วันอาทิตย์ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านปากมูนกำลังจัดงานบุญร้อยวันเพื่อรำลึกถึง มด หรือคุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
ต้นปีที่ผ่านมา ผมพาเพื่อนคนหนึ่งไปทำธุระที่เมืองอุบล เลยแวะไปดูเขื่อนปากมูน เพราะเพื่อนอยากดูมานานแล้ว
เพื่อนบอกว่า ได้ยินชื่อเขื่อนนี้มานานแล้ว ไม่เคยเห็นสักที
เขื่อนปากมูนตั้งกั้นแม่น้ำมูน ห่างจากปากน้ำที่ไหลไปออกแม่น้ำโขงเพียง 5 กิโลเมตร
เราขับรถผ่านอำเภอโขงเจียม แล่นเข้าไปตรงบริเวณสวนหย่อมก่อนจะถึงตัวเขื่อน ที่เคยเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนของชาวบ้านปากมูนสามพันกว่าคนที่ปักหลักสู้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯอย่างทรหดมานานหลายปี แต่สุดท้ายก็ถูกกลุ่มอันธพาลบุกเผาหมู่บ้านจนวอดวายสิ้น
บริเวณสวนหย่อมนี้ถูกรั้วเหล็กปิดตายอย่างถาวร ราวกับจะกลัวการลุกฮือของชาวบ้านอีกครั้งหนึ่ง
เราเดินไปถึงตัวเขื่อนปากมูน ที่ใช้เงินภาษีสร้างในราคาเริ่มต้น 3,000 กว่าล้านบาท กว่าจะบานปลายออกมาเป็น 6,000 กว่าล้านบาท เพื่อนที่เป็นนักธุรกิจพูดออกมาประโยคแรกว่า
“ตอนแรกผมคิดว่าคงเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ ไม่คิดว่าจะเป็นเขื่อนเล็กแค่นี้เอง แต่ทำไมสามารถสร้างความแตกแยกให้กับคนในพื้นที่ สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านมานานนับสิบปีได้ มันจะคุ้มหรือนี่” เพื่อนกล่าวต่อว่า
“คุณรู้ไหม มูลค่าของความแตกแยกที่ผ่านมา และเวลาของทั้งสองฝ่ายที่สูญเสียไปกับความขัดแย้ง มันอาจจะมีราคามากกว่าเขื่อนนี้ก็ได้”
“แล้วเขื่อนปากมูนนี้ผลิตไฟฟ้าได้กี่เท่าไหร่” เพื่อนถามต่อ
พอได้ทราบคำตอบว่า ผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 140 เมกะวัตต์ เกือบเท่ากับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของห้างสยามพารากอน ในกรุงเทพมหานคร ที่ใช้ไฟฟ้าถึง 123 เมกะวัตต์
“มันคุ้มตรงไหน สร้างเขื่อนนี้ขึ้นมาผลิตไฟฟ้าพอใช้กับศูนย์การค้าขนาดใหญ่ไม่กี่แห่ง”
เราพาเพื่อนไปดูบันไดปลาโจน ซึ่งโด่งดังไปทั่วประเทศเมื่อหลายปีก่อน จากฝีมือการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ปูพรมไปทุกสื่อว่า เขื่อนปากมูนที่ปิดขวางการเดินทางของปลาจำนวนมหาศาลจากแม่น้ำโขงที่จะเข้ามาในแม่น้ำปากมูน เพื่อเป็นอาหารเลี้ยงคนอีสานตามลุ่มน้ำมูนนั้น บัดนี้สามารถแก้ปัญหาได้แล้วด้วยบันไดปลาโจน คนลำน้ำมูนจะจับปลาแม่น้ำมูนมาทำปลาร้า ปลาแดกกินกันได้ทั้งปี
บันไดปลาโจนมีลักษณะเหมือนกับทางเดินทำด้วยแท่งคอนกรีตเป็นขั้นๆ เพื่อให้ปลากระโดดขึ้นไปทีละขั้น จนสามารถไปถึงชั้นบนของเขื่อนและสามารถข้ามเขื่อนไปได้ แต่ได้ถูกนักวิชาการประมงวิจารณ์ว่าเป็นความคิดที่ล้มเหลว เพราะปลาแถบนี้ไม่ใช่ปลาที่สามารถกระโดดแบบปลาแซลมอนที่ว่ายทวนน้ำและกระโดดขึ้นชั้นน้ำตกได้
แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯก็ไม่สนใจเสียงวิจารณ์ต่างๆ นานา เดินหน้าสร้างบันไดปลาโจนจนสำเร็จ ใช้เงินลงทุนและงบฯโฆษณาหลายร้อยล้านบาท และเชิญกองทัพผู้สื่อข่าวแห่มาทำข่าวกันเอิกเกริก
ทุกวันนี้ป้ายบันไดปลาโจนถูกเอาออก เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวได้สังเกตเห็นว่า บริเวณนี้คือบันไดปลาโจน เราเดินลงไปสำรวจแท่งคอนกรีตที่ถูกทิ้งร้าง เห็นมีน้ำไหลเอื่อยๆ ราวกับไม่ถูกใช้งานมานานแล้ว
ชาวบ้านบอกว่ามันถูกปิดตายมานานแล้ว ที่ผ่านมาเคยเห็นแต่ปลาซิวตัวเล็กๆ กระโดดว่ายเล่น ไม่เคยพบปลาว่ายทวนน้ำกระโดดขึ้นไปได้เหมือนที่โฆษณาสักครั้งเลย
ทุกวันนี้เขื่อนปากมูนมีชื่อเสียงโด่งดังกว่าสถานที่หลายแห่งในตัวเมืองอุบล เพราะผู้หญิงกรุงเทพฯตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่เดินทางไปร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนกับชาวปากมูนที่ได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ในยุคสมัย รสช.ครองอำนาจ ที่เขื่อนยังไม่ลงมือสร้าง
มด หรือวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ร่วมสู้กับชาวบ้าน ตั้งแต่ไปยืนประท้วงบนแก่ง เพื่อไม่ให้มีการระเบิดแก่ง ไปประท้วงบนศาลากลางจังหวัด บนถนนหน้าทำเนียบ หน้าที่ทำการของธนาคารโลกที่เป็นผู้ปล่อยเงินกู้รายใหญ่ในการก่อสร้างเขื่อนปากมูน
แม้ธนาคารโลกจะอนุมัติเงินกู้ แต่ก็เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของธนาคารโลก ที่มีการอนุมัติเงินกู้โดยมติไม่เป็นเอกฉันท์
พอเขื่อนสร้างเสร็จ เธอก็ยังไม่ยอมหยุดต่อสู้ ยังต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมของชาวบ้าน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวประมง ผู้ไม่สามารถจับปลาได้อีก จนถูกจับ ถูกตั้งข้อหาสารพัดอย่าง
แม้เขื่อนจะสร้างสำเร็จ แต่สิ่งที่มดและชาวบ้านได้ต่อสู้จนกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมก็คือ การจ่ายค่าชดเชยการสูญเสียโอกาสในการทำงาน ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน เพราะที่ผ่านมามีแต่การจ่ายค่าเวนคืนบ้านและที่ดินเท่านั้น
มดมีเพื่อนเป็นนักการเมืองทุกพรรค แต่เธอสรุปได้ว่า คนเหล่านี้เป็นมิตรที่ดี เมื่อเป็นฝ่ายค้านไม่มีอำนาจวาสนา แต่พอข้ามฟากอยู่ฝ่ายรัฐบาลก็กลายเป็นคู่กรณีทุกครั้ง
หลายครั้งที่มดถูกเพื่อนนักการเมืองคนเดือนตุลาหักหลัง จากคำพูดอันสวยหรูก่อนเป็นรัฐบาล
มดจึงเลือกที่จะยืนหยัดอยู่กับภาคประชาชนมาโดยตลอดชีวิต
มดทำให้สังคมหันมามองปัญหาของคนตัวเล็กๆ คนจนๆ อย่างจริงจัง และสรุปบทเรียนว่าการรวมพลังของเหล่าคนผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น จึงสามารถต่อรองกับอำนาจรัฐได้
มดเคยพูดว่า
