จากน้ำรอการระบายสู่ น้ำไหลบ่า

 

เดือนมกราคม ตั้งแต่วันปีใหม่ที่ผ่านมา พี่น้องชาวภาคใต้ได้เผชิญกับฝนตกอย่างหนัก น้ำป่าไหลหลาก จนทำให้เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่

จังหวัดที่ได้รับผลกระทบหนักคือ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี  หาดใหญ่ กระบี่และประจวบคีรีขันธ์

ถือเป็นอุทกภัยรุนแรงที่สุดในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา

สาเหตุเป็นอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลฝั่งอันดามัน และพัดเอาความชื้นจากทะเลสู่แผ่นดินใหญ่ตั้งแต่นราธิวาสเรื่อยมาจนถึงประจวบคีรีขันธ์

แต่เป็นที่น่าสังเกตคือ ฝนตกหนักขนาดนี้ แทบจะไม่มีการเตือนภัยชาวบ้าน ให้เก็บข้าวของ หรือเตรียมป้องกัน ผลก็คือ เราเห็นการสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน คนตาย 25 คน

ประชาชนได้รับผลกระทบล้านกว่าคน ส่วนความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะยางพารา คาดว่าอยู่ระหว่าง 80,000-100,000 ล้านบาท

น้ำท่วมภาคใต้ครั้งนี้หนักหนากว่าน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เสียอีก จากปริมาณฝนอันมหาศาล

แน่นอนว่าน้ำฝนเยอะขนาดนี้ ความเป็นจริงก็ต้องท่วม เพียงแต่ว่า จะป้องกันหรือเตือนภัยอย่างไรให้ประชาชนปลอดภัยที่สุด

แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่า เราแทบจะไม่ได้ข่าวการแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ได้เตรียมพร้อมเลย

รมต.มหาดไทย บอกว่า ให้ประชาชนคอยฟังข้อมูลเตือนภัยจากรัฐบาล

อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายสูงสุดแห่งหนึ่ง ไม่ไกลบริเวณนั้น มีน้ำล้นออกจากเขื่อนคลองลอย และสันเขื่อนโป่งสามสิบเป็นเวลานานจนชาวบ้านกลัวว่าเขื่อนจะแตก แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดประกาศให้ประชาชนเตรียมรับมือหรืออพยพ

ขณะที่กรมชลประทานผู้ดูแลเขื่อนออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบ ระบุได้ส่งรายงานแจ้งสถานการณ์น้ำล่าสุดให้ทางฝ่ายปกครองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่มีหน้าที่แจ้งเตือนภัยโดยตรงให้กับประชาชนตามลำดับ

ส่วนกรมชลประทาน ไม่มีหน้าที่แจ้งเตือนประชาชน

น้ำเยอะมหาศาลขนาดนี้ เสี่ยงต่อชีวิตของผู้คน  ราชการไทย ก็ยังต่างคนต่างทำงานแต่ละหน่วยงานก็มีอาณาจักรส่วนตัวกัน พยายามไม่ก้าวก่ายกัน

สวนทางกับการทำงานใหม่ของทางการที่ฟังดูดีว่า “บูรณาการ”

ขณะที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการเป็นแหล่งข้อมูลเตือนภัย  เมื่อเช้าวันที่ 12 มกราคมลองเข้าไปดู เปิดเข้าไปดูเว็บไซต์ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานโดยตรงที่ดูแลเรื่องน้ำท่วม ภ้ยพิบัติ พบว่า ข้อมูลน้ำท่วมล่าสุด คือปี 2556

พอตกบ่าย นักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งไปสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบศูนย์เตือนภัย ฯ  ก็ได้คำตอบว่าสาเหตุที่ข้อมูลในเว็บไซต์ไม่ใช่ข้อมูลล่าสุด เป็นเพราะ ระบบขัดข้อง แต่หลังจากให้สัมภาษณ์สักพัก ปรากฎว่าข้อมูลในเว็บไซต์ก็มีการอัปเดททันที

เหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  สะท้อนถึงปัญหาการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารเท่าที่ควร

แต่ล่าสุด พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เรียกประชุมกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นและการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน

พลเอกอนุพงษ์ กล่าวว่า ส่วนตัวพอใจถึงระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ  โดยทางหน่วยงานราชการได้ดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่มาโดยตลอดส่วนเหตุการณ์ที่บางสะพาน จะเห็นว่าเป็นเพียงน้ำไหล่บ่า  ไม่ใช่น้ำท่วม

มท.1 บอกว่า บางสะพาน “ไม่ใช่น้ำท่วม แค่น้ำไหลบ่า”

น้ำไหลบ่าจนเขื่อนแทบแตก ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 5 หมื่นคน ทุกวันนี้หลายบ้านยังจมน้ำอยู่

ไม่ใช่น้ำท่วมหรือว่า น้ำท่วมเป็นคำไม่สุภาพ กระเทือนความมั่นคง  ต้องเรียกว่า น้ำไหลบ่า

นึกถึงตอนน้ำท่วมกรุงเทพมหานครเมื่อปีก่อน . ผู้ว่ากทม.บอกว่า ไม่ใช่น้ำท่วม เป็นเพียง  น้ำรอการระบาย

ทุกครั้งที่น้ำท่วมใหญ่ สิ่งที่ได้ก็คือ ศัพท์แปลก ๆเกิดขึ้นเสมอ

ส่วนการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง มันจมน้ำหายไปทุกที  สักพักผู้คนก็ลืมเลือน เป็นแบบนี้ทุกครั้ง

สวัสดี ไทยแลนด์ 4.0

กรงเทพธุรกิจ
19 มค.60

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.