|
|||||||||||||
(ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณ คลิกที่นี่) เกษร สิทธิหนิ้ว : รายงาน, ภาพ |
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
|
"ข้อเสนอให้แก้กฎหมายวิสามัญฆาตกรรมนั้นไม่จำเป็นเลย เพราะกฎหมายที่มีอยู่มีเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ต้องมีกฎหมายพิเศษหรือแก้ไขกฎหมายอะไรอีก
ในความเป็นจริงตำรวจสามารถใช้กำลังตอบโต้คนร้ายถึงขั้นวิสามัญฆาตกรรมได้อยู่แล้วไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าหากคนร้ายใช้อาวุธกับเจ้าหน้าที่หรือทำร้ายคนรอบข้าง และที่เรียกร้องให้ร่างเป็นกฎหมายสำหรับจัดการกับคนเมายาบ้านั้น
โดยตัวกฎหมายเองมันก็ร่างไม่ได้ เพราะต้องมานิยามกันว่าคนติดยาบ้าคืออะไร คนเมายาบ้าคืออะไร ถ้าเกิดเรื่องขึ้นมาเราต้องไปถามเขาก่อนไหมว่าคุณติดยาบ้าหรือเปล่า ถึงจะยิงได้ หรือถ้าหากเขาจี้ปุ๊บ ตำรวจพูดสองคำแล้วเขาวางมีด จะทำยังไง
จะให้ยิงทิ้งก่อนที่จะมีการเจรจาหรือ กฎหมายอย่างนี้มันไม่สามารถเขียนได้ มันเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้วิจารณญาณแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าเป็นคราว ๆ ไป "การเรียกร้องและปฏิกิริยาต่าง ๆ ของคนในสังคมอันเนื่องมาจากกรณีนักศึกษาเกษตรฯ นี้ มันสะท้อนถึงอคติที่อยู่เบื้องลึกของสังคม อคติเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เราจะเห็นได้ว่า คนที่ติดยาบ้ามักจะเป็นคนชั้นล่างที่ไม่มีการศึกษา หรือเป็นคนงานที่ดูไม่มีคุณค่าอะไรในสังคม พอมาลงมือทำร้ายนักศึกษา ลูกหลานชนชั้นกลางที่กำลังจะมีอนาคต ความรู้สึกมันเลยพุ่งขึ้นมา ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าคนที่จี้ไม่ผิด เขาผิดอยู่แล้ว แต่ปฏิกิริยาจากคนในสังคมที่รุนแรงขนาดนี้มันควรจะมีคำอธิบาย "สิ่งที่อยู่ภายใต้การถกเถียงหรือที่เรียกว่า under tone มันสะท้อนความรู้สึกที่เป็นอคติของคนชั้นกลางที่มีการศึกษา ต่อชนชั้นล่างที่ไม่มีการศึกษา ความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัยของชนชั้นกลางที่อยู่ ๆ วันดีคืนดีอาจจะถูกพวกกรรมกร จับกัง ที่กินยาบ้า มาทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายลูกหลาน มันจึงมีปฏิกิริยารุนแรงอย่างนี้ออกมา เมื่อก่อนก็มีคนเมายาบ้าจับตัวประกันอยู่แล้ว แต่คนที่ถูกจี้ไม่ได้เป็นลูกหลานของคนชั้นกลางที่มีการศึกษา มีอนาคต เป็นคนกลุ่มเดียวระดับเดียวกับคนที่เมายาบ้า คนทั่วไปจึงไม่มีปฏิกิริยาใดๆ กับเหตุการณ์เหล่านั้น เช่นเดียวกันถ้าลูกหลานคนชั้นกลางหรือลูกหลานผู้มีการศึกษาติดยา เราก็จะอธิบายว่าเป็นปัญหาสังคม เป็นคนที่ทำผิดไป ต้องให้อภัย มองในแง่ที่พยายามจะเข้าใจ แต่พอเป็นพวกคนยากคนจน เป็นเด็กขายพวงมาลัย ซึ่งติดยาเพราะมีปัจจัยในแง่เศรษฐกิจบังคับ ลักษณะการประณามก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นความรู้สึกทางชนชั้นที่อยู่เบื้องหลังปฏิกิริยาที่ฮือขึ้นมา มันคลาสสิกมาก ความรู้สึกแบ่งชนชั้นระหว่างลูกจับกัง คนจนหน้าดำ ๆ กับลูกคนรวย หน้าขาว ๆ เรียนมหาวิทยาลัย กำลังมีอนาคต ผมว่าเรื่องนี้มันสะท้อนความรู้สึกไม่ปลอดภัยของชนชั้นกลางชัดเจนทีเดียว ไม่เช่นนั้นมันอธิบายความรุนแรงของปฏิกิริยาไม่ได้ "นอกจากนี้มันยังสะท้อนให้เห็นความไม่มีวุฒิภาวะของสังคมโดยทั่วไปที่จะยอมรับว่า ทุกคนต่อให้แย่ยังไง เลวยังไง ทำอะไรที่แย่ยังไง เขาก็มีสิทธิที่จะผ่านกระบวนการยุติธรรม ไม่ควรจะมีใครไปตัดสินโทษเขาโดยพลการอย่างนั้น การที่ปล่อยให้มีการประชาทัณฑ์คนถึงตาย