นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๕ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๕ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๖ "แม่น้ำโขง : แม่น้ำพิเศษของโลก"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๕ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

พิราบขาวสยาม พิราบตาสีฝีมือคนไทย

  เรื่อง : จักรพันธุ์ กังวาฬ
ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์
(คลิกดูภาพใหญ่)       ใครที่อาศัยอยู่แถบย่านเจริญพาศน์ ถนนอิสรภาพ โดยเฉพาะบริเวณใกล้กับโรงพักบุปผาราม ในยามเย็นอาจเคยมองเห็นนกพิราบฝูงใหญ่บินวนอยู่บนท้องฟ้า พิราบฝูงนี้แตกต่างจากนกพิราบสีด่างที่เดินหากินอยู่ทั่วไปตามวัดหรือท้องถนน ไม่เพียงเพราะพวกมันเป็นพิราบพันธุ์สื่อสารที่มีสัญชาตญาณบินกลับรวงรัง แต่ทุกตัวในฝูงมีสีขาวบริสุทธิ์ ไร้สีอื่นเจือปนแม้แต่จุดแต้ม ยามรวมฝูงบินรับแดดอ่อนยามเย็นตัดกับฟ้าสีสด จึงดูเป็นประกายวิบวับงดงาม และหากบังเอิญพวกมันบินร่อนลงมาใกล้ ๆ ก็จะเห็นว่าแต่ละตัวมีดวงตาเป็นสีแดง-ส้ม-เหลือง สดใส
      คนในวงการพิราบสื่อสารรู้ดีว่าพิราบขาวเป็นนกหายาก และโดยธรรมชาตินกพิราบขาวจะมีดวงตาสีดำทึบเท่านั้น แต่ด้วยความเพียรพยายาม นพ. สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จักษุแพทย์โรงพยาบาลยันฮี ได้ใช้เวลากว่าสิบปี ในการพัฒนาสายพันธุ์นกพิราบสื่อสารสีขาวดวงตาสีได้สำเร็จเป็นรายแรกของโลก และขนานนามพิราบสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า "พิราบขาวสยาม"
(คลิกดูภาพใหญ่)       ในงานวันนักประดิษฐ์ไทย ที่จัดขึ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ท่ามกลางสิ่งประดิษฐ์จำพวกเครื่องกลและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จัดแสดงอยู่ทั่วไป กลับมีบูทหนึ่งนำนกพิราบสีขาวดวงตาสีมาโชว์ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ สารคดี ได้รู้จักพิราบขาวสยาม ผลงานสร้างสรรค์ของ นพ. สมเกียรติ
      หลายวันต่อมา เรามาถึงเจริญพาศน์คลินิกในตอนบ่ายแก่ ๆ ตามกำหนดนัดหมาย อาคารตึกแถวแห่งนี้เป็นทั้งที่พักอาศัย และสถานที่เลี้ยงนกของ นพ. สมเกียรติ
      น้อย--เด็กชายต้นวัยรุ่นที่มาช่วยงานเลี้ยงนก นำเราขึ้นบันไดขึ้นไปถึงดาดฟ้าชั้นห้า ดาดฟ้าตึกขนาดสี่คูหา พื้นที่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลูกสร้างกรงนกเล็กใหญ่รอบขอบอาคาร นพ. สมเกียรติกำลังพานักเลี้ยงนกผู้หนึ่งเดินชมนกพิราบในกรง
