กลับไปหน้า สารบัญ
กั ม พู ช า ๒๐๐๐
และศิลปินไร้พรมแดน
เรื่อง/ภาพ : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
 
   ถามคนไทยรุ่นอายุ ๔๐ ปีขึ้นไปว่า เหตุการณ์ใดที่เป็นเหมือนฝันร้าย และน่ากลัวที่สุดในยุคของพวกเขา หลายคนคงนึกถึงเหตุการณ์สังหารโหดนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
(คลิกดูภาพใหญ่)
ศิลปินเขมรคนหนึ่ง ที่ปราสาทตาพรหม
   แต่หากถามคนเขมรรุ่นอายุ ๔๐ ปีว่า เหตุการณ์ใดที่เป็นเหมือนฝันร้าย และน่าสะพรึงกลัวที่สุดในยุคของพวกเขา เชื่อได้ว่าทุกคนจะตอบตรงกันว่า คือวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๑๘ 
   วันนั้นทหารเขมรแดงยาตราทัพ เข้ายึดกรุงพนมเปญ ทำสงครามชนะรัฐบาลนายพลลอนนอล ประชาชนจำนวนมากออกมาที่ถนน คอยต้อนรับกองทัพทหารเขมรแดง และคิดว่าสงครามกลางเมือง ที่ดำเนินมาร่วมสิบปี คงจะยุติเสียที 
   แต่พอเช้าวันรุ่งขึ้น ทหารเขมรแดงก็สั่งให้ประชาชนแทบทั้งหมด อพยพออกจากกรุงพนมเปญไปทำนาในชนบท ด้วยขณะนั้นเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง นาข้าวทั่วประเทศ ถูกเครื่องบินสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดเสีย จนไร่นาเสียหาย ผลผลิตข้าวลดลงเป็นประวัติการณ์ ว่ากันว่าปริมาณระเบิดที่ทิ้งลงมานั้น มากกว่าระเบิดที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ รวมกันเสียอีก
   การอพยพผู้คนครั้งนั้น เขมรแดงถือโอกาสกวาดล้างผู้คนในระบอบการเมืองเก่า เพื่อสร้างสังคมในอุดมคติขึ้นใหม่ ในชั่วระยะเวลาเกือบสี่ปีที่เขมรแดงครองเมือง ปรากฏว่ามีผู้คนถูกสังหาร และทารุณกรรมมากกว่า ๒ ล้านคน
     ร้อยละ ๘๐ ของชนชั้นกลาง ปัญญาชน และนักศึกษา ถูกฆ่าทิ้ง
   ผู้คนจำนวนมากตายในทุ่งสังหาร หรือที่เรียกกันว่า คิลลิ่ง ฟิลด์
   ก่อนเขมรแดงเข้าปกครองประเทศ ในเขมรมีนายแพทย์ประมาณ ๘๕๐ คน แต่ภายหลังเหลือเพียง ๕๐ คน
   และเช่นเดียวกับศิลปินและนายช่าง ที่ดูแลการบูรณะนครวัด นครธม และโบราณสถานทั่วประเทศ จากเดิมที่มีจำนวนมากกว่าพันคน มาภายหลังศิลปินเหล่านี้ ถูกกวาดล้างเหลือไม่ถึง ๒๐ คน จนน่าเป็นห่วงว่างานศิลปะในประเทศ ที่มีรากเหง้าศิลปะอันยิ่งใหญ่ จะมีผู้สืบทอดต่อไปหรือไม่
   ๒๕ ปีผ่านไป ศิลปินไทยกลุ่มหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เดินทางสู่ประเทศกัมพูชา เพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัย ร่วมกับศิลปินเขมรในโครงการ "ศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อสันติภาพ ๒๐๐๐" ด้วยความปรารถนาที่จะเป็นแรงกระตุ้น ให้เกิดการสร้างงานศิลปะขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในประเทศที่เพิ่งผ่านสงครามมาได้ไม่นาน และด้วยความเชื่อว่า ศิลปะจะเสริมสร้างสันติภาพ ให้เกิดขึ้นในจิตใจของผู้คนได้ 

(คลิกดูภาพใหญ่)

   ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๓ เครื่อง ATR ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ เหินฟ้าออกจากท่าอากาศยานดอนเมือง นำคณะศิลปินไทย ๒๐ คน มุ่งหน้าสู่กรุงพนมเปญ ๑ ชั่วโมงเศษ เครื่องบินก็ร่อนลงสู่ท่าอากาศยานโปเชนตง ซึ่งกำลังเร่งก่อสร้างอาคารเป็นการใหญ่ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวกัมพูชากันมากขึ้น ภายหลังสงครามกลางเมือง ที่ดำเนินมานานได้ปิดฉากลง เมื่อฮุนเซนสามารถปราบเขมรฝ่ายต่าง ๆ ได้เป็นผลสำเร็จ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงผู้เดียว กลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในเวลานี้ 
