The Kite Runner ความกลัว และความกล้า

ได้ยินชื่อหนังสือเล่มนี้มานานแล้ว ไม่ได้อ่านสักที แต่พอมีโอกาสไปดูหนังเรื่องนี้แล้ว บอกกับตัวเองว่าโชคดีจริง ๆที่โลกเส็งเคร็งใบนี้ยังมีผู้สร้างหนังและคนเขียนหนังสือดี ๆให้เราได้ซึมซับความงามของชีวิตท่ามกลางความโหดร้ายของมนุษย์

The Kite Runner ไม่ดูไม่ได้จริง ๆ แม้ว่าจะเป็นหนังฟอร์มเล็กและรอบที่ไปชมมีคนดูเพียงสิบกว่าคน


อาเมียร์เป็นนักเขียนหนุ่มชาวอาฟกานิสถานผู้อพยพหนีภัยสงครามมาอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เด็ก แต่สิ่งที่ตามหลอกหลอนเขามาตลอดชีวิตคือ ความกลัวที่ได้ทรยศและทำบาปกับเพื่อนสนิทของเขาในวัยเด็ก

ความกลัวที่ได้พัฒนาเป็นความเกลียด ความโกรธ แต่ในที่สุดได้กลายเป็นความกล้าที่จะลบล้างความผิดของตนเอง

ช่วงปลายทศวรรษที่ 70 อาเมียร์ในวัยเด็กอาศัยอยู่ในกรุงคาบูล เมืองหลวงของอาฟกานิสถาน เขามีเพื่อนสนิทชื่อฮัสซาน อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน แต่สถานะทางชนชั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อาเมียร์ผิวบอบบางเป็นลูกของคหบดี พ่อเป็นนักธุรกิจมีชื่อเสียงในสังคม ส่วนฮัสซานเป็นพวกเผ่าฮาซาร่า ชนชั้นต่ำ ผิวหยาบกร้านเป็นลูกคนใช้เก่าแก่ของครอบครัว

ทั้งคู่ชอบเล่นว่าว โดยเฉพาะฮัสซานมีฝีมือในการตัดว่าวคู่แข่งอย่างหาตัวจับยาก อาเมียร์เป็นเด็กขี้ขลาด ไม่มั่นใจตัวเอง ขณะที่ฮัสซานเป็นเด็กเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว ใจนักเลง คอยดูแลปกป้องอาเมียร์ที่โตมาด้วยกัน อาเมียร์จะให้ฮัสซานทำอะไรให้ก็ไม่เคยบ่น แต่รับใช้ด้วยความยินดีในฐานะเพื่อนตายและ เจ้านาย

อาเมียร์ได้เข้าโรงเรียน ชอบอ่านนิยายให้ฮัสซานที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนและอ่านหนังสือไม่ออก

อาเมียร์ชอบเขียนนิทาน พ่อไม่สนใจ มีเพียงลุงของเขาที่คอยให้กำลังใจในการเขียนนิทาน แต่พ่อเป็นเสรีนิยม คนรุ่นใหม่ จิตใจเด็ดเดี่ยว รักความยุติธรรม แต่ชอบกินเหล้า ซึ่งอาเมียร์ถามพ่อว่าผิดหลักศาสนาไหม พ่อสอนลูกว่าไม่ เพราะความผิดประการเดียวของมนุษย์คือการขโมย การฆ่าคนก็คือการขโมยอย่างหนึ่ง เป็นการขโมยชีวิตไปจากคนรัก การโกหกก็เป็นการขโมยสิทธิในการรู้ความจริงของมนุษย์เช่นกัน

ครั้งหนึ่งอาเมียร์มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับอัสเซฟนักเลงรุ่นพี่ตัวโตกว่า และเตรียมรุมกระทืบอาเมียร์พร้อมด้วยพรรคพวกหลายคน แต่ฮัสซาน เข้าปกป้องด้วยการควักง่ามไม้หนังสติ๊กออกมา และเล็งลูกหินไปที่ใบหน้าของอัสเซฟพูดจาเด็ดขาดให้ปล่อยตัวอาเมียร์ออกมาทั้ง ๆที่ตัวเล็กกว่ามาก จนอัสเซฟยอมทำตาม แต่ผูกใจเจ็บมา ณ บัดนั้น

