Click here to visit the Website
สารคดีข่าว กุลธิดา สามะพุทธิ: รายงาน |
การศึกษาไทย
กับความรู้ ที่ไม่ก่อให้เกิด ปัญญา .....คำยอดฮิต ประจำวงอภิปรายเรื่อง "การศึกษาไทย กับความรู้ ที่ไม่ก่อให้เกิดปัญญา" ซึ่งกลุ่มเสียงนิสิต และสภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดขึ้น เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๑ คือคำว่า "ควายกระป๋อง" .....ผู้เข้าฟังการอภิปราย ที่หยิบยกถ้อยคำดังกล่าว ขึ้นมาเปรียบเทียบกับ นิสิตนักศึกษา ที่อยู่ในระบบ การศึกษา ของไทย ยังแสดงความเห็นอีกด้วยว่า "มหาวิทยาลัย" ก็คือ โรงงานผลิต ควายกระป๋อง (พร้อมใบรับประกัน คุณภาพ คือ ปริญญาบัตร) นั่นเอง .....นี่เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ระบบการศึกษา ของไทย โดยเฉพาะการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัย ถูกหยิบยกขึ้นมา วิพากษ์วิจารณ์ อย่างเผ็ดร้อน .....วิทยากร ทั้งสามท่านคือ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง หนึ่งในคณะกรรมการ ปฏิรูปการศึกษา แห่งชาติ อาจารย์สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการ กรรมาธิการการศึกษา และนพ.พร พันธุ์โอสถ ผู้อำนวยการ โรงเรียนปัญโญทัย ได้หยิบยก ประเด็น ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ระบบการศึกษา มาเสนอมากมาย -- ดร.เอกวิทย์ เห็นว่า เป็นเรื่องน่าเห็นใจ ที่นิสิตนักศึกษา ต้องอยู่ในระบบการศึกษา และเรียนในสิ่งที่ ไม่เป็นประโยชน์ในชีวิตจริง หรือนำมาประยุกต์ใช้ไม่ได้ แต่ไม่ควร สรุปว่า ระบบการศึกษานั้น "ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง" เพราะความรู้นั้น อาจจะนำไปใช้ได้ ในระยะยาว .....อาจารย์สมพงษ์ เรียกระบบการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยของไทยว่าเป็น "วัฒนธรรมไร้สาระ" เพราะเด็กที่สอบเข้า มหาวิทยาลัยได้ ถือว่าตัวเองหมดภาระแล้ว หลังจากที่ถูกยัดเยียดว่า ต้องเรียนหนังสือให้เก่ง มาตั้งแต่อนุบาล เมื่อสอบ เอ็นทรานซ์ได้ จึงทำตัวไร้สาระกันเต็มที่ นอกจากนี้ความเป็นมนุษย์ และธรรมชาติ ความอยากเรียนรู้ ของเด็ก ยังถูกทำลายไป จากการที่ถูก "เร่งเครื่อง" เต็มที่ และต้องเจอกับ สภาพความกดดันจาก การแข่งขัน เรื่องการเรียนอีกด้วย .....ด้านนพ.พร ฟันธงว่า ระบบการศึกษาของไทยนั้น ล้มเหลว ซึ่งตัวมันเอง มองไม่เห็น และแก้ไม่ได้ นอกจากนี้ เขาเห็นด้วยกับ ผู้ฟังท่านหนึ่งที่เสนอว่า ข้อบัญญัติในมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่าสิบสองปี นั้นเป็น "คุกทางความคิด" ที่อันตรายที่สุด ....."ด้วยสำนึกแห่งความเป็นรัฐ การศึกษาภาคบังคับ ก็คือการจับประชาชนเข้าคุก เราเคยเสนอให้ เปลี่ยนมาใช้คำว่า "การศึกษาขั้นพื้นฐาน" ซึ่งหมายถึง การที่ประชาชน มีอำนาจในการจัดการศึกษา ให้กับตัวเอง และจะเป็น ระบบ การศึกษา ที่นำไปสู่ การเปลี่ยนแปลง ทางความรู้ ความคิด และก่อให้เกิดปัญญา ถ้าปล่อยให้รัฐ จัดการอยู่อย่างนี้ เขาจะไม่สนใจอะไรหรอก เขาก็จับคุณ ยัดเข้าโรงเรียน เข้ามหาวิทยาลัย แล้วก็ปล่อยให้คุณเป็น ควายกระป๋อง อยู่อย่างนั้น" .....อย่างไรก็ตาม รสชาติ และความน่าสนใจในเวทีเสียงนิสิตครั้งนี้ ดูเหมือนจะอยู่ที่ เสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมฟัง กว่า ๒๐๐ คนซึ่งเกือบทั้งหมด เป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมากกว่า ....."ปัญหาของระบบการศึกษาอยู่ที่ไหน? เป็นความบกพร่องของ ครูบาอาจารย์ หรือความล้มเหลว ในการตั้งเป้าหมาย ทางการศึกษาของนักเรียน? ความรู้ที่ใช้ในการเรียนการสอน เป็นความรู้ที่สอดคล้องกับ ความเป็นไปของสังคม บ้างหรือเปล่า? หรือแท้จริงแล้ว กระบวนการถ่ายทอดระหว่าง ครูกับศิษย์ เป็นกระบวนการที่ใช้ไม่ได้?" กลุ่มเสียงนิสิต ตั้งคำถามนำ ....."