   การเดินทางมาของคณะศิลปินไทยเป็นข่าวใหญ่พอสมควร เพราะเป็นครั้งแรก ที่มีชาวต่างประเทศให้ความสนใจ ในการฟื้นฟูงานด้านศิลปะ ที่ผ่านมามีเพียงความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสาธารณสุขเท่านั้น ศิษย์เก่าศิลปากร ที่เป็นศิลปินมีชื่อเสียง อาทิ สวัสดิ์ ตันติสุข, ทวี รัชนีกร, วิโชค มุกดามณี ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี จากเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนเขมร ทุกคนได้รับพวงมาลัยคล้องคอ จากสาวเขมรในชุดนางเทพอัปสรา มีขบวนแห่กลองยาวแบบเขมร มารอรับที่หน้าประตูทางออก 

 (คลิกดูภาพใหญ่)
สุวรรณี สารคณา สาวศิลปินไทย กำลังร่างภาพ ความอลังการ แห่งปราสาทบายน
   โครงการศิลปะ และวัฒนธรรมเพื่อสันติภาพ ๒๐๐๐ เป็นความคิดริเริ่มของหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มูลนิธิศิลปินลุ่มน้ำโขง และกรุงพนมเปญ ที่ต้องการนำศิลปินจากทั้งสองประเทศ ฝ่ายละ ๒๐ คน มาสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมกัน เพื่อเป็นสื่อสร้างความเข้าใจอันดี ระหว่างประเทศทั้งสอง โดยจะนำผลงานไปจัดแสดง ให้ประชาชนในแต่ละประเทศได้ชมด้วย 
   คณะศิลปินขึ้นรถมินิบัสยี่ห้อโตโยต้าขนาด ๒๐ ที่นั่งที่มารอรับ ส่วนสัมภาระจำพวกอุปกรณ์การวาดภาพ สีชนิดต่าง ๆ ทั้งสีน้ำ สีอะคลีริก สีน้ำมัน และเฟรมผ้าใบนับร้อยชิ้น ที่เตรียมมาให้ศิลปินเขมร ถูกขนขึ้นรถปิกอัปยี่ห้อเดียวกันแยกไปต่างหาก ระยะทางจากสนามบินไปยังโรงแรมที่พักไม่ไกลมาก แต่ใช้เวลาเดินทางนานนับชั่วโมง ถนนรัสเซียเป็นถนนสายหลักเข้าเมืองพนมเปญ ตลอดทางมีการซ่อมถนนเป็นระยะ ๆ การจราจรค่อนข้างติดขัด ยิ่งเข้าใกล้เมือง ถนนจะแคบลงเรื่อย ๆ รถของเราแล่นมาตามถนนเหมาเจ๋อตุงย่านใจกลางเมือง สังเกตเห็นว่ารถเก๋งที่แล่นอยู่บนถนนส่วนใหญ่เป็นรถญี่ปุ่น รถขับเคลื่อนสี่ล้อยี่ห้อเกียพันธุ์เกาหลีใต้ ที่เกือบจะสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยสมัยเศรษฐกิจล่ม ก็มีแล่นอยู่ขวักไขว่ 
   อันที่จริงรถขับเคลื่อนสี่ล้อ นับเป็นสิ่งจำเป็นในประเทศนี้ เพราะถนนหนทางระหว่างจังหวัดในกัมพูชา ยังมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมีหลุมบ่อมากมาย ราวกับผิวโลกพระจันทร์ แม้กระทั่งถนนหลายสายในกรุงพนมเปญเอง ก็มีสภาพไม่ต่างกัน
   "การจราจรเขมรนั้นกำหนดให้ขับรถเลนขวา รถเก๋งญี่ปุ่นที่คุณเห็นนั้น ส่วนใหญ่เป็นรถมือสองจากแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นรถพวงมาลัยซ้าย ส่วนรถใหม่นั้นราคาค่อนข้างแพง ต้องคนรวยจริง ๆ จึงจะซื้อมาขับได้ แต่คุณสังเกตให้ดี จะมีรถจำนวนหนึ่งทั้งรถเก๋ง ทั้งรถโฟร์วีล ที่มีพวงมาลัยขวา สันนิษฐานได้ว่าถูกขโมยมาจากประเทศไทย" บัน งวน ไกด์ประจำคณะวัย ๔๖ ปีให้คำอธิบาย
 (คลิกดูภาพใหญ่)
อาจารย์ทวี รัชนีกร ใช้สีดำระบายพระพักตร์ ของพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร เพื่อแสดงความลึกลับ ของปราสาทบายน
   เราพยายามดูหน้ากระจกรถที่มีพวงมาลัยขวา บางคันยังพอเห็นร่องรอยของป้ายวงกลมภาษาไทย ไกด์เล่าต่อว่าช่วงหลังไม่ค่อยได้เห็นแล้ว เพราะรัฐบาลเข้มงวด กับการปราบปรามรถที่ถูกโจรกรรมมาจากชายแดนไทย แต่ไกด์ไม่วายกระซิบบอกว่า รถเก๋งที่เป็นที่นิยมในขณะนี้คือ ฮอนด้า
