สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๒ เดือน ธันวาคม ๒๕๔๔ "๖๐ ปีเสรีไทย"

กลับไปหน้า สารบัญ เอาไหม ? หอศิลป์ร่วมสมัยในศูนย์การค้า
คั ด ค้ า น

มานิต ศรีวานิชภูมิ คณะกรรมการเครือข่ายศิลปินรณรงค์เพื่อหอศิลป์ร่วมสมัยเฉลิมพระเกียรติแห่งกรุงเทพมหานคร (คศก.)
มานิต ศรีวานิชภูมิ
คณะกรรมการ เครือข่ายศิลปินรณรงค์ เพื่อหอศิลป์ร่วมสมัย เฉลิมพระเกียรติ แห่งกรุงเทพมหานคร (คศก.) 
  • เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลง การก่อสร้าง คือ การแสวงหาผลประโยชน์

  • เรื่องไม่มีงบประมาณ และความไม่โปร่งใส เป็นเพียงข้ออ้าง เพื่อล้มโครงการเดิมเท่านั้น

  • ทีโออาร์โครงการใหม่ หละหลวม ไม่มีมาตรฐาน และข้อกำหนดใด ๆ ในขณะที่โครงการเดิม กำหนดวัสดุ และแบบอาคาร สำหรับใช้เป็นหอศิลป์โดยเฉพาะ

  • สิ่งที่เราต้องการ คือการทำประชาพิจารณ์ เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส

     "เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงโครงการสร้างหอศิลป์ คือการแสวงหาผลประโยชน์ ในสมัย ดร. พิจิตตมีบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง เคยเสนอโครงการสร้างที่จอดรถ และศูนย์การค้าในลักษณะเดียวกันนี้ โดยเขียนโครงการและรูปแบบมาเรียบร้อย แต่ทางทีมงานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ ในขณะนั้นเห็นว่า เป็นโครงการที่มุ่งแสวงหากำไร มากกว่าที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน จึงไม่รับโครงการของบริษัทญี่ปุ่นรายนั้น เมื่อถึงสมัยคุณสมัครเป็นผู้ว่าฯ บริษัทนี้ก็กลับเข้ามา เพื่อขอให้ทบทวนโครงการของเขาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่าทำไมคุณสมัคร ถึงเห็นดีเห็นงามกับโครงการดังกล่าว ทั้งยังอ้างว่าญี่ปุ่นจะมาสร้างให้ฟรี เหมือนเมื่อครั้งที่สร้างศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทั้งที่ความจริงแล้ว การสร้างศูนย์วัฒนธรรมฯ เป็นโครงการระหว่างรัฐกับรัฐ และเป็นโครงการที่ไม่ได้หวังผลกำไร เพราะสร้างเสร็จเขาก็ยกให้ โดยไม่มีเงื่อนไขหรือพันธะใด ๆ ขณะที่โครงการนี้แม้บริษัทเอกชนของญี่ปุ่น จะอ้างว่าสร้างให้รัฐ แต่ก็เป็นไปเพื่อการแสวงหาประโยชน์จากพื้นที่ของรัฐ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองและเป็นทำเลทอง ที่ดินผืนนี้มีมูลค่ามหาศาล เอกชนอยากได้ไปทำธุรกิจอยู่แล้ว และแน่นอนที่เขาคงไม่ลงทุนให้ฟรี ๆ เขาต้องตักตวงผลประโยชน์ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ เพราะฉะนั้นหอศิลป์จะไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ อาจกลายเป็นแค่ส่วนประดับศูนย์การค้า คนที่ขาดทุนคือประชาชน คนที่ได้ประโยชน์คือกลุ่มธุรกิจที่มาลงทุน เพราะเหมือนกับรัฐให้เช่าที่ฟรี 
     "ความพยายามในการล้มโครงการโดยบอกว่าโครงการของ ดร. พิจิตตไม่โปร่งใส ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วโครงการใหม่ของผู้ว่าฯ สมัคร โปร่งใสหรือเปล่า ประชาชนเรียกร้องให้ทำประชาพิจารณ์แต่ท่านก็ปฏิเสธ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าอาจมีอะไรไม่ชอบมาพากล เพราะถ้าโปร่งใสจริง ก็ต้องยอมรับ และให้มีการประชาพิจารณ์ เครือข่ายของศิลปินที่คัดค้านเรื่องนี้ พร้อมที่จะยุติถ้าประชาชนทั้งหมดในกรุงเทพฯ เห็นด้วยและสนับสนุนโครงการของท่าน 
     "การอ้างว่าไม่มีงบประมาณแล้วให้ญี่ปุ่นมาสร้างให้นั้น เป็นข้ออ้างเดิม ๆ ของบรรดานักการเมือง แล้วเงิน ๓๐๐ ล้านบาทที่ถูกจัดสรรไว้ในสมัยผู้ว่าฯ พิจิตตหายไปไหน การให้เอกชนมาลงทุนด้วยงบประมาณ ๗๐๐ ล้านบาท คิดว่าเขาจะไม่ทำเพื่อแสวงหากำไรที่มากกว่านั้นหรือ เพราะเขาก็ต้องมองโอกาสทางด้านธุรกิจ ถ้า กทม. ไม่มีเงินจริง ๆ ทำไมไม่ปรึกษาประชาชนว่าจะหาทางออกกันอย่างไร จะมีการระดมทุนกันอย่างไรก็ว่าไป แต่นี่ไม่ได้ปรึกษาประชาชนเลย เราไม่มีโอกาสได้รู้ว่า กทม. จัดสรรเงินไปใช้ในทางด้านไหนบ้าง
