ความสำเร็จของรัฐบาลนอมินี กับเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งแรกของไทย

   

มีเรื่องเล่าจากในกระทรวงต่างประเทศว่า ภายหลังการเลือกตั้ง นายนพดล ปัทมะ ได้รับมอบหมายเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เพื่อทำภารกิจอย่างรวบรัดสามประการให้บรรลุเป้าหมายอย่างเงียบ ๆ

เรื่องแรกทำอย่างเงียบ ๆ ขณะที่สองเรื่องหลังกลายเป็นเรื่องดังสนั่นอยู่ในความสนใจของคนไทยทั่วประเทศ อย่างที่เจ้าตัวไม่คาดคิดมาก่อนเลย คือเรื่องกรณีการสนับสนุนให้กัมพูชาเสนอปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และสัมปทานแหล่งก๊าซใต้ทะเลบริเวณเกาะกงของประเทศกัมพูชา ซึ่งอีกไม่นานก็จะรู้ว่า ใครคือผู้ได้สัมปทานแหล่งก๊าซหลุมใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง มีปริมาณมากกว่าแหล่งก๊าซในอ่าวไทยถึงสิบเท่า

เรื่องแรกที่ทำอย่างเงียบ ๆ และประสบความสำเร็จอย่างเนียน ๆ คือไม่มีใครออกมาโวยวาย หรือโวยวายก็ไม่ค่อยมีใครสนใจ และสื่อมวลชนก็ไม่ค่อยใส่ใจนั่นคือการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศนี้เคยสร้างมาก่อน กั้นแม่น้ำโขง มูลค่า120,000 ล้านบาท

ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีของไทย ได้ประกาศว่าได้ตัดสินใจดำเนินการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ที่บ้านกุ่ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชานี โดยอ้างว่า เพื่อจัดหาน้ำให้ภาคเกษตร หรือเพื่อการทำนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทั้งสองประเทศจะได้ประโยชน์จากแม่น้ำโขง และโครงการเหล่านี้จะสร้างผลกระทบเพียงเล็กน้อย

“บัดนี้เราได้ตัดสินใจแล้ว และจะลงมือทำ” นายสมัครพูดอย่างหนักแน่น และเลี่ยงบาลีว่า โครงการนี้ไม่ใช่เป็นการ สร้างเขื่อน แต่เป็นเพียงการสร้างฝายชะลอน้ำ หรือฝายแม้วครับ ฝายแม้วที่สร้างเสร็จจะมีขนาดใหญ่กว่าเขื่อนภูมิพล เขื่อนใหญ่ที่สุดในประเทศถึงสามเท่า ด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,872 เมกะวัตต์ มีความสูงของสันเขื่อน 115 เมตร จากระดับน้ำทะเล เกิดพื้นที่อ่างเก็บน้ำขนาดหนึ่งแสนไร่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมสองฟากฝั่งแม่น้ำโขงเป็นระยะทางร้อยกว่ากิโลเมตร จากอำเภอโขงเจียมไปถึงอำเภอเขมราฐ ส่งผลกระทบกับหมู่บ้านไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง รวมทั้งต้องขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ใน จ.อุบลราชธานี บางส่วนด้วย

โครงการขนาดยักษ์ที่มีมูลค่า 120,000 ล้านบาท เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรวบรัดยิ่ง เมื่อนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้เดินทางไปยังนครเวียงจันทน์ เพื่อลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลลาว ในการศึกษาความเป็นได้ของการก่อสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2551 และปูทางให้กับบริษัทหนึ่งได้สัมปทาน และต่อมาไม่นานก็มีการประกาศของรัฐบาลอนุมัติโครงการขนาดยักษ์แห่งนี้ โดยที่ประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี ยังไม่รู้มาก่อนเลยเขื่อนยักษ์แห่งนี้ทำกันอย่างเงียบเชียบ ไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณชน และที่น่าสนใจคืออภิมหาโปรเจ็กนี้ไม่ต้องมีการประมูล มีเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับเกียรติครอบครองโครงการมูลค่า 120,000 ล้านบาท คือบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยที่ขึ้นต้นเป็นชื่อประเทศแถบยุโรป

ดีลระดับแสนล้านประสบความสำเร็จอย่างเงียบ ๆและเนียน ๆ

ชาวบ้านที่ห่างไกลคงต้องก้มหน้ารับกรรมและเป็นผู้เสียสละต่อไป เมื่อมีสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์แห่งใหม่เกิดขึ้นกลางแม่น้ำโขง ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือการผลิตกระแสไฟฟ้า

ไม่มีใครรู้ว่าฝายแม้วยักษ์แห่งนี้จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำโขงเพียงใด เป็นอุปสรรคขวางกั้นการเดินทางของปลาในลำน้ำโขงขนาดไหน และอาชีพประมงของชาวบ้านแถวนั้นจะหายไป เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นหลังการสร้างเขื่อนปากมูนหรือไม่ แต่ที่แน่นอนคือ คงจะไม่มีปลาบึกว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ทางตอนเหนือของแม่น้ำโขงอีกต่อไป

  เขื่อนแห่งนี้ได้รับการออกแบบบันไดปลาโจนอยู่ข้าง ๆ เขื่อน ด้วยความเชื่อว่าจะมีปลาในแม่น้ำโขงมาใช้บริการ ปีนบันไดปลาโจน ทั้ง ๆที่ห่างออกไปไม่กี่สิบกิโลเมตร บันไดปลาโจนตรงเขื่อนปากมูนที่เคยเสียเงินโฆษณานับร้อยล้านบาท เพื่อหลอกคนทั้งประเทศว่า จะเป็นเส้นทางให้ปลาว่ายทวนน้ำขึ้นไปตามลำน้ำมูนได้ แต่บัดนี้ได้ถูกทิ้งร้างเป็นอนุสรณ์ประจานความล้มเหลวของบันไดปลาโจน เพราะแทบจะไม่มีปลาชนิดใดมาใช้บริการเลย

ทุกวันนี้มีโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงหลายโครงการ แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ได้ชื่อว่ามีความหลากหลายทางพันธุ์ปลามากถึง 1,200ชนิด งานวิจัยของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเมื่อปี 2547 ก็ยืนยันว่า โครงการเขื่อนต่าง ๆ ถือเป็น “การคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อปลา และการประมงในแม่น้ำโขง” และระบุว่า จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เคยมีตัวอย่างของมาตรการสัมฤทธิผลใด ๆ ที่จะช่วยลดผลกระทบของเขื่อนที่มีต่อการประมงในภูมิภาคได้เลย

เมื่อเขื่อนมา พวกปลาหน้าโง่ก็ต้องถูกคุกคาม เหมือนกับนกยูงหน้าโง่ 3 ตัวแห่งเขื่อนแก่งเสือเต้น

ส่วนอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ แม้ว่าจะลาออกกระทันหัน แต่ก็ถือว่าภารกิจสามประการของนายใหญ่ที่ได้รับมอบหมายหมาย ประสบผลสำเร็จลุล่วงจริง ๆ

Comments

  1. Pingback: – DtKks’ lIfE – » ความสำเร็จของรัฐบาลนอมินี กับเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งแรกของไทย

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.