สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๕ เดือน มีนาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๕ เดือน มีนาคม ๒๕๔๔ "ที่นี่กรุงเทพฯ ๒๐๐๒"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๔ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕  
ให้ คู่มือวัยใส สอนเพศศึกษา
(ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณ คลิกที่นี่)
เกษร สิทธิหนิ้ว : รายงาน / บุญกิจ สุทธิญาณานนท์ : ถ่ายภาพ

คั ด ค้ า น

ศ.นพ. นิกร ดุสิตสิน  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเพศศาสตร์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.นพ. นิกร ดุสิตสิน
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย และพัฒนาเพศศาสตร์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ปัญหาเรื่องเพศศึกษา มีสาเหตุสามประการ คือ ตัวเด็กเอง สื่อต่าง ๆ และปัจจัยภายนอก เช่น โลกาภิวัตน์ ธุรกิจ โอกาสและสถานที่ที่เป็นใจ

  • เนื้อหาที่อยู่ใน คู่มือวัยใส เหมาะสำหรับเด็กโต หรือเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ไม่เหมาะกับเด็กทุกวัย อาจจะเป็นการ ชี้โพรงให้กระรอก

  • ควรมีภาษากลาง ใช้ในการสอนเพศศึกษา ที่คนทุกวัยจะใช้ด้วยกันได้ แต่ผู้สอนต้องรู้ภาษา ที่วัยรุ่นนิยมใช้กันด้วย

  • การคิดคำใช้กันเอง เช่น เจ้าโลก มังกร จะส่งผลต่อความคิด ความเชื่อบางอย่าง เช่น เชื่อว่าเจ้าโลกต้องใหญ่จึงจะดี ทำให้ผู้ชายบางคนมีความคิด ที่จะไปฉีดยาให้ใหญ่ขึ้น หรือทำอะไรที่ผิด ๆ