     "ทีโออาร์หรือข้อกำหนดการก่อสร้างของโครงการใหม่ก็ค่อนข้างหละหลวม ไม่มีการกำหนดอะไรที่เป็นรายละเอียดลงไปเลย ในขณะที่โครงการเดิมมีการวิเคราะห์คัดเลือกวัสดุอย่างละเอียด เช่น กระจกตัดรังสียูวี ต้องป้องกันแสง และสามารถดึงแสงธรรมชาติ ซึ่งไม่ทำลายวัตถุทางศิลปะเข้ามาใช้ได้เพื่อประหยัดพลังงาน มีการออกแบบด้านโครงสร้าง ที่เอื้อต่อการจัดงานในหลากหลายรูปแบบ แต่ถ้าทำเป็นศูนย์การค้าโดยแบ่งพื้นที่บางส่วนทำหอศิลป์ เอกชนเขาก็คงไม่ลงทุนกับพื้นที่หอศิลป์อย่างที่ควรจะเป็น เพราะค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าทำห้องธรรมดามาก เขาอาจจะแบ่งห้องแล้วจัดไฟใส่เข้าไป แต่หอศิลป์ไม่ใช่ว่าจะเป็นแค่ห้องเปล่า ๆ แล้วก็มีไฟเฉย ๆ ต้องจัดเรื่องโครงสร้าง แสง การวางไฟส่องผลงาน ผนังก็ต้องสามารถเลื่อนเข้า-ออกได้ เมื่อต้องจัดแสดงผลงานจำนวนมาก หรือผลงานที่มีขนาดใหญ่ ทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมอุณหภูมิด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในรายละเอียดของทีโออาร์ในโครงการใหม่เลย
     "ถ้าสมมุติว่าผลออกมาหอศิลป์ ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การค้าจริง ๆ การบริหารจัดการทุกอย่าง คงต้องวางไว้เพื่อให้เอื้อต่อธุรกิจในศูนย์การค้า และที่เป็นปัญหาในขณะนี้ก็คือ ยังไม่มีการเตรียมการว่าจะบริหารจัดการอย่างไร โครงสร้างของผู้บริหารเป็นอย่างไร ขณะที่โครงการเดิมได้วางแผนและเตรียมทางไว้หมดแล้ว ที่สำคัญบทบาทของหอศิลป์คงจะเปลี่ยนไป บางคนยังไม่เข้าใจว่าทำไมเราจึงต้องแยกศิลปะออกจากศูนย์การค้า เรื่องนี้เป็นเรื่องของวัฒนธรรมและความเข้าใจ เราพยายามทำให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ในต่างประเทศเขายอมลงทุนมหาศาล เพื่อที่จะให้คนเห็นความสำคัญของศิลปะ เพราะเขารู้ว่ามันส่งผลต่อจิตวิญญาณ แต่ถ้าหอศิลป์อยู่ในศูนย์การค้า ซึ่งเสียงดังมากและผู้คนพลุกพล่าน คนที่ตั้งใจจะไปเสพย์ศิลปะจะมีสมาธิได้อย่างไร การไปเสพย์ศิลปะกับการไปชอปปิงมันเป็นคนละเรื่องกัน หอศิลป์ควรเป็นที่ที่เราสามารถอยู่ได้ทั้งวันกับผลงาน มีเวลาสงบ ๆ ที่เราจะเข้าไปชื่นชมผลงาน และความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน มีเวลาพินิจพิเคราะห์กับงานนั้น 
     "ประเทศในแถบยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย สิงคโปร์ ล้วนแต่มีหอศิลป์ที่สร้างไว้เฉพาะ แม้แต่ในเวียดนามที่กำลังจะสร้างหอศิลป์ก็เหมือนกัน ไม่มีหอศิลป์ที่ไหนที่รัฐ เป็นเจ้าของแล้วมีรูปแบบเป็นศูนย์การค้า ประเทศอื่น ๆ ไม่ยอมทำแบบนั้น เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่เสียเกียรติ และรู้สึกว่าเป็นการไม่ให้ความสำคัญกับศิลปะและวัฒนธรรม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สะท้อนได้ชัดเจนว่าท่านผู้ว่าฯ ไม่ให้ความสำคัญกับศิลปะ
     "หอศิลป์เป็นเหมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม ถ้าเราสร้างหอศิลป์ที่เป็นหอศิลป์จริง ๆ ก็สะท้อนให้เห็นว่ารัฐให้ความสำคัญกับวัฒนธรรม แต่ถ้ารัฐยังจะเอาศิลปะวัฒนธรรมไปบวกกับการค้า ก็จะสะท้อนว่ารัฐ 'เซ็งลี้' ศิลปะวัฒนธรรมโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ ยังไม่เจริญ และยังไม่เข้าใจว่าศิลปะคืออะไร บางคนอาจเข้าใจว่าหอศิลป์มีไว้สำหรับศิลปิน และมักจะอ้างว่าคนที่ได้ประโยชน์จากหอศิลป์ก็คือศิลปิน ซึ่งนั่นเป็นการมองด้านเดียว จริง ๆ แล้วหอศิลป์เป็นประโยชน์กับประชาชนทั้งหมด ทั้งประชาชนทั่วไปและกับศิลปินซึ่งก็เป็นประชาชนเช่นกัน เมื่อศิลปินผลิตผลงานศิลปะซึ่งถือเป็นผลผลิตทางด้านวัฒนธรรมออกมา รัฐควรต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านนี้ไว้รองรับ ประชาชนจะได้มาศึกษาและเก็บเกี่ยวไปต่อยอด เหมือนเป็นการกินอาหารในด้านความคิดสร้างสรรค์และจิตวิญญาณ นี่คือคำตอบว่าเราสร้างหอศิลป์ไว้เพื่ออะไร ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะต้องมีสถานที่เก็บรักษา และจัดแสดงงานศิลปะของเราให้เป็นที่เป็นทาง ถ้าวันนี้เรายังไม่ให้ความสำคัญ ปล่อยให้มีคนเอาหอศิลป์ไปอยู่ในศูนย์การค้าได้ ในอนาคตถ้าหากมีใครเสนอให้เอาวัดไปอยู่ในศูนย์การค้า ก็คงไม่มีใครคัดค้าน 
