วันแม่

ตั้งแต่เด็กจนโต ผมไม่ทราบว่า ใครเป็นคนกำหนดให้มีวันแม่ขึ้น

ตอนเด็ก ๆ ผมมักไม่ค่อยสนใจว่าวันแม่คือวันอะไร นอกจากรับรู้ว่าได้หยุดเรียน ไปเที่ยว  ไม่ต้องไปโรงเรียน  นอนตื่นสายได้

พอโตขึ้นมาทำงานก็ยังไม่ค่อยคิดอะไรมาก นอกจากได้วันหยุดเพิ่มขึ้น พาเพื่อนไปสังสรรค์กัน ความสัมพันธ์กับแม่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าวันธรรมดา

แต่เมื่ออายุมากขึ้น ผมยิ่งรู้สึกดีมาก ๆ กับวันแม่  และอาจเป็นวันหยุดที่มีค่ามากที่สุดในสายตาของผม ผมเริ่มเข้าใจความหมายของวันแม่ว่าเป็นวันที่เราต้องคิดถึงแม่มากกว่าวันธรรมดา รำลึกถึงพระคุณของท่านที่ให้กำเนิดเรา เลี้ยงเรามาตั้งแต่เป็นทารกจนโต  ที่ผ่านมาเราจะดำเนินชีวิตแบบทำผิดหรือถูกด้วยสาเหตุใด ๆ ก็แล้วแต่ สุดท้ายแม่คือคนแรกและคนสุดท้ายที่ยืนปกป้องเรามาโดยตลอด

ในชีวิตของเรามีแม่เพียงคนเดียว

แม่ของผมเกิดที่เมืองซัวเถา ประเทศจีน  คุณตาคุณยายอุ้มแม่ตั้งแต่เป็นทารกหนีภัยสงครามลงเรือมาเมืองไทย และคุณตาเปิดร้านขายของชำที่ย่านเยาวราช  ต่อมาเมื่อแม่โตเป็นสาวแรกรุ่น
คุณแม่เป็นสาวสวยมีหนุ่ม ๆ มาตามจีบหลายคน แต่คุณตายังใจแข็งไม่ยอมยกลูกสาวคนโตให้ใครง่าย ๆ จนเมื่อคุณแม่มาพบกับคุณพ่อผู้หนีความอดอยากจากประเทศจีนมาเผชิญโชคที่เยาวราช  มาเป็นเสมียนให้กับนายห้างคนหนึ่งในร้านขายของชำเล็กๆ ที่ต่อมากลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในปัจจุบัน

เมื่อความรักได้งอกงามขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งคุณพ่อมาขอลูกสาวจากคุณตา คุณตาคงอ่านขาดว่าผู้ชายคนนี้แม้จะไม่มีทรัพย์สมบัติติดตัวมาเลยแต่จะดูแลลูกสาวคนนี้ได้เป็นอย่างดี จึงยกลูกสาวให้  และแต่งงานมีลูกด้วยกันเจ็ดคน

ผมจำความครั้งแรกในชีวิตได้ตอนวัยสี่ขวบ คนแรกที่จำได้คือแม่ที่แต่งตัวผมในชุดนักเรียนพาไปโรงเรียนอนุบาลที่อยู่ข้างบ้านแถวถนนสีลม

แม่จัดของใส่กระเป๋าเป็นหนังสือและกระดานชนวนที่ใช้แทนสมุด แม่จูงมือผมเดินไปส่งหน้าโรงเรียน ผมร้องไห้งอแง ดิ้นไม่ยอมเข้าโรงเรียน จะอยู่กับแม่ท่าเดียว  แต่แม่ก็ไม่ยอมเช่นกัน
จนคุณครูพาไปห้องเรียนได้สำเร็จ

พอโตขึ้นอีกนิด แม่พาไปสอบเข้าโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก เป็นโรงเรียนที่ดังที่สุดในสมัยนั้น  ซึ่งสอบเข้ายากมากและต้องเสียค่าแป๊ะเจี๊ยะราคาแพง ผมจำได้ว่า วันที่ไปสอบ ป่วยเป็นไข้อีสุกอีใส
แต่แม่ก็ยังพาไปสอบ และยังหิ้วข้าวต้มจากบ้านไปให้กินระหว่างพัก ผมใจแข็งทำข้อสอบได้สำเร็จแต่ทางบ้านไม่มีเงินมากสำหรับค่าแป๊ะเจี๊ยะ

แม่บอกให้ฟังภายหลังว่าต้องไปรอดักพบอธิการของโรงเรียน พร้อมของฝากคือบุหรี่สี่ห้าซอง
และพูดจนอธิการใจอ่อน ยอมลดค่าแป๊ะเจี๊ยะเหลือสี่ร้อยบาท