หลายวันต่อมา ทั้งคู่เข้าแข่งในเทศการประกวดว่าว และสามารถเฉือนตัดว่าวสีน้ำเงินคู่แข่งสำคัญในรอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ  ฮัสซานวิ่งออกไปเก็บว่าวสีน้ำเงินเป็นของขวัญมาให้เพื่อน เขาหายไปพักใหญ่อาเมียร์รู้สึกผิดสังเกตจึงเดินออกไปตามหาฮัสซาน ตามซอยเปลี่ยว และเห็นเขากำลังเผชิญหน้ากับอัสเซฟและสมุน อัสเซฟสั่งให้มอบว่าวสีน้ำเงินให้เขา แต่ฮัสซานปฏิเสธบอกว่าเป็นของอาเมียร์ ในที่สุดเขาจึงถูกรุมทำร้าย และจบลงด้วยการถูกรุมข่มขืนอย่างโหดร้าย

อาเมียร์ได้แต่แอบดูเพื่อนถูกทำร้าย แต่ไม่กล้าไปช่วยแถมยังวิ่งหนีออกไปด้วยความกลัว ฮัสซานเดินขากระเผลกมีเลือดหยดออกมาด้านหลัง ฮัสซานไม่ปริปากพูดว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะความอายและไม่อยากให้เรื่องลุกลามใหญ่โต ขณะที่อาเมียร์ก็ไม่บอกความจริงว่าเห็นเหตุการณ์แต่ไม่กล้าเข้าไปช่วยเพื่อน

ฮัสซานมอบว่าวสีน้ำเงินให้อาเมียร์ เขาไม่กล้าสบตาฮัสซาน เพราะรู้สึกผิด รู้ดีว่าว่าวแลกมาด้วยความบริสุทธิ์ของเพื่อนตัวเอง หลังจากวันนั้นอาเมียร์รู้สึกได้ว่าทุกครั้งที่เห็นฮัสซานคือกระจกที่สะท้อนความผิดของตัวเองที่ทรยศเพื่อน และด้วยความกลัวว่าจะมีคนล่วงรู้ความลับเรื่องนี้  อาเมียร์จึงวางแผนที่จะไม่ให้ครอบครัวคนใช้อยู่ในบ้านหลังนี้ต่อไป โดยการบอกพ่อใส่ร้ายว่าฮัสซานขโมยนาฬิกาข้อมือไป แต่แทนที่ฮัสซานจะแก้ตัว กลับก้มหน้ายอมรับโดยดุษฎี เพื่อปกป้องอาเมียร์เพื่อนของเขา

เมื่อฮัสซานและพ่อออกจากบ้าน อาเมียร์ดีใจมาก ความลับของเขาไม่มีใครรู้อีกต่อไป แต่ความรู้สึกผิดก็ยังเกาะกุมอยู่ในใจมาตลอด จนกระทั่งได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบในประเทศ เมื่อกองทัพรัสเซียได้เข้ามายึดอำนาจการปกครองจากระบอบกษัตริย์ของอาฟกานิสถาน บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย พ่อและอาเมียร์ต้องอพยพออกจากประเทศหนีไปปากีสถานอย่างฉุกละหุก

ระหว่างทางตามถนนที่หลบอยู่ในรถบรรทุกกับผู้โดยสารคนอื่น ทหารรัสเซียได้เข้ามาตรวจค้นภายในรถ เห็นแม่ลูกอ่อนคนหนึ่งหน้าตาสะสวย จึงคิดจะใช้กำลังลากลงมาข่มขืน แต่พ่อของอาเมียร์ที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วย ได้ลุกขึ้นยืนและตวาดออกไปอย่างเด็ดขาดว่า มาเอาชีวิตของข้าดีกว่าจะข่มขืนผู้หญิงอย่างไร้เกียรติ

ทหารรัสเซียเตรียมยิงพ่อ แต่โชคดีที่นายทหารรัสเซียมาห้ามเอาไว้ได้ และหนังได้ตัดภาพไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกาสิบกว่าปีต่อมา อาเมียร์จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ตั้งใจเป็นนักเขียน สร้างความผิดหวังให้แก่พ่อที่ได้งานทำในสถานีน้ำมันและต้องการให้ลูกเป็นหมอ แต่อาเมียร์เริ่มยืนหยัดในความคิดของตัวเองที่อยากเป็นนักเขียน ไม่กลัวอะไรเหมือนเดิม

เขากล้าที่จะเดินไปขอลูกสาวอดีตนายพลนอกราชการของอาฟกานิสถาน และต่อมานิยายเรื่องแรกของเขาได้รับการตีพิมพ์ กลายเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่โด่งดัง ตอนนั้นเองอาเมียร์ได้รับโทรศัพท์ทางไกลจากลุงของเขาเอง บอกว่าตอนนี้ได้อพยพหนีพวกตาลีบันมาอยู่ปากีสถานแล้ว และอยากให้เขากลับไปเยี่ยม โดยย้ำว่า “เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้ทำสิ่งดี ๆในชีวิต”

