ไม่ได้ออกทะเลดูวาฬบรูด้าหลายปีแล้ว เมื่อน้องๆแห่ง Wild Encounter Thailand กลุ่มอนุรักษ์ทะเลรุ่นใหม่ไฟแรงมาชวนออกทะเล ก็รับนัดทันที
ออกจากบ้านแต่เช้ามืด มาขึ้นเรือที่คลองประมง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ติดกับทะเลบางขุนเทียน มุ่งหน้าสู่อ่าวไทย ผ่านเสาไม้ มีนกกาน้ำเกาะอยู่ เห็นฝูงนกนางนวลบินโฉบหาปลา และศาลาโดดเดี่ยวตั้งอยู่กลางทะเล ลึกประมาณ 3 เมตร เป็นสิ่งเตือนใจว่า
เมื่อ 40 ปีก่อนบริเวณนี้เคยเป็นแผ่นดิน มีหมู่บ้านชาวประมงอาศัยมานาน ก่อนชาวบ้านจะอพยพหนีน้ำทะเลที่ท่วมขึ้นทุกปี
ทะเลรุกเข้าสู่ชายฝั่งทุกปี น้ำท่วมแผ่นดินไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้แล้ว
เรือแล่นออกมาได้ไม่ถึงชั่วโมง เราก็เห็นฝูงนางนวลบินวนอยู่เหนือท้องน้ำแห่งหนึ่ง
เป็นสัญญาณว่าเจอวาฬบรูด้าตัวแรกแล้ว จากฝั่งประมาณสิบกิโลเมตร น้ำลึกไม่ถึงห้าเมตร
ต่างจากครั้งแรกเมื่อหกปีก่อนที่ออกสำรวจ ใช้เวลาครึ่งวันกว่าจะพบ
หลายปีที่ผ่านมาบรูด้าเข้ามาอาศัยในอ่าวไทยมากขึ้น
อ่าวไทยรูป ก หรืออ่าวไทยตอนบน บริเวณชายฝั่งชลบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ มีแม่น้ำหลายสายไหลลงทะเล ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง
ในช่วงหน้าฝน แม่น้ำจะพัดเอาธาตุอาหารจากบนบกไหลสู่ทะเล ทำให้แพลงก์ตอนอุดมสมบูรณ์ ฝูงปลากะตักและปลาทูจะว่ายเข้ามากินแพลงก์ตอนที่อ่าวไทยใกล้ชายฝั่งช่วงปลายฤดูฝน และวาฬบรูด้าจะติดตามมากินปลาเล็กปลาน้อยเหล่านี้ตามธรรมชาติของห่วงโซ่อาหาร
ไม่แปลกใจ หลายปีที่ผ่านมา เราจึงเห็นวาฬบรูด้ามาหากินใกล้ฝั่งทะเลมากขึ้น
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนไทยไม่ล่าวาฬเป็นอาหาร ปริมาณของวาฬจึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากที่เคยหลงมาหากินบริเวณ
เมื่อวาฬรู้ด้วยสัญชาติญาณว่าบริเวณนี้ปลอดภัย ทะเลอ่าวไทยจึงกลายเป็นที่อยู่ประจำของวาฬฝูงนี้ไปแล้ว
วาฬชนิดนี้มีความยาวเกิน 15 เมตร น้ำหนักมากกว่า 20 ตัน จึงถือเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดที่อาศัยอยู่เป็นประจำในประเทศไทย
ปัจจุบัน มีวาฬบรูด้าเพียง 50 ตัวในอ่าวไทย ล่าสุดรัฐบาลได้ประกาศให้วาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวนชนิดใหม่ของไทย
