เมื่อชาวอีสานปกป้องไม้พะยูง

 

หลายคนยังมีความเชื่อว่า ไม้สักคือไม้ราคาแพงที่สุด นั่นอาจเป็นเรื่องราวในอดีต เพราะปัจจุบันนี้ ราชาแห่งไม้ทั้งปวงคงหนีไม่พ้น Siamese Rosewood หรือ ไม้พะยูง

“พะยูง” เป็นไม้เนื้อแข็งเช่นเดียวกับไม้สัก ตะเคียน เชื่อว่าบ้านใดปลูกไว้ประจำบ้าน จะทำให้บุคคลในบ้านมีแต่ความเจริญ มีฐานะดีขึ้นเพราะพยุงคือการประคับประคองให้คงอยู่ ให้มั่นคงหรือการยกให้สูงขึ้น

พะยูงเป็นหนึ่งในเก้าไม้มงคล  ประกอบด้วย ชัยพฤกษ์, ราชพฤกษ์, ทองหลวง, ไผ่สีสุก, กันเกรา, ทรงบาดาล, สัก, พะยูง, ขนุน

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีการจับไม้พะยูงในตู้คอนเทนเนอร์นับร้อยตู้ที่ท่าเรือคลองเตย  และต่อมามีนายทุนผู้กว้างขวางพยายามใช้เงินวิ่งเต้นให้มีการปล่อยไม้เหล่านี้ออกมา ด้วยมูลค่าถึง ๑,๗๐๐ ล้านบาท

หากค่าสินบนแพงขนาดนี้ ราคาไม้พะยูงจะสูงขนาดใด

ในโลกนี้มีไม้พะยูงแค่ในประเทศไทย เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ และเขมรแต่ความนิยมและความต้องการกลับไปอยู่ที่ประเทศจีน

ในอดีตเครืองไม้ เฟอร์นิเจอร์ประดับบ้านชั้นเลิศสมัยราชวงศ์หมิงและชิงคือไม้เนื้อสีแดง มีความแข็งแรง ทนทานและเนื้อสวยเรียบไม้เหล่านี้คนจีนเรียกว่า ไม้ หงมู่ แปลว่า ไม้แดง

ไม้แดงมาจากต้นไม้หลายชนิด แต่ที่เรียกว่า เป็นราชาของไม้แดงคือ ไม้พะยูง หรือ Siamese Rosewood

ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อเศรษฐกิจของจีนเฟื่องฟู ความนิยมเฟอร์นิเจอร์ไม้ หงมู่ จึงกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ในบรรดาผู้มีอันจะกินทำให้มีความต้องการไม้แดง โดยเฉพาะไม้พะยูงมากและพุ่งขึ้นสูงสุดในช่วงที่ปักกิ่งเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปีพ.ศ.๒๕๕๑  มีการนำเข้าไม้พะยูงมากเพื่อไปซ่อมแซมพระราชวังต้องห้ามตบแต่งบ้านเมืองต้อนรับงานกีฬาระดับโลก ราคาไม้เหล่านี้จึงแพงมหาศาล

ในนครเซียงไฮ้ มีคนเคยเห็นเตียงไม้พะยูงวางขายในราคาเตียงละ ๓๕ ล้านบาท

ตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มูลค่าการซื้อขายไม้ในประเทศจีนสูงเกือบแสนล้านบาททีเดียว

กล่าวกันว่า ไม้พะยูงหากไปถึงเมืองจีน มีราคาตันละ ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาททีเดียว

จึงไม่น่าแปลกใจในรอบสิบปีที่ผ่านมา เราเห็นข่าวการจับไม้พะยูงกันตลอดทั้งปี  จากราคาอันแสนยั่วใจ ปราบเท่าไรก็ไม่หมดสิ้น โดยเฉพาะในป่าภาคอีสาน แหล่งที่พบพะยูงมากในไทย อยู่ในกลุ่มป่าภูพาน-ภูสระดอกบัว กลุ่มป่าพนมดงรัก-ผาแต้ม กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาวและกลุ่มป่าดงพญาเย็นและเขาใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งไม้พะยูงสำคัญของประเทศ

