ต้นปีนี้ มีภาพยนตร์เล็ก ๆ เรื่องหนึ่งเข้าฉายโรงหนัง แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนดูมากนัก แม้ว่าจะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงตุ๊กตาทองรางวัลออสการ์หลายรางวัลรวมถึงเป็นตัวเก็งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และสุดท้ายก็ได้รับรางวัลคือเรื่อง Spotlight
ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริง เรื่องราวการทำข่าวสืบสวนระดับเทพ ของ Boston Globe หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นแต่มียอดจำหน่ายสูงฉบับหนึ่งในเมืองบอสตัน ที่นักข่าวใช้เวลานับปี ในการสืบหาความจริงเพื่อเปิดโปงการล่วงละเมิดเมิดทางเพศเด็กชาย และเด็กหญิง จากบรรดา คุณพ่อ บาทหลวงของคริสตจักร นิกายโรมันคาธอลิก
การล่วงละเมิดทางเพศนี้เกิดขึ้นมาร่วมสามสิบปี แต่ด้วยอิทธิพลของศาสนจักร การติดสินบนทนายความ อัยการ ตำรวจ ทำให้บรรดานักบวชเหล่านี้รอดพ้นจากการตกเป็นข่าว ถูกพิพากษา และติดคุกมาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อบรรณาธิการคนใหม่ของ Boston Globe มารับตำแหน่งและให้ความสนใจกับข่าวเล็ก ๆชิ้นนี้ซึ่งเคยถูกตีพิมพ์ จึงได้สั่งให้ทีมข่าวเจาะสี่คน ทำการสืบสวน แกะรอยเรื่องราวที่เกิดขึ้นมานานหลายสิบปีและสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน
หนังเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงมืออาชีพของการทำข่าวสืบสวน แบบกัดไม่ปล่อยแม้ว่าจะยากเย็นเพียงใด เพราะเป็นเรื่องเกิดนานแล้ว ข้อมูลแทบจะต้องเริ่มควานหากันใหม่ นักข่าวพบว่าบรรดานักบวชมักจะละเมิดทางเพศกับเด็กที่มีฐานะทางบ้านยากจน และเมื่อเกิดเรื่องแล้วครอบครัวก็จะพยายามปิดข่าว เพราะความอับอาย กลัวว่าจะไม่มีใครเชื่อ กลายเป็นปมด้อยของเด็กติดตัวไปตลอดชีวิต และหลายคนก็ฆ่าตัวตาย
เหยื่อหลายคนจึงปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์นักข่าว ขณะเดียวกันบรรดานักข่าวก็เจออิทธิพลเจอการข่มขู่ทางอ้อม และที่สำคัญคือ บอสตันเป็นเมืองคาทอลิคมีพระสังฆราชคาร์ดินัลเป็นศูนย์กลางความเชื่อความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนจักร ชาวเมืองให้ความเคารพมากและแม้ว่าหลายคนจะทราบความฉ้อฉลของนักบวช แต่ก็แกล้งทำเป็นไม่เห็น ไม่ให้ความสำคัญกับอีแค่เด็กยากจนถูกพระข่มขืน เพราะกลัวความเสื่อมศรัทธาของศาสนา
และโชคร้ายอีกเมื่อนักข่าว พยายามสืบเจาะเรื่องนี้ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ 9/11 ทำให้บรรดาคริสตจักรกลายเป็นศูนย์รวมในการเยียวยาจิตใจของชาวอเมริกัน และปลุกพลังความรักชาติเพื่อสู้กับศัตรู ยิ่งทำให้ศาสนามีความศักดิ์สิทธิ์ จนยิ่งไม่มีใครกล้าแตะ
