครั้งท่านนายกฯ เดินทางไปประเทศเกาหลีใต้ และไปศึกษาดูงานทางจักรยานเลียบแม่น้ำฮัน ในกรุงโซล จึงมีแนวคิดว่าน่าจะมาทำในแม่น้ำเจ้าพระยาบ้างเพื่อเป็นการป้องกันการบุกรุกแม่น้ำของคนริมฝั่ง และเป็นของขวัญให้คนกรุงเทพมหานครได้มีทางจักรยาน
พอกลับมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็รับลูกทันที โดยกระทรวงมหาดไทย และทางกรุงเทพมหานคร ได้กำหนดให้มีถนนยื่นออกไปแม่น้ำกว้าง 20 เมตร และจะเริ่มออกแบบและลงมือก่อสร้างภายในอีกไม่กี่เดือนนี้ ท่ามกลางเสียงห่วงใยขององค์กรมืออาชีพทั้งหลายอาทิ สมาคมสถาปนิกสยาม คณะสถาปัตยกรรมหลายแห่ง ว่าขอให้ศึกษาผลกระทบให้ดีเสียก่อน เพราะจะมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาชุมชน ทัศนอุจาด และความเหมาะสม ความคุ้มค่าต่าง ๆ
แต่ล่าสุดทาง สำนักนโยบายและแผน (สผ.)กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ออกมาแถลงข่าวบอกว่า โครงการนี้ไม่อยู่ในข่ายที่จำเป็นต้องทำ รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ
นั่นหมายความว่า โครงการสามารถเดินหน้าได้ทันที โดยมีผู้ได้รับผลกระทบ คือ วัด 8 แห่ง ท่าเรือเอกชนและสาธารณะ 36 แห่ง โรงเรียนและร้านอาหาร 6 แห่ง สถานที่สำคัญ 19 แห่ง และชุมชน 268 หลังคาเรือน
ส่วนตัวผู้เขียนเป็นคนชอบจักรยานอยู่แล้ว แต่สำหรับกรณีนี้ขอตั้งข้อสังเกตหลายประการดังนี้คือ
1. ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า โครงการทางจักรยานที่มีความกว้างด้านละ 20 เมตรในอนาคตอาจจะเปลี่ยนเป็นทางถนนสี่เลนแบบสบาย ๆ ก็เป็นไปได้ ไม่ต่างจากโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่เคยพับไปแล้ว
2. หากจะบอกว่าได้แรงบันดาลใจมากจากกรณีทางเลียบแม่น้ำฮันช่วงผ่านกรุงโซล ขอบอกว่า แม่น้ำฮัน กว้างประมาณ 800 เมตร ขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยากว้างประมาณ 200-300 เมตร เมื่อมีการก่อสร้างยื่นออกมาด้านละร่วม 20 เมตร มีเสาตอม่อเกิดขึ้นมากมายที่ปักลงในแม่น้ำ ทางองค์กรด้านสถาปนิกที่ออกมาแสดงความห่วงใยได้ประเมินว่า จะลดทอนความสามารถในการระบายน้ำและอาจจะก่อให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งสองฝั่งและนนทบุรีด้วย
3. ในแบบแปลนของทางหน่วยราชการ ได้กำหนดให้สองข้างของแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดโครงการก่อกำแพงบนฝั่งสูงถึง 3 เมตร เพื่อเป็นกำแพงป้องกันน้ำท่วมด้วย นั่นหมายความว่าทัศนียภาพตลอดสองฝั่งถูกกำแพงสูงแห่งนี้บดบังอย่างแน่นอน
