จอร์แดนค่ายผู้ลี้ภัยสงครามอันดับต้นของโลก

ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่อพยพหลั่งไหลเข้าไปในทวีปยุโรป เป็นข่าวดังไปทั่วโลกติดต่อกัน

และเป็นข่าวซ้ำอีกครั้งเมื่อประชาชนชาวยุโรป ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส เยอรมนี ฯลฯ ต่างไม่พอใจที่ต้องแบกรับปัญหาเหล่านี้
แต่มีประเทศเล็ก ๆประเทศหนึ่ง เสียงไม่ดัง ตั้งหน้าตั้งตารับผู้อพยพ จนแทบจะเรียกว่าเป็นประเทศหนึ่งที่รับผู้อพยพมากที่สุดในโลก
ประเทศเล็ก ๆที่ว่าคือ จอร์แดน ที่เป็นไข่แดงอยู่ในวงล้อมของประเทศคู่สงครามหรือมีความขัดแย้งทางการเมืองจนกลายเป็นสงครามอันยาวนาน อิสราเอล ปาเลสไตน์ ซีเรีย อิรัก ฯลฯ


ประเทศนี้พื้นที่ส่วนใหญ่คือทะเลทราย และติดอันดับหนึ่งในสิบของประเทศอันแห้งแล้งที่สุดในโลก

ไม่นานมานี้ ผู้เขียนนั่งรถออกจากกรุงอัมมาน เมืองหลวงของจอร์แดนมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไม่ไกลจากชายแดน เมื่อรถขับมาถึงสี่แยกสำคัญกลางถนน โชเฟอร์อธิบายให้ฟังว่า

“จะไปซาอุดิอาระเบียเลี้ยวขวาแยกนี้ หากจะไปซีเรียเลี้ยวซ้าย ตรงไปอิรักครับ ”
“ถ้าผมอยากไปซีเรีย” ผมกล่าวติดตลก
“ เลี้ยวซ้ายไปเลย แต่คุณขับรถไปเองนะ ไม่มีใครไปด้วย ทุกวันนี้มีแต่รถอพยพผู้คนหนีสงครามเข้ามาจากซีเรีย แต่รถไปซีเรียแทบไม่มีเลย ” โชเฟอร์ตอบกลับ

เราสังเกตว่ามีรถเทลเล่อร์ขนาดใหญ่หลายสิบคันแล่นอยู่บนท้องถนน มุ่งหน้าไปส่งเสบียงอาหาร และของใช้จำเป็นที่ค่ายผู้อพยพเมือง Azraq ไม่ห่างจากชายแดนซีเรีย-จอร์แดนหลายหมื่นคน

จอร์แดนล้อมรอบไปด้วยเพื่อนบ้านที่ทำสงคราม ทุกครั้งเมื่อเกิดสงคราม จอร์แดนรองรับผู้หนีภัยสงครามมาตลอด พอสงครามสงบ ผู้ลี้ภัยบางส่วนก็กลับประเทศ เริ่มจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับประเทศอาหรับในปีค.ศ. ๑๙๔๘ มีสงครามเป็นระยะ และรุนแรงที่สุดในสงครามหกวันในปี ค.ศ. ๑๙๖๗ ผลของสงคราม อิสราเอลยึดดินแดนอาหรับได้มากมาย เช่น ฉนวนกาซา คาบสมุทรไซนาย ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (หรือ เขตเวสต์แบงก์) ทั้งหมด และยึดเยรูซาเลมกลับมาได้ นอกจากนี้ยังยึดที่ราบสูงโกลานของซีเรียได้อีกด้วย ทำให้ดินแดนของอิสราเอลขยายตัวออกไปถึง ๔ เท่า

ทำให้มีผู้อพยพชาวปาเลสไตน์หลายล้านคนได้หลั่งไหลเข้ามาลี้ภัยสงครามในจอร์แดน และต่อมาคนส่วนใหญ่ได้รับสัญชาติเป็นพลเมืองจอร์แดน ทุกวันนี้ประชากรของจอร์แดนประมาณ ๙ ล้านคนเป็นชาวปาเลสไตน์ถึงสองล้านกว่าคน