“ถ้ามากันคนสองคนจะได้พบก็แต่ยาม ถ้ามี 10-20 คน อาจจะได้เจอเลขาฯศูนย์บริการประชาชน ถ้ามาเป็นร้อยจะได้เจอเลขาฯรัฐมนตรี มาเป็นพันรัฐมนตรีช่วยฯจะลงไปหา ถ้ามีสักหมื่นรัฐมนตรีจะลงมาเจรจาด้วย แต่จะให้นายกฯมาพบปะเจรจาต้องสักสองหมื่น”
ไม่แปลกใจที่การต่อสู้ของชาวบ้านกับเขื่อนปากมูลอันยาวนานจะเป็นวัตถุดิบชั้นยอด ที่บรรดานักศึกษาทั้งในประเทศและจากต่างประเทศแห่กันมาทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก นับร้อยชิ้น
ไม่แปลกใจที่การต่อสู้ครั้งนี้ เป็นที่ฝึกงานชั้นดีของบรรดานักข่าวสายการเมืองและสายสิ่งแวดล้อมทุกสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์รุ่นแล้วรุ่นเล่าต้องเคยผ่านการทำข่าวของชาวบ้านปากมูนและกลุ่มสมัชชาคนจนแน่นอน
ไม่แปลกใจที่มดสร้างชาวบ้านที่เคยกลัว เคยหงอบุคคลในเครื่องแบบ ให้กลายเป็นนักพูดที่กล้าพูดความจริง ความทุกข์ของพวกเขาตอกหน้าผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรัฐมนตรีมาแล้ว
หน่วยงานความมั่นคงยอมรับว่า มดเป็นนักยุทธวิธีที่เก่งที่สุดคนหนึ่ง ไม่ว่าการปีนบันไดเข้าทำเนียบ การนำฝูงชนสองสามหมื่นคนนั่งสมาธิล้อมทำเนียบหลายเดือน หรือการยึดสันเขื่อนเพื่อตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน เพื่อต่อรองกับรัฐบาล โดยใช้หลักสันติวิธี
มดคิดเสมอว่า การต่อสู้ไม่ได้หวังผลแพ้ชนะในวันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่ประชาชนจะต้องสู้ไปเรื่อยๆ ไม่ท้อถอย
มดมีความหวังเสมอ แต่ไม่เคยคาดหวังอันใด
ครั้งหนึ่ง มดเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ดิฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นผู้เสียสละ ไม่ได้คิดว่าเป็นนักบุญหรือแม่พระ และก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นหญิงเหล็ก ดิฉันเป็นคนธรรมดา เพียงแต่ดิฉันเป็นคนไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมจำนนง่ายๆ เท่านั้น”
จะมีสักกี่คนที่ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมจำนนง่ายๆ ในสถานการณ์เช่นนี้
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 16 มีนาคม 2551
Comments
เป็นสามัญชนที่ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งครับ
เธอเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยหลายๆคนแน่นอนครับ
สิ่งที่เธอทำมาไม่เสียเปล่าจริงๆ
ขอไว้อาลัยด้วยครับ
😛
คุณมดเป็นผู้หญิงแกร่งและมีอุดมการณ์ เป็นแบบอย่างของคนไทยที่พึ่งจะใช้ชีวิตเช่นคุณมด โดยเฉพาะคนระดับรากหญ้าที่ยังเป็นเหยือของผู้กุมบังเหียนนโยบายที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น สังคมยังขาดแคลนคนคนอย่างคุณมด การจากไปของคุณมดขอให้เป็นแบบอย่างให้คนในสังคมไทยได้ตระหนักเพื่อส่วนรวม เพื่อมวลชนรากหญ้า
ขอไว้อาลัยในการจากไปไม่มีวันกลับ
สมศรี ชัยวณิชยา