   กัมพูชาวันนี้กำลังเร่งสร้างประเทศเป็นการใหญ่ เราสังเกตเห็นอาคารที่สร้างไม่เสร็จ ถูกทิ้งร้างไว้มีมากพอสมควร ทราบมาว่าเป็นอาคารของนักลงทุน ด้านอสังหาริมทรัพย์ชาวไทย ที่เข้ามาลงทุนก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ในช่วงเศรษฐกิจของไทยยังดีอยู่ แต่พอเศรษฐกิจฟองสบู่แตก นักธุรกิจชาวไทยก็ยุติการก่อสร้าง ปล่อยอาคารทิ้งร้างไว้ สภาพไม่ต่างจากอาคารสูงนับร้อยแห่งในกรุงเทพมหานคร ที่ถูกปล่อยร้างเป็นอนุสรณ์ ประจานเอ็นพีแอลของธนาคาร ที่ปล่อยให้นักลงทุนชาวไทยกู้ อย่างไม่ลืมหูลืมตาในยุคฟองสบู่ 
     รถมินิบัสนำคณะของเรา มาพักที่โรงแรมโรยัลพนมเปญกัมพูชา โรงแรมหรูขนาดสี่ดาวที่มีหุ้นส่วนใหญ่ เป็นนักธุรกิจชาวไทย แต่มูลค่าการลงทุนของคนไทย ก็ยังห่างไกลจากนักลงทุนจากสิงคโปร์ ไต้หวัน และมาเลเซีย ที่แห่กันเข้ามาลงทุนทำธุรกิจต่าง ๆ ในกัมพูชา ไม่ว่าการตัดถนน โรงไฟฟ้า ไปจนถึงโรงงานผลิตน้ำดื่ม
   ตามถนนหนทางมีฝรั่ง และญี่ปุ่นให้เห็นจำนวนมาก แต่ดูลักษณะท่าทางไม่เหมือนพวกนักท่องเที่ยว เมื่อสอบถามจึงได้ความว่า เป็นเจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชน ที่เข้ามาทำงานในประเทศเขมร ภายหลังจากที่กองกำลังของสหประชาชาติ เข้ามายุติความขัดแย้งของสงครามกลางเมือง ในปี ๒๕๓๖ และสหประชาชาติได้ให้ความช่วยเหลือ โดยการส่งเงินผ่านองค์กรพัฒนาเอกชน ที่เข้ามาทำงาน เพราะสหประชาชาติไม่มั่นใจว่า การมอบเงินให้แก่รัฐบาลเขมรโดยตรง ความช่วยเหลือจะตกถึงมือของประชาชนหรือไม่
   องค์กรพัฒนาเอกชนที่เข้ามาทำงานในเขมร มีเกือบทุกประเภท ทั้งด้านสาธารณสุข สิทธิสตรี การคุมกำเนิด กู้กับระเบิด ฯลฯ เงินช่วยเหลือหลายพันล้านเหรียญ หลั่งไหลมาจากยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น จนมีคำพูดว่า เศรษฐกิจของเขมร ที่มีเงินหมุนเวียนอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ เป็นเงินช่วยเหลือขององค์กรพัฒนาเอกชนทั้งนั้น
(คลิกดูภาพใหญ่)    ตามย่านการค้า คนเขมรใช้โทรศัพท์มือถือกันเกร่อ ไม่ต่างจากประเทศไทยเลย ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา คนเขมรใช้โทรศัพท์มือถือกันมากขึ้น อาจเพราะบริการติดตั้งโทรศัพท์ตามบ้านพักอาศัย ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ได้ทั่วถึง แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้โทรศัพท์มือถือมีเกลื่อนเมืองก็คือ ค่าบริการค่อนข้างถูก ส่วนใหญ่เป็นระบบดิจิตัล จีเอสเอ็ม ซึ่งผู้ได้สัมปทานในประเทศกัมพูชารายใหญ่ เป็นบริษัทแคมจีเอสเอ็ม ของประเทศเดนมาร์ก และบริษัทแคมโบเดียสามารถคอมมูนิเคชั่น ของประเทศไทย ประมาณว่ามีคนเขมรใช้โทรศัพท์มือถือ ๑ แสนเครื่อง ต่อประชากรทั่วประเทศ ๑๒ ล้านคน 
   "เมื่อสามปีก่อนโทรศัพท์มือถือราคาเครื่องละ ๗๐๐ ดอลลาร์ (๒๘,๐๐๐ บาท) มาถึงปีนี้ราคาลดลงเหลือเครื่องละ ๑๐๐-๑๒๐ ดอลลาร์ (๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาท) ส่วนค่าโทรศัพท์จะเริ่มจากนาทีละ ๑๐-๒๐ เซนต์" บัน งวน ไกด์ประจำคณะให้คำอธิบาย
   แม้ราคาค่าโทรศัพท์อาจจะถูก พอ ๆ กับที่รายได้ของคนเขมรก็ต่ำติดอันดับโลก แต่ค่าครองชีพของคนกัมพูชา ไม่ได้ถูกตามไปด้วย 
     สกุลเงินของเขมรเรียกว่า เรียล อัตราแลกเปลี่ยน ๑ เรียล ต่อ ๑๐๐ บาท แต่การซื้อขายในพนมเปญ และเมืองท่องเที่ยวอย่างเสียมเรียบ มักขึ้นต้นด้วย ๑ ดอลลาร์หรือ ๔๐ บาทเสมอ คนเขมรไม่ค่อยชอบเงินเรียลของตัวเอง ชอบเงินดอลลาร์หรือบาทมากกว่า
   ข้าราชการเขมรได้เงินเดือนเดือนละ ๑๐ ดอลลาร์
   ศาสตราจารย์ได้เงินเดือนเดือนละ ๒๐-๒๕ ดอลลาร์
   วิศวกรและแพทย์ได้เงินเดือนเดือนละ ๑๕ ดอลลาร์
   ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดา ที่ข้าราชการจำนวนมาก จะเบียดบังเวลาราชการ หลบออกมาขับมอเตอร์ไซค์-- รถรับจ้างยอดนิยมในพนมเปญ ซึ่งทำรายได้ได้ถึงวันละ ๕ ดอลลาร์ 
   บัน งวน ก็เป็นข้าราชการประจำการท่องเที่ยวกัมพูชา มีรายได้เดือนละ ๑๐ ดอลลาร์เช่นกัน เขายอมรับว่าเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ มารับจ้างเป็นไกด์พาลูกทัวร์ชาวต่างชาติเที่ยว มีรายได้วันละ ๒๐ ดอลลาร์
   ด้วยเงินเดือนที่ต่ำ ข้าราชการในเขมรจึงจำเป็นต้องหารายได้พิเศษ เพื่อความอยู่รอด ส่วนท่านรัฐมนตรีและ สส. ผู้ทรงเกียรติ ลำพังเงินเดือนอย่างเดียว สูงถึงเดือนละ ๑,๘๐๐ ดอลลาร์
   รายได้ของข้าราชการการเมือง ที่ห่างไกลจากข้าราชการประจำ จึงมีส่วนทำให้คนเขมรสนใจการเมือง และชอบเล่นการเมืองไม่แพ้ประเทศเพื่อนบ้าน พากันตั้งพรรคการเมือง แย่งกันครองอำนาจ เพราะผลประโยชน์ล่อใจชัดเจน

(คลิกดูภาพใหญ่)
ลุงซเวย เคน ศิลปินกัมพูชาวัย ๖๐ ปี 

   "สวัสดีครับ"
   พนักงานต้อนรับชาวเขมร ในโรงแรมโรยัลพนมเปญกัมพูชา ทักทายคณะศิลปินด้วยภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำ ขณะที่ศิลปินไทยบางคน ทักทายกลับไปด้วยภาษาเขมร ที่มีความหมายเดียวกันว่า
   "ซัวซะเตย"
   คนเขมรที่ทำงานในเมือง ต้องขวนขวายเรียนภาษาต่างประเทศ คือ ภาษาอังกฤษ ไทย จีน ญี่ปุ่น คนเขมรรู้ดีว่าในเวลานี้ ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ ให้แก่ชาวเขมรมากที่สุด นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวเขมรนั้น คนไทยครองอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ อเมริกัน แคนาดา จีน และญี่ปุ่น
   สายตาคนเขมรที่มองคนไทย จึงไม่ต่างจากเวลาที่คนไทยมองพี่ยุ่นกระเป๋าหนัก มาเที่ยวหาความสำราญในบ้านเรา
   ปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางมากัมพูชาถึง ๓ แสนคน ส่วนใหญ่มุ่งไปชมนครวัด นครธม แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ
   หลังอิ่มหนำกับอาหารมื้อแรกในกรุงพนมเปญ จากฝีมือกุ๊กไทย คณะศิลปินก็เดินทางไปวัดพนม วัดเก่าแก่ประจำเมืองหลวง ชื่อของกรุงพนมเปญ ได้มาจากภูเขาแห่งนี้นี่เอง พนม แปลว่า ภูเขา ส่วนคำว่า เปญ ตามตำนานเล่าว่า หญิงสาวชื่อ เปญ พบพระพุทธรูปสี่องค์ลอยน้ำมาติดริมฝั่งแม่น้ำโขง จึงอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาไว้บนเนินเขาเตี้ย ๆ และสร้างวัดขึ้น เรียกว่าวัดพนม และกลายมาเป็นชื่อเมืองพนมเปญ มีความหมายว่า ภูเขาของเปญ 

(คลิกดูภาพใหญ่)
นักท่องเที่ยว กำลังรอดู พระอาทิตย์ตกดิน บนปราสาทพนมบาแค็ง
   ภายหลังจากที่กองทัพไทยตีนครวัด ศูนย์กลางของราชอาณาจักรขอมแตก ในราว พ.ศ. ๑๙๗๔ กษัตริย์เขมรได้อพยพผู้คน มาสร้างเมืองใหม่ที่พนมเปญ แต่ก็ไม่วายถูกเวียดนามและไทย ผลัดกันยึดครองประเทศ จนต้องย้ายเมืองหลวงหนีไปอยู่ที่อื่น จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๐๘ ทางไทยได้สถาปนาสมเด็จเจ้านโรดมขึ้นเป็นกษัตริย์เขมร พระองค์ได้สร้างพระราชวังใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๐๙ โดยจำลองแบบไปจากพระบรมมหาราชวังของไทย ก่อนที่จะถูกกองทัพฝรั่งเศสเข้ายึดครองประเทศ ผนวกดินแดนเป็นส่วนหนึ่ง ของอาณานิคมอินโดจีนในปี ๒๔๒๗ 
   หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขมรได้รับเอกราช มีเจ้าสีหนุเป็นกษัตริย์ แต่พอปี ๒๕๑๓ สหรัฐอเมริกาก็หนุนหลัง ให้นายพลลอนนอลทำรัฐประหาร เพราะสีหนุวางตัวเป็นกลาง ไม่ยอมสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในการโจมตีเวียดกง ต่อมาเขมรแดงเข้ายึดครองประเทศในปี ๒๕๑๘ แต่เกิดความขัดแย้งกับเวียดนาม จนเกิดสงครามขึ้น ทหารเวียดนามบุกตีพนมเปญ ขับไล่เขมรแดงเข้าป่าอีกครั้งในปี ๒๕๒๒ 
