สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๗ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๔ "หุ่นจีนไหหลำในเมืองไทย"

กลับไปหน้า สารบัญ ยกเลิกพระราชบัญญัติสุรา ๒๔๙๓ ทางออกของปัญหา "เหล้าพื้นบ้าน" ?
คั ด ค้ า น

คม ขาวสะอาด นักวิชาการภาษี ๙  กรมสรรพสามิต
คม ขาวสะอาด 
นักวิชาการภาษี ๙ กรมสรรพสามิต
  • ไม่เชื่อว่าการทำสุรา เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน และไม่คิดว่าเป็นทางออก ของเกษตรกร

  • ถ้าปล่อยให้มีการผลิต และจำหน่ายเหล้าโดยเสรี คนจะดื่มเหล้ามากขึ้น เป็นต้นเหตุ ของอาชญากรรม

  • รัฐไม่สามารถ ควบคุมคุณภาพเหล้า ของผู้ผลิตรายย่อยได้ ซึ่งจะยิ่งเป็นอันตราย ต่อผู้บริโภค

  • รัฐจะสูญเสียรายได้ จากการเก็บภาษี 

     "ตั้งแต่จุลศักราช ๑๑๔๘ (พ.ศ. ๒๓๒๙) ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ก็มีกฎหมายห้ามประชาชนทำสุราออกมาแล้ว และใช้มาจนถึงปี ๒๔๒๙ ก็เปลี่ยนมาเป็นพระราชบัญญัติภาษีชั้นใน โดยยังคงใช้หลักการเดิม คือมีแต่นายอากรเท่านั้น ที่มีสิทธิ์ผลิตสุรา ประชาชนผู้ใดกระทำถือว่าผิดกฎหมาย นี่เป็นหลักการมานานแล้ว จากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดต่าง ๆ บ้าง จนมายกเลิกพระราชบัญญัติภาษีชั้นในเมื่อปี ๒๔๙๓ เปลี่ยนเป็นพระราชบัญญัติสุรา ๒๔๙๓ ซึ่งเอกชนก็ยังไม่มีสิทธิ์ทำสุรา แต่มีข้อยกเว้นให้แก่บางพื้นที่ที่ทุรกันดาร การคมนาคมเข้าไปไม่ถึง เช่น ภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานบางท้องที่ ซึ่งประชาชนไม่สามารถหาซื้อเหล้าที่เสียภาษี ถูกต้องตามกฎหมายมาบริโภคได้ จึงอนุญาตให้ประชาชนในท้องที่เหล่านี้ต้มกลั่นสุราบริโภคเองได้ โดยเก็บค่าธรรมเนียมสุราปีละ ๒๐ บาท 
     "มาจนถึงปี ๒๕๓๐ การคมนาคมขนส่งในประเทศไทยสะดวกขึ้น สุราที่เสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย สามารถเข้าไปวางจำหน่ายได้ในทุกท้องที่ จึงได้ยกเลิกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต ให้ทำสุราบริโภคเองทั้งหมด จากนั้นเป็นต้นมา ก็เป็นอันว่าใครที่ต้มกลั่นสุราเอง ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมายทั้งสิ้น
     "เรื่องที่จะให้ครัวเรือนทำเหล้าขึ้นมาบริโภค และขายกันเอง ที่ชาวบ้านกำลังเรียกร้องกันอยู่ในขณะนี้ โดยส่วนตัวแล้วผมไม่เห็นด้วย เพราะเหล้าเป็นสินค้าที่เป็นพิษต่อร่างกายอย่างยิ่ง ขนาดมีการควบคุมการทำเหล้าอย่างเข้มงวดขนาดนี้ ก็ยังมีประชาชนจำนวนมาก ที่ล้มป่วยด้วยโรคจากการดื่มสุรา มีอุบัติเหตุจากการดื่มสุรามากมาย ถ้าเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถทำเหล้าขึ้นบริโภคเอง ผมเชื่อแน่ว่า จะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าเดิม เพราะประชาชนจะดื่มเหล้ามากขึ้น อุบัติเหตุและอาชญากรรม ก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น และถ้าใคร ๆ ก็ผลิตเหล้าได้ การโฆษณาและการส่งเสริมการขายก็จะเพิ่มขึ้น อัตราการดื่มสุราก็ย่อมมากขึ้นตามมา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเยาวชนของชาติ ในข้อนี้รัฐบาลมีความเป็นห่วงมาก
     "เหตุผลต่อมาเป็นเหตุผลด้านรายได้ ถ้าเราปล่อยให้ประชาชนบริโภคเหล้าที่ทำขึ้นเองได้ คนก็ไม่ไปซื้อเหล้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย ค่าภาษีที่เคยเก็บได้ปีละ ๓ หมื่นล้านบาทก็จะจัดเก็บไม่ได้อีกต่อไป ถ้าไม่มีการผูกขาด ก็จะไม่มีการประมูล และไม่มีการประกันรายได้ขั้นต่ำให้แก่รัฐ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาต่อการกำหนดงบประมาณรายจ่าย 
     "เนื่องจากเราจัดเก็บภาษีสุราในอัตราสูง จึงทำให้มีการลักลอบผลิตเหล้าเถื่อน ออกมาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือตอนบน และภาคอีสาน ทำให้เราต้องเสียงบประมาณ ในการจับกุมปราบปรามจำนวนมาก ซึ่งแต่เดิมงบประมาณส่วนหนึ่ง ผู้ประมูลได้สัมปทานก็เข้ามาช่วยเหลือ ทั้งค่าใช้จ่ายเรื่องรถรา ค่าน้ำมันต่าง ๆ เพราะฉะนั้นต่อไปถ้าไม่มีผู้ผูกขาด เราก็อาจจะมีภาระเรื่องค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น 
     "นอกจากนี้หากปล่อยเสรีมากเกินไป จำนวนผู้ผลิตย่อมเพิ่มมากขึ้น และอาจมีการแข่งขันสูงมากจนเกิดสภาพสุราล้นตลาด ผู้ผลิตบางรายที่เพิ่งลงทุนสร้างโรงงานไป อาจต้องขาดทุนจนเลิกกิจการ เกิดการสูญเปล่าด้านการลงทุน คนงานในโรงงานก็ต้องพลอยตกงานตามไปด้วย 
     "ถ้าชาวบ้านทำเองรัฐจะไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ เพราะแม้แต่โรงงานสุราที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง มีการควบคุณภาพ โดยกำหนดให้ส่งสุราที่ผลิตแล้วมาให้กรมสรรพสามิตตรวจก่อน ที่จะนำออกขาย เราก็ยังไม่สามารถควบคุมดูแลได้ทั่วถึงเลย เช่นเคยตรวจพบว่า สุราของผู้ผลิตบางราย มีสารอันตรายเกินกว่าที่กำหนด ถ้าให้ประชาชนทำเองโดยเสรี เราจะยิ่งไม่สามารถเข้าไปควบคุมคุณภาพได้เลย  คุณภาพของเหล้าจะต่ำมาก 
     "ส่วนเรื่องการจัดเก็บภาษี ต้องมีปัญหาแน่นอน เพราะสุราที่ชาวบ้านทำตอนนี้เขาใช้ถัง ๒๐๐ ลิตรเป็นถังต้มกลั่น มีกระทะ ๑ ใบ ไม่จำเป็นต้องวางเป็นหลักเป็นแหล่ง อาจจะปลูกเพิงไว้หรือตั้งไว้บนรถบรรทุก รถปิกอัป ขับตระเวนไปต้มตรงไหนก็ได้ เป็นปัญหาอย่างมากในการติดตามดูแล นอกจากนี้ ขณะที่คนทั่วไป อย่างเช่นคนในเมืองที่ผลิตเหล้าเองไม่ได้ ต้องซื้อเหล้ากิน ต้องเสียภาษีให้รัฐ แต่คนอีกกลุ่มกลับไม่ยอมเสียภาษีโดยหันไปผลิตเหล้าบริโภคเอง อย่างนี้มันไม่ถูก เขาไม่ควรจะมีสิทธิเสรีภาพ หรือมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น 
     "ผมไม่เชื่อว่าการต้มเหล้าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน จริง ๆ แล้วคนทำกันได้ทั้งโลก แค่เอาน้ำตาลมาวางทิ้งไว้ มันก็แปรสภาพเป็นน้ำตาลเมาได้เองแล้ว เพราะฉะนั้นผมไม่ถือว่าการทำสุราเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่ถือว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างที่บอกกัน
     "จะเห็นได้ว่าการเรียกร้องเหล่านี้ เกิดเฉพาะในภาคเหนือตอนบน กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่คนภาคใต้ ภาคกลาง ไม่ได้เรียกร้องด้วย อาจเป็นเพราะในสมัยโบราณทางภาคกลาง และภาคใต้ ไม่เคยมีการอนุญาตให้ทำสุราบริโภคเองมาก่อน ขณะที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเขตที่ได้รับการยกเว้นให้ผลิตเองได้ เพราะเป็นพื้นที่ทุรกันดาร ไม่สามารถนำเหล้าที่ผลิตโดยรัฐเข้าไปจำหน่าย จึงสามารถทำโดยไม่มีนายอากรผูกขาด และทำกันเองเรื่อยมาจนกระทั่งมีกฎหมายห้าม เพราะฉะนั้นความคิดพวกนี้มันสั่งสมอยู่ คิดกันว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน เป็นสิ่งที่รับมาจากปู่ย่าตายาย ซึ่งความจริงไม่เกี่ยวกันเลย 
     "ที่บอกว่าเหล้าพื้นบ้าน จะเป็นทางรอดของเกษตรกรนั้น ทำไมเราถึงไม่คิดว่าผลิตผลทางการเกษตรนั้น สามารถนำไปแปรรูปเป็นอย่างอื่นได้อีกหลายรูปแบบ ผลไม้ก็นำไปทำเป็นน้ำผลไม้ได้ โดยไม่ต้องนำมาทำเป็นเหล้า ข้าวก็ไปทำอย่างอื่นได้ ไม่จำเป็นต้องนำมาทำเป็นเหล้า ผมไม่เข้าใจว่าทำไมทุกคนจึงมองอยู่แค่เรื่องเหล้าเท่านั้น การพุ่งเป้ามาที่เหล้า ผมมองเห็นเหตุผลอยู่อย่างเดียวเท่านั้นคือ การผลิตและจำหน่ายเหล้า เป็นการค้าขายที่ทำกำไรได้มาก ในขณะที่เหล้าขาวของรัฐบาลขายขวดละ ๕๐ บาท แต่เหล้าต้มกลั่นเองขายขวดละ ๑๐ บาท เขาก็มีกำไรแล้ว เพราะต้นทุนต่ำ 
     "อย่างไรก็ตามถ้าจะพูดถึงความเป็นธรรมแล้ว ผมก็คิดว่าพระราชบัญญัติ ที่ใช้อยู่ปัจจุบันนี้ยังไม่เป็นธรรมนัก หลาย ๆ ฝ่ายบอกว่าพระราชบัญญัติสุรา ๒๔๙๓ ที่ออกโดยรัฐสภาขณะนั้น เป็นกฎหมายล้าสมัย ควรจะต้องยกเลิกเสีย ผมมองว่าหากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็สามารถทำได้ โดยยึดหลักให้การผลิตเหล้า อยู่ในกรอบสามข้อ คือ หนึ่ง จะต้องเป็นโรงงานสุรา ที่ไม่สร้างความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อม สอง สุราที่ผลิตต้องมีคุณภาพมาตรฐาน และสาม ต้องมีการเสียภาษีสุรา ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้ายึดตามหลักการนี้แล้ว ก็อาจผ่อนปรนโดยลดขนาดโรงงานให้เล็กลงมา ลดขนาดพื้นที่ที่ใช้ในการตั้งโรงงาน ซึ่งนี่ก็น่าจะช่วยให้การผลิตเหล้า เป็นไปได้โดยเสรีมากขึ้น" 
  อ่านฝ่ายสนับสนุน คลิกที่นี่
กมล กมลตระกูล
ผู้อำนวยการโครงการขององค์กร Forum-Asia

click hereอ่าน (ฝ่ายสนับสนุน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !


แ ส ด ง ค ว า ม คิ ด เ ห็ น เ พิ่ ม เ ติ ม

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม: *
*