หลายครั้งที่ผู้เขียนเห็นอาคารสูงในกรุงเทพมหานคร พยายามโฆษณาว่ามีการออกแบบให้ลูกค้าสนใจว่าเป็นอาคารรักษาสิ่งแวดล้อม มีพื้นที่สีเขียว ผู้อาศัยจะได้สัมผัสกับต้นไม้นานาพันธุ์อย่างใกล้ชิด
แนวคิดการออกแบบอาคารเหล่านี้ที่คำนึงถึงธรรมชาติดูจะห่างไกลจากอาคารแห่งนี้ที่ผู้เขียนได้ไปเยือน
ที่เห็นในภาพไม่ใช่ภูเขากลางฟูกุโอกะ มหานครใหญ่อันดับหกของประเทศญี่ปุ่น
แต่เป็นอาคารต้นไม้. มีต้นไม้น้อยใหญ่ จำนวน ๕๐,๐๐๐ ต้นขึ้นปกคลุมทั้งตึกอาครอสฟุกุโอกะ (ACROS Fukuoka) อาคารที่ได้รับการยกย่องว่าออกแบบด้านสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ฟูกุโอกะ เป็นเมืองหลวงขนาดใหญ่ที่สุดของเกาะคิวชู มีประชากรเกือบสามล้านคน แต่ขนาดเล็กกว่ากรุงเทพฯสี่เท่า เรียกว่าแออัดกว่าคนกรุงเทพ เป็นเมืองท่าสำคัญของญี่ปุ่นที่เชื่อมต่อการค้าขายกับประเทศแถบเอเชียมานานหลายร้อยปี
ทุกวันนี้เป็นเมืองอุตสาหกรรมหนัก เป็นมหานครสำคัญด้านเศรษฐกิจ สังคม ศิลปะวัฒนธรรม และโดดเด่นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ทางการฟูกุโอกะ ได้มีแนวคิดจะเอาพื้นที่กลางเมือง ราคาแพงมหาศาลสร้างอาคารที่เป็นการแลกเปลี่ยนศิลปะวัฒนธรรมระหว่างประเทศ
ตามประวัติศาสตร์ของเมืองท่าแห่งนี้ที่ในอดีตเคยมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของหลายประเทศ อาคาร ACROS จึงเป็นคำย่อมาจาก Asian CrossRoad Over the Sea
ทางการจึงได้เปิดประมูลการพัฒนาที่ดินเพื่อสร้างอาคาร โดยให้เอกชนเช่าเป็นเวลา ๖๐ ปี มีทั้งพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ที่เอกชนสามารถไปหาประโยชน์ได้ และการออกแบบอาคารต้องสะท้อนการอยู่ร่วมกันระหว่างธรรมชาติกับเมืองและพื้นที่สีเขียว โดยมีเงื่อนไขว่า การออกแบบด้านสถาปัตยกรรมต้องสอดคล้องกับสวนสาธารณะเทนจิน พื้นที่สีเขียวกลางเมืองแห่งเดียวที่อยู่ติดกัน และอาคารแห่งนี้ต้องเป็นสัญญลักษณ์ของเมืองได้โดดเด่น
Emilio Ambasz สถาปนิกชื่อดังชาวอาร์เยนตินา ได้เป็นผู้ออกแบบอาคารแห่งนี้ เขาเนรมิตพื้นที่ ๑๐๐,๐๐๐ ตารางเมตร มีรูปทรงเหมือนภูเขาต้นไม้สูง ๑๕ ชั้น
เขาทำให้ภูเขาลูกนี้กับสวนสาธารณะต่อเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ และสร้างเป็นภูเขาที่มีต้นไม้ปกคลุมแนวตั้ง ทุกชั้นปกคลุมด้วยต้นไม้จนถึงหลังคา
ตอนที่เพื่อนจะพามาเยี่ยมชมอาคารแห่งนี้ ผู้เขียนก็นึกว่าคงมีต้นไม้ขึ้นอยู่ในตึก เหมือนกับอาคารสีเขียวหลายแห่งที่เคยเห็นมา
แต่เมื่อไปถึง เราเห็นภูเขาปกคลุมด้วยต้นไม้สีเขียวขึ้นกลางเมืองจริง ๆ
