เดชรัต สุขกำเนิด
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
-
การมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง
มากเกินไป มันกลายเป็นภาระ เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ
-
ไม่จำเป็นต้องเพิ่ม
กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง แต่ที่พยายามจะเพิ่มกันนั้น
เป็นเพราะไปทำสัญญา
กับโรงไฟฟ้าเอกชนไว้
-
ต่างประเทศพยายาม
ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว โดยลดการใช้พลังงานลง แต่ไทยกลับใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ในการผลิตรายได้เท่าเดิม
-
ที่น่าห่วงคือการจะใช้
ระบบการแข่งขันเสรี มาเป็นตัวจัดการ
เพราะนอกจาก
อาจจะมีการฮั้วกันแล้ว ในการแข่งขัน
ผู้ผลิตอาจคิดแต่ราคา
ที่เป็นต้นทุนของเขา
ไม่ได้คิดถึงต้นทุน
ที่กระทบต่อผู้อื่น เช่นต้นทุนด้านสังคม - สิ่งแวดล้อม
|
|
"การลงทุนล้นเกินในระบบพลังงานมีมานานแล้ว
แต่การที่สำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ยังพยายามจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันมันก็มากเกินไปอยู่นั้น เกิดจากสามส่วน คือ
"ส่วนที่ ๑ มันเป็นความเชื่อเดิมที่ว่า
ต้องมีพลังงานไฟฟ้าเป็นฐาน
ของการพัฒนาเศรษฐกิจ
ที่ผ่านมาเราเน้นเรื่องให้มีกำลังการผลิต
หรืออุปทานให้เพียงพอกับอุปสงค์ เพราะเชื่อว่าต้องมีพลังงานสำรองไว้ก่อน เศรษฐกิจจะได้เติบโต
โดยไม่ได้คิดในมุมกลับว่า
การมีมากเกินไปมันจะกลายเป็นภาระ และเป็นการไปจำกัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วย ฐานคิดแบบนี้เปรียบเหมือนความเชื่อ ซึ่งคงเป็นเพราะทุก ๆ ฝ่ายต่างก็เชื่อว่ามันคงต้องเป็นอย่างนั้น
"กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่เราคิดว่าน่าจะเหมาะสม อยู่ที่ร้อยละ ๑๕ แต่ในปี ๒๕๔๔ ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองอยู่ถึงร้อยละ ๓๐ และในปี ๒๕๔๕ ก็จะขึ้นไปถึงร้อยละ ๔๐ ซึ่งมันมากเกินไป ที่ผ่านมาในบางช่วงที่ไม่มีการใช้ไฟฟ้ามาก กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองสูงถึง ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ เมกะวัตต์ เท่ากับเขื่อนปากมูล ๒๙ เขื่อน ถ้าเทียบกับโรงไฟฟ้าบ่อนอก หินกรูด ก็ประมาณสองเท่า ปี ๒๕๔๓ เรามีภาระจากกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองทั้งหมด ๑ หมื่นกว่าล้านบาท มันเป็นภาระที่ไปซ่อนอยู่ในค่าไฟ ๑๒ สตางค์ต่อหน่วย หรือประมาณร้อยละ ๕ ที่ผู้บริโภคต้องจ่ายไปฟรี ๆ ซึ่งทำให้เราเสียโอกาสในการที่จะนำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนในด้านอื่น ๆ ตรงนี้จึงมีคำถามว่าการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองมาก ๆ แล้วจะไปกระตุ้นเศรษฐกิจจริงหรือ