อาเมียร์ขออนุญาตเมียรักกลับไปเยี่ยมบ้าน เมื่อไปถึงปากีสถาน ลุงของเขาเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้เขาได้จ้างฮัสซานพร้อมเมียและลูกชายให้มาเฝ้าบ้าน แต่พวกตาลีบันบุกมาหมายจะยึดบ้าน และไล่ฮัสซานให้ออกจากบ้าน แต่ฮันซันไม่ยอม บอกว่าเป็นบ้านของเจ้านาย ตาลีบันจึงสังหารเขาและเมียตาย ลูกชายถูกส่งไปอยู่บ้านเด็กกำพร้า

ลุงได้เปิดเผยความจริงว่า แท้จริงฮัสซานเป็นน้องชายแท้ ๆ แต่ต่างมารดา เพราะแม่ของฮัสซานคือคนใช้เก่าในบ้านที่พ่อของอาเมียร์เอามาทำเมีย

อาเมียร์เสียใจมาก พ่อปิดบังเขามาตลอดชีวิตว่า ฮัสซานคือน้องชายเขาเอง และลุงของเขาเตือนว่าสิ่งสุดท้ายที่อาเมียร์สามารถชดใช้ความผิดที่มีต่อฮัสซานได้ก็คือ การกลับไปกรุงคาบูลเพื่อนำหลานชายตัวเองออกมา

อาเมียร์รู้ทันทีว่า นี่คือหนทางเดียวที่จะชดเชยความผิดและชำระความกลัวในอดีตที่ตามมาหลอกหลอนไม่สิ้นสุด คือกล้าลุกออกไปข้างหน้าเพื่อช่วยเหลือชีวิตหลานชายคนเดียวให้ออกมาจากขุมนรกของตาลีบัน

เมื่ออาเมียร์หลบหนีเข้าไปในกรุงคาบูลอีกครั้งหนึ่ง เขาตรงไปที่โรงเลี้ยงเด็กกำพร้า และได้พบว่าหลานชายถูกหัวหน้าตาลีบันเอาตัวไปเป็นทาสบำเรอ ผู้ดูแลบอกว่าจะไปหาพวกนี้ได้ในสนามกีฬา เมื่ออาเมียร์ไปถึงสนามกีฬา เขาได้ถูกนำตัวไปที่ตึกหลังหนึ่ง และเห็นหลานชายของเขาในชุดผู้หญิงกำลังร่ายรำ และหัวหน้าตาลีบันผู้นั้นคืออัสเซฟคู่ปรับเก่าผู้เคยข่มขืนฮัสซานในอดีต

อัสเซฟจำอาเมียร์ได้ทันทีและเข้าทำร้ายให้ถึงตาย แต่หลานชายได้ใช้หนังสติ๊กยิงใส่ลูกตาของอัสเซฟ ทั้งคู่หนีรอดจนข้ามพรมแดนมาปากีสถานได้สำเร็จ และไม่นานก็สามารถกลับไปอยู่สหรัฐอเมริกาได้ แต่หลานคนนี้ยังมีรอยแผลติดตัวเช่นเดียวกับฮัสซาน คือถูกข่มขืน เขาพูดตลอดว่าเป็นคนบาป

เมื่อกลับมาอยู่ในอเมริกา พ่อตาได้แสดงความไม่พอใจที่ในบ้านมีเด็กของพวกชนชั้นต่ำอาศัยอยู่ กลัวเป็นขี้ปากของชุมชนอาฟานิสถานรอบ ๆนี้ แต่อาเมียร์ได้กล้าพูดกับนายพลเพื่อปกป้องหลานชายว่า “ไปบอกทุกคนว่าเด็กคนนี้เป็นหลานแท้ ๆของผม มีแม่เป็นคนรับใช้ในบ้านที่ถูกพ่อของผมเอามาทำเมีย”

อาเมียร์ทำทุกอย่างเพื่อไถ่บาปความผิดของตัวเองในอดีต และเขาก็ได้หลานชายของฮัสซานเป็นของขวัญ

ฉากสุดท้ายในเรื่องเมื่อทั้งหมดไปเดินเล่นในสวนสาธารณะและอาเมียร์ได้ซื้อว่าวมาให้หลานพยายามเล่น ตอนแรกหลานปฏิเสธ แต่เมื่ออาเมียร์ได้บอกว่าพ่อของเขาเป็นนักเล่นว่าวเก่งที่สุดคนหนึ่ง หลานชายก็เริ่มหันมาสนใจว่าว หัดเล่นว่าวด้วยกัน และทำให้ความผูกพันกับอาเมียร์กลับมาดีขึ้น โดยมีว่าวเป็นสื่อสัมพันธ์ชั้นดี