ด้านหนึ่งของอาคารออกแบบให้มีระเบียง ลดหลั่นกันลงมาเหมือนปิรามิด จึงมีรูปทรงเหมือนภูเขาที่ปกคลุมด้วยต้นไม้
เมื่อเดินขึ้นระเบียงอาคารโดยรอบ จึงพบว่า ระเบียงทุกชั้นมีขนาดกว้างมากและปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ลงบนดิน
ไม่ใช่กระถาง รายล้อมรอบระเบียง ราวกับมีสวนขนาดใหญ่รอบ ๆ อาคาร จนเมื่อมองจากภายนอกเห็นต้นไม้ปกคลุมอาคาร แทบจะไม่เห็นรูปทรงของอาคารเลย
ยิ่งเดินขึ้นชั้นสูง ๆ ยิ่งรู้สึกถึงความเงียบ ความสงบ ความเย็น เหมาะจะเป็นที่พักผ่อนท่ามกลางความแออัดของเมือง มองเข้าไปในอาคารบางชั้นเป็นสำนักงาน แอบอิจฉาคนที่ทำงานภายในอาคารนี้
บนดาดฟ้า อาจเรียกว่าเป็นสวนลอยฟ้า ปกคลุมด้วยต้นไม้นานาชนิด สวยงามมาก มองเห็นทะเล อ่าวฟูกุโอกะ และท่าเรือใหญ่อยู่ไม่ไกล
อาคารด้านทิศเหนือถูกออกแบบให้ดูทันสมัยสอดคล้องกับด้านที่ติดกับถนนย่านการเงินสำคัญของเมือง ขณะที่อาคารด้านทิศใต้สอดคล้องกับสวนสาธารณะที่อยู่ติดกัน จนดูเหมือนเป็นทางขึ้นภูเขาสีเขียวกลางเมือง
ภายในอาคาร มีหอประชุมฟังดนตรีขนาดสองพันที่นั่ง ห้องประชุมนานาชาติ สามารถแปลได้ 6 ภาษา พิพิธภัณฑ์จัดแสดงศิลปะวัฒนธรรมของเมือง ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และลานกิจกรรมกลางแจ้ง แสดงงานศิลปะเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ
อาคารแห่งนี้เปิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ตอนแรกปลูกต้นไม้ ๗๖ ชนิด จำนวน ๓๗.๐๐๐ ต้น ต่อมานกนานาชนิดได้นำเอาเมล็ดมาขยายพันธุ์เพิ่มเป็น ๑๒๐ ชนิด จำนวน ๕๐,๐๐๐ ต้น
สิ่งที่น่าสนใจคือการใช้ระบบน้ำหมุนเวียนหล่อเลี้ยงต้นไม้ เราจึงเห็นน้ำตกเป็นระยะจากชั้นบนลงมาสู่ชั้นล่าง และนำกลับไปใช้ใหม่
ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓ สถาบันเทคโนโลยีนิปปอน ได้มาทำวิจัยว่าต้นไม้และดินช่วยลดความร้อนได้อย่างไร เขาทำการวัดระดับความร้อนภายในอาคารเปรียบเทียบกับภายนอก พบว่า อุณหภูมิมีความต่างกันถึง ๑๕ องศาเซลเซียส
หมดข้อสงสัยเลยว่า ต้นไม้ใหญ่ช่วยลดความร้อนอย่างไร
ทุกวันนี้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากพากันมาเยี่ยมชมอาคารแห่งนี้ว่าทำได้อย่างไรตั้งแต่การออกแบบ การแบ่งพื้นที่ให้ต้นไม้เติบโต. ศึกษาระบบรดน้ำและระบายน้ำ
ไม่แปลกใจที่ฟูกุโอกะ ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองน่าอยู่อันดับสิบของโลก
สติปัญญาของมนุษย์มีพร้อมที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ เพราะธรรมชาติคือองค์ประกอบสำคัญของมหานคร
ไม่ใช่มัวคิดจะตัดต้นไม้อย่างเดียว
สารคดี ธค. ๖๐