เมื่อป่าต้นน้ำแม่ปิงกลายเป็นไร่กระเทียม ไร่ข้าวโพด

cornfield

ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานเตือนหายนะที่รออยู่อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าว่า

“ภัยแล้งที่รุนแรงติดต่อกัน ทำให้น้ำในเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ที่กักเก็บน้ำจากแม่น้ำปิง เหลือน้ำใช้ได้แค่ราว ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของความจุ เป็นปริมาณน้ำน้อยสุดในรอบ ๕๑ ปี หรือตั้งแต่สร้างเขื่อนมา”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “หากมองจากสันเขื่อนภูมิพลลงไปบนพื้นน้ำ ไม่ต่างจากก้มมองจากตึกสูง เพราะตอนนี้เหลือน้ำเพียง ๑,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุเขื่อน ๑๓,๔๖๒ ล้านลูกบาศก์เมตร และแทบจะไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อนเลย ซึ่งปริมาณน้ำจะลดลงเรื่อยๆ เพราะยังต้องปล่อยน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศวันละ ๕ ล้านลูกบาศก์เมตร และหากระบายอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงฤดูฝนจะเหลือน้ำไม่ถึง ๕๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร”

ขณะสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาวิกฤต ผู้สื่อข่าวก็รายงานว่า

“เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ ๑๓.๙๐ เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ต่ำกว่าระดับวิกฤต ๑๐ เซนติเมตร มีสันดอนทรายโผล่ขึ้นกลางแม่น้ำเป็นระยะทางยาวหลายกิโลเมตร

“โดยเขื่อนเจ้าพระยาคงระบายน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม และผลิตน้ำประปาในจังหวัดภาคกลางและกรุงเทพมหานคร น้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะใช้ได้เพียง ๕ เดือนกว่าเท่านั้น”

ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมและพรรคพวกออกเดินทางไปสำรวจป่าต้นน้ำแม่ปิงในอุทยานแห่งชาติผาแดง (เดิมชื่ออุทยานแห่งชาติเชียงดาว แต่มีนักท่องเที่ยวหลายคนเข้าใจผิด คิดว่าอยู่ในพื้นที่ของดอยหลวงเชียงดาวซึ่งอยู่ในการดูแลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จึงมีการเปลี่ยนชื่อเพื่อความชัดเจน) บริเวณหมู่บ้านเมืองนะเหนือ ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว

ระหว่างทางก่อนจะเข้าป่า เราเห็นสถานปฏิบัติธรรมชื่อดังหลายแห่ง มีสิ่งก่อสร้าง รูปปั้นพระใหญ่โต ป่าด้านหลังถูกถางเตียนเป็นภูเขาหัวโล้น มีผู้คนดั้นด้นขับรถมานุ่งขาวห่มขาวปฏิบัติธรรมนับร้อยคน

เราขับรถมุ่งหน้าลึกเข้าไปในป่า พบด่านตำรวจตระเวนชายแดน เราบอกว่ามาเที่ยวเล่น และขับรถมุ่งหน้าต่อไป  ภูเขาสองข้างทางที่เคยเป็นป่า เห็นชัดเจนเลยว่าค่อยๆ ถูกบุกรุก หักร้างถางพง เผาป่า เปลี่ยนพื้นที่หลายพันไร่เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ

เมื่อถนนสุดทางเรายังคาดหวังว่าบริเวณป่าต้นน้ำแม่ปิงก็ยังน่าจะเป็นป่า  เมื่อเดินไปได้สักพักหนึ่งเราเห็นลำธารเล็กๆ น้ำใสแจ๋ว และเมื่อเดินไปเรื่อยๆ ก็เห็นดงต้นกล้วยขนาดใหญ่อันเป็นส่วนหนึ่งของต้นน้ำแม่ปิงซึ่งไหลหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนหลายสิบล้านคน

แต่ที่น่าเศร้าคือสองฝั่งลำธารซึ่งเคยเป็นป่าใหญ่ บัดนี้กลายเป็นไร่กระเทียม ไร่ข้าวโพดสุดลูกหูลูกตา  ผืนป่าที่เห็นอยู่ไกลออกไปอีกไม่นานก็จะถูกแผ้วถางเพื่อปลูกพืชไร่

“ตอนผมมาเดินธรรมยาตราเมื่อ ๓-๔ ปีก่อน แถวนี้ยังเป็นป่าใหญ่อยู่เลย ไม่กี่ปีมันเปลี่ยนไปเร็วมาก” นิคม พุทธา หนุ่มใหญ่ผู้เดินป่ามาตลอดชีวิตเล่าให้เราฟัง

ห่างไปอีกไม่ไกลคือดอยถ้วยซึ่งคนทั่วไปไม่รู้จัก แต่เป็นจุดกำเนิดแรกของต้นน้ำแม่ปิงที่เรียกว่า “ขุนปิง”  นิคมบอกว่า

“ดอยถ้วยเป็นดอยติดชายแดนไทย-พม่า ตอนนี้มีปัญหาความมั่นคง ทหารไม่อนุญาตให้เข้า  แต่หากขึ้นไปยอดดอยจะเห็นเส้นแบ่งเขตแดนชัดเจน ฝั่งพม่าเป็นป่าใหญ่ แต่ฝั่งไทยคือไร่กระเทียมและไร่ข้าวโพด”

