“เจ้าค่างแว่นแม่ลูกอ่อนกำลังพยายามโหนตัวจากกิ่งไม้ต้นนี้ไปยังอีกต้นเพื่อหาลูกไทรมาประทังชีวิต มันไม่ได้กินอะไรมาหลายวันแล้ว และการโหนตัวจากกิ่งไม้ไปมาก็พาเอาเรี่ยวแรงของมันอ่อนล้าลงเรื่อย ๆ
“ลูกอ่อนเกาะติดแน่นอยู่บนหน้าอกเหี่ยวแห้งของมัน น้ำนมที่เคยคัดแน่นเต็มเต้าก็เหือดแห้ง… ไม่มีแม้แต่ให้ลูกได้ดูดกินประทังความหิวโหย
“หลายวันต่อมา…ขณะที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งแล่นเรือออกไปในท้องน้ำอันกว้างไพศาลเพื่อช่วยเหลือชีวิตสัตว์ป่าที่ติดอยู่ตามต้นไม้ พวกเขาได้พบเห็นเจ้าค่างคู่นี้เกาะอยู่บนยอดไม้ที่ยืนตายซากอยู่ไกลลิบ
“แต่เมื่อแล่นเรือเข้าไปใกล้ กลับเป็นซากแห้ง ๆ ของค่างตัวเมียที่เกาะติดแน่นอยู่บนต้นไม้ โดยมีชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่สันนิษฐานว่าเป็นลูกน้อยของมันหลงเหลืออยู่ที่บริเวณหน้าอก
“ซากค่างที่เหี่ยวแห้งจากการอดอาหารตาย จนเห็นกะโหลกเบ้าตาโผล่ออกมาเป็นสีขาวโพลนเด่นชัด…”
ผมบันทึกสิ่งที่ได้พบเห็นกลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อ ๓๐ ปีก่อน
ในปี ๒๕๒๙ ได้เกิดโครงการอพยพสัตว์ป่าที่กำลังจะถูกน้ำท่วมภายหลังการสร้างเขื่อน
ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีโครงการจะช่วยชีวิตสัตว์ป่าให้รอดตายจากการถูกน้ำท่วม
การก่อสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานทำให้ป่าดงดิบผืนใหญ่ส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาสกและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงจำนวนแสนกว่าไร่จมน้ำกลายเป็นทะเลสาบลึกเกือบ ๑๐๐ เมตร บริเวณที่เคยเป็นเนินเขาและภูเขาก็ถูกตัดขาด โผล่พ้นน้ำเป็นเกาะน้อยใหญ่จำนวน ๑๖๒ เกาะ ส่งผลให้สัตว์ป่ามากกว่า ๓๐๐ ชนิด เช่น เลียงผา สมเสร็จ ชะนี ค่าง เสือลายเมฆ ฯลฯ หนีน้ำไม่ทัน ต้องติดเกาะ หรือหนีน้ำขึ้นไปอยู่ตามยอดไม้ รอวันตายเพราะขาดแคลนอาหาร
ภารกิจของโครงการฯ คืออพยพสัตว์เหล่านี้ออกมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
และหัวหน้าไม่ใช่ใครที่ไหน คือ สืบ นาคะเสถียร ข้าราชการ นักวิชาการซี ๕ จากกองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ผู้อาสามาทำงานที่ไม่เคยมีใครทำในประเทศนี้
ผมจำได้ว่าตอนที่ลงไปทำสารคดีเรื่องอพยพสัตว์ป่านั้น พี่สืบเล่าให้ฟังว่า
“เราเริ่มตั้งแต่การสำรวจสภาพป่าและสัตว์ว่ามีอยู่กี่ชนิด ไปจนถึงเตรียมการอพยพสัตว์ซึ่งไม่เคยทำกันมาก่อน แต่ก็พยายามจะทำให้ได้มากที่สุด ถ้าเราไม่ช่วยมันตายแน่ ๆ …ไปไหนไม่ได้แล้ว พวกพรานมีปืนทั้งหลายต้องถือโอกาสล่ากันสนุกมือ”
เนื่องจากเป็นครั้งแรกในประเทศไทย สืบจึงรวบรวมผู้คนตั้งแต่สัตวบาล นายพรานที่ชำนาญการดักสัตว์ พาคนเหล่านี้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน และศึกษาว่าต่างประเทศจับสัตว์กันอย่างไรจากหนังสือและวิดีโอรายการ “ซิงเกอร์เวิลด์” (Singer World) ซึ่งมีสารคดีการช่วยชีวิตสัตว์ป่าจากการสร้างเขื่อนที่ประเทศเวเนซุเอลา
