ภาพที่เห็นข้างบน คือ นายถิ่น จอ (ซ้ายมือ )เข้ารับตราตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 ถือเป็นผู้นำคนแรกของประเทศที่มาจากการเลือกตั้งในช่วงเวลากว่า 50 ปี
ภาพนี้ถือเป็นงานพระราชพิธีสำคัญของประเทศ บุคคลระดับประเทศแต่งชุดประจำชาติของเมียนมาร์หรือพม่า นุ่งโสร่งที่เรียกว่า “ลองยี” (Longeje) เป็นลายตาราง หรือเป็นลายทางยาวบ้าง
สวมเสื้อคล้ายเสื้อจีนแขนยาว ถึงข้อมือ และติดกระดุมตั้งแต่คอตรงมาจดชายเสื้อ ใช้สีสุภาพ เช่น ขาวดำ หรือ นวล
แต่ที่สะดุดตาคือทั้งคู่ใส่รองเท้าแตะ
รองเท้าแตะเป็นส่วนหนึ่งของชุดประจำชาติพม่ามาช้านาน และไม่ได้ดัดแปลงเป็นรองเท้าหุ้มส้น เพื่อให้ดูเป็นประเทศพัฒนาตามแบบวัฒนธรรมตะวันตกแต่อย่างใด ด้วยความรู้สึกว่า รองเท้าแตะไม่ทันสมัย เชย หรือเป็นรองเท้าไม่สุภาพ เห็นนิ้วเท้าโผล่ออกมา
พม่าเคยตกเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษมาหลายร้อยปี แต่ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์เครื่องแต่งกายตัวเองได้อย่างไม่เสื่อมคลาย
รองเท้าแตะในภาพนี้จึงท้าทายคนทั้งโลกว่า ความสุภาพของรองเท้านั้นวัดกันที่อะไร
อันที่จริงรองเท้าแตะน่าจะเป็นรองเท้าที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของพม่าได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า พม่ามีวัดและศาสนสถานจำนวนมาก คนพม่านิยมเข้าวัด
และทุกคนรู้ดีว่า เมื่อใดที่ก้าวเข้าไปสู่ในลานวัด ต้องถอดรองเท้าไม่ว่าจะเป็นชนชั้นระดับใด ตั้งแต่กษัตริย์ไปจนถึงสามัญชน
การถอดรองเท้าเป็นสิ่งที่ทุกคนปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะแดดร้อนเพียงใดเมื่อย่ำไปบนลานวัด
รองเท้าแตะใส่ง่าย ถอดง่าย สวมสบาย ระบายอากาศ ไม่เหม็นอับ จึงเหมาะกับวิถีชีวิตของคนพม่า และสภาพภูมิอากาศ ร้อน ชื้ ความสวยความงาม ความสุภาพก็ไม่ได้วัดกันว่า ต้องปิดมิดชิดไม่ให้เห็นนิ้วเท้า
ขณะที่คนยุโรป ใช้รองเท้าแสดงถึงฐานะของคนในสังคมมาช้านาน รองเท้าที่สุภาพต้องเป็นรองเท้าหนังหุ้มส้นซึ่งก็เหมาะกับอากาศหนาวของคนทางเหนือ ที่ต้องมีสิ่งห่อหุ้มเท้าด้วย
หากย้อนไปในอดีต รองเท้าแตะ อาจจะเป็นรองเท้าโบราณรุ่นแรก ๆ ที่มนุษย์ใช้ในการเดินทาง เพื่อทำหน้าที่รองเท้าจากพื้นดิน และมีสายวางอยู่ระหว่างนิ้วเท้าทั้งสองเพื่อหนีบรองเท้าไม่ให้หลุด
รองเท้าแตะเก่าแก่ที่สุดในโลกค้นพบในสมัยอิยิปต์เมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อน ซึ่งทำด้วยใบปาปิรุส ใบปาล์ม ฟางข้าว แผ่นไม้ หนังสัตว์ และเป็นยาง หรือพลาสติกในปัจจุบัน
เมื่อเจ็ดสิบปีก่อน รองเท้าแตะได้รับความนิยมไปทั่วโลกจนกลายเป็นแฟชั่นของเด็กวัยรุ่น เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อทหารสหรัฐอเมริกาได้นำเอารองเท้าแตะญี่ปุ่น ที่เรียกว่า ซริ และนักออกแบบได้ออกแบบรองเท้าแตะให้มีสีสันฉูดฉาดและใส่สบายจนกลายเป็นรองเท้าแฟชั่น หรือรองเท้าลำลองที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก
ในเมืองไทย รองเท้าแตะที่ได้รับความนิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีหลายยี่ห้อ อาทิ นันยางรุ่นช้างดาว ดาวเทียม ฯลฯ
แต่แม้จะเป็นรองเท้าลำลอง ใส่เดินเล่น หากเดินเข้าไปในสถานที่ราชการหรืออาคารสำนักงานหลายแห่งก็อาจจะถูกพนักงานรักษาความปลอดภัย ปฏิเสธไม่ให้เข้าไปในตัวอาคาร ด้วยสาเหตุคือไม่เคารพสถานที่
ผู้เขียนเคยรู้จักอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังท่านหนึ่ง มีนิสัยชอบสวมรองเท้าแตะเป็นประจำไม่ว่าจะไปไหน ท่านเคยโดนยามปฏิเสธไม่ให้ขึ้นไปบนอาคารเพื่อประชุมเพราะเป็นระเบียบของอาคารนั้นว่า ต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อย รองเท้าแตะคือความไม่สุภาพ สุดท้ายท่านก็ถอดเกือกแตะเดินเท้าเปล่าขึ้นไปบนตัวอาคารแทน
จ่าง แซ่ตั้ง ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ครั้งหนึ่งเคยถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปในงานแสดงแห่งหนึ่ง เพราะท่านใส่รองเท้าแตะ ถึงกับเอ่ยว่า
“เดี๋ยวนี้อารยธรรมวัดกันที่เกือก”
ทุกวันนี้เด็กวัยรุ่นทั่วโลกหันมาใส่รองเท้าแตะกันมาก คนรุ่นใหม่เริ่มรู้สึกว่า รองเท้าแตะไม่ใช้เพียงรองเท้าลำลองใส่สบายแต่สามารถสวมใส่ในงานพิธีอื่นได้ด้วย ขณะที่คนรุ่นเก่ายังมองว่าหากใส่รองเท้าแตะในงานพิธีสำคัญถือเป็นความมักง่าย ไม่รู้จักกาละเทศะ
ส่วนที่เมืองไทย ภาพรองเท้าแตะในงานพิธีสำคัญของรัฐไทย เชื่อว่าคงไม่ได้เกิดแน่นอน
กรุงเทพธุรกิจ 21 เมษายน 2559
Comments
การใส่รองเท้าแตะในห้างเดี๋ยวนี้ยอมรับกันมากขึ้น เมื่อก่อนแทบไม่ได้เลย..ถึงจะเข้าไปได้แต่ยังโดนมองแรง..อยู่