ตอนที่อาเมียร์วิ่งไปเก็บว่าวให้หลาน เขาได้พูดกับหลานรักประโยคเดียวกับที่ฮาสซานเคยพูดให้เขาฟังยี่สิบกว่าปีก่อน

“สำหรับคุณ ต่อให้หนักหนากว่านี้อีกพันเท่าก็ยังไหว”

The Kite Runner เป็นหนังไม่กี่เรื่องที่สามารถถ่ายทำแก่นของเรื่องออกมาได้ดีพอ ๆกับต้นฉบับที่เป็นหนังสือขายดี ไม่ว่าจะฝีมือของผู้กำกับ ตัวแสดงที่คัดเลือกได้อย่างดี การถ่ายทำอันยอดเยี่ยม โดยเฉพาะฉากการเล่นว่าว และเพลงประกอบที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงตุ๊กตาทองออสการ์ประจำปี 2008

หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จในการเล่าเรื่องวิถีชีวิตคนอาฟกานิสถาน ที่เคยเป็นประเทศมุสลิมอันสงบสุข ไม่เคร่งครัด บ้านเมืองมีความสุข แต่สงครามทำให้ทุกอย่างพังพินาศจนหมดสิ้น

หนังเรื่องนี้เก็บรายละเอียดเล็ก ๆน้อย ๆได้ดี ฉากงานแต่งงานของอาเมียร์และภรรยา สะท้อนถึงประเพณีของมุสลิมอันงดงาม โดยเฉพาะตอนที่คู่บ่าวสาวนั่งอยู่ด้วยกัน มีคนเอาผ้ามาคลุมและยื่นกระจกบานใหญ่ให้ทั้งสองคนดู

คนหนึ่งถามว่า เห็นอะไรในกระจก อีกคนตอบว่า เห็นอนาคตของเรา

ฉากสะเทือนใจฉากหนึ่ง เกิดขึ้นในสนามกีฬาเมื่อ พวกตาลีบันได้พิพากษาประหารชีวิตหญิงชายสองคนข้อหาคบชู้ ด้วยการรุมปาก้อนหินจนขาดใจตาย แต่อีกด้านหนึ่งบรรดาตาลีบันผู้เคร่งศาสนา ก็จับเอาเด็กสาวและเด็กชายจากโรงเลี้ยงเด็กกำพร้ามาบำบัดความใคร่ของตนเอง

ออกจากโรงหนัง เห็นคนรอบข้างเช็ดน้ำตากันถ้วนหน้า แต่อิ่มในความเป็นหนังที่สะท้อนจิตใจด้านมืดและด้านสว่างของมนุษย์ออกมาอย่างลึกซึ้ง

ความกลัวและความกล้าล้วนอยู่ภายในตัวมนุษย์ทุกคน

ทั้งสองด้านล้วนมีพลังในการทำลายล้างและสร้างสรรค์

อยู่ที่ว่ามนุษย์เลือกจะเป็นแบบใด

Comments

  1. Post
    Author
  2. Nonbiri

    ดูเรื่องนี้จบแล้วรู้สึกว่ามันเป็นการไถ่บาปคนแต่งยังไงไม่รู้
    จนกระทั่งมาเจอบทสัมภาษณ์ที่เจ้าตัวบอกว่าี้…

    “No more than most first-time novelists who write in the first person. The setting in 1970s Kabul, the house where Amir lived, the films that he watches, of course the kite flying, the love of storytelling — all of that is from my own childhood. The story line is fictional.”

    Khaled Hosseini ผู้แต่ง เป็นลูกฑูตอัฟกัน เกิดและโตที่คาบุล ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย
    ในวัยเด็กมีเพื่อนเล่นเป็นชาวฮาซาร่า ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจลึกๆให้เขาเขียนเรื่องนี้ด้วย

    หนังสือเรื่องนี้บังเอิญออกมาในช่วงก่อนเกิดเหตุ 911 ไม่กี่เดือน ทำให้หนังสือขายดีมาก
    ที่สำคัญ ทำให้นักอ่านคนอเมริกันได้มองเห็นชีวิต จิตวิญญาณ และความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของอัฟกานิสถาน
    มากไปกว่าภาพในจินตนาการที่เป็นดินแดนแล้งๆ ถ้ำๆ และมีความหมายเพียงแหล่งซ่องสุมตาลีบัน

    หนึ่งฟีดแบกจากคนอ่าน….
    “all of a sudden Afghanistan has become a real place to me and the Afghans have become real people and I see the parallels between my life here and the life of the people in this completely remote country, and now when there’s a news story about Afghanistan — be it a bombing or an attack on a village — it registers on a very personal level.”

    http://www.salon.com/ent/movies/feature/2007/12/09/hosseini/

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.