ทั้ง ๆ ที่คนคนนั้นอยู่ในมือตำรวจแล้ว มันเป็นเรื่องใหญ่มาก อย่างกรณียิงตำรวจตายในผับ คนที่ยิงเป็นลูกนักการเมืองที่คนทั้งเมืองหมั่นไส้ แม้ว่าในความเป็นจริงผมจะไม่ชอบหน้าหมอนี่ขนาดไหน แต่มันก็เป็นสิทธิของเขาที่จะได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย ไม่ใช่ปล่อยให้สื่อมวลชนหรือใครมาตัดสินว่าเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แนวคิดทำนองนี้จะถูกทดสอบเมื่ออาชญากรรมนั้นเป็นอาชญากรรมที่รุนแรงมาก ๆ ถ้าเกิดวันดีคืนดีมีใครบางคนถูกกล่าวหาในคดีที่ดูเหมือนจะรุนแรงมาก ๆ เช่น คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คดี ๖ ตุลา หรือเคสอะไรที่รุนแรงประมาณนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่ถูกกล่าวหาในคดีอย่างนี้จะถูกประชาทัณฑ์ก่อนที่จะผ่านกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ "คนที่บอกว่าทำไมนักสิทธิมนุษยชนไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของคนที่ถูกจี้บ้าง เขาไม่เข้าใจประเด็นอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่นักสิทธิมนุษยชนเรียกร้อง คือ เมื่อคนที่ทำผิดถูกจับแล้ว เขาก็มีสิทธิเหมือนผู้ต้องหาทั่วไป คือสิทธิในการแต่งตั้งทนาย สิทธิที่จะผ่านกระบวนการยุติธรรม แต่ในระหว่างที่มีการต่อสู้กันนั้น ไม่มีนักสิทธิมนุษยชนคนไหนหรอกที่จะออกมาเรียกร้องไม่ให้ยิงคนร้าย แต่เขาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนตรงจุดที่ว่า เมื่อคนร้ายถูกจับกุมแล้ว เขาย่อมมีสิทธิในฐานะผู้ต้องหา ผู้ถูกกล่าวหา มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาว่าเขาทำผิดเพราะอยู่ภายใต้อิทธิพลของยาเสพย์ติดหรือเปล่า หรือเพราะเขาบ้าหรือเปล่า คนต่อให้ทำผิดยังไงเมื่อเขามาอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองแล้ว เขาก็มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาความผิดตามกฎหมาย นี่คือสิ่งที่นักสิทธิมนุษยชนเรียกร้อง "ผมไม่ได้ปฏิเสธความรุนแรงอย่างสิ้นเชิง ถ้ามีความจำเป็นก็สามารถใช้ได้ แต่สังคมไทยมีแนวโน้มว่าจะใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหามากขึ้น แก้ง่าย ๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าผลที่เกิดขึ้นจะมีอะไรบ้าง กรณีคนร้ายบุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี มันจบตรงที่คนที่จี้ตัวประกันถูกฆ่าตายทั้งหมด แต่ว่ามันเกิดคำถามตามมาอีกมากมาย เช่น วิธีการในแง่เทคนิค ถูกต้องหรือมีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องทำอย่างนั้น อย่างกรณีนักศึกษาเกษตรศาสตร์ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดหรือเป็นเหตุสุดวิสัย การฆ่านั้นเกิดขึ้นตอนไหน ตอนที่ไทยมุงรุมหรือเปล่า เรื่องพวกนี้ต้องการการสอบสวนอย่างมีสติ ผมก็เห็นใจเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ถ้าสอบสวนแล้วพบว่ามันเป็นความบกพร่องก็ต้องยอมรับและแก้ไข "เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เรื่องนี้เรื่องเดียวกลับสะท้อนอะไรหลาย ๆ อย่างของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นอคติที่มีต่อชนชั้น อคติที่มีต่อฐานะทางสังคม ปัญหาเรื่องความรุนแรง การไม่เข้าใจกฎหมาย เป็นการรวมศูนย์ด้านที่น่าเกลียดของสังคมไทยไว้ทั้งหมด" |
|
จตุพล ชมภูนิช พิธีกร, นักพูด อ่าน (ฝ่ายสนับสนุน) คลิกที่นี่ |
แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !
ต้องการ แสดงความคิดเห็นเพิ่ม คลิกที่นี่