     หลังจากนั้นเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเขมรแดง เขมรเสรี และรัฐบาลหุ่นเชิดของเวียดนาม จนในปี ๒๕๓๒ เวียดนามยอมถอนทหารออกไป สหประชาชาติส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้ามา และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ผลปรากฏว่า พรรคฟุนซินเปกของเจ้านโรดม รณฤทธิ์ ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง พรรคประชาชนกัมพูชาของนายฮุนเซน ได้คะแนนเป็นอันดับสอง ส่งผลให้เขมรในเวลานั้น มีนายกรัฐมนตรีสองคน 
   ข้างฝ่ายเขมรแดงที่ปฏิเสธจะวางอาวุธเข้าร่วมการเลือกตั้ง ก็เริ่มแตกแยกกัน จนในที่สุดฝ่ายหนึ่ง ได้นำพลพรรคเข้าร่วมสวามิภักดิ์ กับฝ่ายนายฮุน เซน และในเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๐ นายฮุน เซนได้ทำการยึดอำนาจจากฝ่ายรณฤทธิ์ 
   ทุกวันนี้ ฮุน เซน เป็นบุคคลที่มีอำนาจมากที่สุด จนชาวต่างชาติให้สมญานามว่า "บุรุษเหล็ก" หรือ "ลีกวนยูแห่งกัมพูชา" ส่วนนายรณฤทธิ์มีแนวโน้มว่า ในอนาคตจะขึ้นเป็นกษัตริย์สืบต่อจาก เจ้าสีหนุพระราชบิดา ซึ่งอาจจะสละราชสมบัติ ส่วนเขมรแดงเกือบทั้งหมดได้วางอาวุธ ปิดฉากสงครามกลางเมืองที่ยาวนานมานับศตวรรษ
   แม้จะผ่านสงครามมาเนิ่นนาน กรุงพนมเปญที่มีพื้นที่เพียง ๒๕,๐๐๐ กว่าไร่ ยังคงเป็นเมืองหลวงที่มีเสน่ห์งดงาม สมกับที่เคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่สวย และหรูหราที่สุดในอินโดจีน บ้านเรือนสไตล์โคโลเนียล สมัยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส มีให้เห็นอยู่ตามรายทาง แม้ว่าหลายแห่งจะทรุดโทรมไปตามกาลเวลา บ้างถูกระเบิดและกระสุน แต่ก็เริ่มได้รับการปรับปรุงซ่อมแซม อาคารส่วนใหญ่ทาสีเหลืองสดใส ทำให้พนมเปญมีสีสันแบบบ้านเมืองรอบ ๆ ทะเลเมดิเตอร์ริเนียน 
(คลิกดูภาพใหญ่)
สโมสรผู้สืบข่าวต่างประเทศ ริมแม่น้ำโตนเลสาบ
   สีเหลืองดูจะเป็นสีหลักของกรุงพนมเปญ ทั้งสีของอาคาร วัด รวมไปถึงพระบรมมหาราชวัง
   กรุงพนมเปญตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มีแม่น้ำสามสายมาบรรจบกัน คือแม่น้ำโขง แม่น้ำโตนเลสาบ และแม่น้ำบาสัก ที่ริมแม่น้ำโตนเลสาบ มีเรือโดยสารขนาดใหญ่ชื่อ นาคา เป็นบ่อนกาสิโนลอยน้ำกลางกรุงพนมเปญ แว่วมาว่าเจ้าของบ่อน เป็นนักลงทุนจากมาเลเซีย
   อีกฟากหนึ่งของริมแม่น้ำโตนเลสาบ เป็นตึกเก่าสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส ข้างล่างทำเป็นร้านขายของ ชั้นบนเป็นที่พักอาศัยเหมือนตึกแถวบ้านเรา ตึกเก่าหลายแห่ง ได้รับการปรับปรุงให้สวยงาม เป็นที่ทำการของบริษัทต่างชาติที่มาประกอบธุรกิจ  เราเดินขึ้นไปบนตึกเก่าสีเหลืองเข้มหลังหนึ่ง ซึ่งชั้นบนเป็นสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เราสั่งเบียร์อังกอร์ เบียร์ประจำชาติเขมรมาดื่มแก้กระหาย ด้านหนึ่งของห้องเป็นโต๊ะสนุกเกอร์ อีกด้านหนึ่งเป็นโต๊ะนั่งสิบกว่าโต๊ะ มีผู้สื่อข่าวหัวแดงหลายคน นั่งคุยกันอย่างออกรส เคาน์เตอร์บาร์อยู่อีกมุมหนึ่ง มองผ่านหน้าต่างที่เปิดโล่งจะเห็นแม่น้ำอยู่ไม่ไกลนัก ศิลปินไทยบางคนชมทิวทัศน์นอกหน้าต่าง เตรียมหามุมวาดรูป เช่นเดียวกับช่างภาพฝรั่งคนหนึ่ง กำลังตั้งกล้องถ่ายภาพชีวิตมุมเดียวกับศิลปินไทย ต่างกันที่คนหนึ่งใช้ฝีแปรงและสีน้ำ อีกคนหนึ่งใช้ฟิล์มและกล้อง เป็นเครื่องมือถ่ายทอดความรู้สึกของตน ที่มีต่อชาวเมืองเขมร 
