|
|||||||||||||
ประเทศไทย คนไทย กับ "ค่าความพร้อมจ่าย" ในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง |
||||||||||||||
(ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณ คลิกที่นี่) เกษร สิทธิหนิ้ว : รายงาน / ภาพ |
||||||||||||||
เรื่องมันคงจะไม่ยุ่งยากซับซ้อน หากความจริงเกี่ยวกับการมี "กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง" จะมีเพียงด้านที่เป็นข้อมูลเชิงบวก เช่นว่า - ผู้บริโภคจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเต็มที่ - ระบบพลังงานมั่นคง ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมในประเทศ - รัฐบาลไม่ต้องเสียงบประมาณ ในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าเอง ทว่าความจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ การมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองนับเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้บริโภคเช่นกัน เพราะไม่ว่าโรงไฟฟ้าที่จัดหามาเพื่อ "สำรอง" กำลังการผลิตไฟฟ้าให้พอเพียงตามแผนที่วางไว้ จะได้ใช้จริงหรือไม่ ผู้บริโภคไฟฟ้าทุกคนต่างต้องร่วมกันรับผิดชอบในนาม "ค่าความพร้อมจ่าย" ซึ่งก็คือ ค่าออกแบบ จัดจ้าง จัดซื้อ ก่อสร้าง ทดสอบ เดินเครื่อง บำรุงรักษา รวมไปถึงดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายคงที่อื่น ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งโรงไฟฟ้าที่พร้อมผลิตกระแสไฟฟ้าทันที ด้วยเหตุนี้ การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า และการคำนวณกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง ที่ถูกต้องใกล้เคียงความเป็นจริง จึงมีความสำคัญยิ่ง ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี ๒๕๔๐ และทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลง ส่งผลให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงกว่าค่าที่พยากรณ์ไว้มาก แม้สำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ซึ่งกำกับดูแลด้านการพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า จะเสนอให้ลดกำลังการผลิตในส่วนโรงไฟฟ้า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงกว่า ๓,๐๐๐ เมกะวัตต์ ตั้งแต่ก่อนปี ๒๕๔๒ โดยชะลอและยกเลิกโครงการใหม่ที่อยู่ในแผน หรืออยู่ระหว่างการดำเนินการ ๔ โครงการ คือ โรงไฟฟ้าราชบุรี, สุราษฎร์ธานี, ทับสะแก และกระบี่ และลดกำลังการผลิตหรือปิดโรงไฟฟ้าที่ใช้งานอยู่เดิม อันได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนบางปะกง ๑-๔, โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ ๑-๓ และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ทว่าปริมาณกำลังการผลิตสำรองก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมนัก เนื่องจาก กฟผ. ยังคงต้องรับซื้อไฟจากโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (ไอพีพี) และโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (เอสพีพี) เข้าระบบตามสัญญาที่ทำไว้ก่อนหน้าแล้ว ปี ๒๕๔๓ ซึ่งมีการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าไว้ที่ ๑๙,๖๕๘ เมกะวัตต์ พบว่ามีการใช้จริงเพียง ๑๔,๙๑๘.๓ เมกะวัตต์เท่านั้น ผลต่าง ๔,๗๓๙.๗ เมกะวัตต์ที่เหลือเกินมานี้ คิดเป็นร้อยละ ๓๑.๘ และก่อนหน้านี้คือในปี ๒๕๔๒ ก็มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเกินอยู่ถึงร้อยละ ๓๑.๓ ถึงปัจจุบัน กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง ก็ยังคงเกินความต้องการใช้จริงอยู่ราวร้อยละ ๓๐ แม้ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นตัวเลขที่หลายฝ่ายมองว่าสูงเกินไป แต่ สพช. ก็ยังต้องการให้คงปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง ไว้ที่ร้อยละ ๓๐ โดยเปิดทางให้โรงไฟฟ้าเอกชน เข้ามาแบ่งพื้นที่การผลิต ขณะเดียวกันก็ชะลอและยกเลิกโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เองลงไป การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในแง่ปริมาณกำลังการผลิตสำรองที่สูงเกินไป และการวางแผนกำลังการผลิตว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง ในระดับร้อยละ ๓๐ มองว่าปริมาณสำรองที่เหมาะสม น่าจะอยู่ที่ร้อยละ ๑๕ เท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนเพิ่ม ทั้งยังได้เสนอให้ปรับลดปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง ด้วยวิธีต่าง ๆ ในขณะที่ สพช. และ กฟผ. ก็ยังคงยืนยันว่า แนวทางที่ทำอยู่ตอนนี้เหมาะสมและรัดกุมที่สุดแล้ว ขณะที่ยังไม่มีบทสรุปที่แน่ชัดว่า จะเพิ่มหรือลดปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง เราในฐานะ "ผู้บริโภค" ที่ต้องร่วมรับภาระเหล่านี้ด้วย จึงจำเป็นที่จะต้องติดตามและตรวจสอบในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และในนามของ "พลังมหาชน" การใส่ใจและร่วมตรวจสอบในเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นไปเพียงเพราะมันเกี่ยวข้องกับตัวเลขในบิลค่าไฟฟ้า ที่เราทุกคนต้องรับผิดชอบเท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องกับต้นทุนด้านสังคมวัฒนธรรม ที่ไม่ได้ถูกประเมินไว้ใน "ค่าความพร้อมจ่าย" อีกมากมายมหาศาลด้วย ร่วมแสดงความคิดเห็น สนับสนุน หรือ คัดค้าน ! |
||||||||||||||
|
||||||||||||||
แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !
ต้องการ แสดงความคิดเห็นเพิ่ม คลิกที่นี่
พบเห็น ข้อความไม่เหมาะสม กรุณาช่วยกันแจ้ง ผู้ดูแลเว็ป (WebMaster) ขอบคุณครับ
คิดว่ากลุ่มสองกลุ่มกำลังพูดเรื่องเดียวกันแต่คนละแง่มุมกัน ฝ่ายหนึ่งพูดแต่เรื่องเงิน ทุน เศรษฐกิจ อีกฝ่ายพูดในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและสังคม ฉันคิดว่าฝ่ายคัดค้านลองคำนวนค่าเสียหายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมออกมาเป็นตัวเงินดูสิ มันคงมากมายมหาศาลทีเดียว ในเมื่ออีกฝ่ายเห็นความสำคัญของเงินมากๆเราก็จำเป็นต้องพูดเรื่องเดียวกับเขาเผื่อว่าเขาจะเข้าในอะไรขึ้นมาบ้างน่ะค่ะ
วิชยาภรณ์ บรรจุทรัพย์ <moon_fat@hotmail.com>
- Tuesday, April 23, 2002 at 02:01:25 (EDT)
ก็โกหกกันมาตลอดเรื่องพลังงานสำรอง ปัจจุบันผลประโยชน์ชาติอยู่ในเมืองนักการเมืองและนักวิชาการขายตัวเกือบหมด
บูรพิศ สกรณีย์ <ิีburapis@yahoo.com>
- Friday, March 22, 2002 at 16:01:24 (EST)
ิอยากจะให้ทุกฝ่ายหันมาเข้าหากัน หยิบยกข้อมูลมาพูดคุยกัน ลดทิฐิมานะลง โดยยกเอาผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งเชื่อว่าจะสามารถหาข้อยุติได้
สาธิต ระยอง
- Tuesday, March 05, 2002 at 02:20:37 (EST)