     "ปัญหาเรื่องเพศศึกษาในวัยรุ่น มีสาเหตุจากสามประการ หนึ่ง เป็นปัญหาจากตัวเด็กเอง การที่เด็กเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็ว เด็กหญิงบางคนอายุ ๙ ปี ๑๐ ปีก็มีประจำเดือนแล้ว แต่วุฒิภาวะทางจิตใจไม่ได้พัฒนาไปด้วย คือโตแต่ตัว จึงทำให้มีปัญหาได้ การขาดความรู้เรื่องเพศศึกษา ทำให้เด็กต้องเรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ และจากกลุ่มเพื่อน เด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีความสุข ขาดความอบอุ่น มีความเอนเอียงที่จะไปในทางที่ไม่ดี
     "สองคือ ปัจจัยจากสื่อต่าง ๆ ที่รับมาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น วิดีโอ หนังสือโป๊ ภาพเปลือย โฆษณา การ์ตูน โทรทัศน์ วิทยุ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตที่แพร่หลายไปทั่วโลก
     "สามคือปัจจัยจากภายนอก เช่นเรื่องธุรกิจ ที่มักเอาร่างกายมาเป็นเครื่องล่อ ในทีวีเราก็จะพบว่าเอาผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อยมาเป็นตัวล่อ เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ชายเกิดอารมณ์ทางเพศ ปัจจุบันมีสถานที่จำนวนมาก ที่เอื้อโอกาสให้เด็กอยู่ในสถานการณ์ล่อแหลม ต่อการมีเพศสัมพันธ์กันง่าย ทั้งที่โล่งแจ้งเช่นศูนย์การค้า ร้านอาหารที่ให้นั่งคุยกัน สถานที่กึ่งลับกึ่งแจ้ง เช่นโรงภาพยนตร์ อีกประเภทคือสถานบันเทิง ที่เปิดบริการให้เวลากลางคืน เด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ก็ไปกัน ก็เป็นปัจจัยอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้เกิดปัญหาพวกนี้ สมัยก่อนไม่ค่อยมีสถานที่อย่างนี้ โอกาสที่หญิงชายจะไปไหนกันสองต่อสองมีน้อยมาก สุดท้ายคือยาบ้า ยาปลุกเซ็กซ์ ที่เด็กอาจได้รับโดยไม่รู้ตัว เมื่อเข้าไปในสถานที่เหล่านี้ 
     "ถ้าถามว่าในสังคมไทยหยิบเรื่องเพศศึกษามาพูดกันมากน้อยแค่ไหน มันก็แล้วแต่บ้าน แต่ละครอบครัว แต่ส่วนใหญ่พ่อแม่มักไม่เห็นความจำเป็น ว่าจะต้องคุยเรื่องเพศศึกษากับลูก และคิดว่าเด็กยังไม่ควรรู้เรื่องนี้ จริง ๆ แล้วเพศศึกษาก็คือการที่เราต้องรู้จักตัวเอง ตั้งแต่เด็กจนผู้ใหญ่ ร่างกายเรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังสอนให้รู้เกี่ยวกับพื้นฐานทางอารมณ์ พฤติกรรมต่าง ๆ ของเรา ทำอย่างไรให้เราเข้าใจเรื่องเหล่านี้ที่สุด นี่คือเพศศึกษาแบบกว้าง ๆ
     "ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษา ในโรงเรียนไม่ได้สอนจริงจัง แม้ว่าจะมีหลักสูตรอยู่แต่ก็เป็นเรื่องทางสรีรวิทยา ครูที่สอนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยกล้าพูด เพราะมันสอนยาก การสอนควรจะสอนให้เข้าใจจริง มีทัศนคติที่ดี มีเจตคติที่ดี เพื่อจะนำเข้าสู่ความเข้าใจทางเพศที่ดีด้วย การสอนเพศศึกษาควรจะมีทุกระดับ ควรมีชั่วโมงที่คุยกันได้ เป็นชั้นเล็ก ๆ กลุ่มเล็ก ๆ ได้คุยและแลกเปลี่ยนกันอย่างทั่วถึง แต่ความจริงก็คือสังคมไทยยังไม่กล้าคุยเรื่องเหล่านี้ แม้แต่คู่สามีภรรยาก็ยังไม่กล้าคุย ถ้ายังกลัวและคิดว่าเป็นเรื่องหยาบคาย ก็ไม่สามารถสื่อสารกันได้ 
     "เนื้อหาที่อยู่ใน คู่มือวัยใส เป็นเนื้อหาที่เหมาะกับเด็กโต หรือเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพราะใส่เนื้อหาครบทุกอย่างภายในเล่มเดียว จึงไม่เหมาะกับเด็กทุกวัย การจะพูดหรือสอนเพศศึกษา ต้องดูว่าพูดกับใคร พูดกับเด็กเกินไปก็ไม่เหมาะ ไม่เกิดประโยชน์ กลับจะทำให้เด็กสงสัยว่าทำไมต้องเป็นอย่างนั้น เพราะร่างกายยังไม่มีความต้องการ ถ้าพูดกับกลุ่มที่เข้าวัยรุ่นแล้ว มีประสบการณ์แล้ว การอธิบายอย่างตรงไปตรงมาถึงข้อดีข้อเสีย และข้อควรปฏิบัติ ก็เป็นสิ่งดี ถ้าใช้หนังสือคู่มือเล่มนี้โดยมีผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำก็จะดี จะได้ไม่เป็นการเชิญชวน หรือชี้โพรงให้กระรอก อาจจะบอกไปเลยว่า ทำอย่างนี้อันตราย อย่างนี้ไม่อันตราย แค่ไหนพอเหมาะพอควร ทางออกอย่างอื่นคืออะไร ซึ่งในหนังสือ คู่มือวัยใส เขาก็บอก แต่ไม่มีใครอ่านตรงนี้ เพราะฉะนั้นถึงบอกว่าต้องดูว่ากลุ่มไหนที่จะรับสาร