ผู้เขียนหวนรำลึกช่วงเวลาในกรุงอัมมาน จำได้ว่ามีร้านค้าชาวปาเลสไตน์อยู่จำนวนมาก เห็นร้านขายเสื้อยืดสกรีนคำขวัญ “ปลดปล่อยปาเลสไตน์” หนังสือ โปสเตอร์เกี่ยวกับโศกนาฎกรรมของชาวปาเลสไตน์วางขายอยู่ และชาวปาเลสไตน์ที่พอมองออกจากเครื่องแต่งกายตามท้องถนนคงเป็นคนรุ่นลูกที่พ่อแม่เป็นผู้ลี้ภัยอพยพหนีสงครามมาก่อน

อารมณ์ที่อยากกลับบ้านเกิดไปดินแดนที่ถูกอิสราเอลยึดครองมาตั้งแต่สมัยสงครามหกวันยังคุกรุ่นอยู่ในหัวใจของคนเหล่านี้

ต่อมาเมื่อเกิดสงครามอิรักในปีค.ศ. ๒๐๐๓ ผู้อพยพชาวอิรัก ๗๐๐,๐๐๐-๑,๐๐๐,๐๐๐ คนได้หนีตายข้ามชายแดนมาค่ายผู้ลี้ภัยจอร์แดน แต่พอสงครามยุติลง ผู้อพยพส่วนใหญ่ได้เดินทางกลับประเทศยกเว้นชาวอัสซิเรียนผู้นับถือคริสต์ที่ขอลี้ภัยอยู่ต่อในจอร์แดนที่ค่อนข้างมีเสรีภาพในการนับถือศาสนามากกว่าประเทศมุสลิมหลายประเทศ

แต่คลื่นผู้อพยพระลอกใหญ่สุดก็คือซีเรีย ตั้งแต่ค.ศ. ๒๐๑๐ ชาวซีเรีย ๑.๔ ล้านคนได้หนีตายจากสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน ข้ามชายแดนจอร์แดน รัฐบาลอ้าแขนรับผู้อพยพด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม แม้ว่าจะประสบปัญหาการเงิน และขัดแย้งกับชาวจอร์แดนที่ไม่ค่อยพอใจจำนวนผู้อพยพ มาแย่งน้ำที่ขาดแคลนอยู่แล้ว แย่งทรัพยากร แย่งอาหารและเงินภาษีที่ต้องมาแบกรับค่าใช้จ่ายของคนเหล่านี้แทนที่จะเอาเงินไปสร้างสาธารณูปโภค สร้างถนน สร้างโรงพยาบาล และผู้อพยพหลายคนยังหนีออกจากค่ายมาแย่งงานชาวจอร์แดนด้วย

ชาวซีเรียลี้ภัยสงครามประมาณ ๔.๖ ล้านคน แต่อยู่ในประเทศจอร์แดนประเทศเดียวประมาณ ๑.๒ ล้านคน ค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลจอร์แดนและสหประชาชาติดูแลผู้อพยพตกปีละ ๓,๐๐๐ ดอลล่าร์ต่อคน และยังมีชาวซีเรียลักลอบทำงานอีกเกือบสองแสนคน ขณะที่ชาวจอร์แดนร้อยละ ๒๐ ตกงานยังมีพวกเคิร์ด พวกอาเมเนียน หลายหมื่นคน ที่เป็นชนกลุ่มน้อยกระจายอยู่ในอิรัก อิหร่าน ตุรกี ก็อพยพหนีภัยเข้ามาเป็นประจำ ไม่ต่างจากชาวลิเบีย เยเมน ซูดาน และชาวอียิปต์ ก็หนีภัยมาอาศัยแผ่นดินนี้

ราวกับว่า จอร์แดนเป็นสวรรค์สำหรับผู้ลี้ภัยสงคราม

จอร์แดนมีประชากรประมาณ ๙ ล้านกว่าคน แต่มีผู้อพยพในค่ายผู้ลี้ภัย ประกอบด้วยชาวซีเรีย ๑.๒๖๕,๐๐๐ คน ชาวอียิปต์ ๖๓๖,๒๗๐ คน ชาวปาเลสไตน์ ๖๓๔,๑๘๒ คน ชาวอิรัก ๑๓๐,๙๑๑ คน ชาวเยเมน ๓๑,๑๖๓ คน ชาวลิเบีย ๒๒,๗๐๐ คน และชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ รวมกันเกือบสองแสนคน และในจำนวนประชากรจอร์แดน มีหลายล้านคนที่เคยเป็นผู้ลี้ภัยในอดีตและได้รับสิทธิ์เป็นพลเมืองจอร์แดน และมีพวกแอบเข้าเมืองอีก ๑.๒ ล้านคน