"ส่วนที่ ๒ คือ การพยากรณ์แบบที่ว่านี้ไม่ได้เปิดทางเลือกอื่น ๆ ให้ผู้บริโภค บอกแต่ว่าคุณต้องมีโรงไฟฟ้า ต้องเสียสละ ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราอย่างนี้ ไม่เคยบอกว่าถ้าลดกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองลงมาได้ ภาระมันจะลดลงมาได้แค่ไหน และตลอดมาก็มีความพยายามที่จะให้มีการพยากรณ์ให้สูงเข้าไว้ ซึ่งทั้งสองส่วนที่ว่ามานี้สำเร็จได้ด้วยส่วนที่ ๓ คือ เรื่องระบบราคา
"ระบบราคาเป็นการคิดราคาบนฐานของต้นทุน พูดง่าย ๆ ก็คือว่า คุณมีต้นทุนเท่าไร คุณก็สามารถที่จะผลักภาระลงไปในค่าไฟฟ้าฐานและค่าไฟฟ้าผันแปร ที่เรียกว่า ค่าเอฟที ให้ผู้บริโภคได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นถ้ามีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองเกินไปจากปริมาณที่คิดว่าเหมาะสม อันเนื่องมาจากการพยากรณ์ผิดพลาด ผู้บริโภคก็ต้องรับผิดชอบทั้งหมด ไม่มีกลไกอะไรที่จะตรวจสอบย้อนกลับมาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาด และการลงทุนล้นเกินที่เกิดขึ้น
"เรื่องไฟฟ้าจึงเป็นลักษณะของการวางแผนโดยหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ สพช. และ กฟผ. พยากรณ์เอง ไปลงทุนทำสัญญากับบริษัทเอกชนเอง ซึ่งถ้ามันไม่เป็นไปตามนั้นผู้บริโภคก็ต้องเป็นคนจ่าย ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว รัฐบาลก็เชิญชวนผู้เล่นใหม่ คือโรงไฟฟ้าเอกชน เข้ามารับสัมปทานสร้างโรงไฟฟ้า ปัญหามันก็เลยยิ่งซับซ้อนหนักขึ้นไปอีก ในการทำสัญญา บริษัทเอกชนก็เลือกพื้นที่เอง พิจารณาเลือกเชื้อเพลิงเอง ซึ่งด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดปัญหากับประชาชนในพื้นที่ เหมือนกรณีโรงไฟฟ้าบ่อนอก หินกรูด
"ปี ๒๕๔๑-๒๕๔๔ มีภาระจากกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองเกินอยู่ร้อยละ ๑๕ เท่ากับ ๓๓,๐๐๐ ล้านบาท ถ้าไม่ลดกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองลง ปี ๒๕๔๕-๒๕๕๑ จะมีภาระทั้งหมดประมาณ ๖ หมื่นกว่าล้านบาท ภาระเหล่านี้คือสิ่งที่เราทำสัญญากับทางโรงไฟฟ้าหินกรูดและบ่อนอกไว้ คือถ้าเขาสร้างโรงไฟฟ้าเสร็จ เราก็ต้องชำระส่วนที่เรียกว่า "ค่าความพร้อมจ่าย" ประมาณ ๑๘,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี จากตัวเลขชุดนี้ถ้าเราเห็นว่าลำพังปี ๒๕๔๙ มีกำลังการผลิตเกิน ก็ไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหินกรูด บ่อนอก การยกเลิกสัญญาและต้องเสียค่าปรับซึ่งประมาณกันว่าอยู่ที่ ๖,๐๐๐-๘,๐๐๐ ล้านบาทก็ไม่เป็นปัญหาเลย เพราะถ้าคุณไม่เลิก คุณต้องจ่ายปีละ ๑๘,๐๐๐ ล้านบาท และยังมีสัญญาในลักษณะนี้อีกมาก เช่นโรงไฟฟ้าที่ราชบุรีเราก็ต้องจ่ายแบบนี้ เดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๔๔
เราต้องจ่ายค่าไฟสูงขึ้น
