“เราคือเมล็ดพันธุ์ เหยียบให้จมดิน แล้วเราจะงอกขึ้นมาใหม่”

“เราคือเมล็ดพันธุ์ เหยียบให้จมดิน แล้วเราจะงอกขึ้นมาใหม่”

คำพูดในเชิงอุดมคตินี้อาจจะเปรียบได้กับเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน นำไปหยอดลงดินแล้วกลบ ก็จะงอกขึ้นมาได้

แต่สำหรับเมล็ดพันธุ์แบบใหม่ในอุตสาหกรรมการเกษตรแล้ว คงใช้ไม่ได้ เพราะเหยียบให้จมดินก็มิอาจงอกขึ้นใหม่ได้ เนื่องจากมันเป็นหมัน ต้องซื้อจากเจ้าของเมล็ดพันธุ์รายใหญ่

ทุกวันนี้หากใครอยากปลูกพืช ปลูกผัก ต้องไปซื้อเมล็ดพันธุ์พืชบรรจุซองระบุว่า “ไฮบริดจ์ F1” หากปลูกแล้ว จะไม่สามารถใช้เมล็ดพันธุ์มาขยายได้อีกในรุ่นต่อไป

หรือหากได้ก็จะไม่ให้ผลผลิตอันสมบูรณ์ เราจะได้กลับไปซื้อเมล็ดพันธุ์บรรจุซองต่อไปจากผู้ขายบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมการเกษตร ยิ่งถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์แบบจีเอ็มโอ ไม่ต้องพูดถึงเลยเรา ๆ ท่าน ๆ คงจะซื้อเป็นซอง แต่ถ้าเป็นเกษตรกร ชาวไร่คงซื้อกันเป็นถุงเป็นกระสอบอย่างข้าวโพด ถั่วเหลือง ฯลฯ

เมล็ดพันธุ์พืชอันเป็นหมันเหล่านี้จะมีคุณสมบัติสองอย่างคือ โตเร็ว ให้ผลผลิตสูง แต่รสชาติไม่ต่างจากกินไก่คอนโดกับไก่พื้นเมือง และที่สำคัญคือ เมล็ดพันธุ์เหล่านี้นับวันราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นต้นทุนสำคัญของเกษตรกร

น่าแปลกใจไหม ทั้ง ๆที่เมล็ดพันธุ์ที่เพาะลงดิน น่าจะเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มา เราน่าจะมีสิทธิในการเพาะขยายพันธุ์ แต่บัดนี้อาหารทั้งหมดที่เรากิน มาจากเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ใช่ธรรมชาติแต่ถูกปรับแต่งให้กลายเป็นเมล็ดพันธุ์ผีดิบ ไม่สามารถออกลูกออกหลานได้

ทุกวันนี้พืชผักที่เรากินร้อยละ ๙๐ มาจากเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ที่บริษัทรายใหญ่ประทานให้เราแทนธรรมชาติ ขณะที่เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านที่อยู่ในธรรมชาติ มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์สูงทนทานโรคระบาด ฝนแล้ง สภาพอากาศอื่นๆ ที่แตกต่างกัน และออกลูกออกหลานได้เอง กำลังหายไปเรื่อย ๆ

ปลายเมษายน ขณะที่เมืองใหญ่กำลังร้อนระอุ เราเดินทางเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยหลวงเชียงดาวผ่านระเบียงดาว ของชาวเขาเผ่าลีซอ โฮมสเตย์อันโด่งดังจุดหมายของหนุ่มสาว บรรยากาศโรแมนติกวิวสวย เมฆหมอกขุนเขาอันงามตา และอากาศหนาวเย็นตลอดปี

จากโฮมสเตย์ไม่กี่หลัง แต่ตอนนี้มีการสร้างที่พักร่วมร้อยหลัง จากชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ จนบัดนี้น่าเป็นห่วงถึงขยะ การบุกรุกป่า และความไร้ระเบียบ