ในบัญชีแดงของสหภาพเพือการอนุรักษ์ธรรมชาติ  International Union for Conservation of Nature and Natural Resource( IUCN)  ไม้พะยูงถูกจัดให้เป็นไม้ประเภทที่มีความเสี่ยงจะสูญพันธุ์มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ทั่วโลกเห็นพ้องว่าจะต้องปกป้องไม้พะยูงภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES  (The Convention on InternationalTrade in Endangered Species) ไม้พะยูงถูกขึ้นบัญชีอนุรักษ์แนบท้ายประเภทสอง คือห้ามตัดไม้ในพื้นที่ที่มีการกระจายพันธุ์ไม้

สถานะของไม้พะยูงในปัจจุบันคือเป็นไม้ใกล้สูญพันธุ์ประมาณการว่าแต่ละปีมีการลักลอบนำไม้พะยูงออกจากเมืองไทย ๕๐,๐๐๐ ลูกบาศ์กเมตร และจับได้เพียง ๑ % เท่านั้น ปัจจุบันพะยูงจากไทยและลาวจะถูกตัดเป็นท่อนเล็กลงเรื่อยๆ ให้รอดการจับกุมเส้นผ่าศูนย์กลางแค่ ๕ เซนติเมตร ก็พบแสดงถึงมีความต้องการสินค้าสูงมาก

ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ไทย สามารถจับไม้พะยูงได้ถึง ๓๖๐,๐๐๐ ทั่วประเทศ

จากการสืบสวนของหน่วยงานสืบสวน Environmental Investigation Agency  (EIA) ได้พบว่า ปากเซในประเทศลาว เป็นศูนย์กลางการรับส่งไม้ไปประเทศจีน มีบริษัทจากเมืองจีน มาเปิดหลายแห่ง Shanghai Hongxu International Trading (Hongxu) หนึ่งในบริษัทรับซื้อไม้พะยูงจากลาวและเวียดนาม ได้บอกว่า   ขณะนี้ไม้พะยูงในลาวใกล้หมดแล้ว ไม้ที่นำเข้าจีนส่วนใหญ่ลักลอบนำมาจากเมืองไทย

ทุกวันนี้การปราบปรามผู้ลักลอบตัดไม้พะยูงในป่า คือปัญหาใหญ่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ภาคอีสาน ที่ต้องออกลาดตระเวณดูในพื้นที่ป่าอุทยานเป้าหมาย จนมีการปะทะกับผู้ลักลอบหลายครั้ง

แต่ห่างออกไปในจังหวัดร้อยเอ็ด ป่าชุมชนแห่งหนึ่ง กลับมีไม้พะยูงหนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย

หน้าแล้งที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปป่าดงทำเล-ดอนใหญ่ บ้านหนองบั่ว ตำบลช้างเผือก อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดในอดีตบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของป่าดิบแล้งผืนใหญ่ที่ขนาบด้วยทุ่งกุลาร้องไห้ และลำน้ำชีทางฝั่งขวา มีชื่อเรียกว่า ป่าดงใหญ่ ป่าผืนใหญ่ทางภาคอีสาน  ต่อมาในยุคที่เรียกว่า “ทุนมา ป่าแตก น้ำตัน” ประมาณช่วงปี ๒๕๐๔-๒๕๒๕  สภาพป่าค่อย ๆ หมดไป เปลี่ยนป่าให้เป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง อ้อย ยูคาลิปตัส ยางพารา ฯลฯ

แต่เป็นความโชคดีที่ชาวบ้านหนองบั่วบอกว่า บรรพบุรุษของพวกเขาได้กันพื้นที่ป่าเก็บเอาไว้เป็น “ดงทำเล” อันหมายถึงเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของชาวบ้านใช้ร่วมกัน เป็นพื้นที่ป่าชุมชนประมาณ ๑,๒๐๐ ไร่

ตอนที่ผู้เขียนลงพื้นที่กับคณะกรรมการรางวัลลูกโลกสีเขียว ก็คิดว่าน่าจะเป็นป่าชุมชนธรรมดาที่ชาวบ้านหลายแห่งช่วยกันรักษาไว้ แต่เมื่อชาวบ้านได้พาไปดูป่าชุมชนผืนนี้แล้ว ก็ต้องตื่นตะลึงกับสภาพป่าที่เห็น

เมื่อเดินเข้าไปในป่า ต้นไม้หลักที่พบเห็น ส่วนใหญ่คือ ไม้พะยูง

เราเดินลึกเข้าไปจนถึงต้นพะยูงขนาดใหญ่  รูปทรงตรงดิ่ง มองขึ้นไปน่าจะสูงเกิน ๑๐ เมตร ไม่เคยเห็นพะยูงในป่างดงามและสูงใหญ่เท่าต้น