ก็เป็นเพราะโรงไฟฟ้าราชบุรีเข้าสู่ระบบ แต่เมื่อมีการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ มันก็จะถูกกลบเกลื่อนด้วยการทำให้ยุ่งยาก ให้เข้าใจยาก ด้วยเรื่องเทคนิคที่ชาวบ้านฟังอย่างไรก็ไม่เข้าใจ หรือการโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"ที่เราเสนอว่าถ้าไม่สร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก หินกรูด จะมีทางเลือกใดที่น่าจะทำได้บ้าง อันที่ ๑ คือ โรงไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก ๓๐๐ เมกะวัตต์ อันที่ ๒ คือ โรงไฟฟ้าเก่าของการไฟฟ้าฯ ที่สามารถปรับปรุงได้อีกประมาณ ๔,๐๐๐ เมกะวัตต์ แต่การไฟฟ้าฯ ประกาศว่าผลิตได้ประมาณ ๕๐๐-๖๐๐ เมกะวัตต์ ทั้งที่ความจริงแล้วถ้าเดินเครื่องเต็มที่ศักยภาพมันมีมากกว่า ๒,๐๐๐ เมกะวัตต์ และยังมีโรงไฟฟ้าอื่นที่เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งมีการถกเถียงเรื่องตัวเลขกันอยู่ คือเรามองว่ามันน่าจะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ ๒,๐๐๐ เมกะวัตต์ แต่ สพช. บอกว่าผลิตได้แค่ ๑,๐๐๐ เมกะวัตต์ แต่ถึงอย่างนั้น ๑,๐๐๐
เมกะวัตต์นี้
ก็เพียงพอเมื่อรวมกับการขยายโรงไฟฟ้าราชบุรี
ที่ผลิตได้อีก ๑,๐๐๐ เมกะวัตต์ เราจึงเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าบ่อนอก หินกรูด และไม่จำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง แต่ที่พยายามจะเพิ่มกันนั้นเป็นเพราะเราไปทำสัญญากับเขาไว้ ซึ่งในการเซ็นสัญญากับเอกชน รัฐบาลก็เข้าไปค้ำประกันรายได้ไว้หมดแล้ว ทั้งในด้านราคาและปริมาณการรับซื้อ ผู้ลงทุนเหล่านี้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่โดยที่ไม่ต้องมีภาระความเสี่ยง มันจึงเป็นแรงจูงใจให้เอกชนอยากจะมาลงทุนมากขึ้น แต่เงินที่เอามาจ่ายให้ผู้ลงทุนก็คือค่าไฟจากผู้บริโภคนั่นเอง ผู้เล่นรายใหม่นี่เองที่ทำให้เรื่องกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะรัฐบาลก็จะอ้างว่ามันเป็นสัญญาทางธุรกิจ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ต้องรับผิดชอบ
"ถ้าวิเคราะห์ในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว จะมองเห็นว่าโรงไฟฟ้าเอกชน พยายามที่จะให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองส่วนเกินมากขึ้น เพราะมันเอื้อประโยชน์ให้เขาอยู่ ในแผนการจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าในปีล่าสุด สพช. และการไฟฟ้าฯ ยังมีแนวคิดที่จะปิดโรงไฟฟ้าของตัวเองให้เร็วขึ้น รวมถึงชะลอโครงการต่าง ๆ ของการไฟฟ้าฯ เพื่อที่จะคงการรับซื้อของเอกชนเอาไว้ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลดีเพราะถ้าปิดซ่อมก็จะได้ปรับปรุงประสิทธิภาพ แต่อีกส่วนหนึ่งที่ต้องปิด ก็เพื่อจะได้ไปรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนแทน ซึ่งตรงนี้จะเป็นปัญหามากขึ้น เพราะเท่ากับว่าค่าไฟฟ้าที่ผู้บริโภคจ่ายอยู่นั้น กลายเป็นการจ่ายให้แก่โรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯ ที่ไม่ได้เดินเครื่อง
"ปัญหาเรื่องการจัดการพลังงานไฟฟ้ามีอยู่หลายประการ ประการที่ ๑ คือ
การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า
ที่ไม่เคยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