 (คลิกดูภาพใหญ่)
ภาพปั้น ของสมเด็จพระเจ้านโรดม ผู้สถาปนากรุงพนมเปญ เป็นเมืองหลวงของกัมพูชา
   ที่ผนังห้องซึ่งทาสีเหลืองเข้ม มีภาพถ่ายของช่างภาพฝรั่ง ที่บันทึกเหตุการณ์วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๑๘ วันที่เขมรแดงบุกกรุงพนมเปญ ติดอยู่หลายสิบรูป 
   ๒๕ ปีผ่านไป หลายคนยังคงรำลึกเหตุการณ์วันนั้นได้ดี
   "ตอนนั้นผมเป็นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ วันที่เขมรแดงเข้าพนมเปญผมดีใจ เพราะเกลียดเผด็จการนายพลลอนนอลอยู่แล้ว คิดว่าเขมรแดงจะปราบคอร์รัปชัน และสร้างชาติ แต่พอวันรุ่งขึ้น เขมรแดงก็ประกาศให้ทุกคนออกจากเมืองหลวง โดยเฉพาะพวกข้าราชการ อาจารย์ นักศึกษา ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกทุนนิยม ต้องถูกอบรมเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ผมเดินทางออกจากพนมเปญ ผ่านบ้านเกิดของตัวเอง ผมพบว่าคนที่เป็นหัวหน้าคนที่คุมอำนาจ คือคนที่ไม่รู้หนังสือ หัวหน้าบางคนเคยเป็นลูกจ้าง เขมรแดงสอนให้คนระดับล่าง เกลียดชังคนระดับบน หากเขาจับได้ว่าผมเป็นนักศึกษาคงถูกฆ่าตายไปแล้ว แต่ผมหลอกว่าเป็นกรรมกร จึงถูกส่งไปทำงานในชนบท ทำงานได้หกเดือน พวกเขมรแดงก็จับไปทรมานในวัด ซึ่งเป็นคุกขังนักโทษ แต่เรียกเสียไพเราะว่า ศูนย์ศึกษาของคนรุ่นใหม่"
   บัน งวน เลิกขากางเกงให้เราดูรอยแผลจากโซ่ตรวนที่ข้อเท้า เป็นแผลที่จะฝังใจเขาไปตลอดชีวิต
   เขาพูดติดตลกว่า คนเขมรรุ่นอายุ ๓๐-๔๐ ปีขึ้นไปทุกคน ดูภายนอกอาจจะไม่มีอะไรผิดปรกติ แต่ให้ลองแก้ผ้า จะเห็นบาดแผลจากสงครามไม่ที่ใดก็ที่หนึ่งเสมอ
     ทุกวันนี้ตามสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวไปเยือน ไม่ว่าจะเป็นเมืองเสียมเรียบ หรือกรุงพนมเปญ จะมีขอทานขาขาดแขนขาดอยู่มากมาย คาดว่าทั่วประเทศมีอยู่ราว ๓ หมื่นคน
   คนเหล่านี้บ้างเป็นทหารผ่านศึก บ้างเป็นชาวบ้านที่ถูกลูกหลงจากสงครามกลางเมือง จนกลายเป็นคนพิการ แต่ความพิการทางกาย ยังไม่น่าห่วงเท่าความพิการทางใจ รัฐบาลยอมรับว่า ปัจจุบันมีคนเขมรจำนวนมากเป็นบ้าหรือป่วยทางจิต อันเป็นผลจากสงครามกลางเมือง คนเหล่านี้ไม่มีทางเยียวยารักษาได้ จึงถูกปล่อยให้ใช้ชีวิตอยู่ตามท้องถนน อย่างน่าสมเพชจนกว่าชีวิตจะหาไม่ 

(คลิกดูภาพใหญ่)
แผงหนังสือในเขมร นิตยสารประเภทดารา ได้รับความนิยมสูงสุด

   วันรุ่งขึ้น มีการประชุมศิลปินทั้งสองฝ่ายรวมทั้งหมด ๔๐ คน ณ ศาลาว่าการกรุงพนมเปญ โดยมีนายเจีย โสภรา ผู้ว่าราชการกรุงพนมเปญเป็นประธาน ที่ประชุมได้ตกลงกันว่า ระยะเวลาสามสี่วัน ที่คณะศิลปินจะเดินทางไปวาดภาพที่นครวัด แต่ละคนจะต้องวาดรูปทั้งหมดสี่รูป คือขนาด ๖๐ x ๘๐ เซนติเมตรสองรูป ขนาด ๘๐ x ๑๐๐ เซนติเมตรหนึ่งรูป และทุกคนจะสร้างงานศิลปะร่วมกัน โดยการวาดภาพขนาด ๕๐ x ๕๐ คนละรูป เพื่อประกอบกันเป็นภาพขนาดใหญ่ ซึ่งภาพวาดทั้งหมดจะนำไปจัดแสดงที่ประเทศไทย และประเทศกัมพูชา ในเดือนกรกฎาคม และธันวาคมที่จะถึงนี้ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทั้งสองประเทศ หันมาสนใจงานศิลปะ โดยเฉพาะการจัดงาน ณ กรุงพนมเปญในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ ถือเป็นงานใหญ่ระดับชาติทีเดียว
