“ข้าพเจ้าต้องการให้ประชาชนทั้งชาติรู้ว่า ถ้าทหารยิง นั่นคือการยิงไปที่เป้าหมาย ไม่มีกระสุนลูกใดยิงใส่อากาศเพื่อสร้างความหวาดกลัว”
นายพลเนวิน
มีบางคนกล่าวว่า เผด็จการทหารเหมือนกันหมดทั่วโลก คือสัญญาไว้เยอะมาก ว่าจะคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน สัญญาว่าจะให้มีการเลือกตั้ง แต่ไม่เคยทำตามคำพูดสักข้อ ยกเว้นข้อเดียวที่รักษาคำพูดมาโดยตลอด คือการยิงอาวุธเข้าใส่ประชาชน
เมื่อวันที่ ๘ เดือน สิงหาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานเสวนา ในงานรำลึกครบรอบ ๒๑ ปี เหตุการณ์ ๘๘๘๘ จัดโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน แถวสะพานหัวช้าง ราชเทวี
เป็นงานเล็ก ๆ มีผู้มาร่วมงานประมาณร้อยกว่าคน เกือบครึ่งหนี่งเป็นชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย และชาวต่างชาติที่สนใจในเหตุการณ์นองเลือดครั้งนี้
หลายคนยังจำได้ดีว่า เหตุการณ์ ๘๘๘๘ เกิดขึ้นกลางกรุงร่างกุ้ง ในวันที่ ๘ เดือน ๘ ปี ๑๙๘๘ เมื่อนักศึกษา พระสงฆ์และประชาชนเรือนแสนคนได้ออกมาชุมนุมตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาลทหารพม่าที่ปกครองประเทศมายี่สิบกว่าปี
ผู้ประท้วงพากันร้องเพลงดังไปตามท้องถนน ขณะที่กองทหารยืนถือปืนเต็มไปหมด เสียงเพลงท่อนหนึ่งกล่าวว่า
“เรารักพวกท่าน ท่านเป็นพี่น้องเรา เราต้องการอิสรภาพ พวกท่านเป็นทหารของประชาชน โปรดมาอยู่ข้างเราเถิด เราเพียงต้องการอิสรภาพเท่านั้น”
ตกดึกคืนนั้น กองทหารติดอาวุธครบมือก็ตอบสนองเสียงเพลง ด้วยการเปิดฉากระดมยิงผู้ชุมนุมอย่างดุเดือด การสังหารโหดดำเนินต่อเนื่องไปสี่วัน มีผู้เสียชีวิตเกือบหมื่นคน
พอถึงวันที่ ๑๘ กันยายน บรรดานายพลพม่ากลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของนายพลซอว์ หม่อง ก็ฉวยโอกาสขณะที่บ้านเมืองอยู่ในสภาพจลาจล ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจปกครองประเทศและประกาศตั้งสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ (SLORC) สลอร์ก และนายพลกลุ่มนี้ก็สืบทอดอำนาจมานานจนถึงปัจจุบัน โดยผู้นำคนล่าสุดคือนายพลตานฉ่วย
ตอนทำรัฐประหารใหม่ ๆ บรรดานายพลพม่าก็สัญญาว่า
“กองทัพของเราจะสานต่อหน้าที่ในการปกป้องรัฐ การรักษากฎหมาย และจะส่งผ่านอำนาจให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งประชาชนได้ใช้สิทธิประชาธิปไตยอย่างเต็มเปี่ยม”
สามปีต่อมาในเดือนพฤษภาคม ๑๙๙๐ พรรคเอ็น แอล ดี ของนางออง ซาน ซูจีชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วประเทศ โดยได้ที่นั่ง ๓๙๒ จากที่นั่ง ๔๕๕ ขณะที่พรรคของรัฐบาลทหารได้เพียง ๑๐ ที่นั่ง แต่รัฐบาลทหารพม่ากลับไม่ยอมถ่ายโอนอำนาจให้กับผู้ชนะ และยังครองอำนาจและสั่งกักบริเวณออง ซาน ซูจีโดยไม่มีความผิด มาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาร่วมยี่สิบปี