เราเดินเลาะขึ้นไปตามลำธาร เห็นท่อสปริงเกอร์ต่ออย่างแน่นหนาขึ้นไปรดน้ำไร่กระเทียมในหุบเขา  น้ำบริสุทธิ์ที่เพิ่งออกจากต้นน้ำได้ไม่นานก็ถูกสูบขึ้นมาใช้เต็มที่อย่างรวดเร็วเพื่อรดน้ำพืชเหล่านี้

มีคนเคยกล่าวว่า หากฝนตกบนภูเขาที่เต็มไปด้วยป่าใหญ่ น้ำฝนจะขังอยู่ในป่าประมาณเก้าส่วน อีกหนึ่งส่วนไหลลงข้างล่าง และค่อยๆ ไหลรินไปหล่อเลี้ยงผู้คนด้านล่างตลอดปี  แต่หากเป็นภูเขาหัวโล้น น้ำฝนจะขังอยู่หนึ่งส่วน อีกเก้าส่วนไหลลงข้างล่าง

ป่าต้นน้ำแม่ปิงที่กำลังกลายเป็นภูเขาหัวโล้นอาจจะมีน้ำเหลือเพียงส่วนเดียว ไหลออกมาไม่ทันใดก็ถูกสูบไปใช้ทันที

เดินลึกเข้าไปเราเห็นชาวไทยใหญ่หลายคนกำลังฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเป็นฝอยละอองน้ำปกคลุมพื้นที่ข้างหน้า  กลิ่นยาฆ่าแมลงฉุนมากขึ้นเรื่อยๆ จนหายใจไม่ได้ สูดดมเข้าไปมากกว่านี้อันตรายอาจมาเยือนปอด เราจำเป็นต้องถอยออกมา ความหวังที่จะเดินขึ้นไปยังป่าต้นน้ำข้างบนก็จำเป็นต้องยุติลง

ดูเหมือนการเพาะปลูกกระเทียมและข้าวโพดบนพื้นที่ลาดชันนั้นจะมีต้นทุนมหาศาล เพียงแต่ไม่มีการคิดคำนวณอย่างชัดเจน  สิ่งที่สูญเสียไปไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ที่ผลิตออกซิเจน ดูดซับคาร์บอนได-ออกไซด์ และเป็นป่าต้นน้ำช่วยกักเก็บน้ำให้เราไว้ใช้ในหน้าแล้งนั้นไม่เคยนำมาคิดเป็นต้นทุน ไม่รวมถึงปัญหามลภาวะจากสารเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้าชนิดต่างๆ เจือปนในลำธารไหลลงไปหล่อเลี้ยงผู้คนตอนล่าง และสุดท้ายก็คือสุขภาพอันเสื่อมโทรมของชาวไร่ไทยใหญ่เหล่านี้ในอนาคต

ผู้ได้ประโยชน์เต็มๆ คือบริษัทเกษตรกรรมรายใหญ่

นี่คือภาพจริงของป่าต้นน้ำแม่ปิงที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวเหนือ และมารวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาหล่อเลี้ยงคนภาคกลางและคนกรุงเทพฯ ซึ่งกำลังถูกทำลายอย่างย่อยยับ และอัตราการทำลายป่าต้นน้ำก็เพิ่มขึ้นทุกปีอย่างน่าอัศจรรย์

ไม่มีใครห่วงหาอาทรว่า ป่าต้นน้ำถูกทำลายขนาดนี้เราจะอยู่กันอย่างไรหากขาดแคลนน้ำจริงๆ ขนาดแค่ต้นปีความแห้งแล้งของน้ำหรือระดับน้ำในแม่น้ำลดลงก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแบบไม่ทันตั้งตัวเลย

ไม่ไกลจากป่านี้มีฐานปฏิบัติการตำรวจตระเวนชายแดนที่สนใจแต่ภารกิจหลัก คือความมั่นคงชายแดน ปัญหาชนกลุ่มน้อย

ส่วนเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติผู้ดูแลโดยตรงอาจจะไม่กล้าเข้ามาถึงผืนป่าติดชายแดน หรือเป็นป่าที่ไกลจากการรับรู้ของผู้คน จึงไม่ได้ใส่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ทุกวันนี้การบุกรุกป่ายังมีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคณะผู้สื่อข่าวลงพื้นที่เพื่อจะเข้าไปดูผืนป่าต้นน้ำที่กำลังถูกทำลาย แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธไม่ให้เข้า เพราะผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ สั่งมาว่าบุคคลภายนอกห้ามเข้าเด็ดขาด

นี่คือวิธีแก้ปัญหาแบบข้าราชการไทยๆ ซุกปัญหาทุกอย่างไว้ใต้พรม ซึ่งเกิดขึ้นกับการบุกรุกป่าต้นน้ำเกือบทุกแห่งในภาคเหนือ คือรู้ปัญหา แต่ไม่มีหน่วยงานใด ผู้ใหญ่ หรือผู้มีอำนาจคนใดสนใจแก้ปัญหาอย่างจริงจัง นอกจากออกประกาศ เรียกร้องไม่ให้ชาวบ้านในพื้นที่ชลประทานทำนาสองครั้ง

หน้าแล้งนี้หากแม่น้ำปิงหยุดไหล ขาดน้ำกิน น้ำใช้ น้ำทำนา

แม่น้ำเจ้าพระยาตื้นเขินเป็นสันทราย ไม่มีน้ำให้คนกรุงเทพฯ ผลิตน้ำประปา

ก็อย่าโทษใครเลย นอกจากตัวเราเอง

  • ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 372 กุมภาพันธ์ 2559 

Comments

  1. ณชาถ ไชยเทพ

    อยากให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองให้คววมสำคัญของเรื่องนี้ก่อนที่จะสายเกินไป

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.