      ปัจจุบัน นพ. สมเกียรติ อายุ ๕๐ ปี เขาเล่าว่าสมัยเด็กอายุสิบกว่าขวบ เคยเลี้ยงพิราบสื่อสารมาก่อน
(คลิกดูภาพใหญ่)       "สมัยก่อนค่าอาหารนกไม่แพงมาก ข้าวโพดกิโลหนึ่ง ๓-๔ บาท เด็กสามารถลงทุนเลี้ยงได้ ใช้พื้นที่ไม่มากในการสร้างกรง สายพันธุ์ก็หาซื้อได้ง่าย ตอนนั้นผมซื้อนกแถวเยาวราช หรือตลาดนัดสนามหลวง อุปกรณ์การเลี้ยงก็หาซื้อง่าย ที่สนใจก็เพราะช่วงนั้นวงการเลี้ยงนกพิราบสื่อสารของไทยกำลังได้รับความนิยม มีผู้เลี้ยงนกแข่งเป็นจำนวนมาก มีการจัดแข่งบินทุกเดือน แบ่งออกเป็นสาย ทังสายเหนือ สายใต้ สายอีสาน สายตะวันออก แต่ต่อมาผมมีภาระหน้าที่มากขึ้น จึงเลิกเลี้ยงเพราะไม่มีเวลาดูแลและฝึกซ้อมบินให้นก กระทั่งถึงทุกวันนี้วงการพิราบแข่งซบเซาลงมากแล้ว และนกพิราบพันธุ์สื่อสารแทบจะสาบสูญไปจากวงการสัตว์เลี้ยงของไทย"
      นพ. สมเกียรติเลิกเลี้ยงนกไปนาน กระทั่งวันหนึ่งก็เกิดความคิดที่จะเพาะพันธุ์นกพิราบขาวดวงตาสีขึ้นมา
      "ความที่เราเคยเลี้ยงนกพิราบมาก่อน แล้วในระหว่างนั้นเคยเห็นนกพิราบสีขาว ถ้าใครเคยเห็นนกพิราบขาวจะต้องประทับใจ นกพิราบธรรมดาเวลาบินก็ดูธรรมดา แต่เวลาพิราบขาวบิน ลำตัวเขาจะสะท้อนกับแสงแดด เป็นประกายวับ ๆๆ สวยมาก
      "ทีนี้นกพิราบขาวปรกติดวงตามันจะดำสนิท ก็เหมือนคนเอเชีย แต่อย่างฝรั่งม่านตาเขาจะเป็นสีฟ้า ฟ้าอ่อน ฟ้าเข้ม สีเขียว เขียวมรกต หรือสีน้ำตาลอ่อน เผอิญผมเป็นหมอตาด้วย ก็มาคิดว่าถ้านกพิราบขาวมีดวงตาเป็นสี มันน่าจะสวยกว่าพิราบขาวทั่วไป"
(คลิกดูภาพใหญ่)       นพ. สมเกียรติเริ่มลงมือเพาะสร้างสายพันธุ์นกพิราบขาวตาสีตั้งแต่เมื่อ ๒๐ ปีก่อน โดยใช้นกพิราบสื่อสารสีขาวดวงตาดำ ผสมกับพิราบสื่อสารสีขาวที่มีลาย ทั้งลายจุดดำ ๆ ที่เรียกว่ากริซเซิล (Grizzle) พิราบขาวที่มีสีอื่นปนเป็นปื้น เรียกว่า สแปลช (Splash) และพิราบขาวที่มีแต้มสีโกโก้เจือจาง (Dilute ash-red) นกพิราบเหล่านี้แม้ไม่ใช่สีขาวล้วนแต่มีดวงตาเป็นสี เขาเล่าว่าใช้นกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เข้าคู่ผสมพันธุ์เป็นจำนวนมาก ประมาณสามปี จึงได้นกพิราบขาวดวงตาสีตัวแรก แต่ยังไม่นับเป็นผลสำเร็จ เพราะนกพิราบตัวนี้ยังไม่ใช่พันธุ์แท้ที่ "นิ่ง" จนสามารถสืบทอดลูกหลานที่มีลักษณะเดียวกันได้ตลอดไป
      "สมมุติคุณไปซื้อนกพิราบขาวล้วนมาจากสวนจตุจักร จับตัวผู้ตัวเมียผสมกัน ลูกออกมาจะไม่ใช่สีขาวล้วน อาจเป็นสีเทา หรือสีกระดำกระด่าง เพราะพ่อแม่ไม่ใช่สีขาวพันธุ์แท้ ฉะนั้นการสร้างสายพันธุ์จึงมีสองประเด็นหลัก ประเด็นแรกต้องให้ได้พิราบสีขาวล้วน ประเด็นที่สองจากขาวล้วนต้องให้ได้ตาสี แล้วค่อยพัฒนาให้เป็นพันธุ์แท้ที่นิ่ง"
