ต้นปีปลายหน้าหนาวดูเหมือนภูมิอากาศบ้านเราแปรปรวนอย่างเห็นได้ชัด
ฝนชะช่อมะม่วงในช่วงเวลานี้ที่เคยตกโปรยปรายก็กลายเป็นฝนห่าใหญ่ ตกหนักไม่ลืมหูลืมตา ท้องฟ้ามืดครึ้มติดต่อกันหลายวัน ราวกับอยู่กลางฤดูฝน
เข้าสู่เดือนมีนาคม ช่วงปิดเทอมใหญ่ของนักเรียน โดยปรกติอากาศร้อนมาเยือนเรียบร้อยแล้ว แต่ปีนี้คนไทยสัมผัสความหนาวเย็นนานปกติ โดยเฉพาะช่วงหัวค่ำต่อไปจนถึงเมื่อฟ้าสาง
กรมอุตุนิยมวิทยา ให้เหตุผลว่า คนในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลจะรู้สึกถึงอากาศที่เย็นลงอย่างฮวบฮาบเพราะความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย และประกอบกับทางขั้วโลกใต้ทางออสเตรเลียมีพายุ ทำให้อากาศหนาวจากจีนแผ่ลงมาเร็วขึ้นส่งผลให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งกทม.และปริมณฑลมีอากาศหนาวเย็นลงอีก ๑-๓ องศาเซลเซียส และคาดว่ากลางเดือนอุณหภูมิน่าจะสูงขึ้นบ้าง
เปิดโทรทัศน์ดูข่าวรอบโลกยิ่งแล้วกันใหญ่ เมืองจีนมีหิมะตกหนักสุดในรอบร้อยปี เวียดนามก็มีหิมะตกบนยอดเขาเป็นครั้งแรก
ขณะที่ประเทศในยุโรปอากาศควรจะอุ่นขึ้นได้แล้ว แต่ปรากฏว่ายังหนาวรุนแรงอยู่
ผลกระทบจากวิกฤติการณ์ของโลกร้อนมาเยือนพวกเราเร็วขึ้นอย่างไม่ได้นัดหมายจริง ๆ
หน้าหนาวปีหน้า หากมีหิมะตกบนยอดดอยอินทนนท์ ก็อย่าได้แปลกใจ
อีกด้านหนึ่ง สถาบัน World Watch ได้รายงานว่า กรุงเทพฯ ติดอันดับ ๒๑ เมืองใหญ่เสี่ยงจมน้ำในศตวรรษนี้ จากภาวะโลกร้อนที่ทำให้น้ำทะเลหนุนสูงและสภาวะอากาศโลกเปลี่ยนแปลง
ทุกวันนี้กรุงเทพฯของเราอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง ๑-๑.๕ เมตร และบางส่วนยังอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทุกปี
ผู้เชี่ยวชาญระบุด้วยว่า ประชาชนกว่า ๑ ใน ๑๐ ของประชากรโลกทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวน ๖๔๓ ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่ำริมชายฝั่ง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง โดยประเทศที่มีความเสี่ยงเผชิญความเสียหายมากที่สุดเรียงตามลำดับจากมากไปน้อยได้แก่ จีน อินเดีย บังกลาเทศ เวียดนาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น อียิปต์ สหรัฐ ไทย และฟิลิปปินส์
ไม่มีใครรู้ว่า หน้าร้อนในเดือนเมษายน อากาศจะร้อนจัด หนาว หรือมีฝนตกหนักจนเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่
ปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งมีสาเหตุมาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนชั้นบรรยากาศมีมากเกินไปนั้น เป็นที่ยอมรับจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก หลังจากถกเถียงกันมาหลายสิบปีแล้วว่า ตัวการสำคัญคือมนุษย์เรา ๆท่าน ๆนั่นเอง ไม่ได้เป็นปรากฎการณ์หรือวัฎจักรตามธรรมชาติเลย
มนุษย์คือต้นเหตุแห่งปัญหาโลกร้อน แต่มนุษย์เองก็คือตัวหลักที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ปัญหาโลกร้อนสามารถบรรเทาลงได้ หากเราทุกคนเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง
เปลี่ยนแปลงการปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศมาที่ ๒๕ องศาเซลเซียส
เปิดและปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดเท่าที่จำเป็น
หันมาใช้รถไฟฟ้า รถเมล์กันมากขึ้น
หัดแยกขยะ ไม่จำเป็นอย่าใช้ถุงพลาสติก หรือขวดน้ำพลาสติก
ชอปปิ้งน้อย ๆ ซื้อของมือสอง ใช้ของให้คุ้มค่า ไม่ต้องเปลี่ยนไปตามแฟชั่น ฯลฯ
ปลูกต้นไม้ ต้นไม้หนึ่งต้น จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ ๒๐ กิโลกรัม
เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆเหล่านี้ พวกเราทุกคนเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น
อยู่ที่ว่าพวกเรากล้าเปลี่ยนแปลงกันไหม
Comments
คนละเล็กละน้อยช่วยกันและบอกต่อๆกันค่ะ
http://www.meandyouandtheearth.blogspot.com