พังงาในความทรงจำครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ ๑๐ ปีเศษ
ผมไปเยือนเมื่อคราวเกิดเหตุการณ์สึนามิ วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ มีคนตาย ๓,๐๐๐ กว่าคน
ตอนนั้นแวะไปที่วัดย่านยาว อำเภอตะกั่วป่า เห็นโลงศพหลายร้อยกองสุมเรียงราย กลิ่นศพยังโชยติดจมูกอีกหลายวัน เห็นภาพถ่ายผู้เสียชีวิตหรือผู้เสียหายติดเต็มบอร์ดเพื่อให้ญาติพี่น้องมาตามหา
เดินทางต่อมาที่อำเภอคุระบุรี แล้วลงเรือข้ามไปที่เกาะพระทอง ไปเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือพรรคพวกที่ประสบภัยอยู่ที่นั่น ภาพติดตาคือ คนตายศพแล้วศพเล่าถูกหามออกมาเพื่อลำเลียงไปยังแผ่นดินใหญ่ ไม่นับกองเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ที่กระจายเกลื่อนชายหาด
ครั้งนี้ผมเดินทางไปคุระบุรีอีกตามคำร่ำลือว่ามีพืชน้ำชนิดหนึ่งซึ่งน่าจะเหลืออยู่ที่เดียวบนผืนโลกนี้ คือ พลับพลึงธาร
แน่นอนว่าในอดีตพืชน้ำชนิดนี้มีอยู่มากมายบนโลก แต่ความเจริญ การพัฒนา และความโลภของมนุษย์ ช่วยเร่งการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่กี่สิบปี
ธรรมชาติยังเมตตา เมื่อตา-ยายวัยใกล้ ๘๐ ช่วยกันดูแลพืชน้ำชนิดนี้ด้วยความรักแบบชาวบ้าน
ผมแวะมาหาลุงเลื่อนและป้าบุญช่วย มีแสง สองสามีภรรยาผู้มีอาชีพทำสวนยางพารามาช้านาน และมีคลองไร่ลุ่มไหลผ่านสวนของตน ลุงสังเกตว่าต้นพลับพลึงธารเป็นพืชช่วยยึดดินริมตลิ่ง ลดปัญหาหน้าดินพังทลาย ทำให้น้ำใสไม่ขุ่น จึงเริ่มคิดจะรักษาไม้น้ำชนิดนี้ไม่ให้หายไปจากลำธาร
ลุงเลื่อนเล่าให้ฟังว่า สมัยนั้นชาวบ้านมักจะมาขุดต้นพลับพลึง-ธาร โดยมีนายทุนมารับซื้อเต็มคันรถ
ลุงเลื่อนหยิบส่วนหัวของลำต้นพลับพลึงธารมาให้ดู หน้าตาไม่ต่างจากหัวหอม จนได้ชื่ออีกอย่างว่า หัวหอมน้ำ
“หัวละ ๕ บาท หากขุดเป็นกอ ได้กอละ ๒๐-๓๐ บาท” ตั้งแต่นั้นมาลุงจึงไม่ยอมให้ใครมาขุดเอาต้นพลับพลึงธารที่คลองช่วงไหลผ่านที่ดินของลุง “ต้องขัดแย้งกับชาวบ้านนานกว่าจะมีคนยอมรับ”
คลองที่ไหลผ่านสวนลุงเลื่อน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า คลองสวนลุงเลื่อน จึงยังมีไม้น้ำชนิดนี้อยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ ขณะที่บริเวณโดยรอบก็ค่อยๆ ร่อยหรอลงไป
จนกระทั่งปี ๒๕๕๒ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature – IUCN) มาทำงานวิจัยเพื่อหาวิธีอนุรักษ์ เพาะเลี้ยง และขยายพันธุ์พลับพลึงธาร โดยเลือกคลองสวนลุงเลื่อนเป็นพื้นที่หนึ่งในการวิจัย
ผลจากการศึกษาวิจัยทำให้ลุงเลื่อนได้เรียนรู้ว่า พลับพลึงธารมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เพราะจะขึ้นเฉพาะในน้ำสะอาด และมีระบบรากยาวช่วยยึดดิน ป้องกันไม่ให้หน้าดินถูกชะล้าง ส่วนใบที่ยาวสะบัดไปตามกระแสน้ำ กลายเป็นแหล่งอาศัย แหล่งอาหาร และเป็นที่วางไข่ของสัตว์น้ำ อย่างกุ้ง ปลา เช่น ปลากระทิง ปลาช่อน ปลาดุก ปลาชะโอน ฯลฯ