      คุณหมอเล่าว่าจากจุดเริ่มต้น ใช้เวลาเพาะพันธุ์ ๕ ปี จึงได้นกพิราบขาวตาสีที่เป็นพันธุ์แท้  จากการจับคู่ผสมพันธุ์ตามหลักวิชาพันธุศาสตร์ มีทั้งการอินบรีด (inbreed) หรือให้ลูกผสมกับพ่อแม่ของตัวเอง ครอสบรีด (crossbreed) คือผสมข้ามสายตระกูล และไลน์บรีด (linebreed) ด้วยการนำหลานย้อนกลับมาผสมกับปู่หรือย่าของมัน
(คลิกดูภาพใหญ่)       นพ. สมเกียรติอธิบายว่า ไม่เหมือนกับการโคลนนิ่งที่ทำให้ได้สัตว์ตัวใหม่ที่เหมือนตัวเดิมทุกประการ แต่การผสมพันธุ์โดยธรรมชาตินั้น ยิ่งใช้พ่อแม่พันธุ์จำนวนมาก ลูกที่เกิดมาจะยิ่งมีโอกาสผ่าเหล่าผ่ากอ เกิดตัวใหม่ที่มีลักษณะเด่น แปลกใหม่ มากขึ้น หน้าที่ของเขาก็คือ คัดตัวที่มีลักษณะบกพร่องออก เลือกตัวที่ลักษณะตามต้องการไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต่อไป หรือนกตัวไหนที่ผ่าเหล่าออกมามีลักษณะที่น่าสนใจ ก็นำมาพัฒนาให้เป็นพันธุ์แท้ต่อไป
      ระยะเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมา นพ. สมเกียรติเผยว่า เขาจับคู่ระหว่างนกพ่อพันธุ์กับแม่พันธุ์มาแล้วร่วมพันตัว ในปัจจุบันกรงนกแต่ละกรงบนดาดฟ้าชั้น ๕ แห่งนี้จึงเต็มไปด้วยพิราบขาวดวงตาหลากสี
"ช่วงแรกได้ดวงตาสีหม่นก่อน สีออกโทนน้ำตาลอมแดง คือเพิ่งจางลงจากสีดำ ภายหลังค่อยสดใสขึ้นเรื่อย ๆ เป็นสีน้ำตาลอ่อน สีแดง สีส้ม สีเหลือง แล้วก็สีส้มอมเงิน สีชมพู มีความหลากหลาย"
      ทุกวันนี้ นพ. สมเกียรติมีนกพิราบตาสีที่เขาเพาะคัดขึ้นเป็นพ่อแม่พันธุ์อยู่ ๒๐๐ ตัว ยังไม่รวมถึงลูกนกอ่อน นกรุ่น ไข่ที่รอการฟักเป็นตัว และนกฟักไข่อีกจำนวนหนึ่ง
(คลิกดูภาพใหญ่)       นพ. สมเกียรติพาเราเดินชมนกในแต่ละกรง ระหว่างนั้น น้อยและเด็กหญิงรุ่นราวคราวเดียวกันก็กำลังทำหน้าที่ของตนง่วนอยู่
      เด็กชายหญิงทั้งสี่มาช่วยงานเลี้ยงนกพิราบเพื่อหารายได้พิเศษ พวกเขามาที่นี่ทุกวันในตอนเย็น ช่วยกันทำความสะอาด กวาด และขูดขี้นกออกจากกรง นาน ๆ จึงล้างกรงสักครั้งหนึ่ง ให้อาหารนกด้วยธัญพืชชนิดต่าง ๆ เช่น ข้าวโพด ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวฟ่าง เมล็ดทานตะวัน ถั่ว บางเย็นพวกเขาจะปล่อยนกออกจากกรง ให้ขึ้นบินบนท้องฟ้า
      นพ. สมเกียรติกล่าวว่า เมื่อเลี้ยงนกเป็นจำนวนมากเช่นนี้ การทำความสะอาดกรงทุกวันเป็นเรื่องจำเป็น ไม่เช่นนั้นอาจเกิดโรคระบาด ดังเช่นเมื่อ ๕ ปีก่อนนกของเขาติดโรคท้องร่วง ตายไปเกือบ ๕๐ ตัว
      เรามาถึงกรงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กรงแรก เป็นกรงเหล็กสร้างอย่างมั่นคงถาวร กรุแผงลวดตาข่าย สูงประมาณ ๒ เมตร พื้นที่รูปสี่เหลี่ยมลึก ๒.๕ เมตร กว้าง ๕ เมตร กั้นแบ่งเป็นสองฝั่ง พ่อพันธุ์พิราบขาว ๕๐ ตัวอยู่ทางฝั่งซ้าย ส่วนแม่พันธุ์จำนวนเท่ากันอยู่ฝั่งขวา
      ส่วนกรงเข้าคู่หรือกรงผสมพันธุ์มีสองกรง กรงแรกเป็นกรงไม้ขนาดย่อม แบ่งเป็นสี่ช่อง รองรับพ่อแม่พันธุ์ได้สี่คู่ อีกกรงมีขนาดเล็ก แบ่งออกเป็นสองช่อง ใส่นกได้สองคู่
      หลังนกพ่อแม่พันธุ์อยู่ด้วยกันในกรงเข้าคู่ประมาณ ๑๐ วัน ตัวเมียจะออกไข่ โดยธรรมชาตินกพิราบจะออกไข่ครั้งละสองฟอง จากนั้นภาระของพวกมันถือว่าสิ้นสุด ไม่ต้องเหนื่อยยากกกและฟักไข่ให้เป็นตัว เพราะหน้าที่นี้เป็นของนกฟัก
(คลิกดูภาพใหญ่)       "ผมไม่ให้นกพ่อแม่พันธุ์ฟักไข่และเลี้ยงลูกเอง เดี๋ยวจะโทรม"
      นพ. สมเกียรติบอกว่า นกฟักคือพิราบสีธรรมดา หรือนกขาวที่ถูกคัดทิ้ง เพราะไม่เหมาะจะเป็นพ่อแม่พันธุ์ กรงเข้าคู่สำหรับนกฟักมีอยู่ ๒๐ กรง นกฟักจะถูกจับคู่ผสมพันธุ์สลับสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ออกไข่ในช่วงเวลาเดียวกับนกแม่พันธุ์ ผู้เลี้ยงจะนำไข่นกฟักออกไป แล้วนำไข่นกแม่พันธุ์ทั้งสองฟอง มาให้มันฟักแทน
      นกฟักทั้งตัวผู้ตัวเมียจะช่วยกันฟักไข่ภายในกรงขนาดเล็ก ซึ่งจะถูกนำไปไว้ในกรงขนาดใหญ่กรุมุ้งลวดอย่างดีเพื่อกันยุง กระทั่งลูกนกฟักเป็นตัว พ่อแม่นกจะป้อนอาหารจนลูกนกอายุประมาณ ๑ เดือน ซึ่งจะมีขนขึ้นคลุมเต็มตัวแล้ว จึงแยกนกฟักออก ลูกนกในวัย'นกอ่อน'ยังอยู่ในกรงมุ้งลวดอีกประมาณ ๑ เดือน จึงแยกไปอยู่กรงธรรมดา เพื่อรอคัดแยกให้เป็นนกพ่อแม่พันธุ์ หรือเป็นนกคัดทิ้ง
(คลิกดูภาพใหญ่)
พิราบสื่อสารตาดำ ในธรรมชาติ
      นกที่จะถูกคัดไปเป็นพ่อแม่พันธุ์ต้องมีลักษณะสมบูรณ์ รูปร่างดี ขนสีขาวล้วนไม่มีสีอื่นเจือปน ที่สำคัญคือดวงตาสี
      "พิราบขาวตาสีที่เพาะได้ส่วนใหญ่จะมีดวงตาโทนสีส้มแดง สีของดวงตาจะมีอยู่สองลักษณะ คือดวงตาที่มีสีโทนเดียว กับดวงตาที่ไล่สี เช่น ตรงขอบดวงตาเป็นสีแดงเข้ม แล้วจางลงเรื่อย ๆ จนใกล้รูม่านตาเป็นสีเงิน หรือขอบนอกเป็นสีส้ม แล้วก็ไล่เป็นสีเหลืองตรงกลาง" นพ. สมเกียรติกล่าว