   "นอกเหนือจากการส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรมและศิลปะ ระหว่างสองประเทศแล้ว เราคาดหวังว่าจะได้เงินจากการขายภาพวาด ประมาณ ๒ ล้านบาท เพื่อเป็นทุนในการสร้างอาคารเรียน ให้แก่โรงเรียนประถมศึกษาในกรุงพนมเปญ ซึ่งยังขาดแคลนอยู่อีกมาก" สุรพจน์ ศรีเมืองบูรณ์ นักธุรกิจและผู้ก่อตั้งมูลนิธิศิลปินลุ่มน้ำโขงกล่าว
   ศิลปินเขมรที่ได้รับคัดเลือกมาร่วมงานครั้งนี้ ส่วนหนึ่งรอดตายมาจากสงคราม เป็ก สง วัย ๕๓ ปี อาจารย์สอนภาพวาดในมหาวิทยาลัยศิลปากรแห่งกัมพูชา เล่าให้ฟังว่า ฝีมือการวาดภาพเหมือนของเขา ทำให้เขารอดตายมาได้ เขาเล่าว่าเมื่อสำเร็จการศึกษา ได้รับราชการอยู่ในกรมศิลปากร พอเขมรแดงยึดประเทศในปี ๒๕๑๘ เขาโดนจับติดคุกอยู่นานสามเดือน ตอนแรกนึกว่าตัวเองคงจะถูกฆ่าตายแน่แล้ว แต่สุดท้ายเขมรแดงก็ไว้ชีวิต เพราะเขาวาดรูปเก่ง 

(คลิกดูภาพใหญ่)
บ้านสไตล์โคโลเนียล สร้างตั้งแต่สมัยังเป็น อาณานิคม ของฝรั่งเศษ
   "พวกเขมรแดงไม่เชื่อว่าผมเป็นจิตรกร ต้องแสดงฝีมือวาดรูปให้ดู พวกมันเห็นแล้วชอบใจ ผมเลยทำหน้าที่วาดรูปให้พวกเขมรแดง จึงรอดตายมาได้" เป็ก สง เล่าพลางชี้ให้ดูแผลเป็น จากโซ่ตรวนบริเวณข้อเท้าทั้งสองข้าง
   วันต่อมาศิลปินไทยและเขมร ไปลงเรือสปีดโบตที่ติดเครื่องปรับอากาศทั้งลำเรือ หน้าต่างเป็นกระจกแบบรถทัวร์ที่เปิดไม่ได้ หากเกิดอุบัติเหตุเรือล่ม คงได้เกิดโศกนาฏกรรมหมู่แน่ เพราะเรือมีประตูเข้าออกประตูเดียวที่ข้างคนขับ พอเรือแล่นออกจากฝั่งได้ไม่นาน เราขอสละที่นั่งขึ้นมาอยู่บนดาดฟ้าเรือ เพราะทนกลิ่นควันท่อไอเสีย ที่เล็ดลอดเข้ามาในห้องปรับอากาศไม่ไหว อากาศข้างบนสดชื่นกว่า แต่ก็ต้องทนแดดอันร้อนแรง ที่เผาผิวตลอดเวลาห้าชั่วโมง ที่แล่นเรือผ่านทะเลสาบเขมรหรือโตนเลสาบ โดยมีจุดมุ่งหมายคือเมืองเสียมเรียบ 
   ฝรั่งนักสำรวจสมัยก่อนบันทึกไว้ว่า โตนเลสาบมีรูปร่างเหมือนไวโอลิน อยู่บนที่ราบภาคกลางของเขมร เป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ที่สุดของชาวเขมร ในฤดูฝนโตนเลสาบมีความยาว ๑๖๐ กิโลเมตร และกว้าง ๓๖ กิโลเมตร พื้นที่จะกว้างถึง ๖ ล้านกว่าไร่ ลึก ๑๒ เมตร นานเป็นเวลาหกเดือน และลดลงเหลือ ๒ ล้านไร่ ลึกเพียง ๑ เมตรในหน้าแล้ง ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวประมงจะพากันออกมาจับปลา และทำปลาย่างปลากรอบกันกลางทะเลสาบทีเดียว ปลาน้ำจืดจำนวนมากที่จับได้ จะถูกส่งมาขายเมืองไทย ในรูปของปลากรอบที่มีชื่อเสียงมาช้านาน ระยะหลังมีพ่อค้าบางรายแช่ปลาในฟอร์มาลีน แล้วส่งมาขายเป็นปลาสดที่ตลาดบ้านเราด้วย 
(คลิกดูภาพใหญ่)
อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข กำลังวาดภาพสีน้ำ ยามเย็นของ ปราสาทพนมบาแค็ง
   ช่วงที่เดินทางข้ามทะเลสาบเป็นหน้าฝนพอดี บางครั้งเราจึงมองไม่เห็นฝั่ง ราวกับเรือกำลังแล่นอยู่กลางทะเล เมื่อเรือแล่นข้ามทะเลสาบเข้ามายังลำน้ำสายหนึ่ง ก็เห็นเรือและเรือแพจำนวนมาก จอดอยู่สองฟากฝั่ง ยิ่งเข้าไปใกล้ก็สังเกตได้ว่า มนุษย์เรือเหล่านี้ไม่ใช่ชาวเขมร แต่เป็นชาวเวียดนามที่อพยพมาทำมาหากินในเขมรนานแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่นายเฮง สัมริน และนายฮุน เซน แปรพักตร์จากฝ่ายเขมรแดง ไปร่วมมือกับกองทัพเวียดนามบุก โจมตีฝ่ายเขมรแดงจนพ่ายแพ้ หนีออกจากกรุงพนมเปญในต้นปี ๒๕๒๒ ทหารเวียดนามถือโอกาสยึดครองประเทศเขมรต่อมาอีก ๑๐ ปี ชาวเวียดนามจำนวนมาก จึงหลั่งไหลเข้ามาอาศัยแผ่นดินเขมร คาดว่าปัจจุบันมีคนเวียดนามอยู่ถึง ๓ ล้านคน
