“รับถุงเพิ่มไหมค่ะ” พนักงานขายพูดด้วยความเคยชิน
“พี่ขอถุงซ้อนสองใบนะ” ลูกค้าตอบด้วยความเคยชินเช่นกัน
แต่ละวันที่เราไปซื้อของในห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อริมถนน ด้วยความเคยชินเราทิ้งถุงพลาสติกจากการซื้อของประมาณ 2.3 ชิ้นต่อวัน ดูเหมือนไม่มากเท่าไร
แต่หากคิดทั้งประเทศแล้วจะพบว่าปีหนึ่งคนไทยทิ้งขยะพลาสติก ประมาณ 10,000 ล้านชิ้น
คนไทยจำนวนมาก หากไม่ทิ้งถุง ก็จะสะสมถุงพลาสติก เพื่อเอาไปใช้ใส่ขยะ หรือเอาไปใช้ต่อที่บ้าน
แต่เชื่อไหมครับ ลองเปิดดูลิ้นชักหรือตู้ของคนในบ้านเกือบทุกหลัง จะอัดแน่นไปด้วยถุงพลาสติกที่มีมากเกินความจำเป็น สุดท้ายก็เป็นพลาสติกหมดอายุต้องทิ้งในที่สุด
แต่ละสัปดาห์ คนไทยนำถุงพลาสติกกลับบ้านมากกว่า 100 ล้านถุง หรือมากกว่า 5000 ล้านถุงในแต่ละปี
ถุงพลาสติกที่คนไทยใช้ใน 1 ปี นั้น ถูกเปรียบเทียบว่าหากนำมาต่อกันจะได้ระยะทางเท่ากับเดินทางไปกลับดวงจันทร์ 7 รอบ
ขยะเหล่านี้ไปไหน
สำหรับเมืองไทยที่คนไทยทิ้งขยะปีละ 16 ล้านตัน จะเป็นขยะถุงพลาสติกประมาณ 3 ล้านตันซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จำเป็นต้องฝังกลบหรือเผาอย่างเดียวแต่ส่วนใหญ่ก็นำมากองเป็นภูเขาขยะเพราะกำจัดไม่หมด
สมัยก่อนเราอาจจะเคยเห็นชาวบ้านเอาถุงพลาสติกมาล้าง ตาก เพื่อรอให้คนมารับซื้อ
วันก่อนผู้เขียนไปชุมชนคลองเตย ซึ่งเคยเป็นแหล่งใหญ่ในการเอาถุงพลาสติกมาล้าง ตากเพื่อรอคนมารับซื้อ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว เพราะไม่คุ้ม
ถุงพลาสติกเหล่านี้เมื่อฝังกลบ เนื่องจากคุณลักษณะที่เบาบาง และมีปริมาณมากปะปนกับมูลฝอยประเภทอื่นๆจะทำให้การย่อยสลายมูลฝอย เป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้นใช้เวลาย่อยสลาย 500-1,000 ปี เรียกว่า เราเกิดตายไปหลายชาติ พลาสติกที่เราทิ้งก็ยังอยู่ให้เราเห็น หากกำจัดด้วยการเผา ก็จะให้สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เป็นสารก่อมะเร็ง
ขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหาทางทะเลมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ละปีมีนกทะเลตาย 1 ล้านตัวรวมทั้งสัตว์ทะเลอื่นๆ อีกกว่า 100,000 ตัว ไม่รวมปลาอีกนับไม่ถ้วน
“พลาสติก” หรือ “plastics” นั้น มาจาก ภาษากรีก”plastikos” แปลว่า “ซึ่งสามารถหล่อหลอมให้เป็นรูปร่างต่างๆได้”มีอายุบนโลกนี้เพียงร้อยกว่าปีเท่านั้น พลาสติกเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นมาจากขบวนการทางเคมี พลาสติกชิ้นแรกที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น นำมาใช้ทดแทนลูกบิลเลียดที่ทำจากงาช้างแต่ก็ได้รับความนิยมสูงมากในเวลาอันรวดเร็ว ถุงพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีปริมาณการผลิตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดอื่น ๆ ทั้งหมด โดยคิดเป็นร้อยละ 50ของปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดในประเทศ
จากการสำรวจของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าครัวเรือนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ได้รับถุงพลาสติกมาจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่กว่า 3,076 แห่ง รองลงมาได้จากตลาดสดและร้านค้าย่อย คิดเป็นร้อยละ 20 และจากที่อื่นร้อยละ 10 ดังนั้นหากลดปริมาณถุงพลาสติกที่ได้จากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ก็จะลดขยะมูลฝอยถุงพลาสติกได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
ปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ของคนทั้งโลก และแต่ละประเทศก็มีมาตรการแตกต่างกันไป
หลายประเทศใช้ยาแรงหรือออกเป็นกฎหมายเลย ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ประเทศที่สั่งห้ามใช้ถุงพลาสติก ได้แก่ บังกลาเทศ เยอรมนี แอฟริกาใต้ อิตาลี อินเดีย(บางรัฐ) ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ตุรกี โซมาเลีย เอธิโอเปีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เบลเยียม สวีเดน จีน ประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกเด็ดขาด
รัฐบาลไอร์แลนด์เก็บภาษีถุงพลาสติก ทำให้ขยะพลาสติกลดลงถึงร้อยละ 90
ไต้หวันเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก
ซานฟรานซิสโก ออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติก นับเป็นเมืองแรกของอเมริกา
การประกาศตัวเป็นเมืองปลอดถุงพลาสติกของเมืองลีฟเรปิดส์ ในแคนาดา ผู้ฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษเป็นค่าปรับร่วมสามหมื่นบาท
ส่วนที่ประเทศไทย รัฐบาลขอความร่วมมือจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทุกแห่งในการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกทุกวันที่ 15 ของเดือน ปรากฎว่า บางห้างก็ให้ความร่วมมือดี บางห้างกลัวเสียลูกค้า แต่ยอดรวมแล้ว สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้วันนั้นร่วม 3 ล้านใบ
ยังห่างไกลจากจำนวนหมื่นล้านใบต่อปี
แต่ห้างบางแห่งถูกลูกค้าไม่พอใจต่อว่า และปาไข่ใส่พนักงานที่ไม่ให้ถุง ขณะที่ลูกค้าต่างชาติให้ความร่วมมือดี โดยเฉพาะลูกค้าชาวจีน ซึ่งเคยชินกับการต้องเสียเงินซื้อถุงหากไม่ได้เอาถุงมาใส่เองในประเทศของเขา จึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไร
หรือเมืองไทยถึงเวลาต้องออกกฎหมายจริงจังกับการยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกเสียทีแล้ว
กรุงเทพธุรกิจ 17 กย. 58