“หมาเห่าไม่กัด”
คนจำนวนมากเชื่อว่าประโยคนี้เป็นสุภาษิตไทยแต่โบราณ อันมีความหมายถึงคนที่อวดเก่งหรือปากเก่ง แต่พอถึงเหตุการณ์คับขันจริงๆก็ไม่กล้าทำอะไร
แต่แท้จริงแล้ว เป็นสุภาษิตโบราณของชาวเติร์ก หรือคนตุรกี ที่เข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมไทยมาช้านาน
ช่วงหลังเราคงได้ยินข่าว การประท้วงของชาวตุรกีที่ไม่พอใจรัฐบาลไทยที่ส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน และมีการทำลายทรัพย์สินในสถานทูตไทยในตุรกี และล่าสุดเมื่อมีการจับผู้ต้องสงสัยชาวตุรกี จากกรณีการวางระเบิดใกล้ศาลพระพรหม บริเวณสี่แยกราชประสงค์จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก
ผู้เขียนมีโอกาสไปเยือนประเทศตุรกีสองครั้งในรอบสองปี ด้วยความประทับใจในประเทศที่มีอารยธรรมอันเก่าแก่ และธรรมชาติอันงดงามและหลากหลาย ตั้งแต่ยอดเขาปกคลุมด้วยธารน้ำแข็งตลอดปีมาจนถึงทะเลเมดิเตอร์ริเนียนสีฟ้าเทอร์ควอยซ์
ดินแดนแห่งนี้เป็นแหล่งอาณาจักรโบราณก่อนสมัยโรมันมายึดครอง ในนามอาณาจักรไบแซนไทน์และถูกพวกชาวเติร์กแห่งอนาโตเลียเข้ายึดครอง กลายเป็นอาณาจักรออตโตมันอันรุ่งเรืองอยู่หกร้อยกว่าปี ก่อนจะกลายมาเป็นประเทศตุรกีที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน
นิสัยคนตุรกีเท่าที่ผู้เขียนพบเห็นมา ค่อนข้างจะเป็นคนเปิดเผย มีอัธยาศัย น้ำใจดี แม้จะเป็นประเทศมุสลิมทั้งประเทศ แต่เป็นมุสลิมที่มีเสรีภาพมาก ไม่เคร่งครัดเหมือนประเทศอื่น สังเกตได้จากการแต่งกายของหนุ่มสาวตามสมัยแฟชั่นตามสมัยนิยม สามารถแสดงความรักอย่างเปิดเผยไม่ต่างจากฝรั่งทั่วไป แม้กระทั่งร้านขายเหล้า ขายเครื่องดื่มก็มีอยู่ทั่วไป
ผู้หญิงตุรกีแต่งตัวทันสมัย ยังสามารถทำงานในระดับสูงได้ทัดเทียมผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นนายธนาคาร ผู้พิพากษา นักข่าว นักบิน นักการทูต สมาชิกรัฐสภา อันแตกต่างจากผู้หญิงในประเทศมุสลิมอย่างเห็นได้ชัด เสน่ห์ของตุรกีมีมากมาย จนไม่แปลกใจเมื่อตุรกีเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของโลกแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเกือบ ๔๐ ล้านคน
คนตุรกีส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวเติร์ก ชนเผ่าเร่รอนอาศัยอยู่ในเอเชียกลางแถบเทือกเขาอัลไตในมองโกเลียหลายพันปีก่อน ล่าสุดมีทฤษฎีใหม่บอกว่าชาวเติร์กมาจากชนเผ่าแถบสแกนดิเนเวียน แต่ยังไม่ค่อยได้รับการยอมรับมาก
