สิมคู่ สะท้านชาวอีสาน

“คันเจ้าได้ขี่ ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า”พญา หรือสุภาษิตคำสอนเก่าแก่บทนี้ประทับใจผมมาตั้งแต่เยาว์วัย สะท้อนความรู้สึกของชาวอีสานได้อย่างดี

กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผมไปจังหวัดร้อยเอ็ด พรรคพวกพานำชมสิมโบสถ์หลังเล็ก สถานที่ที่ผมอยากแวะชมทุกครั้งเมื่อมาเยือนแผ่นดินอีสาน

สิม เป็นคำเรียกโบสถ์ในภาษาอีสาน เสียงกร่อนมาจาก “สีมา” ในภาษาบาลีสันสกฤต หมายถึงเขตหรืออาณาเขตที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ทำกิจกรรมในพระพุทธศาสนา สิมจึงหมายถึงอุโบสถ อาคารขนาดเล็ก มีสัดส่วน โครงสร้างการตกแต่งภายนอก-ภายใน ทุกอย่างดูพอดี พอเหมาะ ไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป เป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมพื้นบ้านอีสานที่มีรูปแบบเรียบง่าย หนักแน่น มีพลัง มีความสมถะ ซึ่งสะท้อนความจริงใจของชาวอีสาน

IMG_5659

สิมอีสานหลังแรกที่ไปเยือนอยู่ในอำเภออาจสามารถ

ก่อนหน้านี้อาจไม่มีใครรู้จักอำเภอเล็ก ๆ จนกระทั่งเกิดคำว่า “อาจสามารถโมเดล” เมื่อ ๑๐ ปีก่อน อำเภอนี้จึงโด่งดังไปทั่วประเทศ

อาจสามารถได้รับเลือกเป็น “พื้นที่นำร่องศึกษาและแก้ปัญหาความยากจนของคนชนบท” ในยุครัฐบาลทักษิณ เนื่องจากเป็นอำเภอแรกของประเทศที่ได้รับโอนเงิน ๓๑ ล้านบาทครบถ้วนตามโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) โดยระหว่างวันที่ ๑๖-๒๑ มกราคม ๒๕๔๙ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาร่วมใช้ชีวิตกับชาวบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน รับฟังเรื่องหนี้สินทั้งในและนอกระบบอันเนื่องมาจากที่ดินทำกิน และสั่งการตรงแก่เจ้าหน้าที่ให้เร่งแก้ปัญหาทันที มีการถ่ายทำ “รายการเรียลิตีโชว์” ออกอากาศทั่วประเทศ อ้างว่าเป็นแบบอย่างให้ข้าราชการใช้เป็นโมเดลการทำงาน ขณะที่ฝ่ายค้านมองว่าเป็นวิธีหาเสียงระดับเทพ

เราแวะไปวัดดงเจ้าปู่มเหศักดิ์สิตารามและดูบริเวณที่คุณทักษิณเคยมากางเต็นท์นอน นุ่งผ้าขาวม้าอาบน้ำจากขัน ในช่วงมาลงพื้นที่อาจสามารถโมเดล จนเรียกเรตติงได้สูงยิ่ง

แต่จุดหมายอยู่ที่สิมวัดจักรวาลภูมิพินิจ หรือวัดหนองหมื่นถ่าน ที่บ้านหนองหมื่นถ่าน

ตําบลหนองหมื่นถ่านก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๓๓๐ ซึ่งตรงขอบตอนบนของทุ่งกุลาร้องไห้นั้นเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ไม่ต่ำกว่า ๒,๕๐๐ ปี

หลายสิบปีก่อนผมเคยมาทำสารคดีเรื่องทุ่งกุลาร้องไห้แถบนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งกุลาร้องไห้ ทุ่งกว้างใหญ่พื้นที่ ๒ ล้านกว่าไร่ อาณาเขตครอบคลุมห้าจังหวัด สาเหตุที่เรียกชื่อนี้เล่ากันมาว่า ชนเผ่ากุลาจากเมืองเมาะตะมะเดินทางมาค้าขายผ่านทุ่งกว้างขวาง แต่ไม่พบหมู่บ้าน ไม่มีน้ำดื่ม ไร้ต้นไม้ให้ร่มเงา มีแต่ทุ่งหญ้าเหมือนทะเลทราย คนพวกนี้ถึงกับร้องไห้ แม้ปรกติพวกเขาจะมีความอดทนสูงมาก ทุ่งแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิระดับประเทศ

บ่ายแก่ ๆ วันนั้นผมเดินสำรวจสิมวัดหนองหมื่นถ่าน ขนาดเล็ก ๆ กะทัดรัด กว้าง ๕.๓๐ เมตร ยาว ๗.๘๐ เมตร รูปทรงเรียบง่าย ผนังก่ออิฐฉาบปูน ไม่ใหญ่โตอลังการเหมือนโบสถ์ในภาคกลาง ลักษณะทางศิลปกรรมเป็นสิมแบบพื้นเมืองอีสานที่เรียกว่าสิมทึบ ไม่มีช่องหน้าต่าง

ทางขึ้นบันไดมีตัวมอม สัตว์ในเทพนิยาย รูปร่างคล้ายสิงห์ แต่รายละเอียดน้อยกว่า หมอบเฝ้าอยู่สองข้าง ที่ผมสะดุดตามากคือลวดลายไม้แกะสลัก คันทวย ช่อฟ้า หน้าบัน และโดยเฉพาะรังผึ้ง เด่นเป็นสง่ามาก มีลวดลายแกะสลักไม้แผ่นใหญ่ละเอียด งดงาม และดูมีชีวิตมีพลังอย่างน่าประหลาดจนต้องพิจารณาดูหลายครั้ง