ผมเดินแวะไปหาต้นพลับพลึงธารตรงคลองคุณลุง โชคดีเป็นช่วงที่ต้นพลับพลึงธารกำลังออกดอกพอดี ปีละครั้งเท่านั้นประมาณปลายตุลาคมถึงปลายธันวาคม
พลับพลึงธาร (Crinum thaianum) หรือหอมน้ำ พลับพลึงน้ำ ช้องนางคลี่ หญ้าช้อง หรือว่านพระคงคา รูปร่างหน้าตาคล้ายต้นพลับพลึง เพียงแต่ขึ้นในน้ำ เป็นไม้น้ำที่มีดอกขนาดใหญ่สีขาว มีกลีบดอกหกกลีบ จะทยอยบานต่อเนื่องกันไป ดอกหนึ่งมีก้านเกสรหกก้าน ปลายก้านมีเกสรสีเหลือง ตัดกับสีเขียวของใบขนาดยาวที่อยู่ใต้ลำน้ำ ดอกชูช่อโผล่พ้นน้ำส่งกลิ่นหอมฟุ้ง ชวนให้หมู่ภมรมาผสมเกสร จนได้รับสมญาว่า “ราชินีแห่งสายน้ำ”
IUCN ยืนยันว่า พลับพลึงธารเป็นพืชเฉพาะถิ่นของไทย (endemic plant) และพบเพียงแห่งเดียวในโลก แถบจังหวัดพังงาตอนบนและระนองตอนล่าง ปัจจุบันเหลือแค่ ๑ เปอร์เซ็นต์ และพบขึ้นกระจัดกระจาย จึงได้ขึ้นบัญชีเป็นพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก (IUCN Red List of Threatened Species)
สาเหตุของการลดลงเนื่องจากการเก็บหัวจำหน่ายเป็นพืชน้ำประดับ หรือนำไปสกัดเป็นวัตถุดิบทำเครื่องสำอาง และสาเหตุใหญ่มาจากการขุดลอกคลองของหน่วยงานราชการเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม
ทุกเช้าลุงเลื่อนและป้าบุญช่วยจะขี่จักรยานคู่ใจเข้าสวนยางพาราเพื่อเก็บผักผลไม้ไปขายในตลาด พร้อมตรวจตราดูแลหอมน้ำตลอดลำคลองที่ไหลผ่านสวนประมาณ ๕๐๐ เมตร บางวันก็นอนใน “ขนำ” หลังเล็กที่ปลูกไว้ริมน้ำ เฝ้าระวังไม่ให้คนเข้ามาลักลอบขุดหัวหอมน้ำไปขาย
ลุงเลื่อนยังเก็บเมล็ดไปเพาะแล้วนำไปหว่านในน้ำ เป็นการช่วยแพร่กระจายต้นพลับพลึงธารตลอดลำคลอง ปัจจุบันพบว่ามีพลับพลึงธารประมาณ ๑ หมื่นกอ จากช่วงก่อนหน้านี้ที่ทีมนักวิจัยพบเพียง ๗,๐๐๐ กอ
“สมัยก่อนชาวบ้านแถวนี้เขาตั้งฉายาลุงเลื่อนว่า ตาเลื่อนบ้า” ดาบตำรวจ ชนาวุฒิ มีนวล แกนนำกลุ่มรักษ์พลับพลึงธารในพื้นที่ ผู้เป็นแนวร่วมสำคัญของลุงเลื่อน เล่าให้ฟังว่า
“สมัยก่อนคลองแถวนี้ขุดกันเกือบหมด จนกระทั่งลุงเลื่อนประกาศว่า ห้ามเข้ามาขุดพลับพลึงธารในคลองแถวบ้านลุงเด็ดขาด คนก็เลยหาว่าแกบ้า เพราะตอนนั้นไม่มีใครสนใจจะอนุรักษ์พืชชนิดนี้ไว้ ช่วงหลังพอออกข่าวว่าเป็นพืชชนิดเดียวในโลกที่มีอยู่แถวนี้ ก็มีคนสนใจและช่วยกันอนุรักษ์มากขึ้น”
แต่การขุดพลับพลึงธารไปขายก็ยังไม่ใช่สาเหตุใหญ่ เมื่อเทียบกับการขุดลอกคลองของหน่วยงานราชการต่างๆ โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันน้ำท่วม