ชาวจีนสมัยโบราณเรียกพวกชนเผ่าเร่ร่อนซึ่งมีหลายเผ่ารวมกันว่า ชาวฮวนหรือฮวน นั้ง มีความหมายถึงคนป่าเถื่อน ชาวฮวนคือพวกเร่ร่อนที่ไม่สร้างอาณาจักรเป็นหลักเป็นแหล่งเพราะดำรงชีวิตด้วยการเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก ต้องเดินทางไปหาแหล่งน้ำ แหล่งหญ้าอยู่ตลอดจากการเร่ร่อนตลอด ทำให้ชาวเติร์กปรุงอาหารดั้งเดิมคนทั่วโลกรู้จักดี คือ “Kebab” ปรุงง่ายเหมาะสำหรับชนเร่ร่อนที่อาศัยในกระโจมและมีการก่อไฟนอกกระโจม คือเนื้อที่หั่นเป็นชิ้นๆและนำไปเสียบกับไม้หรือเหล็กเพื่อนำไปย่าง
ทุกวันนี้คนจีนยังเรียกคนไทยว่า ฮวน นั้ง อันสะท้อนถึงความคิดของชาวจีนว่า ใครก็ตามที่ไม่ใช่ชาวฮั่น หรือชาวจีนจะถูกเรียกเป็นคนป่าเถื่อนหมด
หลักฐานเก่าแก่ที่สุดคือ บันทึกของจีนในศตวรรษที่ ๖ เรียกชนเผ่าเติร์กว่าทู่เจี๋ย เดิมมีอาณาบริเวณอยู่ในทุ่งหญ้านอกกำแพงเมืองจีน ใช้ภาษาเตอร์กิค (Turkic) ต่อมาถูกชนเผ่าอื่นขับไล่ รบแพ้ชนะสลับกันไป ชนเชื้อสายเติร์กได้เริ่มอพยพออกจากบริเวณเทือกเขาอัลไตและได้แยกย้ายกันไป ตั้งถิ่นฐานในดินแดนต่างๆ บางส่วนอพยพไปทางตะวันตกอีกส่วนหนึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณดินแดนทางตะวันตกของจีนซึ่ง เรียกว่า เตอร์กิสถานตะวันออกหรือดินแดนที่เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลซินเกียงในปัจจุบัน เรียกว่าชาวอุยกูร์
ชาวเติร์กมีความสามารถในการขี่ม้าสูง มีอาวุธประจำกายคือดาบโค้งและธนู กล่าวกันว่า เจงกิสข่าน จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ก็มีสายเลือดมองโกลและเติร์กอยู่ในตัวอย่างละครึ่ง แต่สุดท้ายกองทัพมองโกลของเจงกิสข่าน ก็ได้กรีฑาทัพมาทำลายอาณาจักรเซลจูค อาณาจักรแรกของชาวเติร์กที่มาตั้งบ้านเรือนในบริเวณอนาโตเลีย (ปัจจุบันคือดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศตุรกี)อย่างย่อยยับในค.ศ. ๑๒๔๓
หลังจากนั้นชาวเติร์กที่แตกกระจัดกระจายก็ได้สุลต่านผู้นำมีความสามารถค่อย ๆ รวบรวมผู้คนกลายเป็นอาณาจักรอันยิ่งใหญ่เรียกว่า ออตโตมัน นับถือศาสนาอิสลามก่อนจะพบกับความเสื่อมถอย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ ออตโตมันได้อยู่ฝ่ายเยอรมนี เมื่อแพ้สงคราม
อนาโตเลียถิ่นสำคัญของชาวเติร์ก ได้ถูกกองกำลังของชาติยุโรปที่ชนะสงครามเข้ายึดครอง ชาวเติร์กส่วนใหญ่ไม่อาจยอมรับชาติตะวันตกที่จะยึดครองอานาโตเลียจึงจับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง โดยมีมุสตาฟา เคมาล หรือ อตาเติร์กเป็นผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ และกลายมาเป็นสาธารณรัฐตุรกี ที่มีอายุไม่ถึงร้อยปี