หรือรับทราบเลย ประการที่ ๒ การวางแผนกำลังการผลิตมันอยู่ในมือของรัฐบาลเท่านั้น หลังจากพยากรณ์แล้วก็ไปวางแผนการผลิตเอง โดยไม่ได้แสดงให้ประชาชนได้รับรู้เลยว่า มีทางเลือกอะไรบ้าง เช่น เราไม่เคยรู้ว่า ระหว่างปิดโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯ แต่ยังคงจะรับซื้อไฟฟ้าของเอกชนที่บ่อนอกและหินกรูดไว้ กับยกเลิกสัญญาโรงไฟฟ้าบ่อนอก หินกรูด แต่คงโรงไฟฟ้าเดิมไว้ สองทางเลือกนี้อันไหนจะดีกว่ากัน ทางเลือกไหนทำให้เรามีภาระมากกว่ากัน ซึ่งเขาก็ไม่ทำ
"ประการที่ ๓ การเลือกที่ตั้งโครงการหรือเทคโนโลยีที่ใช้ มันถูกกำหนดมาจากฝั่งเจ้าของโครงการ
เป็นการนำการตัดสินใจของเจ้าของโครงการ
หรือของเอกชนมาเป็นตัวกำหนดทางเลือกของสังคม ไม่ได้วางแผนจากทางเลือกทั้งหมดที่เรามีอยู่ เจ้าของโครงการเขาซื้อที่ไว้แล้ว ตัดสินไว้แล้ว แล้วเราก็เลือกจากสิ่งที่เขาเสนอมา ซึ่งพอโครงการเข้ามาอยู่ในแผนแล้ว มันก็ถอดไม่ออกและพยายามดันกันต่อไป
"ประการที่ ๔ ระบบการคิดค่าไฟฟ้า เท่าที่เป็นอยู่มันเป็นระบบที่เอื้อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยากรณ์ยังไงก็ได้ วางแผนยังไงก็ได้ จะเลือกอย่างไรก็ได้ เพราะสุดท้ายแล้วผู้บริโภครองรับอยู่ และประการที่ ๕ ก็คือ หลังจากตัดสินใจจะทำแล้ว พอมาถึงการทำอีไอเอ ประชาชนก็ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม และถ้ามันเกิดความผิดพลาดขึ้นมา ก็ไม่มีกลไกที่จะตรวจสอบ และไม่รู้ว่าความรับผิดชอบจะอยู่ที่ใคร
"วงจรที่เกิดขึ้นนี้ คือ พยากรณ์เอง วางแผนเอง เลือกที่ตั้งเอง ตัดสินใจเอง กำหนดราคาเอง แล้วก็ทำอีไอเอเอง สุดท้ายผู้บริโภคและประชาชนก็ตาย ไม่มีทางเลือก และที่สำคัญไม่มีระบบข้อมูลย้อนกลับหรือ feedback information ที่จะบอกว่า ที่คุณทำไปอย่างนี้มันใช้ไม่ได้ เรารับภาระไม่ไหว ที่ผ่านมาเมื่อผู้บริโภคเริ่มโวย เสนอทางเลือกอื่น เรียกร้องให้มีการทบทวนหรืออะไรต่างๆ เรื่องก็จะถูกกลบ ถูกสยบ ด้วยการทำให้เป็นเรื่องทางเทคนิค มีกระบวนการและวิธีที่จะกีดกัน ไม่ให้ข้อมูลหรือสิ่งที่ชาวบ้าน หรือประชาชนเรียกร้อง เข้าไปมีส่วนร่วม หรือเป็นฐานข้อมูลในการพยากรณ์ และวางแผนครั้งใหม่
"เราไม่ได้ค้านการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง แต่เราต้องมาดูว่ามันควรจะมีเท่าไร และจำเป็นที่จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๓๐ อย่างที่ทาง สพช. วางแผนไว้หรือไม่ ที่ผ่านมาฐานของการพยากรณ์ผิดพลาดมาตลอด ในช่วงของแผนฯ ๙ เศรษฐกิจของเราน่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ ๒-๓ เท่านั้น คงไม่ถึง ๔.๗ เพราะตลาดโลกมันไม่เอื้ออำนวย ฉะนั้นจึงต้องมีการปรับค่าการพยากรณ์ลงมา โครงการโรงไฟฟ้าของเอกชนในส่วนที่เกิน และไม่มีความจำเป็นต้องเอาออกไป กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่ร้อยละ ๑๕ เป็นสัดส่วนที่ได้คำนวณแล้วว่าเพียงพอ ซึ่งถ้าเกินกว่านั้นมันจะกลายเป็นภาระ สพช. ควรจะพูดออกมาเลยว่าถ้าจะต้องมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองเพิ่มขึ้น จะต้องมีเท่าไร คำนวณออกมาว่ามันเป็นภาระเท่าไร และถ้าปรับตัวเลขลง ภาระจะเป็นเท่าไร แล้วให้ประชาชนหรือผู้บริโภคตัดสินใจว่าพอจะรับภาระในระดับนั้นได้หรือไม่ รัฐบาลต้องให้ข้อมูลที่ครบทุกด้าน ปัจจุบันรัฐบาลก็ยังไม่ยอมที่จะพูดถึงข้อมูลชุดนี้ มักจะเบี่ยงเบนไปว่า คุณไปเอาข้อมูล ไปเอาตัวเลขมาจากไหน แต่ไม่ได้สนใจในประเด็นหลัก
"ขณะที่ต่างประเทศเขาพยายามที่จะให้เศรษฐกิจขยายตัว
โดยที่ความต้องการใช้พลังงานไม่เพิ่มขึ้นหรือลดการใช้พลังงานลง
จะเห็นได้ว่า
เขาพยายามทำให้การใช้พลังงานต่อหน่วยรายได้ประชาชาติของเขา
คงที่หรือลดลง โดยลดความต้องการใช้ในส่วนที่ไม่จำเป็น ปรับปรุงประสิทธิภาพ และเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทน แต่ประเทศไทยกลับเชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ ต้องมีการใช้พลังงานมากขึ้น ปัจจุบันเราก็ใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ในการที่จะผลิตรายได้จำนวนเท่าเดิม ซึ่งแปลว่าการใช้พลังงานของเราไม่มีประสิทธิภาพ สพช. บอกว่าเรายังใช้ไฟฟ้าน้อยอยู่ จำเป็นต้องใช้มากขึ้น แต่ไม่ได้ดูว่าการใช้ไฟฟ้าของเรา มันมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน เหล่านี้มันสะท้อนความคิดที่แตกต่างกัน ด้านการจัดการพลังงาน
"สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากก็คือการที่ สพช. จะใช้ระบบการแข่งขันเสรี หรือเพาเวอร์พูลมาเป็นตัวจัดการ ในทางทฤษฎีเชื่อว่าหากมีผู้เสนอขายหลายรายแข่งกัน ผู้บริโภคก็จะได้เลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำที่สุด แต่ในทางปฏิบัติ มีผู้ผลิตไม่กี่รายและก็มีการถือหุ้นไขว้กันด้วย มันจึงเสี่ยงมาก ที่จะทำให้เกิดการฮั้ว หรือการผูกขาดในระบบ ในขณะที่ผู้บริโภคเองก็กระจัดกระจายมาก องค์กรที่จะมาตรวจสอบ มากำกับดูแลในลักษณะนี้ ก็ยังไม่เข้มแข็ง และเรายังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนมากพอ ที่จะตรวจสอบผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน
"ตลาดไฟฟ้ายังไงมันก็เป็นการผูกขาดโดยปริยาย การแข่งขันกันในตลาด บริษัทเอกชนอาจคิดถึงราคาที่เป็นต้นทุนของเขา แต่ไม่ได้คิดต้นทุนที่เป็นผลกระทบกับผู้อื่น เช่น ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ต้นทุนทางสังคมอื่น ๆ เพราะฉะนั้นเขาอาจจะเลือกเทคโนโลยีที่มันถูกในแง่ธุรกิจ แต่มันแพงในแง่สังคมสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลไกการตลาดไม่มีทางที่จะเข้ามาจัดการได้เลย และหลาย ๆ ประเทศที่ใช้ระบบเพาเวอร์พูลก็ปรากฏว่า พลังงานทางเลือก หรือ DSM มันหยุดหมดเลย เพราะมันไม่สามารถที่จะเข้าไปแข่งขันได้โดยตรง กับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ผมคิดว่ายังเร็วเกินไป และยังไม่รอบคอบเพียงพอที่บ้านเราจะเข้าไปสู่ระบบตลาด เราจำเป็นที่ต้องมาคิดกันอีกมาก และรัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้เราร่วมกันคิดมากกว่าที่เป็นอยู่"
|