รำลึกถึง อาจารย์พงษ์ศักดิ์ เตชธัมโม

“ป่าไม้เป็นบ้านหลังที่หนึ่ง การตัดไม้ทำลายป่าและเผาป่าจึงเท่ากับเป็นการ

ทำลายและเผาบ้านของตนเอง…”

อาจารย์พงษ์ศักดิ์ เตชธัมโม

เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายนที่ผ่านมา อาจารย์พงษ์ศักดิ์ เตชะธัมโม อดีตเจ้าอาวาสวัดผาลาด เชิงดอยสุเทพ ผู้เป็นตำนานของพระนักอนุรักษ์รุ่นแรก ๆในเมืองไทย ได้ถึงแก่มรณภาพแล้ว
ประมาณหกปีก่อน ผู้เขียนได้มีโอกาสไปกราบท่านที่ สำนักสงฆ์ตุ๊ปู่ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ กลางป่าใหญ่อันร่มรื่นย์ มีน้ำตกไหลผ่านในอุทยานแห่งชาติออบหลวง เป็นป่าต้นน้ำสำคัญของลำน้ำแม่สอยไหลไปหล่อเลี้ยงผู้คนด้านล่าง

หากไม่มีท่านมาดูแลเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน เชื่อแน่ว่า ป่าบริเวณนี้หลายหมื่นไร่คงเปลี่ยนเป็นภูเขาหัวโล้นปลูกพืชไร่มานานแล้วและไม่มีน้ำไหลลงลำน้ำแม่สอย ให้คนพื้นล่างได้ใช้สอยตลอดปี

ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองมีความขัดแย้งสูงระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา ผู้เขียนเป็นนักเรียนวัย ๑๕ ขวบ ได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมด้านสันติวิธีกับนักกิจกรรม นักศึกษา โดยมีอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์เป็นแกนนำ และมีติช นัท ฮัน พระเวียดนามชื่อก้องโลกมาเป็นผู้อบรม ในบริเวณวัดผาลาด

มีอาจารย์พงษ์ศักดิ์เป็นเจ้าอาวาส ท่านไม่หวั่นเกรงกับคำขู่และสุ่มเสี่ยงต่อการถูกจับกุมเพราะมีตำรวจทหารมาตรวจตรา หวั่นเกรงว่าจะเป็นสถานที่ส้องสุมและปลุกระดม

อาจารย์พงษ์ศักดิ์ เตชะธัมโม เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๗๕ เป็นลูกชาวบ้านตำบลทำนบ จังหวัดนครสวรรค์ กำพร้าแม่แต่เด็ก มีป้าคอยเลี้ยงดูมาตลอด จนเมื่ออายุ ๒๐ ได้บวชเป็นพระมาเรียนวิปัสนาที่วัดมหาธาตุ ในกรุงเทพมหานคร ระหว่างนั้น ได้อ่านหนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุ มีความเลื่อมใสศรัทธา จึงได้ไปจำพรรษาที่สวนโมกข์ เป็นศิษย์ท่านพุทธทาสเป็นเวลาเจ็ดปี จากนั้นประมาณปีพ.ศ. ๒๕๐๕

ท่านได้ธุดงค์ขึ้นมาทางเหนือ ผ่านวัดผาลาดที่ถูกทิ้งร้างไว้นาน บรรยากาศร่มรื่นย์มีต้นไม้ใหญ่ ท่านจึงมาลงหลักปักฐานที่นี่ กลายเป็นสถานวิปัสนาปฎิบัติธรรมเป็นที่เลื่อมใสของบรรดานักศึกษาหัวก้าวหน้าในเวลานั้น

ครั้งหนึ่งมีนักศึกษาหัวรุนแรงวางแผนจะยึดเครื่องบินสายการบินไทย โดยมีระเบิดเป็นอาวุธเพื่อเรียกร้องบางอย่างจากรัฐบาล แต่เผอิญนักศึกษากลุ่มนั้นได้มาขอพักที่วัดผาลาดก่อนและได้ฟังธรรมของอาจารย์พงษ์ศักดิ์ สุดท้ายจึงเลิกล้มความตั้งใจในการยึดเครื่องบิน

