เล่นดนตรีแล้วได้อะไร


“ดนตรีเป็นหุ้นส่วนของชีวิต เป็นเสรีภาพของมนุษย์ เป็นเพื่อนที่ช่วยขจัดความทุกข์และความเจ็บปวดระหว่างวันได้ ไม่มีอุปกรณ์ใดรักษาเราได้ดีเท่าดนตรี”

รศ. ดร. สุกรี เจริญสุข
คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อโลกเจริญก้าวหน้า เรามีเทคโนโลยี มีสิ่งอำนวยความสะดวกช่วยมนุษย์ทำงานและฝึกฝนมากขึ้น

แต่มีงานไม่กี่ประเภทที่แม้จะมีเทคโนโลยีหรือความเจริญเพียงใดก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก เราต้องฝึกฝนด้วยฝีมือและอารมณ์ความรู้สึกประการเดียว

ยิ่งฝึกมาก ยิ่งชำนาญมาก

ดนตรีเป็นงานประเภทนี้ ที่ใช้ฝีมือจากการฝึกล้วน ๆ ไม่มีเครื่องทุ่นแรงใดมาช่วยให้เก่งได้

ยิ่งมีโอกาสเล่นดนตรีแต่เด็ก ๆ นอกจากจะเล่นได้ชำนาญแล้ว ยังมีอีกหลายอย่างที่ซึมซับเข้ามาโดยไม่รู้ตัว

ครั้งหนึ่งแม่ยายของผู้เขียน-ม.ร.ว. สมานสนิท สวัสดิวัตน์ เล่าเรื่องสมัยเป็นเด็กเล็กที่ไปเรียนในประเทศอังกฤษให้ฟังว่า

ก่อนท่านจะเรียนอ่านออกเขียนได้ ที่โรงเรียนสอนสามวิชาก่อน คือ ศิลปะ เดินป่า และดนตรี

ครูสอนศิลปะเพื่อให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ

ครูพาเดินป่า ท่องธรรมชาติ เพื่อสอนให้เด็กเล็กช่างสังเกต เห็นความแตกต่างของสรรพสิ่ง และรู้จักตั้งคำถาม เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับสิ่งที่พบเห็น

ครูสอนดนตรีเพื่อให้เด็กเป็นคนละเอียดอ่อน มีความลึกซึ้งของจิตใจ และรู้จักความอ่อนโยน

เมื่อเด็กมีความคิดสร้างสรรค์ ช่างสังเกต และมีความละเอียดอ่อนแล้ว เด็กอยากจะค้นหา อยากจะอ่านออกเขียนได้ เพราะมีเป้าหมายที่กระหายอยากรู้เรื่องราวต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือ

ผลคือเด็กในโรงเรียนแห่งนี้สามารถอ่านออกเขียนได้มีประสิทธิภาพดีกว่าเด็กโรงเรียนอื่น

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เหตุผลส่วนหนึ่งที่พื้นฐานการศึกษาของคนอังกฤษแข็งแกร่ง มาจากสามวิชาสำคัญในวัยเด็กคือ ศิลปะ เดินป่า และดนตรี ซึ่งพัฒนาไปสู่การเรียนการสอนวิชาอื่น ๆ ได้

ไม่แปลกใจที่เพื่อนต่างชาติที่รู้จักหลายคนเล่นดนตรีแบบสมัครเล่น แต่คุณภาพระดับเทพ

ผู้เขียนเชื่อว่าการสนับสนุนให้เด็กเรียนดนตรีแต่เล็ก ๆ จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของเด็กดีขึ้นมาก โดยไม่จำเป็นต้องคาดหวังว่าโตขึ้นจะต้องเป็นนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่

ทำงานอะไรก็ได้ แต่ขอให้มีดนตรีในหัวใจ หัวใจจะเบิกบานทันที

สมัยเป็นเด็ก ผู้เขียนเคยเป็นนักดนตรีวงดุริยางค์ของโรงเรียน จำได้แม่นว่าวันใดมีเรื่องราวไม่สบายใจ จะเข้าห้องดนตรีปลดปล่อยตัวเองด้วยการเป่าคลาริเน็ตอย่างเต็มที่