แต่หนังได้แสดงให้เห็นถึงความสุขุม ความฉลาดของบก.ใหญ่ ที่ให้กำลังใจ ชี้นำประเด็นให้นักข่าวจนในที่สุด สามารถสืบสวนจนพบว่า มีบาทหลวงเกือบ 90 คน ในบอสตันที่มีส่วนในการละเมิดทางเพศเด็กนับพันคนเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ได้รับการปกป้องจากพระคาร์ดินัลผู้นำศาสนาของตัวเอง ราวกับว่าไม่เกิดอะไรขึ้น
มีฉากหนึ่ง นักข่าวใจร้อนคนหนึ่งสามารถหาหลักฐานมัดตัวนักบวชคนหนึ่งผู้กระทำผิด และอยากให้เปิดข่าวเร็ว ๆ จนทะเลาะกับบก. ซึ่งพูดได้ดีมากว่า “หากเราตีพิมพ์ข่าวตอนนี้ เราก็จะได้แค่จับบาทหลวงคนเดียวแต่เราต้องสู้กับระบบ เพราะระบบมันเลวร้าย คือตัวศาสนจักร ไม่ใช่ตัวบุคคลอย่างเดียวหากหน้าที่ของสื่อมวลชนคือจะเปลี่ยนสังคม ต้องทำให้ระบบเปลี่ยน ไม่ใช่แค่ตัวบุคคล”
บก.พูดต่อไปว่า “ที่พวกเรามารวมกันทำงานชิ้นนี้อย่างอดหลับอดนอนมาหลายเดือน ไม่ใช่อะไรอื่น เพราะนี่คือหน้าที่ของนักข่าว ที่ต้องเปลี่ยนให้สังคมดีขึ้น ไม่ใช่ทำให้เป็นแค่ข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์สองสามวัน และก็เงียบไปทุกอย่างก็เหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยน”
สุดท้ายจากความกดดัน จากการทำงานหนัก การไม่ยอมจำนนกับอุปสรรคอันยากเย็นแสนเข็ญ พอหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้เริ่มรายงานข่าวการละเมิดทางเพศเด็ก ก็เริ่มมีเหยื่อจำนวนมากทยอยส่งข้อมูลมาให้เรื่อย ๆจนสามารถรายงานข่าวเรื่องนี้ได้มากกว่า 600 ชิ้น ทำให้พระคาร์ดินัลต้องลาออกจากตำแหน่งในเมืองบอสตัน(แต่ไปประจำที่กรุงโรม ซึ่งแสดงว่าสุดท้ายก็ปกป้องพวกเดียวกัน )
และเป็นจุดเริ่มต้นที่เปิดโปงว่า บาทหลวงแห่งคริสตจักรหลายพันคนทั่วสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกก็มีพฤติกรรมในการละเมิดทางเพศกับเด็กหญิง เด็กชาย
ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วสะท้อนมาดูวงการข่าวบ้านเรา จะพบว่า ข่าวประเภทสืบสวนหรือข่าวเจาะนับวันจะหาดูยากมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่บ้านเรามีปัญหาหลายประเด็น อาทิความมัวหมองของศาสนา การทุจริตในวงราชการ ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่การรายงานข่าวก็เป็นเพียงการแตะ ๆให้พอเป็นข่าวว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ไหน เมื่อไร แล้วก็หายไป ยากมากที่จะกัดไม่ปล่อย
ส่วนตัวเชื่อว่ายังพอมีนักข่าวไฟแรง แต่บก.ใหญ่ที่คอยชี้ประเด็นและให้การสนับสนุน ไม่แน่ใจว่ายังจะมีมากน้อยเพียงใดที่มีบก.ยึดมั่นในอุดมการณ์เหมือนกับ บก.ของ Boston Globe ที่ทำตัวเป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อน และย้ำว่า การรายงานข่าวต้องสามารถเปลี่ยนแปลงระบบที่ไม่ดีได้ ไม่ใช่เฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น
มันยากมาก แต่นี่คือความสง่างามและศักดิ์ศรีของอาชีพสื่อมวลชน ซึ่งนับวันจะหายากมากในสังคมไทยขณะนี้
กรุงเทพธุรกิจ 21 มค. 59
Comments
Thanks a lot !