แต่อาจารย์พงษ์ศักดิ์ก็ถูกทางการเพ่งเล็งว่าเป็นพวก คอมมิวนิสต์

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ อาจารย์พงษ์ศักดิ์ ได้ออกจาริกมาถึงบริเวณถ้ำตุ๊ปู่ เขตตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ท่านก็พบเห็น ความทุกข์ยากของชาวบ้านที่ขาดแคลนน้ำ เพราะ ป่าถูกทำลายลงมาก จึงปรึกษากับกำนันขอที่ดินบริเวณหน้าถ้ำที่ชาวบ้านบุกรุกทำลายป่า เพื่อสร้างสำนักปฏิบัติธรรม ชาวบ้านยินดียกให้และเป็นจุดเริ่มต้นของการหยุดตัดไม้ทำลายป่า

แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี พื้นที่ป่าสงวนในตำบลแม่สอยที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่หลายพันคนโดยอาศัยน้ำจากลำห้วยแม่สอยถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว ป่าต้นน้ำที่เปรียบเสมือนพรมคอยอุ้มซับน้ำแล้วค่อย ๆ ปล่อยน้ำไหลรินสู่เบื้องล่างตลอดปี ถูกตัดจนเหี้ยน ยามฤดูน้ำหลาก น้ำป่าที่ไหลจากภูเขามีปริมาณมาก เกิดดินถล่ม พัดพาตะกอนดินลงสู่แม่น้ำ ขณะที่ในหน้าแล้ง ไม่มีน้ำไหลออกจากภูเขาเลย

สาเหตุสำคัญที่อาจารย์เห็นมาจากคนสองกลุ่มคือ ชาวบ้านพื้นล่างและชาวเขา

ชาวบ้านพื้นล่างมีอาชีพทำสวน แต่ก็เริ่มตัดไม้เผาถ่าน เลื่อยไม้ไปขาย และจุดไฟเผาป่า ให้ทางเดินมันโล่ง เพื่อล่าสัตว์ป่า หริอให้ไฟป่าลวกยอดผักหวานให้มันแตกยอดอ่อน จนลุกลามเป็นไฟป่าทุกปี ขณะที่บนภูเขาซึ่งเคยเป็นป่าผืนใหญ่ ได้มีชาวเขาอพยพมาจากพม่าและลาวเข้ามายึดป่าต้นน้ำโค่นต้นไม้เพื่อปลูกฝิ่น ต่อมาทางการก็มาส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดทดแทนฝิ่น ป่าก็ยิ่งถูกทำลาย
อาจารย์พงษ์ศักดิ์ผู้ตระหนักถึงสาเหตุสำคัญ จึงได้เริ่มอบรมชาวบ้านให้เห็นถึงผลร้ายจากการตัดไม้ทำลายป่า

ด้วยการนำหลักธรรมะและศีลธรรมเข้ามาผสมผสานกับการดำรงชีวิตและการอนุรักษ์ป่าไม้

เพื่อให้เกิดการสมดุลทางธรรมชาติ การไม่รู้จักคุณค่าของป่าไม้ ต้นไม้ใบหญ้า คือการขาดศีลธรรมเพราะศีลธรรมตามความหมายที่แท้จริงคือการรักษาความสมดุลของจิตใจตนเอง ของสังคมและสิ่งแวดล้อม

อาจารย์มักกล่าวเสมอว่า

“ ป่าไม้เป็นบ้านหลังที่หนึ่ง ส่วนบ้านที่อยู่อาศัยเป็นบ้านหลังที่สอง ฉะนั้นการตัดไม้ทำลายป่าและเผาป่าเท่ากับเป็นการทำลายและเผาบ้านของตนเอง เพราะป่าไม้เป็นตัวสร้าง เป็นตัวรักษาความสมดุลของดินฟ้าอากาศ เป็นที่เกิดของแหล่งน้ำเหตุนี้เองป่าไม้จึงเป็นขุมทรัพย์ของผืนแผ่นดินและสิ่งมีชีวิต”

อาจารย์เรียกร้องให้ชาวบ้านพึ่งตนเอง รักษาป่าโดยไม่ต้องหวังพึ่งจากทางการเพราะการรักษาเนื้อที่ป่านับแสนไร่จะหวังพึ่งจากเจ้าหน้าที่ไม่ได้

