เผด็จการ Analog บนโลก Digital

dictatorship-21115210.1

กล่าวกันว่า ในยุคเริ่มแรกของมนุษย์ สิ่งประดิษฐ์สำคัญที่พลิกโฉมการติดต่อของมนุษย์คือ วงล้อ

ลองสังเกตรอบ ๆ ตัวเรา มีอะไรบ้างที่ไม่มีวงล้อร่วมด้วย เครื่องจักรกลทุกชนิด

สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นทุกอย่างล้วนมีวงล้อมาเกี่ยวข้องด้วย

วงล้อพื้นฐานสุดน่าจะเป็น วงล้อที่ช่วยในการเดินทาง อาทิล้อเกวียน ล้อรถเทียมม้า จนวิวัฒนาการเป็น ล้อรถยนต์ รถถังและรถไฟ ทำให้การเดินทางง่ายขึ้นช่วยร่นระยะเวลาในการติดต่อสื่อสารของมนุษย์


ต่อมาก็เป็นเครื่องจักรไอน้ำ โทรศัพท์ รถยนต์ วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ

พอมาถึงโลกยุคใหม่หรือยุคดิจิทัล สิ่งประดิษฐ์ที่พลิกโฉมโลกแห่งการสื่อสารน่าจะเป็นบรรดา โซเชียลมีเดียทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น facebook line twitter youtube ฯลฯ โซเชียลมีเดีย ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้คนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนยุค Gen-X หรือผู้เกิดในช่วงปีพ.ศ. 2508-2522 พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ที่เด่นชัดมากก็คือ ชอบอะไรง่าย ๆ ไม่ต้องเป็นทางการ เป็นตัวของตัวเองสูง มีความคิดเปิดกว้าง มีความคิดสร้างสรรค์ หลายคนใน Gen-X มีแนวโน้มที่จะต่อต้านสังคม ไม่ได้เชื่อเรื่องศาสนา และ ไม่ได้ยึดขนบธรรมเนียมประเพณีมากนัก

ยุค Gen Y หรือ คือคนที่เกิดอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2523-–2540 คนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและค่านิยมที่แตกต่างระหว่างรุ่นปู่ย่าตายาย กับ รุ่นพ่อแม่ และรับเอาความเจริญรุดหน้าของเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเข้ามาอยู่ในการดำรงชีวิตประจำวัน
เด็กรุ่น Gen Z หรือคนที่เกิดตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา แน่นอนว่าคนรุ่นนี้ใช้มือถือตลอดเวลาในการติดต่อสื่อสาร

คนทั้งสามรุ่นนี้สามารถติดต่อกันแบบ แบนราบ ได้อย่างรวดเร็ว ผ่านอินเตอร์เน็ต 3G และ 4G ขอบเขตการสื่อสารไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศ แต่ไปไกลทั่วโลก และมีแนวโน้มจะไม่ดูโทรทัศน์หรือฟังวิทยุเป็นหลักในการรับข่าวสาร ส่วนหนังสือพิมพ์ ไม่ต้องพูดถึง แทบจะดูผ่านหน้าจอกันหมดแล้ว โดยเฉพาะรุ่น Gen Y Gen Z คนเหล่านี้รับฟังข่าวสารผ่าน twitter line facebook เป็นอันดับแรกมากกว่า วิทยุ โทรทัศน์กันแล้ว

และเป็นการติดต่อสองทางคือ ผู้รับสารยังสามารถแสดงความเห็นหรือตอบโต้กับผู้ส่งสารได้  ไม่ใช่แค่รับสารมาอย่างเดียว

หันมาดูการปกครองในยุคเผด็จการของรัฐบาลทหารในปัจจุบันกันมั่ง การติดต่อสื่อสารกับผู้ชม ประเภทรายการ คืนความสุขให้คนในชาติ ยังใช้เครื่องมือสำคัญคือ วิทยุ โทรทัศน์และพูดสั่งสอนคนดูฝ่ายเดียว

จนคนดูเปิดหนีหมดแล้ว

การรัฐประหารที่ผ่านมา ก็ขับรถถังที่ขับเคลื่อนด้วยล้อ เข้าควบคุมสถานีวิทยุ โทรทัศน์ เป็นหลัก ขณะที่คนรุ่นใหม่ หนีไปหาข่าวสารกันในออนไลน์ หรือ youtube

