|
|
จิตรกรไร้สำนักเรียน ช่างเขียนนอกสถาบัน |
ุเรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน |
|
|
|
ไม่นานนักมานี้...หนึ่งในศิลปินชั้นนำของประเทศเรา
ไม่ได้เป็นหนุ่มสาวหน้าฝรั่งจมูกโด่งผิวผ่อง
แต่เป็น "ผู้ชายอ้วน ๆ ดำ ๆ ตาคม ๆ ผมหยิก ๆ"
จิตรกรที่โด่งดังที่สุดแห่งยุคคนนี้ เวลานั่งทำงานที่บ้าน ชอบนุ่งกางเกงแพร สวมเสื้อคอกลม มีผ้าขาวม้าคาดพุง หรือถ้าอากาศร้อนหน่อย ก็เป็นอันว่าไม่ต้องสวมเสื้อ
สิ่งที่เขาเขียน ก็ไม่ใช่ "งานศิลปะ" ราคาเป็นแสนเป็นล้านที่ไม่มีใครดูรู้เรื่อง หากเป็นเพียงภาพในหนังสือเรียน ปกหนังสืออ่านเล่นราคาถูก หรือนิยายภาพ
และเมื่อครั้งกระนั้น หากมีเด็กคนไหนทำท่าว่าจะชอบหยิบดินสอมาลากเส้นเป็นรูปขยุกขยิก มากกว่าจะเขียน ก ไก่ ข ไข่ แล้วละก็ ผู้ใหญ่ที่เห็นแววแล้วเอ็นดูจะต้องทักว่า อยากเป็นนักวาดอย่าง เหม เวชกร รึไง...
|
|
|
เหม เวชกร ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๑๒
ผมเพิ่งอายุสามขวบ
ดังนั้นจึงไม่มีความทรงจำอะไร
เกี่ยวกับข่าวการตายของเหมเลย แต่จะว่าผมไม่เคยรู้จักกับเขาก็คงไม่ใช่ เพราะผมก็ใช้เวลาต่อจากนั้น เติบโตมากับ เหม เวชกร หนังสือ ฟ้าเมืองไทย ของคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ก็ยังใช้หน้าปกเป็นภาพเขียนฝีมือ เหม เวชกร ต่อมาอีกหลายปี ยังจะหนังสือชุด "ภาพวิจิตร" ที่ไทยวัฒนาพานิชจัดพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพุทธประวัติ วรรณคดีไทย ประวัติศาสตร์ ที่เขาเคยฝากฝีมือไว้ ก็ยังมีพิมพ์ขายหาซื้อได้อยู่ รวมไปถึงหนังสือภาพชุดที่ศึกษาภัณฑ์พิมพ์ เช่น กามนิต สามก๊ก และภาพประวัติศาสตร์ไทย
แต่มาวันนี้
กว่าสามทศวรรษหลังจากที่เหมลาโลกไป
ชื่อของเขาก็เลือนหายไป
จากความรับรู้ของผู้คน คนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า ๓๐ ปีลงไป แทบไม่มีใครเคยได้ยินชื่อ
คนไทยลืมง่ายอย่างที่เขาว่ากันจริงหรือ ?
เมื่อผมเริ่มลงมือค้นเรื่องของ เหม เวชกร ด้วยการพยายามหาหนังสือเกี่ยวกับเขา ผมต้องเปลี่ยนสมมุติฐานนั้นใหม่ ว่าคนไทยไม่ได้ลืมง่าย แต่เราไม่เคยจดไม่เคยจำอะไรมากกว่า
เพราะแทบไม่มีหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับเขา
อย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลย
|
|
|
หนังสือหลัก ๆ ที่ผมหาได้ มีเพียงสี่เล่ม คือประวัติของเหม ที่พิมพ์ในหนังสือ
ศิลปินเอก
ของกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ปี ๒๔๙๔
ถัดมาอีกที
ก็คือหนังสืองานศพ
ของเขาสองเล่ม และหนังสือเฉพาะกิจ ที่ อาจินต์ ปัญจพรรค์ จัดทำให้เป็นที่ระลึกแก่เหมอีกหนึ่งเล่ม สามเล่มหลังนี้ออกมาในปี พ.ศ.๒๕๑๒ หลังจากเหมถึงแก่กรรม ซึ่งก็ไม่ได้เป็นประวัติอะไรจริงจัง มากไปกว่าชุมนุมคำไว้อาลัย
ยิ่งไปกว่านั้น ประวัติชีวิตช่วงต้นของเหม เวชกร ก็ยังเป็นเรื่องคลุมเครือ แม้แต่นามสกุลเวชกรที่เรารู้จัก ก็ไม่ใช่นามสกุลดั้งเดิม แต่เนื่องจากคุณเหมตายไปนานแล้ว ดังนั้น ผมจึงไม่มีทางเลือกอื่น
นอกจากจะต้องอาศัยอ้างอิงประวัติ
ในช่วงยี่สิบปีแรกนี้ จากหนังสือที่ออกนามมาแล้วนั้นเป็นหลัก
ประวัติของเหม เท่าที่เคยมีคนสนใจไถ่ถามกันไว้ ก็ดูเหมือนว่าเหมจะไม่ค่อยอยากกล่าวถึงนัก หรือถ้าจะให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์ (เช่นใน ศิลปินเอกของกรุงรัตนโกสินทร์)
ก็จะให้เล่าเป็นเรื่องเป็นราวไป