   ชาวเวียดนามแถบนี้มีอาชีพจับปลาเป็นหลัก ท้องเรือบางลำถูกดัดแปลงเป็นกระชังเลี้ยงปลา เรือบางลำถูกดัดแปลงเป็นโรงเรียนสอนเด็กเล็ก ดูเหมือนชาวเขมรจะไม่ค่อยชอบคนเวียดนามมากนัก เพราะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา นอกจากการคนเวียดนามจะทำร้ายเข่นฆ่าชาวเขมรอย่างโหดร้าย และเข้ามาแย่งอาชีพแล้ว ทหารเวียดนามยังเข้ามาปล้นทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ แร่ธาตุ ไปจากเขมรมากมาย 
     แต่ดูสภาพชาวประมงเวียดนามบนเรือแพพวกนี้แล้ว ก็มีสภาพน่าเวทนา ไม่ต่างไปจากชาวเขมรเท่าใดนัก ประชาชนระดับล่างของทุกชาติ มักจะถูกผู้มีอำนาจในสังคม ทำให้ยากจนโดยเท่าเทียมกัน
   ศิลปินไทยบางคนหยิบกระดาษมาร่างภาพชีวิตชาวแพอย่างคร่าว ๆ ขณะเรือกำลังแล่นผ่านไป แต่ศิลปินเขมรหลายคน คว้ากล้องถ่ายรูปขึ้นมาบันทึกภาพแทนการร่างด้วยดินสอ
   เราสงสัยว่าเหตุใดศิลปินเขมรหลายคนจึงใช้กล้องแทนพู่กัน ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ อาจารย์วิโชค มุกดามณี เฉลยเรื่องนี้ให้ฟังว่า 
   "พอกลับบ้านพวกเขาจะเอาภาพถ่ายเหล่านี้เป็นแบบ วาดให้เหมือนจริง หรือที่เราเรียกว่าแนวเรียลลิสติก ทุกวันนี้ศิลปินเขมรส่วนใหญ่ จะวาดภาพนี้เป็นหลัก อย่างที่เห็นขายกันในแกลอรี เพราะเป็นแบบเดียวที่ลูกค้าสนใจซื้อ หากพวกเขาสร้างสรรค์งานศิลปะแบบอื่น ๆ คือวาดออกมาจากความรู้สึกของตัวเอง เป็นแบบศิลปะร่วมสมัย หรือเขียนเป็นแบบโพสต์โมเดิร์น หรือ โมเดิร์นอาร์ต อาจจะไม่มีคนซื้อรูป ต่างจากบ้านเราที่มีคนซื้องานศิลปะหลายกลุ่ม ดังนั้นศิลปะในเขมร จึงยังไม่ก้าวหน้ามากนัก เพราะศิลปินเองก็ต้องปากกัดตีนถีบหาเลี้ยงตัวเองให้ได้ มัวแต่สร้างศิลปะจริง ๆ อาจจะอดตายได้ ดังนั้นเราจึงเห็นศิลปินเขมร มักรับจ้างวาดภาพเหมือนเป็นส่วนใหญ่ แต่อันที่จริงเขมรก็มีศิลปินระดับโลก บางคนไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา มีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนกัน"
 (คลิกดูภาพใหญ่)
ส่วนหนึ่งของภาพเขียน ขนาด ๕๐x๕๐ ซม. ที่นำมาต่อเรียงกัน เป็นผลงานสร้างสรรค์ ร่วมกันระหว่าง ศิลปินไทย- -กัมพูชา
   จึงไม่น่าแปลกใจที่พบว่า นักศึกษาศิลปะในกรุงพนมเปญ เมื่ออยู่ชั้นปีที่ ๑-๒ ซึ่งเพิ่งเริ่มเรียนศิลปะ จะมีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด แต่พอขึ้นปีที่ ๓-๔ นักศึกษาเกือบทุกคน จะใจจดใจจ่ออยู่กับการรับจ้างวาดภาพเหมือน ขายตามแกลอรี ไม่ต่างจากอาจารย์สอนศิลปะ ที่ใช้ชั้นเรียนเป็นสตูดิโอรับจ้างวาดรูป ดังนั้นการสร้างสรรค์งานศิลปะในกัมพูชา จึงก้าวไปไม่ถึงไหน ตราบใดที่ปากท้องยังไม่อิ่ม แม้ว่าอาจารย์หลายคนจะได้ทุนไปเรียนต่อศิลปะ ที่ประเทศรัสเซียและฮังการี แต่พอกลับมาแล้ว ก็ยังต้องวาดภาพขายในแนวเดิมต่อไป
   การมาลงเรือลำเดียวกัน ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันพักหนึ่ง เป็นสิ่งที่ผู้จัดคาดหวังว่า ศิลปินทั้งสองประเทศจะได้มีโอกาสถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกัน
   เรากินอาหารมื้อกลางวันบนดาดฟ้าเรือ พอกินเสร็จ บรรดาคนเขมรไม่ว่าจะเป็นลูกเรือ ศิลปิน เจ้าหน้าที่ของรัฐ ต่างโยนขยะทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นกระป๋องเครื่องดื่ม ถุง กล่องโฟม กล่องกระดาษขนาดใหญ่ ลงทะเลสาบจนเกลี้ยงลำเรือ จนทำให้นักทิ้งขยะมือสมัครเล่นจากเมืองไทย มองหน้ากันเลิ่กลั่ก
   พอเรากระซิบถาม บัน งวน จึงได้รับคำตอบว่า
   "คุณต้องเข้าใจคนของเรา พวกเขาอยู่กับสงคราม และความอดอยาก ไม่มีอะไรจะกินมาตลอดชีวิต การห้ามทิ้งขยะ การรักษาสิ่งแวดล้อม ยังห่างไกลจากชีวิตของคนเขมรมากนัก"

  อ่านต่อคลิกที่นี้อ่านต่อคลิกที่นี้