พอเข้าเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ แม่ก็ยังนั่งรถตุ๊ก ๆ เอาปิ่นโตมาส่งเป็นอาหารกลางวัน  พอผมขึ้นชั้นป.สี่ แม่ก็สอนให้ติดเตาถ่าน เอาเศษไม้ เศษกระดาษวางชั้นล่าง และชั้นบนใส่ถ่านไม้ เพื่อให้ติดไฟง่าย  แม่สอนให้หุงข้าวสวย หุงข้าวต้ม  ทุกเช้าผมจึงตื่นขึ้นมาหุงข้าวและคอยคดข้าวสวยใส่กล่องข้าวมากินเป็นอาหารกลางวัน

แม่กลัวว่าเราจะไม่รู้ภาษาจีนจึงจ้างครูพิเศษมาสอนภาษาจีน ลูก ๆทั้งเจ็ดคนทุกอาทิตย์  พอเรียนเสร็จคุณแม่จะทำไก่ตุ๋นเครื่องยาจีนให้ลูก ๆได้กินเป็นการบำรุงร่างกาย

ตอนเป็นเด็ก  เราไม่ค่อยรู้ว่า ฐานะครอบครัวไม่ได้ดีมาก พ่อทำโรงงานยากันยุงเล็ก ๆ ต้องออกไปตระเวณขายสินค้าและเก็บเงินตามต่างจังหวัดจนแทบจะไม่ได้กลับบ้าน  แม่คนเดียวจึงต้องเลี้ยงลูกเจ็ดคนให้อยู่รอดปลอดภัยและมีการศึกษาดี ๆ

ผมจำได้ว่าพ่อแม่และลูกๆ ทั้งเก้าชีวิตจะนอนเบียดรวมกันในห้องเดียวกัน ลูกผู้หญิงนอนแถวบน ลูกผู้ชายนอนแถวล่าง ส่วนอีกมุมหนึ่งพ่อแม่และลูกคนสุดท้องจะนอนด้วยกันแต่หลายครั้งเมื่อผมสะดุ้งตื่นนอนกลางดึกจากฝันร้าย หรือคราวที่กลัวผี ผมจะคลานไปนอนข้าง ๆ แม่ แม่จะโอบกอดและปลอบโยนจนหลับไปด้วยกัน

บางวันแม่ไม่มีเงินพอจะซื้อกับข้าวมาได้เพียงพอ แม่ก็จะให้ลูก ๆกินให้อิ่มก่อน โดยที่เราไม่เข้าใจว่าทำไมแม่ให้ลูกกินก่อนไม่กินกันพร้อมหน้า

บางวันเมื่อผมคึกคะนองมีเรื่องทะเลาะชกต่อยกับน้องชาย แม่ก็จะเข้ามาห้ามและใช้ไม้เรียวตีอย่างแรงให้ผมหลาบจำ

เมื่อผมโตเป็นวัยรุ่นเริ่มสนใจทำกิจกรรม หนีพ่อแม่ไปออกค่ายสร้างโรงเรียนในชนบททีละเกือบเดือน ก็ไม่สนใจความรู้สึกของแม่ว่าจะห่วงลูกน้อยเพียงใด อย่างมากก็เขียนจดหมายไปที่บ้านสั้น ๆ ว่า ไม่ต้องห่วง สบายดี  โดยไม่ทราบเลยว่าช่วงเวลานั้น แม่แทบกินไม่ได้นอนไม่หลับ ไปโรงเรียนคอยสอบถามวันกลับของเด็กค่าย  รอเวลาที่ลูกชายตัวน้อยจะกลับบ้าน

พอเข้ามหาวิทยาลัย ผมเป็นเด็กกิจกรรม ความคิดก้าวหน้า เวลานั้นเวลาแม่แสดงความเป็นห่วงที่กลับบ้านค่ำๆ หรือไม่กลับเลย ผมมักจะอารมณ์เสียกับแม่บ่อย ๆ แถมยังหงุดหงิดใส่เวลาแม่มาถามชีวิตในรั้วมหาลัย เพราะคนที่อยากพูดคุยด้วยคือเพื่อนร่วมอุดมการณ์หรือเพื่อนหญิงมากกว่า

ช่วงเวลานั้นพ่อประสบปัญหาหนี้สิน การค้าล้มละลาย แม่ต้องเที่ยวกู้หนี้ยืมสินมาเป็นค่าใช้จ่ายประจำเดือน บางเดือนชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องไปขอร้องนายทุนช่วยผัดผ่อนเงินที่ยืมมาแม้ต้องเสียดอกเบี้ยแพงโข แต่แม่ก็อดทนเพื่อจะเลี้ยงลูกเจ็ดคนให้รอดปลอดภัย  เวลานั้นแม้ผมจะรู้และช่วยหาเงินมาจุนเจือครอบครัวอยู่บ้าง แต่จิตใจวันนั้นดูเหมือนจะอุทิศให้กับการทำกิจกรรมตามอุดมการณ์มากกว่าเวลาที่จะมาดูแลหรือรับใช้แม่ให้สบายใจมากขึ้น

ทุกวันนี้ผมมาย้อนนึกถึงช่วงเวลานั้นที่เราบอกตัวเองว่าเป็นพวกหัวก้าวหน้ามีความคิดเพื่อสังคม แต่ท่าทีที่มีต่อแม่ของเรานับว่าล้าหลังยิ่งนักที่บังอาจหงุดหงิดกับความห่วงใยของคนที่เป็นแม่แท้ ๆ  หรือไม่เคยคิดจะดูแลแม่ให้มากขึ้นเลย แถมยังนึกเสมอว่า ความคิดของแม่แสนเชยไม่ทันโลกแบบพวกเราเลย