อาจารย์ด้านป่าไม้ที่ไปด้วย บอกว่า

“พวกลักลอบตัดไม้พะยูงเห็นแล้วคงน้ำลายสอ  ราคาต้นนี้น่าจะไม่ต่ำกว่า ๓  ล้านบาท หากลักลอบออกไปถึงลาวราคาคงเกิน ๑๐ ล้านแน่นนอน”

ป่าผืนนี้ชาวบ้านบอกว่า มีต้นพะยูงที่พวกเขาขึ้นทะเบียนเอาไว้แล้ว ๑,๓๗๖  ต้น

รวมมูลค่าเท่าไรไปคำนวณกันเอง

ในช่วงวิกฤติการตัดไม้พะยูงเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา  ชุมชนแห่งนี้ประสบปัญหาการลักลอบเข้ามาตัดไม้พะยูงมาก แต่ชาวบ้านก็ได้ระดมกำลังจัดเวรยามอย่างแข็งแรง รอบ ๆ ป่า ต้นพยุงนี้คงโดนตัดไปนานแล้ว หากชาวบ้านหนองบั่ว ในร้อยเอ็ดไม่ช่วยกันรักษาไว้ ในป่าชุมชนของพวกเขา

ผู้เขียนเห็นป้อมยามกระสอบทรายเป็นจุด ๆ  มีชาวบ้านอาสามาเข้าเวรกันตลอดทั้งคืน เพื่อความไม่ประมาท ชาวบ้านออกมาช่วยกันเป็นเวรยามแบบจิตอาสากว่า ๑๕๐ คน  ผลัดกันออกลาดตระเวนเฝ้าป่ามาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ จนปัจจุบัน เป็นเวลาสามปีกว่าไม่ได้หยุดเลยแม้แต่คืนเดียวเพื่อปกป้องป่าพะยูง ผืนสุดท้าย ที่เป็นไข่แดงท่ามกลางสวนยางและนาข้าวเอาไว้อย่างน่าสรรเสริญ  โดยไม่มีใคร เข้ามาช่วยไม่ได้รับค่าตอบแทน แถมยังต้องเสียสละเงินส่วนตัวช่วยกันสร้างป้อมยามและเสบียงอาหาร

“คืนหนึ่ง เราได้ยินเสียงเลื่อยยนต์ในป่า จึงระดมกำลังเข้าไปดูปรากฏว่าคนร้ายตัดต้นพะยูงลงมาได้ แต่ยังไม่ทันตัดเป็นท่อน ๆหนีไปเสียก่อน ตอนที่เห็นชาวบ้านมา”  นายดวงจันทร์ พาลำโกน ประธานป่าชุมชนได้พาผู้เขียนไปดูพะยูงขนาดใหญ่ต้นหนึ่งที่ถูกตัดลงมาชาวบ้านลงมติว่าไม่ให้เคลื่อนย้าย เก็บเอาไว้เป็นบทเรียนให้กับลูกหลาน

คนนอกอย่างผู้เขียนอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมชาวบ้านไม่เอาไม้พะยูงไปขายบ้าง เมื่อราคามันยั่วใจขนาดนี้

“มองไปรอบ ๆ หมู่บ้านนี้สิ ที่อืนแห้งแล้งมาก แต่บ้านเราไม่เคยขาดน้ำมีน้ำไหลตลอดปี เพราะป่าแห่งนี้เป็นป่าต้นน้ำ  เป็นต้นแม่น้ำชีที่ไหลไปหล่อเลี้ยงพี่น้องชาวอีสาน หากมีการเริ่มตัดไม้พะยูงหนึ่งต้นมันก็จะไม่หยุดแค่นั้น “

“ไม่มีป่า ไม่มีน้ำ”  คงไม่ได้หมายถึงป่าบางชนิดเท่านั้นยังรวมถึงป่าไม้พะยูงอันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดด้วย

ขอคารวะชาวบ้านหนองบั่วด้วยใจจริง

ขอบคุณ สถาบันลูกโลกสีเขียว

ข้อมูลบางส่วนจาก  Environmental Investigation Agency  (EIA)

 สารคดี สิงหาคม ๒๕๕๙

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.