โดยไม่ให้ออกชื่อใคร
โดยเฉพาะบิดาของเขา
และตระกูลทางฝ่ายนั้น
|
|
|
เท่าที่ผมปะติดปะต่อได้ ก็มีเพียงว่าครอบครัวทางบิดาของเหม เป็นตระกูลขุนนางเก่าแก่ บิดาของเขามีชื่อเล่นว่าหุ่น โดยเหตุที่มีรูปร่างหน้าตาหล่อเหลา แต่นามจริง หรือยศถาบรรดาศักดิ์ (ถ้ามี) นั้น ไม่ปรากฏ ส่วนมารดาของเหม เป็นหม่อมหลวง ชื่อ ม.ล.สำริด
บิดาของเหมมีภรรยาหลายคน ตามวิสัยของชายสูงศักดิ์ในอดีต โดยเหตุนั้น เหมจึงมีพี่น้องต่างมารดาอีกสองสามคน จะชื่ออะไรบ้างก็ไม่มีใครทราบเสียแล้ว
เหมเป็นลูกคนเดียวของแม่ เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๖ เมื่ออายุได้แปดขวบ แม่กับพ่อก็แยกทางกัน
หลังจากพ่อแม่เลิกกันแล้ว มีบางช่วงที่เขาไปอาศัยอยู่กับลุงซึ่งปรากฏชื่อว่า หม่อมราชวงศ์แดง ทินกร
ม.ร.ว. แดงทำงานกับเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)
ผู้ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงไว้วางพระราชหฤทัย
ให้กำกับดูแลการก่อสร้าง
พระที่นั่งอนันตสมาคมองค์ใหม่ โดย ม.ร.ว. แดง ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลช่างอิตาเลียน
ที่มาออกแบบ
และควบคุมการก่อสร้างพระที่นั่งองค์นี้
|
|
|
เหมในขณะที่เป็นเด็กรุ่น ๆ อายุ ๑๑-๑๒ ปี จึงพลอยได้ใกล้ชิดกับช่างชุดนี้ด้วย ดังที่เขาเคยถาม ปยุต เงากระจ่าง ลูกศิษย์ที่เป็นนักเรียนเพาะช่างว่า "เป็นนักเรียนทำไมไม่รู้จัก...
เอมตาบาโย ยีโอโกโล ซีลิโกรี...
เป็นอิตาเลียนมาสร้างพระที่นั่งอนันต์ฯ"
คนที่เหมออกชื่อมานั้น คือ เอ็ม ตามานโญ (Mario Tamagno)
สถาปนิกผู้ออกแบบ
พระที่นั่งอนันต์สมาคม อี จี กอลโล (Emilio Giovanni Gollo) วิศวกรประจำโครงการ และ ซี ริโกลี (Carlo Rigoli)
หนึ่งในคณะจิตรกร
ผู้เขียนภาพพระราชประวัติบุรพกษัตริย์
เล่ากันมาว่า คาร์โล ริโกลี ช่างเขียนหนุ่มชาวแคว้นทัสคานีนั้น เกิดรู้สึกเอ็นดูเด็กชายเหมขึ้นมา
โดยเฉพาะเมื่อเห็นฝีมือวาดภาพ
ที่เหมเอาชอล์กขีดเขียนไว้
จนเปรอะสะพานท่าน้ำก็ยิ่งถูกชะตา
ถึงกับออกปากชักชวน
และขออนุญาตจาก ม.ร.ว. แดง ให้เหมไปอยู่เป็นลูกมือบดสี ส่งพู่กัน
ในงานเขียนภาพสีน้ำมันที่บนเพดานโดม
พระที่นั่งอนันตสมาคมด้วย ว่าง ๆ
เขาก็สอนให้เหมหัดขีดเขียน
เส้นสายลวดลายต่าง ๆ
เรื่องเล่านี้มีต่อไปจนถึงว่า
จิตรกรอิตาเลียน
ถึงกับจะให้เหม
เดินทางไปอิตาลีด้วยกัน เพื่อไปศึกษาต่อทางด้านศิลปะ ซึ่ง ม.ร.ว.แดง ทินกร ผู้เป็นลุงก็ยินดีกับโอกาสของเด็ก อนุญาตให้เหมไปได้ ถึงขนาดเตรียมตัดเสื้อผ้ากันแล้ว แต่เมื่อข่าวนี้ล่วงรู้ไปถึงบิดาของเหม กลับให้คนมาลักตัวไปเสีย ว่ากันว่าเหมไม่ได้พบกับคุณลุงอีกเลยตั้งแต่นั้นมา
|
|
|
แม้ว่าในหนังสือ ศิลปินเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ เล่าไว้ว่าในระยะหนึ่ง เหมเคยเข้าเรียนที่เทพศิรินทร์ และอัสสัมชัญ
แต่จากรายชื่อ
ในทะเบียนนักเรียนฉบับเก่า
ของทั้งสองโรงเรียน ถึงจะมีเด็กผู้ชายชื่อเหมหลายคน
แต่ไม่ปรากฏว่า
มีคนใดที่ดูใกล้เคียงกับนายเหมคนนี้เลย
ดังนั้นถ้าเหมได้เข้าเรียน
ในสถาบันทั้งสองแห่งนั้นจริง ก็คงเป็นเพียงช่วงสั้น ๆ
จึงอาจสรุปได้ว่า
เหมคงไม่ได้มีโอกาสเล่าเรียนหนังสือจริงจังนัก
ชีวิตในวัยรุ่นของเขา นับเป็นช่วงที่ตกยากที่สุด
ทั้งพ่อและแม่
ที่ต่างผลัดกันแย่งยื้อตัวเขาไว้ ก็ไม่มีใครได้เลี้ยงดูจริงจัง เหมซัดเซพเนจรไปหลายที่ นามสกุล "เวชกร" ที่ติดตัวเขาจนถึงวันตาย
ก็เป็นนามสกุล