ลองนึกดูถึงผู้คนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ด้านในกำแพงว่าจะรู้สึกอย่างไรกันบ้าง แต่กำแพงยักษ์จะกลายเป็นทัศนอุจาดขึ้นมาทันทีทั้ง ๆ ที่สองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีชื่อเสียงไปทั่วโลกในความงดงามและวิถีชีวิตชุมชนติดน้ำไม่ว่าจะเป็นบ้าน วัด วัง
ตกลงโครงการนี้เป็นโครงการก่อสร้างถนน ทางจักรยาน หรือกำแพงป้องกันน้ำท่วม ทำไมรัฐบาลไม่โปร่งใสพอที่จะชี้แจงแถลงข้อเท็จจริงออกมาให้หมด
4. ชีวิตของคนไทยเป็นชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำมาช้านาน การก่อสร้างกำแพงและถนนนี้ จะแยกชุมชนออกจากริมแม่น้ำอย่างสิ้นเชิง จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการดำรงชีพของคนไทยมาช้านาน โดยที่เราไม่มีทางทราบว่าจะเกิดผลกระทบอะไร และที่สำคัญ ชาวบ้านสองข้างทางที่อาศัยอยู่กันมานาน(ไม่นับพวกบุกรุก) เขาทำอะไรผิดที่ต้องเป็นผู้เสียสละอยู่ร่ำไป
5. ระบบนิเวศสองข้างทาง ที่เคยเป็นทีอยู่อาศัยของสัตว์น้ำจะเป็นอย่างไร เมื่อมีตอม่อปักหลักลงมากมายและมีแท่นคอนกรีตกว้างร่วม 20 เมตรยื่นออกมา พืชริมน้ำจะสังเคราะห์แสงได้ไหม เพราะแสงแดดส่องลงมาไม่ถึง ไม่เคยมีใครศึกษา
6. ทางจักรยานแห่งนี้ไม่ได้เชื่อมโยง โครงข่ายการขนส่งมวลชนใด ๆ ผิดหลักการสร้างทางจักรยานโดยสิ้นเชิง
แต่หากรัฐบาลจะสั่งให้ทำให้ได้ เพื่อเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลทหารชุดนี้ โดยไม่ต้องทำอีไอเอ โดยไม่สนใจความรู้ ไม่สนใจเสียงทักท้วงจากบรรดานักวิชาการมืออาชีพตัวจริงทั้งหลายก็ไม่เป็นไรครับ แต่ขอให้พวกเราช่วยกันจารึกชื่อไว้ว่า ทางริมแม่น้ำ และกำแพงยักษ์แห่งนี้
สร้างในสมัยใด ใครเป็นคนอนุมัติ
อนาคตลูกหลานของเราจะได้ชี้ตัวคนนั้นได้ถูกต้อง ใครทำให้แม่น้ำเจ้าพระยากลายเป็นท่อระบายน้ำคอนกรีตยักษ์อันแสนน่าเกลียด
กรุงเทพธุรกิจ 18 มิย.2558
Comments
เซี่ยเหมินทำ น่าเกลียดมากขนาดมีด้านเดียวยื่นไปในทะเล เวลานำ้ลงจะเห็นแต่เสา วัฒนะธรรมข้างแม่นำ้หายหมด ถ้าจะทำๆเล็กๆไม่มีเสา structure ตัว L เอาไว้ให้คนเดิน คนนั่งดีกว่า แล้วให้ระดับเดียวกับพื้นเดิมมากสุด การยกแล้วทำกำแพงกัน น้ำท่วมปล่อยไปเถอะ นานๆทีนำ้ท่วมไม่เท่ากับเมืองน่าเกลียดเอากลับไม่ได้ ไปดูโครงการข้างคลองอยุธยาดิ กลุ้มใจมากพวกเอานำ้ท่วมมาอ้าง เมื่อไรบ้านเราจะมี กระทรวงออกแบบบ้างเอามาคุม งานdesign ของกระทรวงอื่น เพราะสมาคมออกแบบต่างๆไม่มีอำนาจพอ เมื่อคิดproject มาต้องให้คนที่เขามีวิสัยทัศน์ เฉพาะทางวิเคราะห์เพราะจะได้ตรงทางที่เขาศึกษามา ถ้างั้นความสวยงามของบ้านเมืองจะแย่ลง เราไม่ต้องการ conservative มากไปแต่เราควร conservation ในบางครั้งครับ