รู้สึกได้ว่าดนตรีเป็นเพื่อนที่ดีอยู่กับเราตลอดเวลา

ผู้เขียนเชื่อเสมอว่าคนที่เล่นดนตรีจะมีหัวใจอันยิ่งใหญ่

playmusic02

จนกระทั่งกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเกียรติจาก ดร. สุกรี เจริญสุข ผู้ใหญ่ที่เคารพรักรู้จักกันมานานร่วม ๓๐ ปี ให้เป็นกรรมการตัดสิน “การประกวด SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๑๙ ประจำปี ๒๕๕๙ ” รอบสุดท้าย โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และด้วยความร่วมมือของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาดนตรีในประเทศไทย เพื่อให้เด็กไทยทั้งประเทศมีโอกาสแสดงความสามารถทางดนตรี อวดศักยภาพความเป็นเลิศในการเล่นเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น

หากในชีวิตมีอะไรที่รู้สึกภูมิใจ การเป็นกรรมการตัดสินครั้งนี้ถือเป็นความภูมิใจครั้งหนึ่ง

การประกวดนี้ไม่เหมือนการประกวดที่อื่น ๆ คือเปิดรับเครื่องดนตรีทุกชนิดที่ไม่ใช้ไฟฟ้า โดยใช้เครื่องดนตรีที่ผลิตเสียงจากธรรมชาติ (acoustic) อาทิ เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เครื่องดนตรีไทย เครื่องดนตรีโบราณ เครื่องดนตรีราชสำนัก หรือเครื่องดนตรีสากล รวมทั้งการขับร้องโดยไม่จำกัดแนวเพลง จึงถือว่าการประกวด SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย เป็นการประกวดดนตรีที่เปิดกว้างที่สุด เด็กใช้เครื่องดนตรีแตกต่างกันตามความถนัด โดยเลือกเพลงเอง อาจไม่เคยมีใครได้ยิน แต่เป็นเพลงที่เด็กมั่นใจที่สุด ความยาวของเพลงประมาณ ๓-๕ นาที ซึ่งเป็นเวลาที่เด็กมีสมาธิที่จะอวดศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีได้ดีพอสมควร

เรียกว่าเปิดโอกาสให้แสดงความสามารถของผู้เล่นกันสุดฝีมือ โดยไม่ต้องมีตัวช่วยใด ขอให้ฝึกมาอย่างเต็มที่

วิธีตัดสินก็ไม่ซับซ้อน คือมุ่งเน้นความไพเราะเเละความสามารถในการเเสดงออกของนักดนตรีผู้เข้าประกวดเป็นสำคัญ

ปีนี้มีเยาวชนส่งผลงานเข้ามารับการคัดเลือกรวม ๓๕๘ ผลงาน และคัดเหลือรอบสุดท้าย ๔๐ ผลงาน

โดยผลการประกวดเยาวชนดนตรีแบ่งเป็นสี่ระดับการศึกษา คือ ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับอุดมศึกษา

ผู้เขียนดูรายการแล้ว มีตั้งแต่ดนตรีสากล ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีไทย และเครื่องดนตรีบางอย่างที่ไม่เคยเห็น ซึ่งเป็นการประกวดที่มีความหลากหลายมาก เปิดโอกาสให้นักดนตรีมีฝีมือทุกประเภทเข้าร่วมแข่งขันประชันฝีมือกันเต็มที่

นักดนตรีคนแรกเริ่มบรรเลงเปียโน เสียงอันไพเราะสะกดคนทั้งหอประชุมด้วยเพลงของไชคอฟสกี คีตกวีระดับโลกชาวรัสเซีย แบบที่เรียกว่าหากหลับตาฟัง คงไม่คิดว่าเป็นเด็กหญิงวัยเพียง ๙ ขวบ