เราเดินทางลึกเข้าไป เห็นการเผาป่านับพันไร่ เพื่อเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด ไร่ถั่วเหลือง โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำอะไร

แต่ลึกเข้าไปอีกทางด้านฝั่งตะวันตก ป่าเริ่มหนาทึบ จนมาถึงลำห้วยสายหนึ่ง มีป้ายบอกว่า

หมู่บ้านแม่คองซ้าย ชุมชนของคนรักป่าชนเผ่ากะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ หมู่บ้านเล็ก ๆ เพียง ๒๕ หลังคาเรือน

บ้านเล็กในป่าใหญ่แห่งนี้ มีอายุย้อนกลับไปนับร้อยปี เคยเป็นเส้นทางผ่านของทหารญี่ปุ่นไปพม่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

ไม่น่าเชื่อว่าชาวบ้านประมาณสองร้อยกว่าคนสามารถรักษาป่าล้อมรอบประมาณ ๑๕,๐๐๐ ไร่ไม่ให้ถูกทำลายหรือถูกบุกรุก ถูกถางให้เหี้ยนเตียนเป็นพื้นที่เกษตรมาตลอด

“เด็กเกิดออกมาดูโลกหนึ่งคน ดูแลรักษาต้นไม้หนึ่งต้น” พะตี คำเรียกภาษาปกาเกอะญอแปลว่า ลุง บอกเราถึงความเชื่อในการดูแลป่าของพวกเขาทำให้ป่ารอบ ๆ หมู่บ้านรอดพ้นจากการทำลายมาตลอด

หลายครั้งที่มีนายทุนจากข้างนอกมาขอสัมปทานตัดไม้ แต่พวกเขาก็สู้ไม่ถอย จนคนข้างนอกต้องถอย

พวกเขาดูแลรักษา “ตาน้ำ” เพื่อมิให้ดอยเชียงดาวเหือดแห้ง ทำการเกษตรไร้สารเคมี รักษาแม่น้ำให้ปนเปื้อนน้อยที่สุด เพื่อให้คนข้างล่างได้ใช้น้ำอย่างปลอดภัย จนหมู่บ้านเล็ก ๆนี้ได้รับรางวัลหลายครั้งในการอนุรักษ์ป่า บ้านเรือนสร้างขึ้นไปตามแนวเขา พอมองลงมาจากข้างบน เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ล้อมรอบด้วยป่าผืนใหญ่

น่ายกย่องคนเหล่านี้ด้วยใจจริงที่เก็บป่าไว้ให้คนทั้งประเทศ

เราขออนุญาตเข้าไปในครัว เห็นมีห่อผ้าหลายห่อวางอยู่ ด้วยความสงสัย แม่บ้านคลี่ห่อผ้าให้ดู

seed

เป็นเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านนานาชนิด

“พวกเราไม่เคยซื้อเมล็ดพันธุ์จากภายนอก เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกเอง” เราเห็นเมล็ดแตง ผักกาด พริก ที่คนทั่วไปชื่นชอบในนามพริกกะเหรี่ยง ฯลฯ เดินสำรวจท้ายครัวทุกบ้าน ล้วนแต่เก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านไว้เพาะปลูก ไม่มีเมล็ดพันธุ์ผีดิบ

ชาวปกาเกอะญอพื่งพาภายนอกน้อยมาก ซื้อเฉพาะสิ่งจำเป็น อาหารแทบจะไม่ต้องเลย น่าคิดว่า หากคนทั้งประเทศหลายสิบล้านคน พากันพึ่งตนเอง สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านที่แข็งแรงต้านทานโรค ทนอากาศอันแปรปรวน รสชาติดีกว่า มีความหลากหลายสูงกว่า เอาไว้เพาะปลูกขยายพันธุ์เอง อะไรจะเกิดขึ้น

แต่อย่างน้อย คำว่า “เราคือเมล็ดพันธุ์ เหยียบให้จมดิน แล้วเราจะงอกขึ้นมาใหม่”

เป็นจริงแน่

สารคดี พค. 2560

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.