ปลายหน้าร้อนเมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนเดินทางลึกเข้าไปสำรวจสภาพป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี
จำได้ว่าครั้งหนึ่งไปอยู่กลางดงต้นไม้แห่งหนึ่ง ดอกไม้หลายชนิดออกดอกบานสะพรั่ง ผึ้งหลายพันตัวบินว่อนไปทั่ว จนต้องหลบกันจ้าละหวั่น ราวกับอยู่ในหมู่ผึ้งแตกรัง
เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ไปด้วยกันบอกว่า “น้ำผึ้งเดือนห้าที่เขาว่าดีที่สุด ก็คือช่วงนี้แหละ ผึ้งกำลังบินหาดอกไม้สะสมน้ำหวานจากเกสร”
น้ำผึ้งจากฟาร์มที่ขายในเมืองไทย ส่วนใหญ่ได้น้ำหวานจากเกสรของดอกลำไย ดอกลิ้นจี่และสาบเสือเป็นหลัก แต่คุณภาพและราคาแล้ว น้ำผึ้งจากดอกไม้ในป่าจะมีราคาสูงกว่าผึ้งป่าเยอะมาก กำลังบินดูดน้ำหวานจากดอกไม้ ละอองเกสรยังติดตามขาหลัง ขนของผึ้งด้วย เมื่อผึ้งไปเยือนดอกไม้ดอกอื่น ละอองเกสรบนตัวผึ้งก็จะร่วงตกลงบนยอดเกสรตัวเมียเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ตามธรรมชาติ
ป่าที่มีปริมาณรังผึ้งเยอะ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า ผึ้งช่วยในการผสมเกสรดอกไม้ในป่า ในขณะเดียวกัน รังผึ้ง จำนวนผึ้งก็จะมีมากขึ้นจากน้ำหวานอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของเกสรดอกไม้นานาชนิดในป่า
ผึ้งเป็นสัตว์สำคัญมากในระบบนิเวศ ช่วยทำให้เกิดการผสมพันธุ์ของพืชในป่า หากขาดผึ้งการสืบทอดเผ่าพันธุ์ของต้นไม้ในป่าอาจจะถึงทางตันเลยทีเดียว
แต่สามสิบกว่าปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเริ่มกังวลถึงปริมาณการลดลงของผึ้งทั่วโลกว่าจะนำหายนะมาสู่มนุษย์ได้
คือนอกจากจะทำให้น้ำผึ้งขาดแคลนแล้ว ในอนาคตอาหารของมนุษย์จากพืชผลทางการเกษตร อาจจะหายนะเช่นกัน
มีรายงานข่าวจากพื้นที่หลายแห่งทั่วโลกว่า ประชากรผึ้งลดลงอย่างรวดเร็ว เกิดปรากฏการณ์ผึ้งตายยกรังกระจายไปทั่วโลก หรือที่เรียกว่า “อาการรังผึ้งล่มสลาย”(colony collapse disorder) ทำให้ผึ้งทั้งรังหายไปอย่างฉับพลัน
เฉพาะในสหรัฐอเมริกา จำนวนประชากรผึ้งลดลงถึงหนึ่งในสาม
สาเหตุที่ประชากรผึ้งลดลงมหาศาล เป็นผลมาจากการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมีอย่างกว้างขวางในพื้นที่การเกษตร ทำให้ผึ้งที่มีความอ่อนไหว ค่อย ๆ หายไปจากธรรมชาติ แม้กระทั่งผึ้งเลี้ยงในฟาร์มของมนุษย์ ก็พบว่าลดลงเช่นกัน เพราะดอกไม้ในป่าที่ผึ้งบินไปดูดน้ำหวานก็ลดลงมาก จากพื้นที่ป่าที่หายไป เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ทำให้ดอกไม้นานาชนิดในป่าได้สูญหายไป
เมื่อผึ้งยกรังหายไปเรื่อย ๆ ปรากฏว่า เกษตรกรพืช ผลไม้ในทวีปอเมริกาเหนือประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำเพราะเมื่อฝูงผึ้งค่อย ๆ หายไปในระบบนิเวศส่งผลให้ไม่มีตัวกลางในการทำให้เกิดการผสมเกสรของดอกไม้ในพืชผล จึงไม่เกิดผลิตผลทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้นานาชนิด
พืชอาหารทั่วโลกประมาณสามในสี่ อาศัยการผสมเกสรของแมลงจำพวก ผึ้ง ผีเสื้อ และสัตว์ตัวจิ๋วอื่น ๆ แต่ส่วนใหญ่คือผึ้ง
หากพืชผลไม้ที่เป็นอาหารเลี้ยงมนุษย์ทั้งโลกมีทั้งหมด 100 ชนิด จะมี 70 ชนิด ที่ต้องการผึ้งเป็นตัวผสมละอองเกสรให้เพื่อการแพร่พันธุ์
ดังนั้นเมื่อผึ้งหายไปจากโลก อะไรจะเกิดขึ้นกับพืชผัก ผลไม้ที่มนุษย์กิน ไม่รวมดอกไม้ป่าอีกหลายชนิดก็จะสูญพันธุ์ตามผึ้งไป สภาพต้นไม้ในป่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต หากไม่มีตัวผสมเกสรอีกต่อไป
ในอนาคตผึ้งสูญพันธุ์ เราอาจจะไม่ได้กิน แตงกวา ส้ม มะนาว กาแฟ ถั่วนานาชนิด หัวหอมใหญ่ มะม่วง มะเขือเทศ องุ่น ฯลฯ
ส่วนน้ำผึ้งผลิตผลจากผึ้งโดยตรง ก็น่าจะหายไปก่อนอันดับแรก
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยทำนายอนาคตของมนุษย์ไว้นานแล้วว่า “หากผึ้งสูญพันธุ์ ภายในสี่ปี มนุษย์เราก็จะสูญพันธุ์ด้วย”
นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ภายในสามสิบปีข้างหน้า ผึ้งจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปจากโลก หลายประเทศในยุโรป กำลังออกมาตรการไม่ให้มีการใช้ยาฆ่าแมลง สารเคมีหลายชนิดที่มีผลต่อการสูญพันธุ์ของผึ้ง เช่นเดียวกับองค์กรอนุรักษ์ กรีนพีซได้ออกรณรงค์ Save the Bees เพื่อให้ชาวโลกรับรู้ถึงอันตรายการของการใช้สารเคมีในการเกษตรที่มีต่อผึ้งโดยมีประโยคเด็ดคือ Pesticide = Suicide หรือ ยาฆ่าแมลง = ฆ่าตัวตาย หากผึ้งสูญพันธุ์เพราะยาฆ่าแมลง มนุษย์ก็จะสูญพันธุ์เพราะไม่มีอาหารเช่นกัน
ไม่มีผึ้ง ไม่มีอาหาร
ไม่น่าเชื่อว่า สัตว์ตัวจิ๋วจะมีบทบาทสำคัญที่ชี้เป็นชี้ตายมนุษย์ทั้งโลกได้
ระบบนิเวศ ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ช่างบอบบางละเอียดอ่อน และเชื่อมโยงกันอย่างน่ามหัศจรรย์ยิ่งนัก
กรุงเทพธุรกิจ 19/1/61
Comments
Pingback: Bee Stop at Bus Stop แปลงหลังคาป้ายรถเมล์เพิ่มประชากรผึ้ง – มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย