สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๓ เดือน มกราคม ๒๕๔๕ "Alien Species การรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น"

กลับไปหน้า สารบัญ จัดระเบียบสังคม : ยอมหักไม่ยอมงอ ทางออกปัญหาเยาวชนและคนกลางคืน
คั ด ค้ า น

สุรัตน์ โหราชัยกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุรัตน์ โหราชัยกุล
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • การจัดระเบียบสังคม มีจุดมุ่งหมายอย่างไรกันแน่ และจะกระทบต่อเสรีภาพ ของประชาชน มากน้อยแค่ไหน 

  • คนหลายอาชีพ ได้รับความเดือดร้อน

  • มาตรการจัดระเบียบสังคม ถือเป็นการบั่นทอนวัฒนธรรม ทางความคิดของเยาวชน

  • การแก้ปัญหา ต้องคิดถึง สภาพความเป็นจริง มีทางออก ให้แก่คนที่ได้รับผลกระทบ เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย ให้ชัดเจน พิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ

     "การจัดระเบียบสังคมของท่านปุระชัย เริ่มจากเป้าหมายที่ต้องการจะแก้ไขปัญหายาเสพย์ติด แต่ขณะนี้ได้ขยายไปยังปัญหาเยาวชน และทำ ๆ ไปก็ลามไปถึงกิจกรรมของผู้ใหญ่อีกด้วย จึงเกิดคำถามว่า การจัดระเบียบสังคมที่ทำอยู่ในขณะนี้ มีจุดมุ่งหมายอย่างไรกันแน่ และในระบอบเสรีประชาธิปไตย คงจะมีคำถามตามมาว่า การจัดระเบียบสังคม มีผลกระทบต่อเสรีภาพของประชาชนมากน้อยแค่ไหน และเราจะหาจุดสมดุลระหว่างการมีเสรีภาพ กับการรักษาความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของสังคมอย่างไร นอกจากนี้การมุ่งแก้ไขปัญหาแต่เพียงด้านเดียว อาจทำให้เกิดผลกระทบและปัญหาตามมาอีกมาก
     "กฎหมายมีความสำคัญ แต่ใช่ว่าจะสามารถแก้ไขทุกปัญหาได้ การจัดระเบียบสังคมของท่านปุระชัย ส่งผลกระทบต่อคนหลายอาชีพ สำหรับตำรวจก็คือ ต่อไปนี้ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นจะได้รับโทษ ประเทศไทยมีตำรวจแค่ ๒ แสนกว่านาย แต่ผับในซอกซอยมีจำนวนมหาศาล มีผับที่เปิดหลังตีสองอยู่ทั่วไป ตำรวจทำได้เพียงสุ่มจับเท่านั้นเอง พอตำรวจพบว่าในท้องที่ใดมีสถานบริการเปิดหลังตีสอง หรือมีเยาวชนเข้าไปใช้บริการ ก็ถือว่าเป็นความผิดของตำรวจท้องที่ เราคงได้เห็นกันตามสื่อต่าง ๆ ว่ามีคำสั่งย้ายทั้งโรงพัก ทั้งที่บางทีตำรวจอาจจะไม่จงใจละเลยการปฏิบัติหน้าที่ก็ได้ นโยบายจัดระเบียบสังคม มีผลกระทบต่อตำรวจมาก ทุกวันนี้ตำรวจไทยถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชัน แต่ที่ไม่ค่อยมีใครรู้ก็คือ ตำรวจได้รับงบประมาณค่าใช้จ่าย ในการปฏิบัติงานน้อยมาก สถานีตำรวจในกรุงเทพฯ นั้นได้รับงบประมาณ ๕ แสนกว่าบาทต่อหนึ่งไตรมาส เงินจำนวนนี้ต้องนำไปเป็นค่าใช้จ่าย เช่น ค่าน้ำมันให้สายตรวจ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟ และอื่น ๆ อีกมาก ดังนั้นเงินที่นำมาชดเชย ในส่วนที่รัฐบาลไม่สามารถจัดหาให้ได้ ก็ได้มาจากสถานบริการต่าง ๆ นั่นเอง เมื่ออยู่ ๆ มีคำสั่งออกมาปุบปับเช่นนี้ จะถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาหรือเปล่า อย่าไปมองว่าตำรวจทุกคนเลวหมด 
     "นโยบายจัดระเบียบสังคม ยังส่งผลกระทบต่อบรรดากิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านข้าวต้มซึ่งต้องรอให้ผับปิดก่อน จึงจะมีลูกค้าเข้าร้าน พอมีนโยบายนี้ออกมา เขาต้องประสบปัญหามากมาย บางร้านปรับตัวไม่ได้ก็เดือดร้อน กลุ่มกิจการนี้อาจจะไม่ใหญ่พอ และรวมตัวกันไม่ได้ ถือเป็นกลุ่มที่น่าสงสาร ใครจะไปรู้ว่าทำกิจการนี้มาตั้งนาน แต่วันดีคืนดีก็ต้องเลิกกิจการไป เพราะนโยบายจัดระเบียบสังคม ท่านปุระชัยคงมีคำตอบที่ชัดเจนว่า "มันมีกฎหมายเขียนไว้อยู่แล้ว" ถ้าจะอ้างกฎหมายแล้ว ผมว่ากฎหมายก็เขียนไว้ครอบคลุมทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องค้าประเวณี เสพยาเสพย์ติด แค่คุณเอาหนังสือไปถ่ายเอกสารก็ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ท่านจะเลือกใช้กฎหมายกับเรื่องใด เวลาไหน
     "หลายครั้งที่ผมได้ยินท่านยกตัวอย่างประเทศตะวันตก ที่สนับสนุนนโยบายจัดระเบียบสังคม แต่สิ่งที่ท่านพูดถึงเป็นเพียงด้านที่สวยงามเท่านั้น ประเทศตะวันตกโดยส่วนใหญ่แล้ว มีสวัสดิการรัฐที่ค่อนข้างดี เพียงพอต่อความต้องการ ฉะนั้นคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศเหล่านั้น จะสามารถห้ามไม่ให้เยาวชนออกจากบ้านในยามวิกาล แต่ในทางตรงกันข้าม หากท่านคิดที่จะนำกฎหมายคณะปฏิวัติมาใช้ ท่านจะต้องคำนึงถึงเยาวชนอีกมากมาย ที่มีความจำเป็นต้องทำงาน เช่น เด็กขนของในตลาดโต้รุ่ง เป็นต้น ถ้าถามว่าเด็กทำงานในเวลาดังกล่าวผิดไหม ก็คงจะตอบได้ทันทีว่าผิด แต่ถามว่าไม่ทำงานแล้วจะมีกินไหม ก็คงตอบได้ทันทีเหมือนกันว่าไม่มีกิน
     "กรณีปิดสถานบริการเวลาตีสองก็เหมือนกัน มาตรการนี้ไม่อาจหยุดยั้งเยาวชนไม่ให้มั่วสุมได้ ผมเห็นด้วยว่าเด็กไม่ควรสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา แต่การนำเวลาตีสองมาเป็นตัวกำหนด ก็ไม่ได้หมายความว่าเยาวชนไทยจะไม่มั่วสุมในเวลาอื่น ๆ มาตรการนี้จึงไม่ได้แก้ไขปัญหาโดยตรง
     "การแก้ไขปัญหาต้องชัดเจนว่า เราจะเจาะไปที่ไหน เด็กกลุ่มไหน และมีปัจจัยอะไรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ปัญหาทั้งหมดที่เราประสบพบเจอนั้น เราต้องเข้าใจว่าเป็นปัญหาที่อยู่ในประเทศที่มีระบอบเสรีประชาธิปไตย เราต้องมองปัญหาในบริบทของระบอบ ตัวอย่างที่ชัดเจนอันหนึ่งก็คือ การค้ายาเสพย์ติดมีทั้ง supply และ demand กลุ่ม supply ก็ต้องการหารายได้อย่างง่าย ๆ เหตุผลในการค้าก็มีมากมาย ความยากลำบากในการทำมาหากิน ความโลภ และอื่น ๆ ส่วนกลุ่ม demand ก็คงมีกลุ่มที่หมดหวังกับอนาคต กลุ่มครอบครัวแตกร้าว บวกกับความคิดที่ว่าเรียนไปก็คงจะไม่มีอะไรดีขึ้น และคงมีบางกลุ่มที่อยากเสพยาเพื่อความมัน ตรงนี้ผมว่าท่านปุระชัยไม่ชัดเจน ถ้าท่านชัดเจนท่านคงไม่คิดทำแบบเหมารวม
     "การนำมาตรการนี้มาบังคับใช้ มีผลเสียต่อสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่ง คือเป็นการบั่นทอนวัฒนธรรมทางความคิดของเยาวชน เราอยากให้เยาวชนได้ตระหนักรู้ และมีความคิดที่จะจัดการชีวิตด้วยตัวเขาเอง หรือสิ่งที่ผมเรียกว่า self-organization โดยมีผู้ปกครอง หรือครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้แนะ ให้ข้อมูลข่าวสาร นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเขา การแก้ไขปัญหาน่าจะเริ่มต้นที่การศึกษา การศึกษาที่มีคุณภาพ ที่สอนให้เยาวชนคิดที่จะรับผิดชอบ กับสิ่งที่ตัวเองจะต้องทำ สอนให้เยาวชนรักษาสิทธิของตัวเอง บวกกับหน้าที่ในการรักษาสิทธิผู้อื่นในเวลาเดียวกัน การเรียนการสอนที่ทำให้เยาวชนไม่หลงติดอยู่กับวัตถุจนเกินไป สิ่งเหล่านี้ต้องทำควบคู่กับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วย เพราะตราบใดที่ปัญหาเศรษฐกิจยังไม่ได้รับการแก้ไข นโยบายอื่น ๆ ก็อาจจะได้ผลในขอบเขตจำกัด ที่ผ่านมาใช้การแก้ไขแบบด้านเดียว การแก้ไขต้องอย่าไปหยิบยกส่วนใดส่วนหนึ่งของตะวันตกมา เพราะในบริบทนั้นมันมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแฝงอยู่มากมาย
     "ประเทศไทยอาจจะมีปัญหาอยู่มากมาย แต่หลายสิ่งหลายอย่างมันก็ดีขึ้นนะครับ เราอย่าไปตระหนกตกใจกับมันมาก ยิ่งไปตกใจมาก พวกขายยาเสพย์ติด ยิ่งได้ประโยชน์จากการจำหน่ายยาเสพย์ติด ในราคาที่สูงขึ้น ถึงอย่างไรการค้า และการเสพยาเสพย์ติดก็ไม่หมดไปแน่ เราเคยอยู่กับปัญหานี้ในอดีต เรากำลังอยู่กับมันในปัจจุบัน และเราก็ต้องอยู่กับมันอีกต่อไปในอนาคต ประเด็นอยู่ที่ว่า การค้าอาจจะเปลี่ยนรูปแบบไป สินค้าอาจจะเปลี่ยนรูปแบบไป จำนวนผู้ขายและผู้เสพ อาจจะเปลี่ยนไป แต่การค้าและการเสพยาเสพย์ติด คือหนึ่งในสัจธรรม ของระบอบเสรีประชาธิปไตย เพียงแต่สถิติของแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับตัวแปรอื่น ๆ
     "ผมคิดว่าไหน ๆ ท่านปุระชัยก็เคยเป็นนักวิชาการมาก่อน ก็อยากจะแนะนำให้ท่านได้หยิบตำราของ Edmund Burke ที่เขียนเรื่อง Reflections on the Revolution in France มาอ่านอีกสักครั้ง ข้อคิดที่ชัดเจนก็คือ จะทำอะไรก็ต้องค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำ และค่อย ๆ เปลี่ยน การจัดการการเปลี่ยนแปลงที่ผิดพลาดนั้น จะนำมาถึงผลเสีย"
  อ่านฝ่ายสนับสนุน คลิกที่นี่
วัลลภ ตังคณานุรักษ์
สมาชิกวุฒิสภา

click hereอ่าน (ฝ่ายสนับสนุน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !
ต้องการ แสดงความคิดเห็นเพิ่ม คลิกที่นี่