FullSizeRender

ที่น่าสนใจคือ โดยทั่วไปจิตรกรรมจะมีเฉพาะภายในโบสถ์ แต่สิมนี้ภายนอกมี “ฮูปแต้ม” หรือภาพฝาผนังเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ภาพขุมนรก และภาพพระพุทธองค์ขณะปลงพระเกศา มีพระอินทร์มารับนำไปประดิษฐานยังเจดีย์จุฬามณี ภาพเขียนฝีมือช่างเขียนพื้นบ้านอายุ ๒๐๐ กว่าปี ลายเส้นเป็นเอกลักษณ์และเรียบง่าย ดูมีชีวิต และสีธรรมชาติที่ใช้ยังสดเข้มมาจนถึงทุกวันนี้

ผมเดินทางต่อมายังสุวรรณภูมิ อำเภอที่เคยเป็นเมืองเก่าแก่ในอดีตเทียบชั้นกับเมืองร้อยเอ็ด

กล่าวคือเมื่อปี ๒๒๕๖ พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างจำปาสักโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าแก้วมงคลคุมไพร่พล ๓,๐๐๐ คน มาสร้างเมืองขึ้นใหม่ในดินแดนอีสานตอนล่าง เรียกชื่อว่า เมืองทุ่งศรีภูมิ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เจ้าเมืองขอสวามิภักดิ์ จึงถูกผนวกรวมกับราชอาณาจักรสยาม โดยยกบ้านกุ่มฮ้างขึ้นเป็นเมืองร้อยเอ็ด ส่วนเมืองทุ่งฯ นั้นเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่ไม่เหมาะสม จึงย้ายไปตั้งบริเวณดงท้าวสาร ให้ชื่อว่าเมืองสุวรรณภูมิ ซึ่งก็คืออำเภอสุวรรณภูมิในเวลาต่อมา

สิมในวัดสระเกตุแห่งบ้านน้ำคำ ตำบลน้ำคำ อำเภอสุวรรณภูมิ นั้นแปลกกว่าที่อื่น คือมีสิมสองหลังในวัดเดียวกัน สิมที่สร้างตอนแรกเดิมเป็นโบสถ์ ต่อมาใช้เป็นวิหาร ส่วนสิมที่สร้างตอนหลังใช้เป็นโบสถ์ จึงเรียกว่าสิมคู่

สิมวัดสระเกตุสร้างในลักษณะและขนาดที่ใกล้เคียงกันมาก หลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกว่า วัดสระเกตุสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ช่วงที่กลุ่มชนวัฒนธรรมไท-ลาวมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดบริเวณเมืองท่งหรือเมืองทุ่ง คืออำเภอสุวรรณภูมิในปัจจุบัน วิหารที่เห็นนี้เดิมเป็นสิม (โบสถ์) ทึบ มุขหน้าทำเป็นเครื่องไม้ประดับ แกะสลักลวดลายรูปราหูอมจันทร์และลายพรรณ-พฤกษาตามแบบพื้นถิ่น

สิมอีกหลังตั้งอยู่ทางทิศเหนือคู่วิหาร สร้างในช่วงปลายรัชกาลที่ ๔ เป็นอาคารโปร่งฐานสูง มุขหน้าแกะสลักลายเหมือนสิมหลังแรก

เพื่อนชาวร้อยเอ็ดพาผมเดินดูความแตกต่างของสิมทั้งสอง ซึ่งหากไม่สังเกตจะไม่รู้เลย คือสิมหลังแรกมีประตูทางเข้าด้านทิศใต้ ส่วนสิมที่สร้างทีหลังมีประตูทางเข้าหันหน้าไปทิศตะวันออก

เราทราบดีว่าทางเข้าโบสถ์ส่วนใหญ่จะหันไปทางทิศตะวันออก แต่เหตุไฉนสิมหลังแรกจึงหันหน้าไปทางทิศใต้

ครูชาวร้อยเอ็ดบรรยายเรื่องเล่าของคนแถวนี้ว่า สิมแรกคนลาวที่อพยพเข้ามาสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้สร้าง ด้วยคติของคนลาวที่หันไปกราบพระแก้วมรกตพระคู่บ้านคู่เมืองซึ่งตอนนั้นอยู่เวียงจันทน์ จึงสร้างประตูทางเข้าหันไปทางทิศใต้ พอสมัยรัชกาลที่ ๔ พระสายธรรมยุติต้องการล้มเลิกอิทธิพลพุทธศาสนาของลาวซึ่งเป็นมหานิกาย แต่ไม่กล้าหักล้างความเชื่อของชาวบ้านในอีสานเรื่องประตูทางเข้าสิม จึงได้สร้างสิมใหม่ลักษณะคล้ายกัน เพียงแต่มีบันไดทางเข้าด้านทิศตะวันออก แต่สุดท้ายก็ไม่อาจล้มล้างศรัทธาของพี่น้องไทยลาวได้

กลายเป็นสิมคู่มาจนถึงทุกวันนี้

ส่วนเรื่องเล่าความขัดแย้งของสองนิกาย เท็จจริงจะเป็นอย่างไรคงต้องให้นักประวัติศาสตร์หาหลักฐานพิสูจน์ต่อไป

ผมเดินดูลักษณะโบสถ์ขนาดกะทัดรัดของสิมคู่ รู้สึกถึงความเป็นคนอีสานที่มีความเรียบง่าย สมถะ หนักแน่น มีพลัง แสดงถึงคุณลักษณะแห่งความจริงใจ อันเป็นคุณสมบัติเด่นของชาวอีสาน

ที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมสะท้อนตัวตนของคนสร้างจริง ๆ

  • ตีพิมพ์ใน สารคดี ฉบับที่ 373 มีนาคม 2559

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.