     "สิ่งที่เราต้องการคือการประชาพิจารณ์ และเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส โครงการใหม่นี้จริง ๆ แล้วเป็นมาอย่างไร ประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือ ที่ว่าได้ฟรีได้จริงหรือเปล่า และโครงการเดิมนั้นไม่ชอบมาพากลจริงหรือไม่ หากเห็นว่ามีเงื่อนงำ ทำไมผู้ว่าฯ ไม่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเสียแต่แรก ตรวจหาข้อทุจริตและดำเนินการไป หรืออย่างน้อยหากผู้ว่าฯ ไม่เห็นด้วยกับโครงการเดิมก็ให้พักโครงการไปก่อน ปล่อยให้เป็นที่สาธารณะ ประชาชนก็ยังเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ แต่นี่ท่านกลับเลือกที่จะล้มโครงการเดิมแล้วเอาโครงการใหม่มาแทน หากผู้ว่าฯ ยังคงดึงดันไม่ยอมทำประชาพิจารณ์ ก็น่ากลัวว่าความขัดแย้งที่มีอยู่แล้วจะบานปลาย ซึ่งอาจจะนำไปสู่การประท้วงต่าง ๆ เหมือนกรณีอื่น ๆ ที่เคยเกิดขึ้น
     "ในทางกฎหมาย ผู้ว่าฯ อาจจะมีสิทธิ์ มีอำนาจในการตัดสินใจ แต่ในทางสังคมท่านไม่มีสิทธิ์ การที่ท่านยังดึงดันที่จะทำโดยไม่ฟังเสียงใครทั้งนั้น ถือเป็นการดูถูกประชาชน ไม่ฟังเสียงประชาชน และไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ให้สิทธิ์ประชาชนในการปกป้องศิลปะวัฒนธรรม การอ้างว่าประชาชนเลือกท่านมา ท่านจึงมีสิทธิ์จะทำอะไรก็ได้ แสดงว่าท่านยังไม่เข้าใจวิถีประชาธิปไตย ไม่เข้าใจว่าการบริหารบ้านเมืองนั้นต้องรับฟังประชาชน ประชาธิปไตยไม่ได้ให้สิทธิ์เด็ดขาดแก่ท่าน ที่จะทำอะไรก็ได้ในแผ่นดินกรุงเทพฯ ประชาชนเลือกท่านมาเป็นผู้ว่าฯ ไม่ได้ให้เข้ามาเป็นเจ้าของกรุงเทพฯ การไม่ยอมให้มีการประชาพิจารณ์ มันบ่งบอกว่าไม่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และส่อให้เห็นว่าอาจมีนอกมีใน จึงไม่ยินยอมให้ทำประชาพิจารณ์
     "ที่บอกว่าอาคารหลังเดิมออกแบบมาเป็นถังน้ำ ๒๐๐ ลิตรนั้น คงต้องถือเป็นรสนิยมของคุณสมัคร ซึ่งก็เป็นแค่คนคนหนึ่ง ถ้าไม่ชอบหรือเห็นเป็นถัง ๒๐๐ ลิตรนั่นก็เป็นเรื่องของคุณสมัคร แต่ว่าแนวความคิดนี้ได้ผ่านการประกวด ผ่านการตัดสินจากคณะกรรมการจากหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐและเอกชน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากรัฐบาลฝรั่งเศสอีกด้วย โครงการเดิมเป็นบทสรุปของหอศิลป์ร่วมสมัยที่ดี และน่าพึงพอใจสำหรับวงเงินงบประมาณ ๓๐๐ ล้านบาท และเป็นสิ่งที่ผ่านการระดมความคิดจากหลาย ๆ ฝ่ายกว่าที่โครงการนี้จะเป็นรูปร่างออกมา เพราะฉะนั้นจะเอาทัศนะของคนคนเดียวมาล้มโครงการไม่ได้"
  อ่านฝ่ายสนับสนุน คลิกที่นี่
สมัคร สุนทรเวช
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

click hereอ่าน (ฝ่ายสนับสนุน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !


แ ส ด ง ค ว า ม คิ ด เ ห็ น เ พิ่ ม เ ติ ม

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม: *
*