สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๐ เดือน ตุลาคม ๒๕๔๔ "๑๑ กันยายน ๒๐๐๑ วันถล่มอเมริกา"

กลับไปหน้า สารบัญ เลี้ยงกุ้งกุลาดำในพื้นที่น้ำจืด กุ้งกู้ชาติ หรือกุ้งสิ้นชาติ ?
คั ด ค้ า น

ดร. สุรพล สุดารา ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ดร. สุรพล สุดารา
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
  • จะเกิดการแพร่กระจาย ของเกลือ ทำให้เกิดปัญหาต่อผืนดิน และส่งผลกระทบต่อสังคม ในระยะยาว

  • ตลาดการค้ากุ้ง เป็นตลาด ที่ไม่มีความมั่นคง และยั่งยืน เพราะต่างประเทศ เริ่มเลี้ยงกันมากขึ้น 

  • เป็นการสร้างความขัดแย้ง ระหว่างผู้เลี้ยงกุ้ง กับชาวนาชาวสวน 

  • คนที่ผลักดันในเรื่องนี้ คือคนที่มีผลประโยชน์ จากธุรกิจเลี้ยงกุ้ง แต่คนที่เดือดร้อน คือชาวนา และความเสียหายระยะยาว จะตกอยู่กับคนไทยทั้งหมด

     "การศึกษาผลกระทบจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ในพื้นที่น้ำจืด ที่รัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษา ได้ข้อสรุปชี้ชัดแล้วว่า เกลือในบ่อเลี้ยงกุ้ง จะแพร่กระจายออกไปในบริเวณใกล้เคียง ทำให้เกิดปัญหาต่อผืนดิน หากจะฟื้นฟูดินหลังจากทำนากุ้ง ก็ต้องใช้เงินทุนสูงมาก และฟื้นฟูได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่สามารถทำให้ดินกลับมาเหมือนเดิมได้ 
     "การที่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลายท่านออกมาแสดงความคิดเห็น ในทำนองสรุปว่า ควรให้เลี้ยงกุ้งกุลาดำในพื้นที่น้ำจืดได้เพื่อช่วยเศรษฐกิจนั้น ในฐานะที่เคยเป็นคณะทำงาน และติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด เห็นว่าเป็นการด่วนสรุปเกินไป และเลือกพูดแต่ผลดี ไม่ได้ย้ำถึงผลเสีย ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต 
     "การแพร่กระจายของเกลือเป็นเรื่องใหญ่ แม้จะอ้างว่ามีการทำบ่อ แต่น้ำเค็มมันจะออกด้านข้างอยู่ดี จึงได้มีการออกแบบ เป็นคูน้ำล้อมรอบบ่อเลี้ยง ดักเกลือที่ซึมมาในแนวราบให้ละลายอยู่ในคูน้ำ แต่วิธีนี้ก็ยังไม่เห็นผลในระยะเริ่มทดลองเพียงปีกว่า ๆ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมันยังมีความเค็มที่ซึมลงไปในแนวลึก ความเค็มก็ยังอยู่ ซึ่งในอนาคตจะแพร่ออกไปทางแนวนอน การที่เขาบอกว่า จะไม่เปิดน้ำในนากุ้งออกทิ้งเลยนั้น เป็นไปได้อย่างไร และการบำบัดน้ำเสีย จะบำบัดได้เฉพาะอินทรียสารเท่านั้น แต่ความเค็ม คือเกลือไม่มีทางบำบัดได้ เกลืออยู่ที่ไหนก็จะตกอยู่ที่นั่น และจะแพร่ไปได้ทั้งแนวนอน และแนวลึก 
     "การอ้างว่าจะมีการควบคุมนั้น แท้จริงแล้วจะควบคุมได้แค่ไหน ในเมื่อที่ผ่านมาก็เห็นกันแล้วว่า ไม่สามารถควบคุมได้ ใครจะมีปัญญามาเฝ้าบ่อกุ้งตลอด ๒๔ ชั่วโมง หากมีการลักลอบปล่อยน้ำปล่อยของเสียออกมาก็ไม่เห็น ถึงจับได้ก็ต้องมีการพิสูจน์ ต้องใช้เวลา ก็เป็นเรื่องที่ชาวบ้านจะต้องเดือดร้อนทั้งสิ้น 
     "การขยายพื้นที่ก็เป็นอีกเรื่องที่ควบคุมยาก ถ้าปล่อยให้เลี้ยงแล้ว ก็จะลุกลามได้ง่าย จะเกิดความสูญเสียมหาศาล ปัญหาความเค็มซึมลงดิน ที่เรามองดูว่านิด ๆ หน่อย ๆ มันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในที่สุด 
     "แล้วยังมีเรื่องโรคอีก เดิมที่เคยเลี้ยงอย่างหนาแน่นตามชายทะเล พักเดียวก็เกิดโรค แล้วมาเลี้ยงกันใหม่ในพื้นที่น้ำจืด มันจะไม่เกิดโรคอีกหรือ ถ้าเกิดโรคแล้วจะทำอย่างไร ทิ้งพื้นที่ไปอีกหรือ พื้นที่ส่วนใหญ่ที่เลี้ยงกุ้งผู้ประกอบการ ไปเช่ามาจากชาวนา ซึ่งชาวนายอมให้เช่าเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่คิดว่าจะมีเกลือตกค้าง แต่เมื่อเกิดความสูญเสียขึ้น ความสูญเสียนั้น ไม่เพียงเกิดกับชาวนาเจ้าของที่เท่านั้น แต่เกิดกับแผ่นดินด้วย เพราะผืนดินเป็นสมบัติของแผ่นดิน 
     "สื่งที่น่าเป็นห่วงอีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่องของราคา และความมั่งคงของตลาด ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่เลี้ยงกุ้งเพื่อส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ ทำให้เราหาตลาดได้ง่าย แต่ขณะนี้หลาย ๆ ประเทศ เริ่มหันมาเลี้ยงกุ้งกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เวียดนาม ศรีลังกา แอฟริกา จึงเกิดการแย่งตลาดการค้าและตัดราคากัน เราจะรักษาตลาดเดิม และรักษาราคากุ้งให้สูงเท่าเดิม ไปได้นานแค่ไหน ราคากุ้งมีขึ้นมีลงอยู่ตลอดเวลา ตอนที่ราคากุ้งตก ก็พินาศไปหลายคน ที่สำคัญคือการค้าระหว่างประเทศนั้น จะมีความพยายามในการกีดกันทางการค้า ประเทศคู่แข่ง ก็จะแสดงให้เห็นว่า ประเทศเขาดูแลเรื่องสภาพแวดล้อม ถ้าเขาโจมตีว่า ประเทศไทยทำลายระบบนิเวศน้ำจืด ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของแหล่งน้ำจืด จนนานาชาติไม่ซื้อกุ้งจากประเทศไทย อะไรจะเกิดขึ้น 
     "ประการสุดท้าย จะเกิดความขัดแย้งในชุมชนของคนไทย หากเกิดพิษภัยขึ้นในไร่นาของเขา นี่ขนาดยังไม่ทันเริ่ม ก็มองเห็นการประจันหน้าระหว่างชาวนาชาวสวน กับผู้เลี้ยงกุ้งแล้ว รัฐบาลจะต้องไม่ปล่อยให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม 
     "การผลักดันเรื่องนี้ มักมองในแง่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ถ้าเราปล่อยให้ใครก็ตามแสวงหาผลประโยชน์ได้ตามชอบใจ ผลร้ายจะตกอยู่กับบ้านเมืองในระยะยาว คนที่ผลักดันเรื่องนี้ ก็เป็นคนที่เกี่ยวข้อง และมีผลประโยชน์จากธุรกิจการเลี้ยงกุ้งนั่นเอง ทั้งกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้ง ขายกุ้ง ผลิตอาหารกุ้ง การส่งออกต่าง ๆ คนที่เสียประโยชน์ คือชาวนาซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่ สมมุติว่าเดิมเคยทำข้าวได้ไร่ละ ๓,๐๐๐ บาท แต่เขามาเช่าไร่ละ ๕,๐๐๐ บาท ด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ยอมให้เช่าไป แต่ในระยะยาว เขาอาจไม่สามารถทำมาหากินได้เหมือนเดิมอีก นี่คือปัญหา และความวิตกของเรา และการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในพื้นที่น้ำจืด ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ ที่อาชีพนี้จะช่วยเหลือเกษตรกรทั่วไปได้
     "ถ้ามีความคิด มีความรู้ที่ดี ทำไมไม่ฟื้นฟูบริเวณที่เสื่อมโทรมแล้ว ให้กลับมาเลี้ยงกุ้งได้อีก ถ้าอ้างว่าไม่มีน้ำจืดมากพอ ก็ต้องลงทุนเพื่อที่จะเอาน้ำจืดมาใช้ให้พอ ก็บอกกันว่าเลี้ยงกุ้งทำให้รวยมหาศาล เพราะฉะนั้นก็ควรจะยอมลงทุนส่วนนี้ด้วย อย่างสมน้ำสมเนื้อ ต้องยอมลงทุนเพื่อจะแก้ปัญหา ว่าเลี้ยงกุ้งอย่างไรไม่ให้มีโรค เลี้ยงกุ้งอย่างไรไม่ให้ทิ้งผืนแผ่นดินนั้นไป 
     "ในอดีต เราได้ทำหลายอย่างที่ผิด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอ่างเก็บน้ำในภาคอีสาน โดยไม่ได้ดูว่าข้างใต้นั้นมีเกลืออยู่หรือเปล่า พอสร้างเสร็จก็เกิดปัญหาดินเค็ม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่อยู่ในขณะนี้ หรือการปล่อยให้มีการตัดไม้ ทำลายทรัพยากรอย่างมหาศาล สุดท้ายก็เกิดเหตุวิบัติต่าง ๆ 
     "ในฐานะนักวิชาการ และเอ็นจีโอที่ดูแลทางด้านนี้ ผมมองเห็นว่า การอนุญาตให้เลี้ยงกุ้งกุลาดำในพื้นที่น้ำจืด จะก่อให้เกิดหายนะในระยะยาว คนที่เดือดร้อนก็คือชาวนา คือลูกหลานในอนาคต ผืนดินที่ดีจะเสียไป ภาคกลางเป็นพื้นที่ปลูกข้าวชั้นหนึ่ง เป็นพื้นที่เพาะปลูก ที่สามารถผลิตข้าวเลี้ยงคนได้อย่างพอเพียง เราควรสงวนรักษาเอาไว้ ถ้าเข้าไปตั้งเมือง ขยายเมือง ทำอุตสาหกรรมในแหล่งเกษตรกรรมชั้นหนึ่งเมื่อไร ก็ผิดทั้งนั้น 
     "รัฐจะต้องรับฟังความคิดเห็นที่ถูกต้อง และไม่เสี่ยงในสิ่งที่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด เราได้ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไปเยอะมาก ในตอนนี้ เราเกือบไม่มีอะไรจะให้สูญเสียอีกแล้ว"
  อ่านฝ่ายสนับสนุน คลิกที่นี่
ธำมรงค์ ประกอบบุญ
อธิบดีกรมประมง

click hereอ่าน (ฝ่ายสนับสนุน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !


แ ส ด ง ค ว า ม คิ ด เ ห็ น เ พิ่ ม เ ติ ม

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม: *
*