เห็นฝีมือของเด็กประถมฯ แล้ว เลือกเล่นเพลงยากทีเดียว รู้เลยว่าพื้นฐานการเล่นดนตรีของเด็กสมัยนี้แน่นมาก หาไม่คงไม่สามารถเล่นเพลงระดับนี้ได้

หลังจากนั้นก็ได้ยินเสียงของไวโอลิน กีตาร์คลาสสิก ฆ้องวง เชลโล ซึง ระนาด คลาริเน็ต ยูโฟเนียม แซ็กโซโฟน กู่เจิง และเสียงทุ้มลึกของนักร้องเพลงโอเปร่าผู้เคยร้องเพลงลูกทุ่งมาก่อน

เสียงระนาดเอกที่ตีได้กังวาน ไพเราะ รวดเร็ว จนนึกว่าฝีมือครูระนาดชั้นเยี่ยม ก็กลับเป็นเด็กนักเรียนขาสั้นวัย ๑๓ ปี และการบรรเลงโปงลางจากเด็กสาวภาคอีสานชวนได้บรรยากาศคิดถึงบ้าน

เห็นน้องหน้าใสเป่าอัลโตแซ็กโซโฟนได้สุดเสน่หา

เห็นบรรดาครูเพลงไทยเดิมช่วยตีกลองให้ลูกศิษย์ที่มาเดี่ยวฆ้องวงแล้วอบอุ่นยิ่ง

ดร. สุกรี เจริญสุข ก็บอกผู้เขียนเช่นกันว่า เด็กนักดนตรีสมัยนี้มีพัฒนาการเก่งกว่าคนรุ่นก่อนมาก

ต้องยอมรับว่าตั้งแต่มีการตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ ๒๐ ปีก่อน ได้มีส่วนสำคัญในการผลิตนักดนตรีและครูดนตรีเก่ง ๆ ให้สถาบันการศึกษาไทยจำนวนมาก และมีผลทำให้คุณภาพการสอนดนตรีบ้านเรามีคุณภาพสูงขึ้น

ส่วนหนึ่งก็มาจากอาจารย์วิทยาลัยแห่งนี้ เริ่มแรกเกือบทั้งหมดเป็นครูดนตรีชาวต่างชาติที่มีพื้นฐานดนตรีตะวันตกแน่นมาก และยังรวบรวมสุดยอดครูดนตรีไทยเพื่อถ่ายทอดวิชาให้แก่เด็ก ๆ ที่นี่จนมีศิษย์เก่านักดนตรีอาชีพนับหมื่นคน

ตลอดทั้งวันผู้เขียนนั่งฟังนักดนตรีเยาวชน ๔๐ คน (ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์) บรรเลงเพลงด้วยเครื่องดนตรีนานาชนิดอย่างมีความสุข ไม่น่าเชื่อเลยว่านี่คือนักดนตรีวัยรุ่นไทย ฝีมือไม่อายนักดนตรีต่างชาติเลย

แต่สิ่งที่เยาวชนเหล่านี้ต้องพัฒนาเป็นส่วนใหญ่คือการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของบทเพลง ซึ่งเป็นก้าวต่อไปของการพิสูจน์ฝีมือ หลังจากสามารถเล่นบทเพลงนั้นได้ถูกต้องตามตัวโน้ต

เพราะการเล่นดนตรีได้อย่างมีอารมณ์ คือสุดยอดของนักดนตรีแท้จริง

ผู้เขียนรู้สึกดีมาก ๆ กับความอุตสาหะของเด็ก ๆ แพ้ชนะไม่สำคัญเท่ากับว่าพวกเขาและเธอฝึกซ้อมกันอย่างเต็มที่ ได้แสดงออกอย่างสนุก ประทับใจคนดูและคุณครู

ที่สำคัญคือ เสียงดนตรีจะก้องกังวานอยู่ในหัวใจพวกเขาไปตลอดชีวิต

  • ตีพิมพ์ใน สารคดี ฉบับที่ 383 มกราคม 2560

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.