ครั้งนี้เรามีเวลาสังเกตการกินอาหารของวาฬชนิดนี้ค่อนข้างนาน เค้าโผล่หัวขึ้นมากินฝูงปลานับครั้งไม่ถ้วน วาฬบรูด้าเริ่มจากไล่ต้อนฝูงปลามาแล้วก็จะโผล่หัวดันตัวขึ้นตรงตั้งฉากกับผิวน้ำ
จากนั้นเค้าจะอ้าปากกว้างโดยการทิ้งปากล่างลงมาช้อนฝูงปลาเหล่านั้นเข้าปากที่อ้าค้างอยู่ และใช้ซี่กรองขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายตะแกรงที่อยู่บริเวณขากรรไกรบนของมัน กรองสัตว์ขนาดเล็กๆ เป็นอาหาร ก่อนจะหุบขากรรไกรล่างและค่อยๆ จมตัวลงสู่ใต้ผิวน้า
ตอนนั้นเองฝูงนกนางนวลจะบินมาร่วมกินโต๊ะจีนด้วย คือหลายตัวจะโฉบเข้าไปในปากวาฬเพื่อคาบปลากระตักด้วยความรวดเร็ว
วาฬบรูด้าเต็มวัยหนึ่งตัวอาจกินอาหารถึง 590 กิโลกรัมต่อวัน ตัวหนึ่งผ่านไป เราเริ่มเห็นฝูงนกนางนวลบินลอยเหนือน้ำอีก แน่ใจว่าเป็นวาฬบรูด้ากำลังไล่ต้อนฝูงปลากะตักค่อย ๆโผล่ขึ้นมากินปลา ตัวแล้วตัวเล่า บางตัวเป็นแม่ลูก ชื่อแม่กันยากับลูกอิ่มเอม
สี่ห้าชั่วโมงกลางทะเล ราวกับมีการแสดงโชว์ครั้งใหญ่ นับดารานักแสดงได้เก้าตัว วันนั้นอากาศไม่ค่อยใส มีหมอก พอฟ้าเปิดเห็นตึกระฟ้าของกรุงเทพฯแต่ไกล วาฬตัวที่เก้าก็โผล่ขึ้นมากินปลาเบื้องหลังเป็นสะพานภูมิพล
ตัวที่เก้า เป็นตัวสุดท้ายของวันนั้น
ประมาณบ่ายสองโมงครึ่ง วาฬทั้งหมดหายไป ทะเลเงียบสงบราวกับว่าพวกเค้ากินอาหารจนอิ่มสำราญ สองชั่วโมงต่อมา วาฬตัวเดิมโผล่มาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ได้กินอาหาร ว่ายขนานไปกับเรือ
คล้ายมาทักทาย พวกเค้าว่ายเล่นไปมารอบ ๆเรือ ราวกับไม่อยากไป จากตะวันออกสู่ตะวันตก คนบนเรือเงียบ ฟังเสียงพ่นน้ำ
เสียงลมหายใจของวาฬ เห็นละอองน้ำออกจากรูหายใจ ซึ่งกลิ่นแรงมากเหมือนปลาเน่า เวลาเค้าว่ายขนานกับเรือ เราเห็นแผ่นหลังชัดเจนและครีบหลังรูปสามเหลี่ยมแหลมคล้ายครีบมองเห็นบนผิวน้ำนี้ฉลาม
และสิ่งที่มองเห็นมีขนาด 1 ใน 10 ของตัวจริง
ตะวันใกล้ลับฟ้า ท้องทะเลเป็นสีทอง ฝูงวาฬยังว่ายเป็นเพื่อนมนุษย์ ขณะเรือมุ่งหน้าเข้าฝั่ง เมื่อเมฆฝนดำเริ่มตั้งเค้า
รู้สึกได้ สัมผัสได้ว่า พวกเค้ายื่นมิตรภาพมาให้
มิตรภาพต่างสายพันธุ์เกิดขึ้นกลางความเวิ้งว้าง และจากไปอย่างเงียบๆ
วันนั้นเรารู้สึกมีเพือนใหม่ แม้จะต่างสายพันธุ์ แต่สื่อสารกันได้ด้วยสัญชาติญาณบางอย่าง
กรุงเทพธุรกิจ 17 ธค 2559