ทิเบต รถเบนซ์และโอลิมปิกเกมส์

 

อาทิตย์ที่ผ่านมา สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศจีนพุ่งสูงขึ้นเกือบ 20 % แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า รถยนต์ที่คนจีนให้ความสนใจสูงสุดคือรถยนต์สปอร์ต และรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่มียอดขายเพิ่มสูงถึง 40-50 %

รถเบนซ์ได้รับความนิยมสูงสุด โดยเฉพาะรุ่นเอส-คลาส จนกลายเป็นประเทศที่ขายรถเบนซ์ได้มากเป็นอันดับสองของโลกสาเหตุหลักก็เป็นที่รู้กันว่า มาจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องมาหลายปี จนทำให้เกิดเศรษฐีใหม่กันนับแสนคนทีเดียว

คนจีนเหล่านี้ใช้เวลาไม่กี่ปีถีบตัวเองขึ้นเป็นเศรษฐีใหม่ มีเงินมากล้นจนไม่รู้จะไปทำอะไร และเพิ่งมีรสนิยมในการใช้ชีวิตตามแบบโลกทุนนิยม จึงนิยมซื้อรถยนต์หรูหรา ขนาดใหญ่ โอ่โถง เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ซดน้ำมันมหาศาล มากกว่าที่จะซื้อรถเล็ก ๆ ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เศรษฐีใหม่เหล่านี้กลายเป็นคนต้นแบบของคนหนุ่มสาวจีนรุ่นใหม่ในโลกของสังคมนิยม ที่อยากรวยเร็ว ไม่ต้องสนใจเรื่องความเป็นธรรม หรือสิ่งแวดล้อม ไม่ต่างจากคนรุ่นหนุ่มสาวในสังคมทุนนิยม การพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างดุเดือด ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน หรือถ่านหิน เพื่อนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้า และปริมาณยานพาหนะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้ทำให้ประเทศจีนได้ก้าวขึ้นสู่ประเทศอันดับหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว แทนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ต้อนรับนักกีฬาจากทั่วทุกมุมโลกที่จะเข้าร่วมการแข่งกันกีฬาโอลิมปิก 2008 ในกรุงปักกิ่ง

ขึ้นชื่อว่ามหาอำนาจที่เอาเงินเป็นตัวตั้งไม่ว่าจะอยู่ฝั่งเสรีนิยมหรือสังคมนิยมล้วนทำลายสิ่งแวดล้อมพอ ๆกัน

การจัดโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ เป็นความภาคภูมิใจของคนจีนส่วนใหญ่ที่มีเชื้อสายฮั่น จะทำให้ประเทศของตนเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกมากขึ้น ในขณะที่บรรดาชนกลุ่มน้อยในประเทศโดยเฉพาะชาวทิเบต ได้ใช้โอกาสนี้ทำให้ทั่วโลกรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับทิเบตที่เคยเป็นประเทศเอกราชมาก่อน จนเกิดการจลาจลในหลายเมืองของทิเบต และสุดท้ายรัฐบาลจีนได้ส่งกองทัพเข้ามาปราบปราม มีชาวทิเบตเสียชีวิตร้อยกว่าคน ถูกจับกุมกว่าสองพันคน เป็นข่าวดัง และเกิดการประท้วงไปทั่วโลก บุคคลสำคัญหลายคนถอนตัวจากการไปร่วมเปิดกีฬาโอลิมปิก และนักวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกที่ประกาศถอนตัวเป็นรายแรกของโลกคือ ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ หนึ่งในนักวิ่งชาวไทย

คนรุ่นปัจจุบันจำนวนมากยังมีความเข้าใจว่า ทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาช้านาน แต่ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทิเบตเคยเป็นรัฐอิสระมานานเกือบสองพันปี มีภาษา และกฎหมายเป็นของตนเอง มีอาณาเขตชัดเจน แต่เคยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนในสมัยราชวงศ์ชิง จนกระทั่งเมื่อประมาณเกือบร้อยปีก่อนในช่วงที่ซุน ยัด เซน ได้ทำการปฏิวัติล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐ ทิเบตได้ประกาศเอกราชไม่ยอมขึ้นกับจีนเป็นผลสำเร็จ และ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทิเบตได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศประกาศตัวเป็นกลางได้สำเร็จท่ามกลางมหาอำนาจที่อยู่รอบด้าน ทั้งจากอังกฤษ หรือญี่ปุ่นที่พร้อมจะเข้ามารุกรานได้ในเวลานั้น แต่ก็ดำรงความเป็นอิสระมาโดยตลอด

ในปี ค.ศ. 1949 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดครองประเทศจีนได้สำเร็จ เหมา เจ๋อ ตง ได้ส่งทหารกองทัพปลดแอกประชาชนเข้ามาทิเบตเป็นครั้งแรก โดยอ้างว่า เพื่อเข้ามาปลดแอกประชาชนชาวทิเบต และยื่นคำขาดให้กับองค์ทาไล ลามะ ผู้นำสูงสุดว่า ให้ทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน และให้ยุบกองทหารทิเบตไปขึ้นกับกองทัพจีน แต่ฝ่ายทิเบตได้ปฏิเสธข้อเสนอของจีน ดังนั้นทหารจีนสี่หมื่นกว่าคนได้บุกโจมตีหลายจังหวัดของทิเบต เกิดเป็นสงครามกลางเมือง มีชาวทิเบตและพระสงฆ์ถูกฆ่าตายไปหลายหมื่นคน ทำให้องค์ทาไล ลามะต้องเสด็จลี้ภัยไปอยู่ประเทศอินเดีย และจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่นั่น

ห้าสิบปีผ่านไป รัฐบาลจีนประกาศว่า ความเป็นอยู่ของชาวทิเบตดีขึ้น แต่สิ่งที่รัฐบาลจีนไม่ได้บอกกับคนภายนอกก็คือ รัฐบาลจีนได้ทำลายวัดวาอารามของชาวพุทธไปมากกว่าหกพันแห่งทั่วทิเบต และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชาวทิเบตมากกว่าหนึ่งล้านคนถูกฆ่าตาย ถูกจองจำ หรือตายเพราะความอดอยาก   ที่น่าสนใจคือ มีคนจีนจำนวนมหาศาลได้หลั่งไหลเข้ามาในทิเบต จากนโยบายกลืนชาติและทำลายวัฒนธรรม

Comments

  1. yuttipung

    อ่านความเห็นหลายๆ ที่จากเว็บข่าวอย่างประชาไท แล้วก็ตกใจเพราะมีคนเห็นด้วยกับจีนอยู่เยอะพอสมควร ก็ว่าไม่ได้ครับความเห็นคนเราต่างกันไป แต่ตกใจเพราะคนที่แทบไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเขาเลยอย่างไทยเรา และบางคนก็แทบไม่ได้ติดตามประวัติศาสตร์ หรือข้อมูลอะไร มองแค่คนที่ประท้วงเหล่านี้เป็นพวกก่อความวุ่นวาย กระทำการรุนแรง ไปซะอย่างนั้น ความคิดแบบนี้น่ากลัวมากๆ 😕

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.