ของครอบครัวขุนประสิทธิ์เวชกร (แหยม เวชกร) อดีตแพทย์ประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเคยอุปถัมภ์เขาไว้ครั้งหนึ่ง
เหมเคยทำงานสารพัด ไปเป็นเด็กฝึกงานในอู่เรือของคนจีนกวางตุ้ง ที่ซึ่งเขาต้อง "ตีเหล็กตะไบเหล็กจนมือด้าน" ต่อเมื่อมีความรู้เรื่องเครื่องยนต์ดีแล้ว ก็มีคนชวนไปอยู่เรือโยง
ขึ้นล่องในแม่น้ำเจ้าพระยา
และแม่น้ำแม่กลองอีกเป็นแรมปี เรือโยงที่ว่านี้ เป็นเรือเครื่องจักรไอน้ำลำย่อม ๆ
ที่นำมารับจ้างลากจูงเรือสินค้า
จำพวกเรือข้าวเรือเกลือที่ต่อกันเป็นพวงยาว ๆ
|
|
|
แต่จะว่าชีวิตเด็กช่างเครื่อง
ในเรือโยงเป็นชีวิตที่ตกต่ำ
ก็คงไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะในอีกแง่หนึ่ง
ชีวิตในเรือโยง
ก็เป็นโอกาสของการเดินทางผจญภัย
สำหรับเด็กหนุ่มร่วมสมัยกับเหมอีกจำนวนไม่น้อย ป. อินทรปาลิต นักเขียนผู้มีชื่อจากหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ก็ยังเคยไปประจำเรือโยง ขึ้นล่องปากน้ำโพ-ท่าเตียน
อยู่พักใหญ่ และอีก ๒๐ ปีหลังจากเหม สง่า อารัมภีร
นักแต่งเพลง
และศิลปินแห่งชาติ ก็เคยใช้ชีวิตช่วงก่อนอายุ ๒๐ ปี
ไปถือท้ายเรือประมง
แถวเพชรบุรีเหมือนกัน
เมื่อสบช่องทาง
เหมก็อาศัยประสบการณ์ทางช่างเครื่องจักรไอน้ำ
ไปทำงานเป็นช่างเครื่อง ในงานสร้างเขื่อนพระราม ๖ ของกรมทดน้ำ (กรมชลประทาน) ที่ท่าหลวง จังหวัดสระบุรี
ที่นี่
เขาไม่ใช่เด็กรุ่นกระทง
ที่ริกินเหล้าอย่างสมัยอยู่เรือโยงอีกต่อไป ท่าหลวงในยุคนั้นเป็นดงนักเลง
ที่มีทั้งเจ้าถิ่นเดิม
และคนงานต่างถิ่นนับพัน ตีรันฟันแทงไม่เว้นแต่ละวัน
ถึงขนาดที่คนเดินตลาด
ต้องสะพายดาบ เหมปีกกล้าขาแข็ง
เป็นหนุ่มเต็มตัว
ที่มีพรรคพวกเพื่อนฝูงมาก จนกลายเป็นนักเลงประจำถิ่นคนหนึ่ง
หลังจากอยู่ที่หัวงานเขื่อนสองสามปี
ก็เกิดไปขัดแย้ง
กับผู้มีอิทธิพลจนถูกสั่งตัดเงินเดือน
เหมจึงตัดสินใจลาออก
กลับเข้ากรุงเทพฯ
|
|
|
เหมกลับเข้ากรุงอีกครั้ง
ก็เมื่ออายุใกล้ยี่สิบ แม่เห็นว่าเขาพอมีฝีมือทางขีด ๆ เขียน ๆ อยู่บ้าง
จึงนำไปฝากให้เข้ารับราชการ
เป็นช่างเขียนในกรมตำราทหารบก กระทรวงกลาโหม
มีหน้าที่เขียนภาพประกอบ
ตำราวิชาทหาร ในระหว่างนี้เอง
เหมเริ่มสนใจหัดดนตรีไทย
จำพวกเครื่องสาย
และตั้งแต่นี้ไป เราจะได้รู้เรื่องราวของเขา ทั้งจากถ้อยคำที่เหมเคยเขียนไว้
ตลอดจนเรื่องเล่าจากเพื่อนฝูง
และคนใกล้ชิด
เริ่มที่เหมก่อน...
"ประเทศไทยในสมัยล้นเกล้าล้นกระหม่อม
รัชกาลที่ ๖ เป็นสมัยดนตรีไทยรุ่งโรจน์
ทั้งพิณพาทย์
และเครื่องดีดสีตีเป่า ผมเองกำลังหนุ่ม และหายใจเป็นดนตรีไทยทีเดียว ตื่นเช้ามืดไล่มือซอ แล้วไปทำงาน เย็นกลับจากทำงานก็ไล่มือซอ หรือไปงานเล่นดนตรีกับเพื่อนทั่ว ๆ ไป
ทั้งในกรุง และนอกกรุง หายใจเป็นดนตรีจริง ๆ"
ไม่มีใครทราบแน่ชัด
ว่าเหมเป็นลูกศิษย์ทางดนตรี
ของครูท่านใดหรือสำนักใด
แต่ฝีมือไวโอลินของเขาก็เข้าขั้น
จนสามารถเข้าร่วมเล่นในวงเครื่องสาย ที่รับทั้งงานหา คืองานจ้าง และงานช่วย คืองานขอแรง
นอกจากนั้น
ยังได้ไปเล่นคลอประกอบ
ในโรงหนังสมัยนั้นด้วย
"สันตสิริ" หรือ สงบ สวนสิริ ซึ่งเคยร่วมใน "วงนายกุ๊น" ด้วยกันกับเหม บรรยายการบรรเลงยุคหนังเงียบไว้ว่า
|
|
|
"หลักสำคัญอย่างหนึ่ง
ซึ่งเราจะพลาดไม่ได้ก็คือ
จะกำลังบรรเลงเพลงหวานจ๋อย
เพลงอะไรอยู่ก็ตาม แต่พอในหนังเกิดมีการชกต่อยกันขึ้น ดนตรีจะต้องบรรเลงเพลง
'เชิด' ถึงจะถึงใจพระเดชพระคุณ...