วิธีพูดจากของผู้นำประเทศนี้ ก็ย้อนยุคมากขึ้น

ท่าทีก้าวร้าว เคร่งเครียด และสั่งสอน มีลักษณะการออกคำสั่งแบบ top down ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่ เป็นพวกเบื่อง่าย เชื่อมั่นตัวเอง ไม่ชอบให้ใครมาสั่งสอน

บางครั้งบรรดาผู้ปกครองก็ขู่ว่า จะใช้มาตรการทางกฎหมายเล่นงาน บรรดาพวกใช้โซเชียลมีเดีย ในการ กดไลค์หรือกดแชร์

อันที่จริง การกดไลค์ ไม่ได้หมายความว่าชอบ หรือ เห็นด้วย แต่เป็นการรับรู้มากกว่า อาทิ การที่มีญาติพี่น้องของเพื่อนเสียชีวิต และเราไปกดไลค์ ก็หมายความว่า เรารับรู้ หรือเสียใจด้วย ไม่ใช่ชอบที่เห็นญาติเพื่อนเสียชีวิต

รัฐบาลทหาร ไม่เข้าใจธรรมชาติของโลกออนไลน์ ยังใช้วิธีจัดการแบบโบราณหรือแบบอนาล็อก คือ top down อย่างเดียว นายสั่งอย่างเดียว ใช้กฎหมายที่ตัวเองถืออำนาจ โดยไม่มีวิธีอื่น

การใช้กฏหมายในการควบคุมอำนาจของตัวเองอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาในโลกของ digital ได้เพราะโลกไม่ได้มีลักษณะ top down เหมือนเดิม แต่โลกแบนราบมากขึ้น กระจายและเชื่อมต่อสื่อสารเป็นโครงข่ายเป็นเส้นใยหลายล้าน ๆเส้นที่วิ่งหมุนวนรอบโลกอยู่ทุกวันนี้ จนยากในการที่รัฐจะเข้ามาเซนเซอร์แบบเดิมอีกต่อไป

และ การแก้ปัญหาทำได้สลับซับซ้อนมากขึ้น ยากขึ้น

ทุกวันนี้การแก้ปัญหาบนพื้นฐานของรัฐบาลเผด็จการแบบ analog ยิ่งทำจึงยิ่งเห็นรัฐบาลเป็นตัวตลกมากขึ้นไม่ทันเกมของเด็ก Gen Z Gen Y

หากลองเข้าไปในเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐส่วนใหญ่ ก็จะทราบว่ายังโบราณและล้าสมัยมาก บรรดานักรบไซเบอร์เกรียนๆทั้งหลาย จึงเข้าไปแฮ็กข้อมูลอย่างง่ายดาย

อย่าลืมว่า เด็กในโลกยุค Gen Z Gen Y เป็นคนสมาธิสั้น สนใจอะไรฉาบฉวย รักง่าย หน่ายเร็ว เบื่อไวไม่ใช่คนที่มีความซื่อสัตย์หรือเป็นแฟนคลับกันแบบเหนียวแน่นแบบคนโลกยุค analog

แรก ๆ เผด็จการแบบอนาล็อกอาจจะทำให้คนสนใจได้ระยะสั้น แต่นานวัน เผด็จการ analog ไม่ปรับตัว ไม่มีอะไรใหม่ ยังเดี่ยวไมค์ทุกวัน แถมอารมณ์เสียบ่อยผู้คนในยุค digital ก็จะปรับตัวเอง

โลกเปลี่ยนเร็วมาก ข่าวสารไหลไปอย่างรวดเร็ว ไม่อาจปิดกั้นได้เหมือนเดิม ขณะที่สังคมสลับซับซ้อนมากขึ้น การใช้อำนาจแบบเดิม มีแต่จะทำให้บ้านเมืองร้าวรานมากกว่าปรองดอง

สิ่งมีชีวิตใดไม่ยอมปรับตัว ก็นับถอยหลังสูญพันธุ์ได้

กรุงเทพธุรกิจ 17 ธค.58

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.