เราไม่เคยนึกเลยว่า เราจะโกรธแม่เพียงใด แต่แม่ไม่เคยโกรธนาน ๆ เลยมีแต่เราที่โกรธและบางคนทิ้งแม่ไปเลย

พอจบการศึกษาออกมาทำงานใหม่ๆ หลายคนออกจากบ้านไปมีครอบครัวใหม่ พวกเราก็ดูจะให้ความสำคัญกับการหาเงิน สร้างเนื้อสร้างตัว  โลกของเรากับโลกของแม่ดูจะห่างกันเรื่อย ๆ และผลัดวันประกันพรุ่งอยู่ตลอดเมื่อถึงเวลาต้องไปเยี่ยมแม่

ดูเหมือนว่าเรื่องราวทุกเรื่องจะสำคัญกว่าเรื่องของแม่ เพราะเราเคยชินอยู่ตลอดว่า ถึงอย่างไรแม่ก็รอเราอยู่เมื่อเรากลับไปบ้าน แม่ต้องทิ้งทุกสิ่งเพื่อรอลูก

พวกเราจำนวนมากให้ความสำคัญกับการเลี้ยงสังสรรค์การประชุมที่บริษัท การนัดกับคู่รัก การเลี้ยงลูกค้า มากกว่าการกลับมาดูแลแม่ของเราที่บ้าน

พวกเรามักคิดว่าธุระอย่างอื่นสำคัญไปหมดยกเว้นแม่ของเรา เพราะเราคิดว่า แม่จะรอเราอยู่ที่บ้านตลอดเวลา

ใคร ๆ ก็ทราบดีว่า พระคุณของแม่ใหญ่หลวงนัก แต่การทดแทนบุญคุณแม่ดูเหมือนเราสามารถผลัดได้เรื่อย ๆ เพราะคิดเสมอว่าแม่รอเราอยู่ที่บ้านตลอดเวลา

หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าถึงเวลานี้ แม่อาจจะต้องการเรามากกว่าเราต้องการแม่เสียอีก เพียงแต่ความรักของแม่อันเปี่ยมล้น ทำให้แม่ไม่กล้าขอร้องอะไรจากลูก ๆ

แม่รู้ดีว่าเวลาของแม่ลดลงไปเรื่อย ๆ แต่เวลาของลูกที่ให้กับคนอื่นเพิ่มขึ้นตลอดเวลา แต่แม่ก็ไม่ปริปากบ่นอันใด

ที่ผ่านมาชีวิตของเราหลายคนอาจจะได้รับบทเรียนอันปวดร้าว แต่หลายคนยังไม่เคยประสบบทเรียนอันนี้

วันแม่ทุกปี จึงควรจะเป็นวันที่ลูกๆ กลับมาหาแม่ผู้เฝ้ารอ ขณะที่วันหยุดสุดสัปดาห์ ควรจะเป็นวันที่แม่ได้เจอหน้าลูกๆ บ่อยขึ้น  หรืออย่างน้อยก็ควรจะโทรศัพท์ไปหาแม่เป็นประจำ

และเมื่อวันเวลามาถึงพวกเราจะได้ไม่เสียใจอย่างปวดร้าวในสิ่งที่คอยจะผลัดวันประกันพรุ่งมาโดยตลอด

ในชีวิตของเราทุกคนมีแม่เพียงคนเดียวจริงๆ

สารคดี สิงหาคม 2554

Comments

  1. สุรีพันธุ์ เสนานุช

    เพิ่งเข้ามาอ่าน อยากบอกว่าสะเทือนใจ เพราะเราก็มีพฤติกรรมคล้ายกันในวัยหนุ่มสาว เป็นเด็กกิจกรรมและรำคาญกับความห่วงใยของแม่ ทำให้แม่ร้องไห้หลายครั้ง ตอนนั้นเราบอกตัวเองอย่างหยิ่งผยองว่าเราเป็นคนของสังคม ทำเพื่อสังคม จนวันนี้เราก็ไม่ได้ทำอะไรให้สังคมดีขึ้นได้เลย แต่แม่ก็ยอมรับเราในแบบที่เราเป็นเสมอ ไม่เคยเรียกร้อง รับสิ่งที่ลูกให้ (ซึ่งน้อยนิดถ้าเทียบกับที่แม่ให้มาทั้งชีวิต) อย่างสงบเสงี่ม แม้แต่ในยามที่ไม่สบาย จะพาไปหาหมอ ก็ยังเกรงใจว่าลูกต้องขาดงาน ไม่ค่อยยอมไป
    ขออนุญาตนำไปแบ่งปันให้เพื่อนอ่านบ้าง เพื่อทำให้หันมาเอาใจใส่กับเวลาที่เหลือน้อยนิดของแม่มากขึ้น

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.