อตาเติร์กเป็นประธานาธิบดีคนแรกและได้พัฒนาตุรกีสู่ความทันสมัยแบบตะวันตก แยกศาสนาออกจากการเมือง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ตราประจำตำแหน่งประธานาธิบดีของตุรกีเป็นรูปดาวขนาดเล็ก ๑๖ ดวง ล้อมรอบดวงดาวขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ตรงกลาง ดาว เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ แทนอาณาจักรยิ่งใหญ่ของชนเชื้อสายชาวเติร์ก ๑๖ อาณาจักรในอดีต
ปัจจุบันชาวเติร์กกระจัดกระจายไปทั่วเอเชียและยุโรป อาทิในประเทศคาซัคสถาน อุซเบกิซสถาน เติร์กเมนิสถาน และครีกีซสถาน ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับคนมองโกเลีย แต่ชาวตุรกีในปัจุบันที่ผู้เขียนสังเกต ไม่ค่อยมีมีรูปร่างหน้าตาไปทางชาวมองโกเลียมากนักอาจเป็นเพราะ บรรพบุรุษของชาวตุรกีในปัจจุบันที่อพยพมาจากเอเชียกลาง มาปักหลักตั้งถิ่นฐานในอนาโตเลียได้มีการแต่งงานข้ามสายพันธุ์กันกับชาวยุโรปมาช้านาน และพลเมืองในยุโรปที่ตกเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิออตโตมัน เช่น ยุโรปบอลข่าน จำนวนไม่น้อยได้หันมานับถือศาสนาอิสลาม เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีซึ่งออตโตมันเรียกเก็บจากคนที่มิใช่มุสลิม ในอัตราสูงกว่าที่เก็บจากมุสลิมถึงร้อยละ ๕๐
ชาวยุโรปจึงตัดสินใจหันมานับถือศาสนาอิสลาม เพื่อที่จะไม่ต้องเสียภาษีดังกล่าว ทำให้รูปร่างหน้าตาของคนตุรกีเป็นลูกครึ่งฝรั่งกับเอเชีย หน้าตาคมคาย
ชาวเติร์กคาดว่ามีอยู่ทั่วโลกประมาณร้อยกว่าล้านคน กระจัดกระจายอยู่ในยุโรป เอเชีย และประเทศจีน รู้จักในนามของชาว อุยกูร์ ชนกลุ่มน้อย อาศัยในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเป็นเขตปกครองใหญ่ที่สุดของจีน กินพื้นที่กว่า ๑.๖ ล้านตารางกิโลเมตร
ทุกวันนี้ ชาวอุยกูร์มีความพยายามจะแยกประเทศออกมาเป็น ประเทศเตอร์กิสถานตะวันออกและเกิดการประท้วงขึ้นบ่อยครั้ง รัฐบาลจีนส่งทหารเข้าปราบปรามมีคนบาดเจ็บ ล้มตายและถูกจับจำนวนมากมีผู้อพยพลี้ภัยไปนอกประเทศจำนวนมาก ส่วนหนึ่งแอบหนีเข้ามาเมืองไทยเพื่อเตรียมจะอพยพไปประเทศมุสลิม แต่ถูกทางการไทยจับได้ และนำตัวชาวอุยกูร์ส่งคืนประเทศจีน
ทำให้ชาวเติร์กทั่วโลกไม่พอใจการกระทำของรัฐบาลไทย ที่ไม่ส่งคนเหล่านี้ไปประเทศมุสลิมที่เปิดรับ เพราะเชื่อว่า ชาวอุยกูร์เหล่านี้จะต้องถูกทางการจีนดำเนินคดี
น่าสังเกตตรงที่ว่า ชาวเติร์ก อุยกูร์ และไทย ที่อาจมีปัญหาความขัดแย้งกันล้วนมีรากเหง้ามาจากแถบเอเชีย และล้วนถูกคนจีนเหมารวมว่าเป็นพวก ฮวน-นั้ง อันหมายถึงคนป่าเถื่อนในอดีต
สารคดี กย. 2558