     "ผมเห็นด้วยกับเนื้อหาในส่วนที่พูดถึงการมีความต้องการทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่พร้อม อาจจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะป้องกันอย่างไรถ้าถุงยางขาด การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน แต่การสอนว่าถ้ามีเพศสัมพันธ์ต้องป้องกันอย่างไรบ้าง ถ้าเด็กที่อ่านเป็นพวกที่มีฮอร์โมนแล้ว มันอาจจะอ่านไปคิดไป เป็นการชักจูงใจให้มีเพศสัมพันธ์ คล้ายกับว่าเป็นการชี้โพรงให้กระรอกไป 
     "ถ้าหนังสือไม่ได้แจกแบบเหวี่ยงแหไปทั่ว เราก็ไม่ว่าอะไร แต่ทุกวันนี้กระทรวงศึกษาธิการ หรือองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ดูแลเรื่องนี้ให้เป็นเรื่ององค์รวม หนังสือเล่มนี้มาจากหน่วยงานที่เขาตั้งใจดี มีทุกอย่างอยู่ในนั้นครบหมด แต่ด้วยความรีบร้อน ความไม่รอบคอบ เนื้อหาบางตอนในหนังสืออาจจะไม่ถูกต้องนัก มีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับผิดร้ายแรง แต่ไม่เหมาะ ถ้ามีเวลาเราก็จะเขียนวิจารณ์ส่งไปโดยตรงดีกว่า ไม่อยากพูดผ่านสื่อ
     "เรื่องการใช้ภาษาในสื่อการสอนเรื่องเพศศึกษา เราน่าจะมาตกลงกันว่า เราจะเรียกอวัยวะเพศว่าอย่างไร รวมถึงคำอื่น ๆ ด้วย อย่างเม็ดละมุด ทำไมไม่เรียกแตดไปเลย คำเดียวพอ ต้องกล้าใช้ นมก็นม จะมาเรียกถันบ้าง หน้าอกบ้าง บางทีมันเข้าใจกันยาก ก็ไม่รู้ว่าส่วนไหนของหน้าอก เต้านมก็เต้านม มันน่าจะพูดคำที่เป็นศัพท์กลางไปเลย ไม่เห็นว่ามันจะเสียหายหรือน่าเกลียดตรงไหน ภาษาไทยของเรามีการเปลี่ยนแปลงเสมอ เมื่อก่อนเรียกอวัยวะเพศว่า ปลาสลิด คนก็บอกว่าหยาบ เลยทำให้ชื่อปลาสลิดเป็นคำหยาบ ต้องเลี่ยงไปเรียกให้สุภาพว่า ปลาใบไม้ คำเรียกอวัยวะเพศ บางทีก็เรียกไอ้จิ๋ม ไอ้จู๋ ของฝรั่งเขาเรียกคำเดียวตรงไปตรงมา พีนิส (penis) เราก็น่าจะเรียกตรงไปตรงมาสักคำไปเลย องคชาติ หรือ ลึงค์ ก็ว่าไป แต่เราไม่กล้าเรียก เลี่ยงไปเลี่ยงมา เรียกไม่ถูกสักที ควรจะตกลงกันว่าจะใช้คำไหน แล้วใช้ตลอดไปนะ ไม่ใช่สื่อไปเรียกว่า เจ้าโลก นกเขา มังกรยักษ์ คำพวกนี้ไปตั้งกันเอง ซึ่งอาจจะนำไปสู่พฤติกรรมผิด ๆ บางอย่าง เช่น มังกรต้องใหญ่ เจ้าโลกต้องใหญ่ ทำให้ผู้ชายต้องไปทำอะไรกับองคชาติ ไปฝังมุก ไปฉีดยาเพิ่มขนาดจนมันเน่า ต้องตัดทิ้ง ผมคิดว่ามันมาจากการที่เราไปเรียกชื่ออย่างนี้ด้วย มันจึงต้องเรียกให้ตรงว่าองคชาติ
     "การเขียนให้คนทั่วไปอ่าน ควรจะเป็นคำกลาง อย่างเรามีคำกลางว่า สำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง ใน คู่มือวัยใส ที่เขาสื่อกับวัยรุ่น เขาใช้คำว่า ชักว่าว ตกเบ็ด ซึ่งเป็นคำที่เข้าใจโดยทั่วไป ใช้ได้ ไม่เสียหายอะไร แต่คำว่า ห้ารุมหนึ่ง แม่นางทั้งห้า อะไรพวกนี้ บัญญัติกันขึ้นมาเองโดยคิดว่ามันสุภาพกว่า แต่ความจริงแล้วมันยิ่งไปกันใหญ่เลย และต้องมาอธิบายกันใหม่เลย ในความเห็นของเรา ไม่ควรจะใช้คำที่ตั้งขึ้นมาเอง เช่น นกเขาไม่ขัน มังกร ห้ารุมหนึ่ง" 
 แสดงความคิดที่ สารคดีกระดานข่าว (Sarakadee Board) อ่านฝ่ายสนับสนุน คลิกที่นี่
รุจน์ โกมลบุตร
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

click hereอ่าน (ฝ่ายสนับสนุน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !
ต้องการ แสดงความคิดเห็นเพิ่ม คลิกที่นี่

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม: *
*