หากเทียบกับสัดส่วนของประชากรและพื้นที่ประเทศ จอร์แดนน่าจะเป็นประเทศหนึ่งที่มีมนุษยธรรมรับผู้ลี้ภัยมากที่สุดในโลกเพียงแต่ว่า ไม่ได้เป็นข่าวโด่งดังเหมือนกับประเทศทางแถบยุโรปและอเมริกา

รัฐบาลจอร์แดนใช้เงินทองมหาศาลหมดไปกับการช่วยเหลือผู้อพยพนับล้านคน จนเป็นปัญหาของประเทศ รัฐต้องเจียดงบประมาณราว ๒๕% ไปดูแลคนเหล่านี้ ส่วนบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษาก็เริ่มไม่พอเพียงต่อความต้องการ

ก่อนข่าวการหย่าร้างสะท้านโลกระหว่างสองดาราฮอลลีวู้ดชื่อดัง แองเจลินา โจ และ แบรด พิตต์ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แองเจลิน่า โจลี่ ได้กลับไปเยี่ยมเยียนค่ายผู้อพยพในจอร์แดนเป็นครั้งที่สี่ และกล่าวกับสื่อมวลชนเรียกร้องให้ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจปัญหาผู้อพยพ ที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุน

เมื่อเร็ว ๆนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์แห่งจอร์แดน พระราชทานสัมภาษณ์แก่สถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษว่าขณะนี้ปัญหาผู้ลี้ภัยใกล้ถึง “จุดวิกฤต” เป็นภาระหนักอึ้งต่อระบบสวัสดิการสังคม โครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจของจอร์แดน

“เขื่อนคงต้องมีวันแตก ไม่ช้าก็เร็ว” พระองค์ตรัส

กษัตริย์จอร์แดนทรงวิงวอนให้ประชาคมโลกยื่นมือช่วยเหลือชาวซีเรียมากกว่านี้ หากยังต้องการให้จอร์แดนเปิดพรมแดนรับผู้ลี้ภัยต่อไป

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศอาหรับฐานะร่ำรวยในอ่าวเปอร์เซีย คือ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย คูเวต และบาห์เรนไม่เคยเสนอที่พักพิงให้กับผู้ลี้ภัยจากซีเรียเลย

จะมีแต่บรรดาประเทศที่ไม่ค่อยมีเงินมาก อาทิ ตุรกีเกือบ ๒ ล้านคน เลบานอน ๑.๒ ล้านคน อิรัก ๒.๕ ล้านคน ที่จำเป็นต้องรับผู้อพยพตามชายแดน ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม

ส่วนสถานการณ์ในยุโรป ประเทศเยอรมนีสัญญาให้ที่พักพิงกับผู้ลี้ภัยจากซีเรีย ๓๕,๐๐๐ คน คิดเป็นประมาณ ๗๕ %ของจำนวนที่พักพิงในสหภาพยุโรปทั้งหมด

แต่ประเทศในสหภาพยุโรป ๒๖ ประเทศ สัญญาจะให้ที่พักพิงกับผู้ลี้ภัยประมาณ ๘,๗๐๐ คนหรือคิดเป็นประมาณ ๐.๒ %ของ ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียทั้งหมด

สถานการณ์ผู้ลี้ภัยในจอร์แดนดูเหมือนจะเลวร้ายลงจากเงินบริจาคที่ลดลงเรื่อย ๆ ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของผู้อพยพเลวร้ายลง นอกจากขาดแคลนน้ำแล้ว หลายแห่งขาดแคลนส้วม ที่พัก อาหารถูกปันส่วน ไฟฟ้าเลิกใช้ไปหลายแห่งแล้ว

เมื่อไม่มีอาหารปันส่วนอีกต่อไป เด็กหนุ่มสาวหลายคนอาจต้องตัดสินใจเข้าร่วมกับขบวนการก่อการร้ายรัฐอิสลาม ISIS เพื่อความอยู่รอด

ไม่มีใครรู้ว่าจอร์แดนจะอึดอดทนไปได้อีกนานแค่ไหน

สารคดี พฤศจิกายน 2559

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.