ทำไมต้องเปิดประตูเขื่อนปากมูลถาวร

นานมาแล้วมีคนเคยเปรียบเทียบให้ผู้เขียนถึงปรากฏการณ์สองอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมให้ฟังว่า

หากแท่งคอนกรีตขนาดยักษ์หลายสิบแท่งของโครงการโฮปเวลล์ที่ตั้งเรียงรายอยู่ริมถนนวิภาวดีรังสิตบริเวณหลักสี่ เป็นอนุสาวรีย์ประจานการคอรัปชั่นครั้งใหญ่ของเมืองไทยแล้ว

เขื่อนปากมูล ในจังหวัดอุบลราชธานีก็น่าจะเป็นอนุสาวรีย์ประจานความขัดแย้งของอำนาจรัฐที่ย่ำยีชาวบ้านมาโดยตลอดยี่สิบกว่าปี

ในวัยเด็กผู้คนจำนวนมากอาจจะเคยได้ยินชื่อการต่อสู้ของชาวบ้านที่คัดค้านเขื่อนปากมูล มีการประท้วงหลายสิบครั้งทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และพอเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ ข่าวคราวการประท้วงของชาวบ้านก็ยังไม่จางไปจากสังคมเลย

หลายครั้งเราได้ข่าวฝ่ายรัฐเข้าสลายการชุมนุมของชาวบ้าน ทุบตี เผาหมู่บ้านสมัชชาคนจนโดยที่จับมือใครดมไม่ได้จนถึงปัจจุบัน

อาจจะถือได้ว่าเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ประท้วงยาวนานและอึดที่สุดในประวัติศาสตร์

ผู้คนที่เคยคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูลมาตั้งแต่ต้น หลายคนก็ล้มหายตายจากไป หลายคนก็อ่อนล้าเหน็ดเหนื่อยเกินจะต่อสู้กับอำนาจรัฐ  แต่ในขบวนการต่อสู้ของชาวบ้านปากมูล ผู้คนจำนวนมากยังยืนหยัด และมีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมขบวนการต่อสู้สืบทอดเจตนาของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่

ล่าสุดชาวบ้านปากมูลก็มาปักหลักที่บริเวณลานพระรูปทรงม้าร่วมกับชาวบ้านกลุ่มอื่น ๆนับพันคนในนามของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ชปส.) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลต้องเปิดประตูเขื่อนปากมูลอย่างถาวร

ทำไมชาวบ้านต้องการให้เปิดเขื่อนปากมูลถาวร ?

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มาสำรวจบริเวณปากแม่น้ำมูล ช่วงก่อนจะออกไปบรรจบกับแม่น้ำโขง พบว่าพื้นที่เหมาะต่อการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า พอเลือกทำเลแล้ว ก็ใช้วิธี “จิ้ม” เอาบริเวณนี้เป็นที่ก่อสร้างเขื่อน ไม่สนใจมองผลกระทบใด ๆทั้งสิ้น ใช้อำนาจรัฐบังคับให้ชาวบ้านอพยพออกไป ชาวประมงที่เคยหากิน จับปลามาช้านานต้องยอมเสียสละเพื่อชาติ

กฟผ.ไม่ใส่ใจว่าบริเวณปากแม่น้ำมูล เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก  ระบบนิเวศปากแม่น้ำมูล มีลักษณะเฉพาะที่ดึงดูดให้ปลาจากแม่น้ำโขง อพยพขึ้นมีวางไข่ในแม่น้ำมูลตลอดทั้งปี ชาวบ้านที่นี่จึงเป็นชาวประมงก่อร่างสร้างชุมชนมาหลายร้อยปีก่อน

แต่การสร้างเขื่อนปิดปากแม่น้ำมูล ขวางกั้นการอพยพขึ้นลงของปลา ทำลายวัฏจักรของธรรมชาติ ทำให้ชาวบ้านที่นี่กลายเป็นคนจนโดยทันที ปลาที่เคยจับได้ทั้งชนิดและปริมาณลดน้อยลงจนไม่เพียงพอต่อการยังชีพ มีงานวิจัยพบว่า ก่อนการสร้างเขื่อนฯ มีปลา 265 ชนิด ภายหลังการสร้างเขื่อน ปลาจำนวน 169 ชนิดไม่เคยจับได้อีกเลย

การสำรวจความคิดเห็นล่าสุด เฉพาะชุมชนที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำมูล  พบว่า ส่วนใหญ่ต้องการให้เลิกใช้ประโยชน์จากเขื่อน เนื่องจากพวกเขามีอาชีพจับปลา ต้องพึ่งพิงปลาจากแม่น้ำมูล  ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่มีการใช้เขื่อนฯ ผลประโยชน์ที่ได้จากเขื่อนส่วนใหญ่ถูกส่งออกจากพื้นที่บริเวณนี้ โดยที่ผู้คนที่นี่ต้องเป็นผู้ที่เสียสละและอดทน เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาประเทศชาติโดยรวม

ชาติของใครก็พอทราบได้ แต่ทำไมคนปากมูลจึงต้องเป็นฝ่ายเสียสละฝ่ายเดียว อดทนกับการจับปลาได้น้อยลงไปเรื่อย ๆ

อาจจะมีคนแย้งว่าถ้าเลิกใช้เขื่อนปากมูลแล้ว จะมีปัญหาต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือไม่

ผลการวิเคราะห์ของ ม.อุบลฯ(2545) และ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลชุดปัจจุบัน ได้ผลสอดคล้องว่า “ในกรณีที่โรงไฟฟ้าเขื่อนปากมูลถูกตัดออกจากระบบเพียงโรงเดียว ระบบการส่งจ่ายไฟฟ้าในปัจจุบันจะยังมีความสามารถในการรักษาเสถียรภาพของระบบได้ดี” และในอนาคต กฟผ. ก็สามารถดำเนินการเร่งก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า เพื่อรองรับการส่งกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำเทิน 2 (ประเทศลาว)มาทดแทนได้

การศึกษาฯยังพบว่า การผลิตไฟฟ้าตลอดทั้งปีของเขื่อนฯ เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว กฟผ.มีกำไร 99 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมของครัวเรือนประมงลดลง 140 ล้านบาทต่อปี ยังไม่นับต้นทุนอื่นๆ ที่รัฐต้องใช้ในการจัดทำโครงการพัฒนาต่างๆจำนวนมาก ตลอดจนความเสียหายที่เกิดกับระบบนิเวศ และชุมชน ที่ไม่อาจประเมินเป็นตัวเลขได้

ชาวบ้านปากมูลได้สรุปบทเรียนแล้วว่า  ความยากจน คุณภาพชีวิต และธรรมชาติที่พังพินาศย่อยยับ จะถูกแก้ไขและถูกฟื้นฟูกลับมาได้ เมื่อประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลถูกยกขึ้นอย่างถาวร

ชาวบ้านปากมูลสู้มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลชาติชาย เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลคุณชวน คุณทักษิณ จนมาถึงรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งก่อนหน้านี้คุณสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีสำนักนายกฯ ได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล มีตัวแทนทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายราชการ ฝ่ายบริหาร ชาวบ้าน นักวิชาการ ขึ้นมาสำรวจปัญหา และตกลงตามมติของคณะกรรมการที่จะให้มีการเปิดเขื่อนปากมูลถาวร เพราะที่ผ่านมา มีงานวิจัยรับรองว่าการสร้างเขื่อนปากมูลส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชุมชนผู้เป็นชาวประมง

แต่นักการเมืองทุกพรรคก็มีธาตุแท้ไม่ต่างกัน รับปากกับชาวบ้านแต่ถึงเวลาปฏิบัติจริงก็เบี้ยวขึ้นมาเฉย ๆ เดือดร้อนชาวบ้านต้องออกจากพื้นที่มานอนกลางดิน กินกลางทราย หน้าลานพระรูป เพื่อประท้วงการตระบัดสัตย์ของรัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่า

งานวิจัยหลายครั้งต่างกรรม ต่างวาระ ก็ล้วนออกมาตรงกันว่า เขื่อนปากมูลต้องเปิดประตูถาวร แต่รัฐบาลทุกชุดยั้งดื้อตาใส

กลางปีนี้ในรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีการรื้อเขื่อนสองแห่งที่กั้นแม่น้ำเอลวา ถือเป็นโครงการรื้อเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ หลังจากมีการวิจัยได้พบว่า ปริมาณปลาแซลมอนหลายแสนตัวได้หายไปจากแม่น้ำสายนี้ จากการสร้างเขื่อนที่ปิดกั้นไม่ให้ฝูงปลาแซลมอนว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่บริเวณต้นน้ำ

และวิธีเดียวในการฟื้นฟูพันธุ์ปลาแซลมอนที่มีมูลค่ามากกว่าไฟฟ้าจากเขื่อนแห่งนี้ ก็คือการรื้อเขื่อนทิ้ง

เมื่อผลวิจัยออกมาอย่างถ่องแท้ รัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาก็เดินหน้ากล้าตัดสินใจสั่งให้รื้อเขื่อน

ประเทศที่เจริญแล้ว รัฐบาลตัดสินปัญหาจากข้อมูลทางวิชาการ แต่ประเทศล้าหลัง รัฐบาลตัดสินจากผลประโยชน์ของนักการเมือง

แทนที่จะแค่เปิดประตูถาวร หรือถึงเวลาที่จะรื้อเขื่อนปากมูลกันจริง ๆแล้ว

มติชน 27 กพ. 54

Comments

  1. ozzyman

    เป็นเรื่องที่เกิดกับประเทศนี้มาอย่างยาวนาน แต่ไม่เคยใช้เป็นบทเรียนได้เลย 😥

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.