จากนั้นชาวบ้านแม่สอยได้จัดแบ่งกลุ่มเวรยามป้องกันไฟป่าในฤดูแล้ง ห้ามมิให้บุคคลใดเข้าป่าล่าสัตว์แต่เมื่ออาจารย์ได้ใช้วิธีขึงลวดหนามล้อมป่าสงวนแห่งชาติระยะทาง ๘ กิโลเมตรป้องกันไม่ให้ป่าถูกบุกรุกจากชาวเขา ความขัดแย้งระหว่างชาวเขากับชาวบ้านก็มิอาจหลีกเลี่ยงได้

ครั้งหนึ่งอาจารย์เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า

“ ในช่วงที่ปลูกฝิ่น เขาปลูกกันครอบครัวละสองไร่ การทำลายป่าขยายตัวไม่มากแต่พอชาวเขาได้รับการส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพด ปลูกกะหล่ำปลี ต้องใช้พื้นที่ห้าถึงสิบไร่ การทำลายป่าขยายตัวรวดเร็ว ไม่นับสารเคมี ยาฆ่าแมลงที่ทำให้ลำธารด้านล่างมีพิษแทบจะกินไม่ได้”

การขึงลวดหนามทำให้อาจารย์ถูกตั้งข้อหาบุกรุกป่าสงวน เมื่อทางหน่วยราชการได้ประชุมกันเพื่อแก้ปัญหาก็มีมติว่า ไม่ย้ายชาวเขา แต่ให้ชาวเขาทำกินในที่เดิมต่อไป โดยจะควบคุมไม่ให้มีการทำลายป่าต่อไป ในขณะเดียวกันอาจารย์ก็ได้ไปอบรมชาวเขาในเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าซึ่งชาวเขาบางส่วนก็เข้าใจและให้ความร่วมมือกับชาวบ้านพื้นราบ

แต่ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับชาวเขาก็มีขึ้นเป็นระยะ และอาจารย์ก็ถูกโจมตี ถูกกล่าวหาตลอดว่า เป็นตัวสร้างความขัดแย้ง แต่ท่านก็นิ่ง ไม่ตอบโต้อาจารย์พร่ำสอนทั้งชาวบ้านและชาวเขาว่า

“ใบไม้ใบหญ้าเมื่อแห้งก็ร่วงหล่นปกคลุมผืนดิน เวลาแสงอาทิตย์ส่องลงมา หญ้าเหล่านี้แหละที่ปกป้องความร้อนของแสงอาทิตย์ให้ลงถึงผืนดินน้อยที่สุดและเมื่อเวลาผ่านไปใบไม้ใบหญ้าก็ผุกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดิน ทับถมกันทำให้แผ่นดินชุ่มชื้นเก็บน้ำไว้ตลอดปี น้ำที่เราดื่ม ในลำห้วย เพราะยังมีใบไม้ ต้นไม้ปกคลุมผืนดินอยู่”

“แต่ทุกวันนี้เราเพียงคิดว่า จะไปตัดต้นไม้ เลื่อยไม้ที่ไหน เผาถ่านที่ไหน คิดเพียงให้ตัวเองได้มีกินไปวัน ๆ ในเมื่อเราเผาป่าจนไม่มีอะไรเหลือ แผ่นดินมีแต่หิน ปราศจากสิ่งปกคลุม เมื่อแสงอาทิตย์ส่องมาก็เผาทั้งหินทั้งดินจนร้อนระอุ น้ำในห้วยก็แห้งผาก ต้นไม้ก็ตาย แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร”

ชาวบ้านกับอาจารย์ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิธรรมนาถขึ้น เพื่อเป็นองค์กรที่ดูแลป่าต้นน้ำแม่สอยอย่างจริงจังจนสภาพป่าธรรมชาติได้กลับคืนมาบางส่วน แม้ว่าท่านจะถูกโจมตี ถูกกลั่นแกล้งจากคนที่ไม่เข้าใจไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง ท่านก็อดทนมาตลอด แต่การทำงานหนักตลอดทั้งชีวิตได้ทำให้สุขภาพของท่านทรุดโทรมลงจนได้ล้มป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน และพักรักษาตัวเป็นเวลานาน ก่อนจะจากพวกเราไปอย่างสงบ

 

“การรักษาธรรมชาติ ก็คือการรักษาธรรม”

อาจารย์พงษ์ศักดิ์ผู้ปฏิบัติธรรม ด้วยกาย วาจาและใจ

สารคดี ตค. 2558

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.