พม่าเป็นตัวอย่างของประเทศที่ปกครองด้วยเผด็จการทหารอย่างน่าสนใจ กล่าวคือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อประมาณหกสิบปีก่อน ภายหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ พม่าเป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นประเทศดาวรุ่งพุ่งแรงที่สุดในทวีปเอเชีย เพราะคนพม่ามีการศึกษาสูง พูดภาษาอังกฤษเก่ง มหาวิทยาลัยร่างกุ้งได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาวิทยาลัยดีที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย นายแพทย์ หรือวิศวกรพม่า ได้รับการยกย่องว่ามีความรู้ความสามารถมาก และเศรษฐกิจของประเทศก็กำลังเจริญอย่างรวดเร็ว สามารถส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก
แต่เมื่อนายพลเนวินได้ทำการรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๒ เผด็จการพม่าที่ปกครองประเทศอย่างเข้มงวดใช้เวลาไม่นาน ทำให้พม่าที่เคยเป็นดาวจรัสแสงกลายเป็นประเทศยากจนและด้อยพัฒนาที่สุดในโลก
ในงานเสวนานั้น นอกจากอภิปรายแล้ว ได้มีการฉายหนังสารคดี งานแต่งงานของลูกสาวนายพลตานฉ่วย เมื่อไม่นานมานี้ ภาพได้ถ่ายชุดวิวาห์ของเจ้าสาว เธอสวมสร้อยเพชรรอบคอนับร้อยเม็ด ไม่รวมแหวนเพชรอีกหลายสิบกะรัต และไม่รวมเงินสินสอดจากพ่ออีก ๕๐ ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
นายพลพม่าต่างร่ำรวยกันถ้วนหน้า ขณะคนพม่ายากจน ต้องหนีตายมาขายแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านนับล้านคน
ผมเห็นอดีตนักศึกษาพม่าหลายคนที่รอดตายในเหตุการณ์ ๘๘๘๘ มาร่วมงาน บัดนี้เติบโตเป็นหนุ่มใหญ่ แต่แววตาของคนเหล่านี้ยังมีความหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของพม่า พวกเขาร่วมกันร้องเพลงเพื่อเป็นกำลังใจให้กับการต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพ และการปลดปล่อยออง ซาน ซูจี
ไฟแห่งการต่อสู้ยังคงลุกโชนอยู่เสมอ
จากสารคดี ฉบับที่ 294 สิงหาคม 2552
Comments
นับถืออองซานครับเอาใจช่วยตลอดมาไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ การต่อสู้ของเธอจะจบลง รัฐบาลทหารพม่ายังยืนมายาวนาน สืบทอดอำนาจมานานเหลือเกิน ความทุกข์ยากของชาวพม่าเกินกว่าที่หลายประเทศจะยอมรับได้ ตอนเกิดพายุนากิสถล่มพม่า เราเห็นความใจร้ายของรัฐบาลทหารพม่าชัดเจน ที่ไม่ยอมรับความช่วยเหลือ แม้แต่ประเทศของเรา กลับให้คนไปลงคะแนน รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่รู้จะว่าอย่างไง ขอให้กรรม เป็นเครื่องติดตามไป ดูแลชีวิตของผู้ก่อกรรมอย่างรัฐบาลทหารพม่าในเร็วทีเถอะครับ
ความเลวร้ายต่างๆที่รัฐบาลทหารพม่ากระทำก็คือความสิ้นชาติ น่าอดสูยิ่งนัก
ที่น่าจับตาก็คือ นโยบายกระชับสัมพันธ์กับพม่าควบคู่กับมาตรการคว่ำบาตรของโอบามา จะทำให้ชนชั้นผู้นำระลึกได้หรือไม่ ต้องติดตามตอนต่อไป
ขอเป็นกำลังใจให้คุณอองซาน สู้ต่อไปเพื่อชัยชนะที่ยิ่งใหญ่