      "ทีนี้ผมมีพ่อแม่พันธุ์เยอะ ก็เลยทดลองไปเรื่อย ๆ จับตัวนั้นเข้าคู่กับตัวนี้ สายนี้กับสายนั้น ข้ามไปข้ามมา พอลูกนกออกมาเราจะใส่ห่วงขาให้ นกทุกตัวจะมีห่วงขาติดเลขรหัส เปรียบเหมือนบัตรประชาชน เราจะจดบันทึกประวัตินกทุกตัวลงสมุด ว่าตัวนี้ พ่อแม่ ปู่ย่าตายายคือใคร ย้อนกลับไปได้สิบกว่าปี เมื่อลูกนกเติบโตขึ้น เราจะติดตามเขาตลอด ดูว่าลักษณะเป็นอย่างไร ขนขาวล้วนไหม ดูโครงสร้างร่างกาย เช่น ปีกยาวหรือสั้น หัวกลมมนสวยหรือเล็กหลิม ปากยาวตรงหรืองุ้มเบี้ยว ส่วนสีตาจะแสดงออกชัดเจนเมื่อลูกนกอายุประมาณ ๒-๓ เดือน รายละเอียดทั้งหมดจะเป็นตัวประมวลที่บ่งว่า พ่อแม่ลักษณะนี้จะให้ลูกลักษณะอย่างไร เพื่อเป็นบทเรียน ผมเก็บข้อมูลตลอดเวลา"
      เรื่องที่ชวนให้ตื่นเต้นยินดีสำหรับนักเพาะพันธุ์พิราบอย่าง นพ. สมเกียรติก็คือ ได้เห็นลูกนกเกิดใหม่ผ่าเหล่ามามีลักษณะเด่น แปลกต่างจากนกที่มีอยู่เดิม
(คลิกดูภาพใหญ่)
พิราบวงนอกแดง วงในเหลือง
      ดังเช่น ๓ ปีก่อน มีลูกนกตาสีเหลืองตัวแรกเกิดขึ้นมา จนทุกวันนี้ นพ. สมเกียรติมีพิราบขาวตาสีเหลืองอยู่สิบกว่าตัวแล้ว ที่ผ่านการพัฒนาจนเป็นพันธุ์แท้เรียบร้อยแล้ว
      แต่ที่น่าตื้นเต้นมากกว่าก็คือ เมื่อครั้งที่คุณหมอพบว่าลูกนกที่เพิ่งเกิดไม่นานตัวหนึ่งมีดวงตาเป็นสีเงิน
      นพ. สมเกียรติกล่าวว่า นกพิราบขาวตาเงินเป็นนกที่เพาะยาก หลายปีที่ผ่านมามีลูกนกตาสีเงินเกิดขึ้นหลายตัว แต่ทุกตัวเป็นตัวผู้ เมื่อลองจับคู่ผสมพันธุ์กับนกดวงตาสีอื่น ก็ไม่ได้ลูกนกตาสีเงินเลย จนกระทั่งวันหนึ่งมีลูกนกตาเงินเพศเมียเกิดขึ้น คุณหมอจึงเกิดความหวังในการพัฒนาให้พิราบขาวตาเงินเป็นพันธุ์แท้
      "น้อย จับตาเงินตัวนั้นออกมาหน่อย" นพ. สมเกียรติบอกเด็กจับพิราบตาเงินออกจากกรงมาให้เราดูใกล้ ๆ
      น้อยเปิดกรงไม้สำหรับเข้าคู่ ล้วงมือจับพิราบขาวมาตัวหนึ่ง คุณหมอรับนกมาส่องกับแดด เราเข้าไปดูใกล้ ๆ เห็นดวงตาของมันเป็นสีขาวอมเงินใส ขอบนอกมีสีแดงเรื่อ รูม่านตาสีดำกลางดวงตายามต้องแสงหดตัวเหลือเพียงจุดเล็ก ๆ 
      "ตัวนี้รหัส ๕๒๖๑๔ พ่อของเขาดวงตาสีเงิน แม่ก็ดวงตาสีเงิน เขาเลยออกมาดวงตาสีเงิน ตัวนี้เคยนำไปแสดงในงานสัตว์เลี้ยงที่สวนสามพรานเมื่อปลายปีที่แล้ว คนมาเลเซียมาขอซื้อให้ราคาหมื่นบาท แต่เราไม่ขาย เพราะจะเก็บไว้สร้างสายพันธุ์แท้" นพ. สมเกียรติกล่าว
(คลิกดูภาพใหญ่)
พิราบตาสีส้มเหลือง
      "ตัวนี้เป็นตัวผู้ อายุปีกว่า เกือบจะเป็นพันธุ์แท้แล้ว ตอนนี้ผมกำลังให้เขาจับคู่ผสมพันธุ์กับแม่ของตัวเอง หรือ 'อินบรีด' เพื่อให้เกิดลูกที่มีสายเลือดตาเงินเข้มข้นยิ่งขึ้น"
      เรามองเข้าไปในกรงไม้ตรงช่องที่น้อยจับนกออกมาเมื่อครู่ เห็นยังมีพิราบขาวเดินไปเดินมาอยู่อีกตัว นพ. สมเกียรติบอกว่านั่นคือพิราบขาวตาเงินเพศเมียตัวแรกที่เกิดขึ้นมา มันเป็นทั้งแม่และคู่ผสมพันธุ์ของพิราบขาวตาเงินที่คุณหมอจับให้ดู