ในสภาพเช่นนี้ ถ้าเรามัวเสียดายเพลงทำนองหวานจ๋อย ก็มักจะถูกตะโกนเป็นการเตือนว่า
'เชิดโว้ย !'
ซึ่งก็เป็นประกาศิต
ที่เราต้องปฏิบัติตามโดยไม่รอช้า...
บางทีถูกเตือน
ด้วยวิธีการที่ร้ายกาจยิ่งกว่านั้น นั่นคือถูกขว้างด้วยไข่เน่า"
มนัส จรรยงค์ นักประพันธ์ใหญ่คนหนึ่งของเมืองไทย
ก็เคยใช้ชีวิตในยุคเดียวกันนี้
ในฐานะนักดนตรีไทยประจำวงเครื่องสาย
ของโรงหนังที่เพชรบุรีบ้านเกิดด้วย
เลื่องลือกันว่า
ฝีมือสีไวโอลินของเขาเป็นที่หนึ่งในจังหวัด ครั้งหนึ่งเมื่อเหมไปเล่นดนตรีไทยที่เมืองเพชร
ยังได้ไปร่วมวงกับมนัส
จนคุ้นเคยกันตั้งแต่ต่างฝ่ายต่างยังไม่มีชื่อเสียง
และในวงดนตรีไทยนี้เช่นกัน เหมได้พบกับนักร้องหญิงคนหนึ่ง คือนางสาวแช่ม คมขำ
แห่งสำนักวังหลานหลวง
ของกรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ โดยเหตุที่เป็นคน "แรง" ด้วยกันทั้งคู่ อีกทั้งเป็นศิษย์ต่างครู
ทั้งสองจึงกลายเป็นคู่ปรับ
ชนิดที่เรียกได้ว่า
เป็นไม้เบื่อไม้เมา
|
|
|
คุณแช่ม หรือแช่มชื่น เวชกร ในวัย ๙๖ ถึงจะเดินไม่ไหว และตามองไม่ค่อยเห็นเสียแล้ว
แต่ว่าถึงความทรงจำแต่หนหลังนั้น
ยังแจ่มชัด
"เล่นเครื่องสายไทยด้วยกัน...
พี่เหมมีชื่อทางเครื่องสาย เขามีลูกไม้ลูกเล่นทางสีไวโอลิน ใครล้มเขาไม่ได้ เล่นเครื่องสายกันมานาน ทะเลาะกันบ้าง เถียงกันบ้าง เขาว่าอย่างนั้น ฉันว่าอย่างนี้ ไม่ค่อยจะถูกกัน"
"อ้าว ! แล้วคุณยายไปแต่งงานกับครูเหมได้ยังไง" ผมขัด
"ไม่รู้มาได้กันได้ยังไง ถึงขนาดว่าถ้านายเหมเขาไป ฉันไม่ไป ผู้ใหญ่ต้องหลอกกัน ไปถึงเห็นเขาก็ทิ้งงานไม่ได้...
ต้องเล่น หรือถ้าเขารู้ว่าฉันไป เขาก็ไม่ไป
"ครูบาอาจารย์ทางเครื่องสาย
เห็นว่าคู่นี้ไม่ค่อยถูกกัน ไม่ได้...
ต้องให้ได้กัน ก็ไม่ได้แต่งงานอะไร...
ต่างคนต่างจน มีผู้ใหญ่นั่ง ผูกข้อไม้ข้อมือนิด ๆ หน่อย ๆ"
เมื่อตกลงปลงใจใช้ชีวิตร่วมกันนั้น เหมลาออกจากกลาโหมแล้ว กำลังทำงานที่ร้านบล็อกแถว ๆ สนามน้ำจืด (ต่อมาคือโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง) คุณแช่มจำได้ว่าเงินเดือน ๓๐ บาท
แต่โลกกำลังเคลื่อนเปลี่ยนไป
หนังเงียบชนิดที่ต้องใช้ดนตรีบรรเลงสด
กำลังจะลาโรง ในปี ๒๔๗๑
มีบริษัทจากสิงคโปร์
นำภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม
เข้ามาฉายเป็นครั้งแรกในสยาม ผู้คนแตกตื่นไปดูกันจนไม่มีที่นั่ง ต่อมาอีกสองปี
พี่น้องตระกูลวสุวัต
ก็สร้างภาพยนตร์เสียงฝีมือคนไทยได้สำเร็จ
|
|
|
คุณยายแช่มเล่าต่อ "ทีหลังพี่เหมว่ามัวเล่นดนตรี เราจะอด เล่นเครื่องสายไม่มีกิน ถึงมาตั้งหน้าตั้งตาเขียน ชื่อถึงได้ขึ้นมา"
ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๔๖๗ เริ่มมีหลักฐานภาพวาดหน้าปกหนังสือนิยายเล่มเล็ก ๆ ที่มีลายเซ็นตรงมุมว่า "เหม" ซึ่งก็ควรหมายถึง เหม เวชกร นั่นเอง แต่ในช่วงนั้น
งานเขียนภาพคงเป็นเพียงอาชีพเสริม
จากงานในร้านบล็อกเท่านั้น
แต่เหตุหนึ่ง
ที่เหมจะได้หันมาเอาดีทางเขียนภาพ
ก็คงได้แก่
การบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เนื่องในโอกาสฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี ในปี ๒๔๗๕
ในการนี้
งานสำคัญอย่างหนึ่ง
ก็คือการเขียนซ่อมแซมภาพ รามเกียรติ์ ในพระระเบียงรอบพระอุโบสถ ซึ่งต้องทำล่วงหน้าถึงสามปี คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒ นับเป็นการระดมช่างเขียนครั้งใหญ่แห่งยุค เพราะภาพเดิมที่เขียนมาตั้งแต่ ๕๐ ปีก่อนเมื่อคราวฉลองพระนคร ๑๐๐ ปีในรัชกาลที่ ๕ นั้น ชำรุดหลุดล่อนหมดสภาพแล้ว ดังนั้นโดยเนื้อแท้
การปฏิสังขรณ์นี้
ก็คือการลบของเดิมทิ้ง
แล้วเขียนขึ้นใหม่ทั้งหมด
งานขนาดนี้
จำเป็นต้องใช้ช่างเขียนจำนวนมาก
มีการรับสมัคร
และคัดเลือกช่างมาได้เกือบ ๗๐ คน เหมก็เป็นคนหนึ่งที่ผ่านการทดสอบฝีมือ และมีโอกาสได้เขียนภาพห้องที่ ๖๙ พระรามแผลงศรล้างมังกรกัณฐ์
การได้มีส่วนร่วมเขียนงานระดับชาติเช่นนี้ เป็นเสมือนประกาศนียบัตรอย่างดี
ว่าเขามีฝีมือกล้าแข็งพอ
ที่จะเติบโตต่อไปได้ในทางวิชาช่างเขียน
เหมในวัยยี่สิบปลายใกล้สามสิบ
เกิดกำลังใจ
และความมุมานะขึ้นมา ว่าอาชีพนี้คงไปรอดแน่
|
|
|
ในช่วงปลายปี ๒๔๗๔ (เวลานั้นปีใหม่ยังเริ่มที่เดือนเมษายน) เหม เวชกร เวช กระตุฤกษ์ และเสาว์ บุญเสนอ
ได้มาปรึกษากันว่า
จะหาทางทำมาหากินอย่างไรกันดี นายเวช อดีตช่างเรียงพิมพ์ ขณะนั้น เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์เล็ก ๆ (หรือที่เรียกกันด้วยภาษาในสมัยนั้นว่า "คณะ" ต่อด้วยชื่อเจ้าของ) เขาเคยพิมพ์หนังสือต่าง ๆ ออกมาขายพักหนึ่งแล้ว แต่ก็ขายไม่ดีนัก เงินทองที่สะสมไว้ก็ร่อยหรอลงทุกวัน เหม เวชกร
เป็นช่างบล็อก
และช่างเขียน
ที่กำลังสร้างชื่อเสียง ส่วนเสาว์ บุญเสนอ เพิ่งปลดเป็นทหารกองหนุนมาใหม่ ๆ ถึงจะเคยเขียนหนังสือมาบ้าง แต่ยังไม่มีงานทำ
สามคนนี้จึงมาคิดกันว่า
นิยายชนิดเล่มเดียวจบ
ที่พิมพ์ขายกันในตอนนั้น ราคาเล่มละ ๒๕ สตางค์ ๓๐ สตางค์ แต่ถ้าจะทำให้ถูกลงอีกโดยพิมพ์จำนวนมาก ใช้กระดาษคุณภาพต่ำ แล้วเปลี่ยนแบบฉบับของภาพหน้าปก จากภาพลายเส้นพิมพ์สีเดียว มาเป็นภาพพิมพ์สอดสี ก็น่าจะพอขายได้ คณะที่ดังใหม่นี้ เสาว์คิดชื่อให้ว่า เพลินจิตต์
หนังสือเล่มแรกของคณะเพลินจิตต์ คือ ขวัญใจนายร้อยตรี เสาว์ บุญเสนอ แต่ง เหม เวชกร เขียนภาพปกและภาพแทรก (ภาพประกอบในเล่ม) และ เวช กระตุฤกษ์ จัดพิมพ์จำหน่าย ราคาเล่มละ ๑๐ สตางค์ ออกวางตลาดพร้อมกับการเถลิงศกใหม่ ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๕
ขวัญใจนายร้อยตรี วางตลาดเพียงสามวัน ก็จำหน่ายได้หมด จนต้องพิมพ์เพิ่มถึงอีกสองครั้ง นิยายลำดับต่อ ๆ มาของเพลินจิตต์ก็ยังคงขายดิบขายดี บางเรื่อง เช่น ชีวิตต่างด้าว มียอดพิมพ์ถึง ๒๔,๐๐๐ เล่ม
|
|
|
เมื่อกระแสความนิยมเป็นไปในแนวนี้ จึงมีผู้ "ตามแห่" ตามกระแสกันมากมาย "คณะ" ต่าง ๆ ผุดขึ้นมาพิมพ์นิยายราคาถูกแบบนี้กันอีกหลายเจ้า เช่นคณะนายอุเทน ของนายอุเทน พูลโภคา คณะวัฒนานุกูล ของนายผล วัฒนะ ฯลฯ ซึ่งต่างก็มุ่งตลาดหนังสือราคาถูก ปกสวยงามเหมือนกันทั้งสิ้น จนทำให้คำว่า "นิยาย ๑๐ สตางค์" ในสมัยหนึ่ง มีความหมายถึงเรื่องเพ้อฝัน ประโลมโลกย์ (ที่สมัยต่อมาเรียกว่าเรื่องน้ำเน่า) ดังนั้นจึงเป็นหนังสือต้องห้ามสำหรับเด็ก ๆ ในหลายบ้าน แต่ก็ด้วยราคาที่ไม่สูงนัก ลูกค้าจำนวนมากจึงได้แก่เด็กนักเรียนนั่นเอง
ผมเรียนถามคุณเสาว์ บุญเสนอ อายุ ๙๓ ปี
หนึ่งเดียวในบรรดาผู้ร่วมก่อตั้งคณะเพลินจิตต์
ที่ยังมีชีวิตอยู่ว่า ทำไมหนังสือนิยาย ๑๐ สตางค์จึงขายดี หรือใครคือลูกค้า คุณเสาว์เห็นว่าคือ "พวกผู้หญิง แม่บ้าน เด็กรุ่นๆ"
นิยาย ๑๐ สตางค์
เป็นความบันเทิงราคาถูก
ของคนเหล่านี้ ที่ต้องการเพียงเวลาไม่นานนัก กับความรู้พออ่านออกเขียนได้
ซึ่งการศึกษาสมัยใหม่
ที่เริ่มต้นมาหลายสิบปีก่อนหน้านี้
ได้ปูทางไว้ให้เรียบร้อยแล้ว
นอกจากเนื้อเรื่องรักหวานซึ้ง โศกสลด หรือบู๊สะบั้นหั่นแหลกแล้ว ส่วนสำคัญของนิยาย ๑๐ สตางค์ก็คือหน้าปก ที่จะดึงดูดใจคนซื้อ
"ท่านักเลง ทีมันบอก ปกมันช่วย" คุณเสาว์อธิบายความสำคัญของหน้าปก "คนเห็นก็ซื้อไว้ก่อน...
มันเตะตาทีแรก"
|
|
|
เมื่อเป็น "จุดขาย" อย่างนี้ ค่าจ้างเขียนปกจึงมักจะพอ ๆ กัน
หรือสูงกว่าค่าต้นฉบับ
ของนักเขียนด้วยซ้ำ แต่ที่ว่าสูงนี้ คุณเสาว์ก็จำได้ว่าค่าจ้างของ เหม เวชกร ต่อหนึ่งปกคือ ๕ บาท แต่ในโลกที่ก๋วยเตี๋ยวชามละ ๕ สตางค์ และนิยายเล่มละ ๑๐ สตางค์ ค่าเขียนปก ๕ บาทก็นับว่าไม่เลวนัก
เมื่อปกกลายเป็นของสำคัญ ช่างเขียนก็ยิ่งมีความหมาย
เหมเริ่มมีชื่อขึ้นมาในฐานะนักวาดภาพปก
ที่เพลินจิตต์นี่เอง ผลงานของเขาตีพิมพ์แพร่หลายไปทั่ว และได้รับความนิยมชมชอบอย่างกว้างขวาง
จำเนียร สรฉัตร หนึ่งในบรรดาลูกศิษย์รุ่นแรก ๆ ของเหมเล่าว่า
"ผมเริ่มเป็นลูกศิษย์ครูเหมตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี ตอนนั้นผมบวชเป็นสามเณร เพื่อนที่เขาเรียนมัธยมอยู่กุฏิเดียวกัน เขาซื้อหนังสือเพลินจิตต์มาอ่าน ผมก็อ่านบ้าง เขาติดใจรูปครูเหม เอาให้ดูอยู่เรื่อย ใคร ๆ ก็ชอบครูเหม ฝีไม้ลายมือครูก็เป็นที่นิยม ผมเลยไปสมัครเป็นศิษย์ท่าน"
ในยุคนั้น ใครต่อใคร (โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย) ที่สนใจการวาดภาพ ต่างก็มาฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของ "ครูเหม" กันมาก ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ หรือ"เสนีย์ เสาวพงศ์" ศิลปินแห่งชาติ ด้านวรรณศิลป์ ก็เคยเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น
|
|
|
"ราวปี ๒๔๗๗-๒๔๗๘
สมัยเมื่อหมวกฟาง
มีแถบสีน้ำเงินสลับเหลืองคาด
ยังไม่หลุดจากศีรษะ
ข้าพเจ้าได้ไปฝากตัว
เพื่อฝึกหัดวาดเขียนกับครู เหม เวชกร ...ครูเหมฯ
กำลังมีชื่อในการเขียนภาพประกอบ
และปกหนังสือเล่ม
ของสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ที่ขายในราคาเล่มละสิบสตางค์
สำนักงานของสำนักพิมพ์เพลินจิตต์
และโรงพิมพ์
ก็ตั้งอยู่ตรงปากตรอกทางเข้าบ้านครูเหมฯ นั่นเอง ครูเหมฯ
เป็นผู้มีใจกว้าง
และเมตตา รับเด็กทุกคนที่เข้าไปหา สอนวิชาวาดเขียนให้ฟรี ทั้ง ๆ
ที่ต้องเจียดเวลา
จากการเขียนภาพปก
และภาพประกอบซึ่งรัดตัวอยู่เป็นอันมาก..."
ในราวปี ๒๔๗๘ เหมตัดสินใจลาออกจากเพลินจิตต์ มาตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเอง ชื่อ "คณะเหม"
ออกหนังสือนิยายราคาถูก
อย่างนายทุนเจ้าอื่น ๆ เขาบ้าง
นักเขียนส่วนหนึ่ง
ก็คือชาวคณะเพลินจิตต์เดิม
แต่ก็มีนักเขียนใหม่
ที่ถือได้ว่าอยู่ในสังกัด
ของคณะเหมจริง ๆ ก็คือ "ไม้ เมืองเดิม" หรือ ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา เพื่อนสนิทของเหมตั้งแต่เด็ก จนมาเป็นเพื่อนร่วมวงในสมัยเล่นดนตรี
บทประพันธ์เรื่องแรกของก้าน
ที่พิมพ์กับคณะเหม
คือเรื่อง ชาววัง แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจใยดีอะไรนัก จนกระทั่งถึงเรื่อง แผลเก่า
ก้านเคยเล่าให้ ยศ วัชรเสถียร ฟังว่า ได้เขียนเรื่องนี้ไปเสนอแก่เหม
เกลอเก่ารับไปอ่านแค่หน้าเดียว
แล้วก็ยื่นคืนให้ พร้อมกับบอกว่า "เรื่องของมึงสำนวนมันไพร่อย่างนี้ กูพิมพ์ออกไปไม่ได้หรอก" แต่ก้านไม่ยอมรับคืน เหมจึงเอาใส่ลิ้นชักโต๊ะเอาไว้ ต่อเมื่อเริ่มอัตคัดต้นฉบับ
เพราะสถานะทางการเงินของสำนักเหม
ก็ใช่ว่าจะดีนัก
เหมจึงตัดสินใจ
พิมพ์นิยายของเพื่อนออกมาแก้ขัด ผลปรากฏว่าผิดคาด เพราะเรื่อง "สำนวนไพร่" นั้นกลับติดตลาด ส่งให้ชื่อของ ไม้ เมืองเดิม
ติดทำเนียบนักเขียนคนสำคัญ
แห่งยุคทันที
|
|
|
สิ่งหนึ่งที่เหมคงคาดไม่ถึงก็คือ
สังคมที่ต้อนรับผลงานของ เหม เวชกร
ก็คือสังคมอย่างเดียวกันกับ
ที่จะชื่นชม ไม้ เมืองเดิม นั่นเอง เพราะทั้งคู่ล้วนเป็นคนของสยามยุคหลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ อันเป็นโลกของสามัญชน
ศ.ดร. สันติ เล็กสุขุม แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งกำลังศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับงานจิตรกรรมไทยสมัยใหม่ ชี้ให้เห็นประเด็นดังกล่าว
"ผมถือว่า เหม เวชกร เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมอันหนึ่งที่สำคัญ ช่างเขียนรุ่นก่อนเหม อย่างเช่นพระเทวาภินิมมิต เขียนพุทธประวัติ ชาดก ถ่ายแบบจากสมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ มา เป็นแบบช่างหลวง เขียนมีแบบมีแผน มีมงกุฎ ชฎา เป็นแบบโบราณ แต่เหมเขียนเป็นคนสามัญ
เหมไม่ได้ให้ความสำคัญกับความวิจิตรพิสดาร
ของเครื่องแต่งตัว
หรือฉากประกอบอย่างคุณพระเทวาฯ
"ความเป็นไทยของเหม
จึงไม่ได้อยู่ที่ figure หรือเครื่องแต่งตัว...
ไม่ใช่เขียนปราสาทแล้วเป็นไทย แต่คือกิริยาท่าทางที่เขาวาง ความรู้สึก ทีท่าของตัวละคร...
ซึ่งอันนั้นเป็นไทย มันมีความรู้สึกที่แฝงอยู่ในภาพด้วย
แม้แต่การเอียงหน้า
ชะม้อยชม้ายตาของตัวละคร
ทั้งผู้หญิงผู้ชาย มันมีอันนั้นอยู่ด้วย
"คนที่จะเขียนรูปได้อย่างเหม มันต้องมีจังหวะเหมาะนะ ไม่ใช่จบเมืองนอกมาจะเขียนได้ มันอยู่ที่จังหวะ มีโอกาส...มีสนามลง"
|
|
|
ในวงการหนังสือ ระหว่างช่วง พ.ศ. ๒๔๗๕ ลงมาจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
ศิลปินช่างเขียนปก
และภาพประกอบระดับแนวหน้า
ที่มีชื่อเสียงโดดเด่น ก็คือ เหม เวชกร และ "เฉลิมวุฒิ" -เฉลิม วุฒิโฆษิต ทั้งสองเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน (เหมเกิดในปี ๒๔๔๖ ส่วนเฉลิมวุฒิเกิดในปี ๒๔๔๘) และล้วนแต่มีประสบการณ์บางอย่างคล้ายกัน คือชอบเขียนรูปมาตั้งแต่เด็ก
ไม่เคยได้รับการศึกษาทางด้านวาดเขียน
ในสถาบันอย่างจริงจัง (เช่นโรงเรียนเพาะช่าง) หากแต่เรียนรู้ฝึกฝนมาด้วยตนเองเป็นหลัก และทั้งสองต่างได้รับ "โอกาส"
ทั้งจากเทคโนโลยีการพิมพ์
ที่สามารถแยกสี
เพื่อพิมพ์ภาพสีได้อย่างหนึ่ง และจากการขยายตัวของตลาดสิ่งพิมพ์ในเมืองไทย ตั้งแต่หนังสือราคาถูกจำพวกนิยาย ๑๐ สตางค์ นิตยสารรายสัปดาห์รายเดือน และหนังสือพิมพ์
แต่หากคิดว่าเหม
และเฉลิมวุฒิจะกลายเป็นคู่แข่งก็ผิดถนัด เพราะทั้งสองกลับเป็นเพื่อนสนิทกัน เฉลิม วุฒิโฆษิต เล่าความหลังครั้งเก่าไว้ว่า
"ข้าพเจ้าถนัดในการเขียนภาพตามสมัย
ส่วนคุณเหมถนัดทางภาพเกี่ยวกับชนบท
และสมัยเก่า ภาพที่มาจ้างเขียนน่ะเหลือมือ จนเราสองคนทำไม่ทัน
บางรายเจ้าของผู้พิมพ์
ต้องเอาเงินมาวางมัดจำให้เสียอีก
เราเจอกันครั้งใด
ก็มักจะพาพวกไปตั้งวงเหล้า คุยถูกคอกันเสียด้วย
เรามักแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ระหว่างกันอยู่เสมอ ไม่เคยมีอะไรผิดพ้องหมองใจกันสักครั้งเดียว"
|
|
|
ด้วยสายใยมิตรภาพเช่นนี้
เมื่อสำนักเหม
มีอันต้องปิดตัวไป
ด้วยอาการที่เหมเรียกว่า "ขาดทุนชิบหายขายตัว" เพราะขายหนังสือได้แต่เก็บเงินไม่ได้
เฉลิมวุฒิซึ่งขณะนั้นหันไปรับหน้าที่
บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประมวญวัน ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) จึงมาชักชวนให้เหมลองเขียนถวายฝีมือ ผลปรากฏว่าเสด็จในกรมพอพระทัย จึงทรงให้รับเหมเป็นพนักงานมีเงินเดือน
ทำหน้าที่เขียนภาพวรรณคดี
ประกอบพระนิพนธ์บทกวีเรื่องต่าง ๆ เช่น ขุนช้างขุนแผน ศรีธนนชัย สาวเครือฟ้า ลงพิมพ์ติดต่อกันในทั้งใน ประมวญวัน ที่เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน และ ประมวญสาร รายสัปดาห์
ในช่วงต้นสงครามมหาเอเชียบูรพา
หลังจากไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตร
กับญี่ปุ่นได้ไม่นานนัก สัมพันธมิตรเริ่มส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดกรุงเทพฯ ในปี ๒๔๘๖ สำนักงาน ประมวญวัน บนถนนสีลม พลอยถูกลูกหลงพังพินาศไปด้วย เหมจึงต้องตกงานไปโดยปริยาย แต่ก็ยังได้เขียนรูปอยู่บ้าง เช่นที่ทำงานให้แก่หนังสือส้างตนเอง (สร้างตนเอง) ของกรมประชาสงเคราะห์ เป็นภาพปกและภาพประกอบ ที่สนับสนุนนโยบายชาตินิยมของรัฐบาลสมัยนั้น
|
|
|
ยิ่งสงครามยืดเยื้อ
กิจการหนังสือในเมืองไทย
ก็ยิ่งซบเซาลงทุกที
เพราะทั้งกระดาษ
และอุปกรณ์การพิมพ์ต่าง ๆ ล้วนขาดแคลนอย่างหนัก
บรรดานักเขียน
และศิลปินต้องหันไปทำงานอื่นกันเป็นแถว
เหมก็เป็นหนึ่งในบรรดาชาววงการน้ำหมึก
ที่เข้ารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการระยะนั้น
ผลงานของเหมที่กระทรวง
ก็คือการเขียนภาพประกอบหนังสือเรียนสำหรับเด็ก เช่น อุดม เด็กดี
รวมทั้งเขายังได้สอน
ที่โรงเรียนเพาะช่างเป็นครั้งคราวด้วย
หลังสงครามโลกสงบลง
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ปัญหาขาดแคลนกระดาษ เริ่มคลี่คลาย แวดวงหนังสือค่อย ๆ ฟื้นตัว กลับมาคึกคักอีกครั้ง เหมลาออกจากกระทรวงศึกษาธิการ ไปทำงานกับสำนักพิมพ์อุดม ของอุดม ชาตบุตร ออกหนังสือ โบว์แดง รายปักษ์ ในต้นปี ๒๔๘๙ โดยมีสันต์ เทวรักษ์ (สันต์ ท. โกมลบุตร) เป็นบรรณาธิการ
นอกจากนั้น
อุดมยังได้ให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่เหม
และสันต์ ในการก่อตั้งสำนักงานช่าง เหม เวชกร เมื่อปี ๒๔๙๐ รับงานด้านบล็อกและตรายาง
สำนักงานตั้งอยู่ที่
ตึกแถวของสำนักงานทรัพย์สิน
ส่วนพระมหากษัตริย์ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ ฝั่งพระนคร
|
|
|
จนถึงยุคหลังสงคราม ก็ยังมีเด็กหนุ่ม ๆ
ที่สนใจการวาดภาพมาฝากเนื้อฝากตัว
เป็นศิษย์ครูเหมอยู่ไม่น้อย หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ปยุต เงากระจ่าง นายกสมาคมการ์ตูนไทยคนปัจจุบัน ข้อที่พิเศษกว่าลูกศิษย์คนอื่น ๆ ก็คือ ปยุตเป็นลูกศิษย์ทางไปรษณีย์
"ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด...
ประจวบคีรีขันธ์ สมัยก่อนสิ่งบันเทิงไม่ค่อยมี มีแต่หนังสือ ผมดูหนังสือเพลินจิตต์ ติดใจภาพเขียนของครู พยายามลอกแบบ เลียนตาม พอโตขึ้น ๆ ก็เริ่มรู้ว่าจะติดต่อกับครูเหมได้อย่างไร ระหว่างสงครามญี่ปุ่น ทางรถไฟขาดอยู่หลายปี พอเริ่มมีทางรถไฟแล่นได้ ไปรษณีย์ส่งได้ สิ่งแรกที่ผมทำคือเขียนจดหมายถึง เหม เวชกร พอดีตอนนั้น หนังสือ โบว์แดง ออก ผมเขียนจดหมายถึงครูเหมผ่านคุณสันต์ สมัครเป็นลูกศิษย์ สามอาทิตย์มีจดหมายตอบมาจาก เหม เวชกร ผมตื่นเต้นมือสั่น กินข้าวไม่ลง...
พอเจอกันแล้ว ครูเหมก็สอนทางไปรษณีย์ให้ ตอนครูเหมเสีย ผมก็เอามาพิมพ์ลงหนังสืองานศพ คนอื่น ๆ
ที่เป็นลูกศิษย์เขาก็ว่า
ครูเหมสอนอย่างนี้แหละ แต่ไม่มีใครเก็บไว้ได้ เพราะสอนกับตัว เขียนตามมุมกระดาษบ้างอะไรบ้าง ทีนี้ของผมเป็นจดหมาย เป็นแผ่น ๆ ก็เลยเก็บไว้ได้"
|
|
|
อ่านต่อคลิกที่นี้
|