อาจารย์ไม่เคยถามเลยว่า นิสิตต้องการอะไร คงจะมองว่า นิสิตเป็นเหมือน คอมพิวเตอร์ ที่ต้องเอาข้อมูลมาป้อน นิสิตก็ save ไว้เพื่อเอาไปสอบ พอสอบเสร็จก็ format ทิ้ง เตรียมรับข้อมูลชุดใหม่ พอจบออกไป ปรากฏว่า เราเอาอะไรไปใช้ไม่ได้เลย" (นิสิตปี ๒ คณะอักษรศาสตร์) ....."สิ่งที่ผมอยากเจอก็คือ อาจารย์ที่สอนอย่าง มีจิตวิญญาณ บ่อยครั้งที่ผมเดินเข้าไปในห้องเรียน แล้วรู้สึกว่า มันเป็นเพียงแค่ กรอบสี่เหลี่ยมเล็กๆ จึงไม่อยากเข้าไปเท่าไหร่" (นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์) ....."ผมไม่รู้ว่าปัญหาของเราอยู่ที่ไหน หรือว่าเป็นความผิดของใคร บางทีอาจะเป็นเพราะ อาจารย์ไม่ได้ให้ สิ่งที่เราต้องการ อย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน สิ่งที่อาจารย์นำมาสอน ก็เป็นองค์ความรู้ ที่ไม่ทันสมัย ไม่กว้าง ไม่ทันกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง" (นิสิตปี ๒ คณะวิศวกรรมศาสตร์) ....."คำถามก็คือ ทุกวันนี้สังคมมุ่งมั่นกับความเป็นเลิศทางวิชาการของนักศึกษามากเกินไปหรือเปล่า จริงๆ แล้วเรา อาจจะไม่ต้องเป็นอย่างนั้นก็ได้ เราน่าจะได้มีเวลาว่างมากขึ้นเพื่อที่จะไป 'ใช้ชีวิต' ผมคิดว่า สิ่งนี้จะช่วยให้เรา เกิดปัญญาขึ้นมา ไม่ใช่ความรู้ที่ได้จากห้องเรียนอย่างเดียว" (นิสิตคณะนิติศาสตร์) ....."อย่าไปโทษระบบการศึกษา อาจารย์ หรือมหาวิทยาลัยเลย เพราะถ้าเรา ยังทำตัวเหมือนมีพ่อ เป็นชาวฝรั่งเศสชื่อ หลุยส์วิตตอง มีแม่ชื่อ แชนแนล มีเพื่อนสนิทชื่อ แมคโดนัลด์ มีญาติผู้ใหญ่ชื่อ ผู้พันแซนเดอร์ แล้วละก็ เราคงจะ หยุดความคิดแบบ บริโภคนิยม ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งหมดนี้ไม่ได้ (ศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) .....จากการที่ มีนิสิตนักศึกษา เข้าร่วมฟังการอภิปราย และแสดงความคิดเห็น มากเกินความคาดหมาย ของทั้งผู้จัด และวิทยากรนั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนปัญโญทัย ตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นเครื่องบ่งชี้ และยืนยันถึง ความล้มเหลว ของระบบการศึกษา .....ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์นี้ ก็น่าจะเป็นการพิสูจน์สมมติฐานของ มนฑกานต์ ตันชัยสวัสดิ์ นิสิตชั้นปีที่ ๔ คณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดการอภิปราย ที่เชื่อว่า ทุกคนมีความอัดอั้นตันใจ และคับข้องใจกับ ระบบการศึกษา ต้องการระบาย และช่วยกันขบคิดหาทางออก ....."ข่าวการฆ่าตัวตายของนิสิตนักศึกษาที่ถี่ขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้เรา หยิบประเด็นเรื่อง ระบบการศึกษาไทยขึ้นมาพูดคุยกัน เราคิดว่า นี่ไม่ใชประเด็นเล็กๆ และไม่ใช่ปัญหาสังคมธรรมดา แต่ระบบการศึกษา ต้องมีส่วนอย่างมาก ที่ทำให้นิสิตนักศึกษาฆ่าตัวตาย" .....สำหรับคำถามสำคัญ ซึ่งเป็นบทสรุปของการอภิปราย ที่มนฑกานต์ตั้งไว้ คือ ในเมื่อตลอดเวลาที่ผ่านมา ระบบการศึกษา ได้สร้างองค์ความรู้ ชนิดที่ก่อให้เกิด "ปัญหา" แล้วระบบการศึกษาแบบใดเล่า ที่จะสร้าง องค์ความรู้ ชนิดที่ก่อให้เกิด "ปัญญา" ขึ้นมาได้ ? .....คำตอบที่ดี และชัดเจนที่สุดในเวทีนี้ น่าจะเป็นของ นพ.พร พันธุ์โอสถ ....."ปัญญาเกิดจาก การรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเองดี ความรู้ที่ทำให้เกิดปัญญา ไม่อาจหาได้จาก ระบบการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย หรือการจดตามคำบอก ของอาจารย์ แต่เกิดจากการที่ คุณมานั่งทบทวน การกระทำของคุณ แล้วถามตัวเองว่า กำลังทำอะไรไป เพื่ออะไร กำลังก้าวไปทางไหน และมีชีวิตอยู่ในวันนี้ เพื่ออะไร... ระบบการศึกษา ที่จะทำให้เกิดปัญญา ก็คือ ระบบการศึกษา แห่งการเข้าใจตัวเองนั่นเอง" |
สารบัญ | แนวปะการังฟอกขาว | เฟสปิกเกมส์ | ค้นพบ ฟอสซิลมนุษย์โบราณ | การศึกษาไทย
Feature@sarakadee.com
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]