      "ลูกนกที่ได้จากขั้นตอนอินบรีด เราจะนำไปผสมกับนกตาเงินจากสายอื่น เรียกว่าครอสบรีด ลูกที่ได้จะเป็นพันธุ์แท้แล้ว และในอนาคตยังต้องทำไลน์บรีด คือเอาหลานย้อนกลับมาเข้าคู่กับปู่ย่า ทั้งหมดก็คือขบวนการสร้างสายพันธุ์แท้ เทคนิคพวกนี้ผมศึกษามาจากทั้งในตำรา และจากเวบไซต์เกี่ยวกับนกของต่างประเทศ"
(คลิกดูภาพใหญ่)
พิราบตาสีแดง
      ปัจจุบัน นพ.สมเกียรติมีนกพิราบขาวตาเงินอยู่เก้าตัว และล่าสุด มีลูกนกเกิดใหม่ที่ผ่าเหล่า มีลักษณะแปลกใหม่อีกสองตัว ตัวหนึ่งถูกเด็กเลี้ยงนกขนานนามว่า "ตาไฟ"
      "น้อย ลองจับตัวที่บอกว่าตาไฟมาดูหน่อย"
      น้อยเข้าไปในกรงนกรุ่นซึ่งมีขนาดใหญ่ พิราบในกรงบินพรึ่บ คนไม่คุ้นเคยอาจแยกไม่ออก แต่ นพ. สมเกียรติชี้บอกให้น้อยจับนกตัวหนึ่งออกมา เขาจับนกยื่นให้เราดู ดวงตาของมันมีสีเหลืองเป็นพื้น ปกคลุมด้วยละอองเม็ดสีแดงเล็กละเอียด เป็นประกายแพรวพราวยามต้องแสงแดด
      "ตัวนี้รหัส ๕๒๖๐๗ เพศเมีย อายุได้ ๑ ปีแล้ว พ่อแม่เขาเป็นพวกตาสีส้มแดง แต่ดวงตาเขาเป็นสีเหลือง แล้วมีเม็ดสีแดงเป็นจุด ๆ เวลาเจอแสงจะหักเหแสงมาก ทำให้ดูสดใสระยิบ" นพ. สมเกียรติหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
อีกตัวหนึ่งที่น้อยจับมาให้ดู รหัส ๕๒๖๖๕ เพศผู้ อายุเกือบครบปี ลักษณะเด่นก็คือ ขอบวงกลมรอบดวงตาเป็นสีชมพู แต่ตรงกลางมีกลุ่มเม็ดสีเงินรัศมีแตกเป็นแฉกวนออกไปโดยรอบ คล้ายกงจักร เด็ก ๆ จึงเรียกมันว่า "ตากงจักร"
      ในอนาคต นพ. สมเกียรติตั้งใจจะจับคู่ผสมพันธุ์ระหว่าง "ตาไฟ" กับ "ตากงจักร" เขาคาดว่าจะได้ลูกที่มีดวงตาเป็นเม็ดสีเช่นเดียวกับพ่อแม่ ซึ่งสามารถพัฒนาให้เป็นพันธุ์แท้ได้ต่อไป
(คลิกดูภาพใหญ่)
พิราบตาสีทับทิม (วงนอกแดง วงในเงิน)
      หลังจากสร้างสายพันธุ์พิราบขาวตาสีได้สำเร็จ นพ. สมเกียรติได้เปิดเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลนกพิราบของตน
      "ผมสร้างเว็บไซต์ในอินเทอร์เน็ต เผยแพร่ข้อมูลนกพิราบตาสีของตัวเองเป็นภาษาอังกฤษมา ๓ ปีกว่าแล้ว" นพ. สมเกียรติกล่าว "สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะ อยากตรวจสอบด้วยว่าต่างประเทศที่เป็นต้นตำรับเพาะพันธุ์นกพิราบสื่อสาร เช่น เบลเยียม เขาพัฒนาสายพันธุ์แบบนี้หรือยัง ก็ได้รับความสนใจจากผู้เลี้ยงนกพิราบชาวต่างประเทศจำนวนมาก คนหนึ่งถามว่าสายพันธุ์ของผมเหมือนสายพันธุ์เพลติงกซ์ (Pletinckx) ซึ่งเป็นพิราบขาวที่เพาะโดยชาวเบลเยีpมหรือเปล่า ผมจึงสอบถามไปยังเจ้าของ เขาบอกว่าเป็นพิราบขาวตาดำ เราได้ค้นคว้าในเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับนกพิราบจากทั่วโลก ก็ไม่พบว่ามีใครเพาะพิราบขาวตาสี และระยะเวลา ๓ ปีที่เราเผยแพร่ ก็ไม่มีใครออกมาอ้างว่ามีพันธุ์แท้นกพิราบลักษณะนี้ เมื่อสรุปได้อย่างนี้ ผมจึงตั้งชื่อว่า พิราบขาวสยาม
      "คนที่เลี้ยงนกพิราบสื่อสาร ถ้ามาเจอนกพิราบขาว แล้วมีดวงตาสี เขาจะอยากได้ เพราะรู้ว่ามีคุณค่า ที่ผ่านมามีผู้เลี้ยงพิราบชาวต่างประเทศติดต่อขอซื้อเข้ามาในเว็บไซต์ร้อยกว่าคน แต่เรายังไม่ขาย เพราะไม่พร้อมในหลาย ๆ เรื่อง ยังไม่มีกำลังเพียงพอที่จะเพาะลูกนกจำนวนมาก คิดว่าตัวเองกำลังทำวิจัยอยู่มากกว่า
(คลิกดูภาพใหญ่)       "แต่ตอนนี้เราเริ่มขายลูกนกให้คนไทยแล้ว และขายได้เยอะพอสมควร คือผมอยากให้คนไทยเลี้ยงกันให้แพร่หลายก่อนต่างชาติ ให้มันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยเสียก่อน และเมื่อมีคนเลี้ยงจำนวนมาก ก็จะสามารถร่วมกันผลิตและส่งออกเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เพราะตลาดโดยตรงของนกพิราบสายพันธุ์นี้คือ ผู้เพาะเลี้ยงนกพิราบพันธุ์สื่อสารและพันธุ์สวยงามจำนวนนับล้านคนทั่วโลก ตลาดที่ใหญ่มากน่าจะเป็นประเทศจีนและญี่ปุ่น โดยเฉพาะคนญี่ปุ่นชอบพิราบสื่อสารสีขาวมาก"
      นพ. สมเกียรติให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "แต่เนื่องจากพิราบขาวสยามเป็นสัตว์เลี้ยงสายพันธุ์ใหม่ของโลก การทำตลาดในต่างประเทศยังมีปัญหาและอุปสรรคอยู่สองประการคือ หนึ่ง ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีการรับจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ หากมีการขายพิราบขาวสยามเผยแพร่สายพันธุ์สู่ต่างประเทศแล้ว อาจถูกแอบอ้างถือสิทธิ์ได้ในอนาคต ดังเช่นที่เคยเกิดปัญหากับพันธุ์ข้าวหอมมะลิของไทย และสอง ถึงแม้นกพิราบสื่อสารจะไม่ใช่สัตว์สงวนในการควบคุมของไซเตส แต่การส่งออกสัตว์มีชีวิตไปยังต่างประเทศ ยังมีข้อจำกัดและความยุ่งยากที่จำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่นเดียวกับการส่งออกปลาสวยงามที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นอย่างดี จนสามารถส่องออกนำเงินตราเข้าประเทศมากมายในปัจจุบัน"
      อย่างไรก็ตาม ในอนาคตข้างหน้า พิราบขาวสยามยังสามารถพัฒนาสายพันธุ์ทั้งด้านรูปร่างลักษณะ การบิน และทำให้ดวงตามีสีสันหลากหลายยิ่งขึ้น" นพ. สมเกียรติกล่าวอย่างมีความหวัง