“ลำคลองตามธรรมชาติที่มีต้นพลับพลึงธารขึ้นมากมาย ตั้งแต่คลองนาคา จังหวัดระนอง มาจนถึงพังงา โดนบรรดารถแทรกเตอร์ขุดลากไปทิ้ง ขุดคลองให้ลึก อ้างว่าเพื่อให้น้ำไหลเร็วและสะดวก ป้องกันน้ำท่วม คลองดินเปลี่ยนเป็นคลองชลประทานแบบเทคอนกรีต สิ่งมีชีวิตในน้ำก็หายไป รวมถึงพลับพลึงธารด้วย เมื่อน้ำไหลแรง ตลิ่งสองฝั่งจึงเสียหายหนักเวลาหน้าน้ำเพราะไม่มีใบพลับพลึงธารช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำ สุดท้ายก็ป้องกันน้ำท่วมไม่ได้เลย” ดาบตำรวจชนาวุฒิเล่าข้อเท็จจริงให้ฟังต่อว่า
“ลองสังเกตดูสิ น้ำในคลองเวลาไหลมาแรงๆ พอผ่านแถวที่มีพืชน้ำอย่างพลับพลึงธาร น้ำจะค่อยๆ ไหลเป็นวังน้ำ ช่วยให้ตลิ่งไม่ถูกแรงน้ำกระแทกทำลาย แต่หากไม่มีอะไรมาขวางกั้น น้ำจะเชี่ยวและไหลแรงมากจนตลิ่งพัง”
การกระทำอย่างสม่ำเสมอของลุงเลื่อนเป็นแรงบันดาลใจให้คนคุระบุรีเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ มีการจัดตั้งกลุ่มรักษ์พลับพลึงธาร มีกิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟู และมีกฎระเบียบต่างๆ ที่ห้ามการขุดหาหัวพลับพลึงธารเพื่อการค้า ที่สำคัญคือ พืชน้ำชนิดนี้กลายเป็นสัญลักษณ์การอนุรักษ์ลำน้ำคูคลอง ไม่ให้มีการขุดลอกคลองแบบเดิมอีกต่อไป อบต. ในพื้นที่บางแห่งที่เคยชินกับการขุดลอกคูคลองแบบเดิมก็เริ่มเปลี่ยนวิธีการ หันมาสนใจอนุรักษ์พลับพลึงธาร
อย่างไรก็ดีสถานะของพลับพลึงธารยังมิได้ถูกบรรจุในบัญชีของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES) หรือไซเตส และไม่ได้รับการคุ้มครองด้วยกฎหมายใดในประเทศไทย อีกทั้งแม่น้ำลำคลองซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพลับพลึงธารก็ยังไม่มีกฎหมายให้การคุ้มครอง นอกจากการช่วยเหลือกันเองของคนในชุมชน ซ้ำผู้นำระดับท้องถิ่นบางคนยังมองว่า พลับพลึงธารเป็นเพียงหญ้ารกๆ ไร้ประโยชน์ แต่ชาวบ้านเห็นว่า เป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์ไว้ การต่อสู้เพื่อไม่ให้พืชน้ำนี้สูญพันธุ์ไปจากโลกจึงยังคงเข้มข้นต่อไป
ก่อนกลับผมถามลุงเลื่อนว่า ดูแลพลับพลึงธารมาร่วม ๓๐ ปีแล้ว ได้อะไรบ้าง ลุงเลื่อนที่ไม่ค่อยพูด เงียบไปสักพักก่อนจะบอกว่า
“ลุงภูมิใจว่าทำให้ลูกให้หลาน ดีใจที่รักษาพลับพลึงธารได้เป็นบ้านสุดท้าย”
ทุกวันนี้พลับพลึงธารบริเวณคลองลุงเลื่อนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กเยาวชนทั่วไป ใครสนใจวิทยาศาสตร์อาจมาวัดค่ากรด-ด่างในลำน้ำ สังเกตการผสมเกสร ใครสนใจภาษาไทยอาจมาแต่งกลอนดอกพลับพลึงธาร ฯลฯ และทุกวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน จะจัดงาน“วันอนุรักษ์พลับพลึงธารแหล่งสุดท้ายของโลก”
จิตใจอันแน่วแน่ของลุงเลื่อนช่วยเตือนสติว่า
ทำอะไรก็ได้ แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ต้องทำต่อเนื่องและจริงจัง สักวันหนึ่งมันจะส่งผลสะเทือนเอง
- ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 371 มกราคม 2559
Comments
Pingback: ฉบับที่ ๓๗๑ มกราคม ๒๕๕๙ ‹ สารคดี.คอม