ภารกิจในแต่ละวันคือนำเรือออกตระเวนไปตามต้นไม้สูง ๆ ที่ยืนต้นตายกลางทะเลสาบ หากพบชะนีหรือค่างติดอยู่บนยอดไม้ พวกเขาจะนำเรือเข้าไปใกล้ ทำทุกอย่างตั้งแต่ส่งเสียง พุ่งเรือชนต้นไม้ ไปจนถึงเลื่อยโค่นต้นไม้เพื่อให้สัตว์ตกใจกระโดดลงน้ำ จะได้ว่ายไปจับสัตว์เหล่านั้นได้
หากแล่นไปเจอเกาะก็ขึ้นไปบนเกาะ ขึงตาข่ายพาดกลางเกาะแล้วแบ่งคนเป็นสองฝ่าย ส่งเสียงดังตั้งแต่ท้ายเกาะเพื่อไล่ต้อนให้สัตว์
ตกใจวิ่งหนีมาชนตาข่ายที่ขึงไว้ ซึ่งมักได้สัตว์อย่างกระจง กวาง เลียงผา
แม้กระทั่งงูจงอางที่ว่ายน้ำจนอ่อนแรงในอ่างเก็บน้ำ หัวหน้าสืบก็ยังตามไปช่วยชีวิต
คนกลุ่มเล็ก ๆ ที่นำเรือออกไปช่วยเหลือสัตว์ป่าในอ่างเก็บน้ำ ทำให้คนไทยรับรู้ว่า เบื้องหลังการสร้างเขื่อนนอกจากต้นไม้จำนวนมากถูกทำลาย ยังมีสัตว์ป่าหลายพันตัวต้องตาย
ที่ผ่านมาการสร้างเขื่อนทุกแห่งไม่เคยมีการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ตายจากการถูกน้ำท่วมเลย
แต่ ๒ ปีผ่านไป โครงการอพยพสัตว์ป่าสามารถช่วยเหลือชีวิตสัตว์ป่าได้ ๑,๓๖๔ ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่น่าพอใจ ทว่าเทียบไม่ได้กับสัตว์อีกจำนวนมหาศาลที่จมน้ำและอดอาหารตายจากการสร้างเขื่อน อีกทั้งสัตว์จำนวนหนึ่งที่ช่วยมาได้ก็ตายระหว่างการรักษาพยาบาล
ผมจำได้ว่าเราเคยพยายามช่วยชะนีแม่ลูกไว้ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำไม่ได้คือให้แม่ชะนีมีนมให้ลูกกิน ลูกมันก็ร้อง แม้พี่สืบจะไปโรงพยาบาลขอนมเลี้ยงเด็กมาชงให้ลูกชะนีกิน ที่สุดลูกชะนีก็ตาย
ผู้ใกล้ชิดรู้ดีว่าแววตาของสืบจะปวดร้าวมากเมื่อเห็นสัตว์ตายไปต่อหน้า หลายครั้งที่เขาพยายามเก็บพืชป่ามาให้ชะนีให้ค่างกิน แต่มันไม่ยอมกินเพราะความเครียด เขาโกรธจัดเมื่อเห็นเนื้อสัตว์ป่าชำแหละแล้วในเรือของพรานที่ตรวจพบ และหลั่งน้ำตาทุกครั้งที่พยายามผายปอดเลียงผาและกวางที่ช่วยขึ้นมาจากน้ำ แต่มันตายไปต่อหน้าเพราะความหิวโหยและความอ่อนเพลีย
สุดท้ายสืบยอมรับว่าโครงการอพยพสัตว์ป่าล้มเหลว ไม่สามารถช่วยชีวิตสัตว์ป่าได้ สัตว์ที่ช่วยชีวิตมาภายหลังก็ล้มตายลงจากความเจ็บป่วย เครียด ขาดอาหารนานเกินไป และหลายตัวก็ตายเพราะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับพื้นที่ใหม่
เขาสรุปไว้ว่า
“เราคิดว่าช่วยสัตว์ได้แค่ร้อยละ ๑๕ ของพื้นที่หรือเกาะทั้งหมดเท่านั้นเอง เกาะใหญ่ ๆ เราไม่สามารถจะต้อนจับสัตว์ใหญ่ ๆ ออกมาได้หมด มีสัตว์ตกค้างอีกมาก สัตว์ที่เราช่วยมาอยู่ในสภาพอ่อนแอ อาจเจ็บป่วย ไม่สบาย เมื่อนำไปปล่อยมันจะต้องปรับตัวให้เข้ากับถิ่นที่อยู่ใหม่ ต้องต่อสู้แก่งแย่งกับสัตว์ชนิดเดียวกัน ยิ่งร่างกายอ่อนแอ ทำให้มันเป็นเหยื่อได้โดยง่าย และแม้ว่ามันอยู่รอด แต่ไม่อาจอยู่รอดได้นานจนกระทั่งสืบพันธุ์มีลูกมีหลาน ไม่สามารถคงจำนวนประชากร สัตว์ชนิดนั้นก็จะค่อย ๆ หายไป
“ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเป็นกระบวนการทำลายแหล่งพันธุกรรม ตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ป่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของผืนป่าทั้งหมดที่มนุษย์มิอาจสร้างขึ้นมาใหม่ได้”
หลายปีต่อมา ลู้ก กิบสัน (Luke Gibson) นักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ มาทำวิจัยเพื่อศึกษาว่าเกาะกลางอ่างเก็บน้ำจะยังมีสัตว์ที่ปรับตัวอาศัยอยู่รอดหรือไม่ โดยศึกษาบนเกาะตัวอย่าง ๑๖ เกาะกลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน ขนาดพื้นที่เกาะมีตั้งแต่ ๑-๓๐๐ ไร่ จากการวิจัยที่ใช้เวลาศึกษานานหลายปีได้ผลสรุปคือ บนเกาะเหล่านี้แทบจะไม่มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กเหลืออยู่ ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่หายไปแล้วตั้งแต่ตอนสร้างเขื่อน นักวิจัยถึงกับเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่าไม่ต่างจาก ecological
Armageddon หรือความล่มสลายเชิงระบบนิเวศ ที่น่ากลัวคือกระบวนการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เกิดขึ้นเร็วมากอย่างไม่น่าเชื่อ คือภายในไม่กี่ปีหลังการสร้างเขื่อน
พื้นที่ป่าในเกาะเล็กเกินกว่าที่สิ่งมีชีวิตจะอยู่รอด
สามสิบปีผ่านไปเราได้ข้อสรุปแล้วว่า สัตว์ที่ได้รับการช่วยเหลือออกไปนั้นไม่รอด สัตว์ที่ยังติดอยู่บนเกาะก็ไม่รอดเช่นกัน
สามสิบปีผ่านไปเกิดโครงการอพยพสัตว์ป่าขึ้นอีกครั้งในอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา หรืออ่างเก็บน้ำห้วยโสมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของกรมชลประทาน จังหวัดปราจีนบุรี
อ่างเก็บน้ำห้วยโสมงกักเก็บน้ำได้ ๒๙๕ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และแหล่งทำรังวางไข่ของสัตว์ป่าทุกชนิด
ขณะนี้ตัวเขื่อนสร้างใกล้เสร็จและจะเริ่มกักเก็บน้ำภายในไม่กี่เดือน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจึงเริ่มโครงการอพยพสัตว์ป่ามาประมาณ ๒ ปี โดยใช้วิธีการดักจับด้วยกรงดักสัตว์ มีสัตว์ที่ได้รับการโยกย้ายไปแล้วประมาณ ๘,๐๐๐ ตัว ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน แต่เกือบทั้งหมดเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
คงต้องดูกันต่อไปว่า บทเรียนการสูญพันธุ์จากเขื่อนเชี่ยวหลานจะเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยบนพื้นที่อื่นหรือไม่
เพราะการอนุรักษ์พื้นที่ป่าขนาดใหญ่เท่านั้น คือหนทางในการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต