ว า ร ส า ร เ มื อ ง โ บ ร า ณ
Muang Boran Journal

ISSN 0125-426X
ปีที่ ๒๙ ฉบับ ๔  ตุลาคม - ธันวาคม ๒๕๔๖
Vol. 29 No. 4 October - December 2003

วารสารวิชาการรายสามเดือน เพื่อการอนุรักษ์มรดกไทย
ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ และวัฒนธรรม
วารสาร เมืองโบราณ เดือน ตุลาคม - ธันวาคม ๒๕๔๖ ฉบับที่ ๔ ปีที่ ๒๙

ส า ร บั ญ
แสนเสียดายเขาพระพุทธบาท
จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน: การศึกษาครั้งล่าสุด... จิรศักดิ์ เดชวงค์ญา

Mural Painting of Wat Phumin in Nan: a Recent Study ... Jirasak Dejwongya

วิวัฒนาการและประติมานวิทยา จิตรกรรมโลกสัณฐาน เบื้องหลังพระประธา ... รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

The Evolution and Meaning of the Mural Paintings behind the Principal Buddha Image... Rungroj Piromanukul

มายาภาพสี่ทศวรรษ: จิตรกรรมพระราชพิธีเดือนเก้า ที่วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร... ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร

Four Decades of the Delusion: The Mural Painting of Royal Ceremony in 9th Lunar Month at Wat Ratchapradit... Chatbongkot Sriwattanasan

ความคิดเปลี่ยน การแสดงออกก็เปลี่ยนตาม: จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ ๓ ... สันติ เล็กสุขุม
จิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดาราราม: พงศาวดารบนโครงภาพพุทธประวัติ... วิไลรัตน์ ยังรอต

The World Conqueror as the World Renouncer: King Naresuan the Great's Life in the Mural Paintings of Wat Suwandararam... Wilairat Yongrot

เก็บตกจากจิตรกรรมร่วมสมัย... ปราณี กล่ำส้ม
เครื่องจักสานสองฝั่งโขง... สมปอง เพ็งจันทร์
วัดเอก บาเสท และบานอน สามปราสาทคู่เมืองพระตะบอง... วิชชุ เวชชาชีวะ
ใบเสมาสลักภาพเล่าเรื่อง มหานารทกัสสปชาดก จากบ้านหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์... อรุณศักดิ์ กิ่งมณี

Mahanaradakassapa Jataka on a Sema from Kuchinarai, Kalasin... Arunsak Kingmani

The Man from Cernavoda 
วิพากษ์ตะวันตกหรือวิตก (จริต) ของตะวันออก ?...
สายัณห์ แดงกลม
การะเกดเวียดนาม... กรวิก กระเวนวัน
ศูนย์บริการข้อมูล อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง... นงคราญ สุขสม
หินรีดผ้า... จุฑารัตน์ เหลืองสง่างาม
ตึกดิน อาคารพาณิชย์ยุคแรกในร้อยเอ็ด... ธีรพงษ์ จตุรพานิชย์
รีสอร์ทหนองบัวราย ในนามของ "ศูนย์อบรมและสัมมนาฯ" ที่พนมรุ้ง... กฤช เหลือลมัย
ผัวฝรั่งที่บ้านสำโรง... กฤช เหลือลมัย
การศึกษามหากาพย์รามายณะ ในประเทศจีน... จรัสศรี จิรภาส 
ลออง นิลพฤกษ์ ช่างมุกเมืองเก่า... อรชร เอกภาพสากล
ความคืบหน้าของการศึกษา บ้านโป่งมะนาว... สุรพล นาถะพินธุ
ภาพสลักหินเรื่อง ห้องสิน ในซุ้มประตูจีน วัดพระเชตุพนฯ... ศานติ - นวรัตน์ ภักดีคำ 
เงินเปีย... ล้อม เพ็งแก้ว
หลักฐานโบราณที่บ้านนาเก็น... ว่าที่ ร.อ.ฉัตรวัชระ เสนะบุตร์
พระเจ้าหย่อนตีน... ศักดิ์ชัย สายสิงห์
รูปถ่ายลายเส้น... ศูนย์ข้อมูล เมืองโบราณ
เรื่องเก่าเล่าสู่... กองบรรณาธิการ
ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์... นคร สำเภาทิพย์
รูปที่ ๙ (คลิกดูภาพใหญ่)
 
จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน: การศึกษาครั้งล่าสุด
จิรศักดิ์ เดชวงค์ญา
สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คลิกดูภาพใหญ่      ชื่อวัดภูมินทร์ปรากฏในหลักฐานเอกสารครั้งแรกประมาณ พ.ศ.๒๑๔๖ โดยมีความที่เกี่ยวเนื่องในสมัยเมื่อครั้งเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ รบกับมังนรธาช่อจากเชียงใหม่
    เอกสารกล่าวว่าทัพพม่าจากเชียงใหม่สามารถเข้าตีเมืองน่านได้ และจับเอาเจ้าเจตบุตรฯ ไปเชียงใหม่ ส่วนเจ้าน้ำบ่อ อนุชาของเจ้าเจตบุตรฯ ถูกพม่าทรมานจนตาย พม่าจึงได้นำศพเจ้าน้ำบ่อไปทิ้งในบ่อน้ำวัดภูมินทร์1
    ต่อมาราว พ.ศ.๒๒๔๗ ในสมัยพระเมืองราชาครองเมืองน่าน มีความพยายามจะฟื้นม่าน ทัพพม่าจึงยกเข้าตีเมืองน่าน เผาทำลายพระพุทธรูปเจ้าวัดภูมินทร์องค์ตะวันตก2
    วัดภูมินทร์ปรากฏชื่ออีกครั้งหนึ่งในรัชกาลพระเจ้าอนันตวรฤิทธิเดช เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๐  ข้อความในเอกสารระบุว่าพระเจ้าอนันตวรฤิทธิเดชโปรดฯ ให้สร้างวิหารหลวงวัดภูมินทร์ และฉลองเมื่อเดือนหก เพ็ญ โดยให้รายละเอียดค่าใช้จ่ายว่า 
    "เหล็กเสี้ยงสามหมื่น ทองเสี้ยงหกพันปายหนึ่งร้อย แก้วเสี้ยงสามแสนสามหมื่นสองพัน คำปิวเสี้ยงห้าหมื่นสี่พันเจ็ดร้อย รักเสี้ยง ๓๕ ไหปาย ๑๖ กระบอก หางเสี้ยง ๑๘ ห่อ น้ำมันสมสะทายเสี้ยง ๒๐ ไห น้ำอ้อยเสี้ยงตื้อหกแสนห้าหมื่น ปูนเสี้ยง ๒ ตื้อสี่ล้านสามแสนห้าหมื่น จ้างช่างเลื่อยไม้เงินตราเสี้ยง ๕ ชั่ง เงินแถบเสี้ยง ๓๐๐ แถบแล" 
รูปที่ ๒ (คลิกดูภาพใหญ่)     การสร้างวิหารวัดภูมินทร์ระบุในเอกสารว่าแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๑๗ 3 ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๙ C.E.W. Stringer กงศุลอังกฤษประจำเชียงใหม่ได้เดินทางไปน่าน และระบุว่า "วัดที่สำคัญในเมืองได้แก่ วัดภูมินทราชา ที่มีพระพุทธรูปสี่องค์อยู่ตรงกลาง ที่นี่เราได้พบกับพระแก่ๆ องค์หนึ่งซึ่งเคยเดินทางไปอังกฤษเมื่อ ๓ - ๔ ปีที่แล้วพร้อมกับชาวพม่าที่ไปขายอัญมณ"4
    วิหารวัดภูมินทร์ (รูปที่ ๑) เป็นอาคารที่มีแผนผังแบบจตุรมุข  พบเพียงไม่กี่แห่งในล้านนา เข้าใจว่าใช้เป็นทั้งวิหารและอุโบสถในหลังเดียวกัน พื้นที่อุโบสถคงจะวางตัวอยู่ในแนวเหนือ - ใต้ เพราะยึดถือตามแนวของใบเสมา ส่วนวิหารคงวางตามแนวตะวันตก - ตะวันออก เข้าใจว่าการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าอนันตวรฤิทธิเดชคงจะได้ถมพื้นที่เดิมขึ้นมาสูงมากจนเกือบถึงระดับยอดของใบเสมา5 
    บันไดทางขึ้นสู่วิหารมีทั้งสี่ด้าน โดยด้านทิศเหนือมีราวบันไดรูปพญานาค ส่วนหางอยู่ทางด้านทิศใต้ ในขณะที่ปลายราวบันไดทางทิศตะวันตกและตะวันออกเป็นรูปตัวเหงา 
    ถึงแม้ว่าดูจะมีความพยายามทำประตูทางเข้าทั้งสี่ด้าน (รูปที่ ๒) เป็นซุ้มที่เลียนแบบซุ้มเรือนยอดทรงมณฑปในศิลปะรัตนโกสินทร์ร่วมสมัย เช่น ซุ้มประตูโบสถ์วัดราชบพิธสถิตยมหาสีมาราม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นมณฑปทรงเรือนยอดประดับกระเบื้องเคลือบ6 แต่ในรายละเอียดขององค์ประกอบก็ยังสอดแทรกความเป็นท้องถิ่นไว้ด้วย 

รูปที่ ๓ (คลิกดูภาพใหญ่)     ความเป็นท้องถิ่นนั้นได้แก่ลักษณะตัวโขงที่มีแผนผังยกเก็จมากกว่าการย่อมุม การประดับด้วยโค้งปากแล ส่วนยอดที่เป็นชั้นลดซึ่งเลียนแบบจากตัวประตูด้านล่าง แต่ทำช่องว่างระหว่างชั้นสั้นมาก เพราะต้องการให้คล้ายชั้นลดของภาคกลาง ตลอดจนยอดรูปบัวตูมซึ่งแตกต่างจากเรือนยอดซุ้มประตูภาคกลางอย่างชัดเจน 
    ส่วนลายปูนปั้นประดับกระจกยังคงลักษณะลายพื้นเมืองได้เกือบทั้งหมด ที่เสาไม้ขนาบข้างซุ้มโขงทุกด้านมีลายปูนปั้นประดับกระจกเป็นลายประเภทแผงทรงพุ่มใบเทศ ด้านล่างสุดมีลายกรุยเชิง เข้าใจว่าเป็นรูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์ 
    ลายประดับหน้าบันทุกด้านเป็นลายก้านที่ออกจากดอกกลมกึ่งกลางหน้าบันด้านล่าง ก้านเหล่านั้นวางเลื้อยไปตามจังหวะและพื้นที่ของทรงสามเหลี่ยม ปลายก้านประดับด้วยลายดอกทรงใบเทศหรือลายดอกกลม บริเวณกลีบดอกประดับกระจกสีต่างๆ กัน โดยพื้นหลังของหน้าบันทั้งหมดประดับกระจกสีเงิน ถึงแม้ว่าลายดอกต่างๆ นั้นจะมีอิทธิพลภาคกลางอยู่มาก แต่เทคนิคการประดับกระจกสีคาดว่าอาจเกี่ยวเนื่องกับการประดับกระจกที่เริ่มนิยมกันในศิลปะลาวที่หลวงพระบางอยู่บ้าง 
    นอกจากนี้ โดยรอบกรอบหน้าบันยังมีปูนปั้นประดับกระจกรูปตัวเหงาประดับเรียงกัน ลักษณะตัวเหงานี้ก็คล้ายคลึงกับวันแล่นที่ประดับอาคารในศิลปะลาวด้วย เช่นที่วัดเชียงทอง เมืองหลวงพระบาง เป็นต้น 
    การประดับลายด้วยกระจกนี้คงเป็นหลักฐานยืนยันได้ถึงจำนวนกระจกสี ซึ่งระบุไว้ในเอกสารที่กล่าวมาแล้วว่า "แก้วเสี้ยงสามแสนสามหมื่นสองพัน" 
    ที่ยอดกลางหลังคาวิหารมีหางนาคของสันหลังคาทุกด้านไปรวมกันและประดับฉัตรด้านบน นับว่าเป็นเอกลักษณ์ของการประดับยอดสถาปัตยกรรมเมืองน่านในระยะนั้น
    กึ่งกลางภายในวิหารมีแกนกลาง ทำหน้าที่รับน้ำหนักหลังคา (รูปที่ ๓) ประกอบด้วยฐานปัทมลูกแก้วอกไก่รับแท่งสี่เหลี่ยมยกเก็จ ถัดขึ้นไปเป็นทรงคลุ่มคล้ายองค์ระฆัง ที่ด้านทั้งสี่ของแท่งสี่เหลี่ยมนั้นประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย 
รูปที่ ๔ (คลิกดูภาพใหญ่)     ลักษณะแผนผังที่มีแกนกลางรับน้ำหนักหลังคาแบบนี้ เป็นโครงสร้างอาคารที่นิยมสร้างกันมากในศิลปะพม่าที่พุกามตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา เช่น วิหาร Gu-ni-hpaya7 และนิยมสร้างกันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าโครงสร้างของวิหารวัดภูมินทร์เดิมนั้นสร้างมาก่อนสมัยพระเจ้าอนันตวรฤิทธิเดชแล้ว แต่หลักฐานที่เหลืออยู่ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนได้ สันนิษฐานว่าคงก่อน พ.ศ.๒๒๔๗ ที่เอกสารระบุว่าพม่าเข้าทำลายพระพุทธรูปวัดภูมินทร์องค์ตะวันตก ซึ่งคงหมายถึงพระพุทธรูปในวิหารนี้เอง
    อย่างไรก็ตาม ลักษณะพระพุทธรูปในปัจจุบันก็ไม่สามารถนำมาศึกษาประกอบการกำหนดอายุสมัยการสร้างได้ เพราะได้รับการซ่อมแซมจนไม่สามารถเปรียบเทียบทางศิลปะได้ จากสภาพแท่งสี่เหลี่ยมที่เหลืออยู่ เข้าใจว่าหลังคาอาคารหลังเดิมคงต้องต่ำกว่าองค์ปัจจุบัน เพราะแกนรับน้ำหนักทรงบัวคลุ่มนั้นไม่มีสัดส่วนที่สัมพันธ์กับแท่งสี่เหลี่ยมด้านล่าง
    จิตรกรรมฝาผนังในวิหารวัดภูมินทร์เขียนบนผนังทุกด้าน ตั้งแต่ส่วนบนของผนังจนถึงระดับเสมอขอบหน้าต่างล่าง เขียนภาพบุคคลขนาดใหญ่อยู่ส่วนบนของผนังทุกด้าน โดยผนังด้านเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้เป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งปางมารวิชัย มีพระสาวกนั่งประนมมืออยู่ด้านข้าง (รูปที่ ๔) เข้าใจว่าคงเป็นตอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาเล่าเรื่องคันทนกุมารชาดก ซึ่งช่างได้เขียนเป็นภาพเล่าเรื่องขนาดเล็กอยู่ด้านล่าง ส่วนผนังทางด้านทิศตะวันตกนั้น ด้านบนเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้าในปางไสยาสน์ (รูปที่ ๕) เมื่อสังเกตจากลักษณะการนอนที่ไม่มีอาการเกร็ง และภาพพระสาวกที่แสดงอาการเศร้าโศก ก็อาจเป็นไปได้ว่าเป็นพุทธประวัติตอนปรินิพพาน ส่วนผนังด้านล่างเขียนเรื่องเนมิราชชาดก

เนื้อเรื่องของภาพจิตรกรรม

รูปที่ ๕ (คลิกดูภาพใหญ่)     เรื่องคันทนกุมารที่เขียนขึ้นในจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์นี้ได้มีการเล่าเรื่องย่อไว้แล้วในงานศึกษาเรื่องวัดภูมินทร์และวัดหนองบัว8 แต่เรื่องที่ยกมานั้นเข้าใจว่าจะนำเอาเรื่องคันทนกุมารจากวรรณกรรมชาดกทางภาคอีสานมาแทน เพราะเนื้อเรื่องและชื่อสถานที่ไม่ตรงกับคำอธิบายที่เขียนไว้ในจิตรกรรม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะต้นฉบับคันทนกุมารในล้านนายังไม่มีการปริวรรตและพิมพ์เผยแพร่ในระยะนั้น
    คันทนกุมารฉบับจารเก่าที่สุดเท่าที่พบขณะนี้คือต้นฉบับจากวัดสันริมปิง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน จารเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๑9 แต่สำหรับคันทนกุมารฉบับเมืองน่าน ผู้ศึกษาได้พบสองฉบับ คือฉบับของวัดอรัญญะวาส ตำบลเวียงใต้ อำเภอเมืองน่าน จารไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ มีรายชื่อผู้จารหลายท่านตามแต่ละผูก ได้แก่อันทะปัญญาภิกขุ ธัมมะรังษีภิกขุ อินทะวงศ์ภิกขุ พรหมเทพภิกขุ และคันธรสภิกขุ อีกฉบับหนึ่งเป็นของวัดพญาภู ตำบลเวียงใต้ อำเภอเมืองน่าน จารเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕10
    คันทนกุมารหรือคันทนจิกุ่งดีดฉบับที่พบจากเมืองน่านอาจจะมีความสัมพันธ์กับลาวอยู่บ้าง เพราะมีการใช้คำว่าจินายโม้ คือจิกุ่งของล้านนา มีชื่อเมืองชวาวดี ที่คล้ายกับเมืองชวา ชื่อเดิมของเมืองหลวงพระบาง และชื่อเมืองขวางทะบุรี คล้ายเมืองเชียงขวางของลาว
    แม้แต่ในคำอธิบายภาพตอนเจ้าชายคันทจันทะรบกับพญาตักศิลา ก็อธิบายว่า "เจ้าคันทจันทะฟันพญาตักศิลาตายตกน้ำของ" ด้วย
รูปที่ ๖ (คลิกดูภาพใหญ่)     เข้าใจว่าภาพเล่าเรื่องในจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ดำเนินเนื้อเรื่องตามต้นฉบับที่พบจากเมืองน่าน (ดูแผนผังประกอบ) โดยเริ่มต้นจากฝาผนังด้านทิศเหนือ ตอนที่แม่ของคันทนกุมารช่วยสอนการทอหูกให้แก่ชาวบ้านเมืองศรีษะเกษ (รูปที่ ๖) ตอนพระอินทร์แปลงเป็นช้างเผือกไปเหยียบในนาข้าว และแม่คันทนกุมารไปดื่มน้ำจากรอยเท้าช้าง ตอนที่คันทนกุมารเล่นกับลูกชาวบ้านและถูกล้อเลียน ตอนที่คันทนกุมารให้แม่พาไปดูรอยเท้าช้าง (รูปที่ ๗) ตอนคันทนกุมารขุดหัวมันให้แม่กิน ตอนสู้กับยักษ์ชนะ ยักษ์ให้น้ำเต้าทิพย์และบอกขุมทองให้ ตอนคันทนกุมารถอนต้นตาลหน้าเมืองศรีษะเกษ ตอนเจ้าคันทนไปเมืองอินทปัตถพบกับอ้ายไผ่ร้อยกอและอ้ายเกวียนร้อยเล่ม ตอนเจ้าคันทนจับจิกุ่งตัวใหญ่ในป่าหิมพานต์ ตอนยักษ์ปลอมตัวเป็นฤาษีเพื่อหลอกจะกินเจ้าคันทน แต่รบแพ้จึงมอบไม้ต้นชี้ตายปลายชี้เป็น พร้อมทั้งพิณสามสายให้
    ผนังทางด้านทิศตะวันออกเริ่มจากตอนที่เจ้าคันทนเข้าเมืองขวางทะบุรี ได้พบพระธิดากลองศรีที่ซ่อนตัวอยู่ในกลอง และนางได้เล่าเรื่องที่บ้านเมืองร้างให้ฟัง (รูปที่ ๘) ตอนเจ้าคันทนกุมารฆ่างูยักษ์ที่มากินคนในเมืองขวางทะบุรี และชุบชีวิตคนทั้งหลายให้ฟื้น ตอนที่พระยาเมืองขวางทะบุรีถามพระธิดา นางกลองศรีจึงเล่าเรื่องให้ฟัง ตอนพญาไผ่ร้อยกอยกทัพไปตีเมืองจัมปานคร ตอนเสด็จเข้าเมืองชวาวดีและพบนางคำสิงห์ (รูปที่ ๙) ตอนที่ฆ่าเหยี่ยวยักษ์และชุบชีวิตคนในเมืองให้ฟื้น ตอนที่เหาะไปเมืองจัมปานคร
    ผนังทางด้านทิศใต้ดำเนินเนื้อเรื่องค่อนข้างสับสน เพราะยังมีเนื้อเรื่องอีกมาก แต่พื้นที่มีจำกัด เข้าใจว่าช่างคงเลือกเอาตอนสำคัญๆ มาเขียนไว้ โดยไม่ได้เรียงเนื้อเรื่องต่อกันเหมือนผนังด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก แต่จะข้ามกันไปมาแล้วแต่พื้นที่และความสมบูรณ์ของเรื่อง
รูปที่ ๗ (คลิกดูภาพใหญ่)     เนื้อเรื่องที่เขียนประกอบด้วยตอนพญาไผ่ร้อยกอและพญาเกวียนร้อยเล่ม ยกทัพเข้าตีเมืองจัมปานคร ตอนทหารมาแจ้งข่าวศึก (รูปที่ ๑๐) ตอนนางสีดานำเชิงผ้ามาต่อกับผ้าของคันทนกุมาร ตอนพระราชาเมืองจัมปานครออกล่าสัตว์และไปพบกับยักษ์ที่แปลงร่างเป็นกวางทอง แล้วถูกยักษ์จับจะกิน พระราชาได้ต่อรองโดยสัญญาว่าจะเอาคนมาให้กินทุกวัน ตอนนางสีดาถูกส่งมาให้ยักษ์กินแต่คันทนกุมารเข้าไปช่วยไว้ ตอนคันทนกุมารสู้กับยักษ์และยักษ์เอาหัวโขกพื้นจนตาย ตอนคันทนกุมารเทศนาสั่งสอนธรรมให้แก่ฤาษีและภูตผีปีศาจทั้งหลาย ตอนคันทนกุมารขี่งาช้างผ่านเมืองตักศิลา และผนังด้านบนของประตูเขียนภาพตอนเจ้าชายคันทจันทะรบกับเจ้าชายคันทเนตร จนพญาแถนต้องสร้างลมพิชฌขอดมาตัดศีรษะของเจ้าชายคันทเนตรตาย ตอนคันทนกุมารลอบเข้าหานางสีไวย ธิดาของเศรษฐีเมืองจำปานคร (รูปที่ ๑๑) ตอนคันทนกุมารมาอาศัยอยู่กับย่าจ่าสวน
    ผนังทางด้านทิศตะวันตกส่วนใหญ่เขียนเรื่องพระเนมิราช แต่ส่วนผนังมุขทางด้านทิศใต้ที่ต่อเนื่องกับผนังมุขของด้านทิศใต้นั้นยังเขียนเรื่องคันทนกุมารอยู่ โดยเขียนเป็นตอนคันทนกุมารพบช้างเผือกผู้เป็นพ่อและได้งาช้าง ตอนเจ้าชายคันทจันทะสู้กับพญาตักศิลา ส่วนเรื่องเนมิราชนั้นเป็นตอนที่พระอินทร์ใช้ให้พระวิษณุกรรมพาพระเนมิราชไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และนรก (รูปที่ ๑๒) และภาพบุคคลที่กระทำความชั่วแล้วตกนรก โดยอธิบายถึงการลงโทษตามกรรมที่ได้ก่อไว้
    ตามเสามักจะเขียนรูปบุคคลขนาดใหญ่ เข้าใจว่าคงมีตัวตนจริงในขณะนั้น เสาด้านทิศตะวันออกด้านล่างเป็นรูปนางสีเวย ด้านบนเป็นรูปชายใส่เสื้อคลุม เข้าใจกันว่าเป็นรูปพระเจ้าอนันตวรฤิทธิเดช (รูปที่ ๑๓) ด้านทิศใต้มีรูปบุคคลชายหญิงนั่งอยู่บนม้านั่งแบบยุโรป และเสาด้านทิศตะวันตกมีรูปชายกำลังป้องปากพูดกับหญิง (รูปที่ ๑๔)

องค์ประกอบทางศิลปกรรม

รูปที่ ๘ (คลิกดูภาพใหญ่)     องค์ประกอบของภาพจิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้มีภาพขนาดใหญ่อยู่ด้านบน ซึ่งอาจเป็นเพราะต้องการเน้นความสำคัญของภาพ ด้านล่างเป็นภาพย่อยๆ ขนาดเล็ก แต่ช่างก็สามารถนำมาจัดวางได้อย่างลงตัว ภาพแต่ละภาพนั้นไม่ได้ถูกแบ่งออกจากกันด้วยกรอบภาพ แต่ใช้วิธีการจัดตำแหน่งของภาพ การเว้นระยะ และการต่อเนื่องด้วยฉากตามธรรมชาติ ตลอดจนโครงสีที่เป็นพื้นหลังเพื่อเชื่อมโยงภาพทั้งหมดให้เป็นภาพอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งอาคาร
    โครงสีที่ใช้เป็นสีคู่หลักคือสีส้มแดงและสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นคู่สีตรงข้าม แต่ช่างได้นำเอาโครงสีโทนอ่อนเข้ามาแทรกเป็นระยะ ตลอดจนการผสมสีทั้งสองให้หม่นลง จึงมีผลต่อภาพทำให้ดูนุ่มนวลและกลมกลืนเข้ากันได้เป็นอย่างดี
    ในรายละเอียดของภาพ ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์และโดดเด่นที่สุดน่าจะไดแก่ภาพที่สะท้อนถึงชีวิตชาวน่านในยุคนั้น ลักษณะใบหน้ารูปกลมแป้น คิ้วโค้งรูปครึ่งวงกลม นัยน์ตาที่แฝงความรู้สึก ริมฝีปากเล็กรูปกระจับ การแสดงความดีใจด้วยการเขียนมุมปากเชิดขึ้นทั้งสองข้าง และถ้าต้องการแสดงอารมณ์เศร้าเสียใจก็จะเขียนมุมปากให้ตกลง ซึ่งแตกต่างจากการเขียนแบบภาคกลาง ที่แสดงความรู้สึกผ่านท่าทางแบบนาฏลักษณ์
    ดังนั้น งานจิตรกรรมที่นี่จึงมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างสูง และแสดงถึงความเป็นพื้นบ้านมากกว่างานที่ลอกแบบมาจากที่อื่น

Click hereอ่านต่อคลิกที่นี่