สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๗ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๗ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๕ "๑๐ ปี พฤษภาคม ๒๕๓๕ สังคมไทยได้อะไร ?"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๗ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๕  
คั ด ค้ า น

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ผู้อำนวยการเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย
ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
ผู้อำนวยการเครือข่าย แม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย
  • เมื่อแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนา ที่เชื่อว่าเขื่อน จะนำมา ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ผนวกเข้ากับผลประโยชน์แอบแฝง กระแสผลักดัน ให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จึงเป็นไปอย่างรุนแรง

  • รากเหง้าของปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม เกิดจากการที่พื้นที่ชุ่มน้ำ ลุ่มน้ำยมตอนล่างถูกทำลาย ถ้าจะแก้ปัญหา ก็ต้องหยุดการทำลาย พื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้

  • ประเทศที่พัฒนาแล้ว ทยอยทุบเขื่อนทิ้ง เพราะมีประสบการณ์แล้วว่า การสร้างเขื่อนนั้น ไม่คุ้มค่าไม่ว่าจะมองจากด้านไหน

  • พื้นที่สร้างเขื่อน ตั้งอยู่บนบริเวณรอยเลื่อน ของเปลือกโลก ที่ยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ แม้ในทางวิศวกรรม จะสามารถสร้างเขื่อน ให้มีความแข็งแกร่งขนาดไหนก็ได้ แต่คำถาม คือต้องใช้เงินเท่าไร และคุ้มค่าไหม กับผลประโยชน์ที่จะได้รับ

๒๒ ปีแก่งเสือเต้นกับคำถามเดิม : จะเอาเขื่อนหรือเอาป่า ?
(ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณ คลิกที่นี่)
เกษร สิทธิหนิ้ว : รายงาน / วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ภาพ


     "แนวคิดในการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เปลี่ยนจากการอ้างเรื่องเศรษฐกิจ มาเป็นเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยสถานการณ์ภัยแล้ง และน้ำท่วมมาเป็นตัวผลักดัน เช่นเหตุการณ์น้ำท่วมที่อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ และที่บ้านน้ำก้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ปัจจุบันนี้ประเทศที่ยังมีการสร้างเขื่อนมีสองประเภท หนึ่งคือประเทศด้อยพัฒนา ที่ยังมองว่าเขื่อน คือสัญลักษณ์ของการพัฒนาประเทศ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย สองคือประเทศที่เป็นเผด็จการ ส่วนประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเขาไม่สร้างเขื่อนกันแล้ว ไม่ใช่เพราะเขามีเขื่อนมากพอแล้ว แต่เป็นเพราะเขามีประสบการณ์จากการสร้างเขื่อน มีบทเรียน มีการประเมินอย่างรอบด้านแล้ว และตระหนักดีว่ามันไม่คุ้มค่า ทั้งทางสิ่งแวดล้อม ทางเศรษฐศาสตร์ นอกจากนี้ เขายังคำนึงถึงสิทธิของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบด้วย ประเทศเหล่านี้ เป็นเจ้าของเทคโนโลยีในการสร้างเขื่อน แต่เขาก็ยังทยอยรื้อเขื่อนทิ้ง เขื่อนที่หมดอายุมันอันตรายมาก เพราะมันเต็มไปด้วยตะกอน ต้องรื้อทิ้ง อเมริกา แคนาดา และประเทศในยุโรปต่างก็ทยอยทุบเขื่อนทิ้ง ในฝรั่งเศสก็ทยอยรื้อทีละเขื่อนสองเขื่อน แต่เนื่องจากเบื้องหลังแนวคิดในการสร้างเขื่อน คือผลประโยชน์ของกลุ่มอุตสาหกรรมเขื่อนในระดับโลก เพราะฉะนั้นก็เลยยังมีความพยายาม ที่จะผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนต่อไป และพื้นที่ที่ดีที่สุดที่จะไปสร้างเขื่อนได้ในเวลานี้ก็คือ ประเทศด้อยพัฒนาและประเทศที่เป็นเผด็จการ
     "เบื้องหลังการผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนมันมาจากสามกลุ่ม กลุ่มที่ ๑ คือกลุ่มอุตสาหกรรมเขื่อน ในช่วงแรก ๆ ที่โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอยู่ภายใต้โครงการผันน้ำกก อิง ยม น่าน มีบริษัทยักษ์ใหญ่จากยุโรป แคนาดา และออสเตรเลีย เข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นโครงการอิสระ ธนาคารโลกก็เข้าสนับสนุนการศึกษาพิจารณาความเหมาะสมของโครงการ โดยมอบหมายให้องค์การอาหารและเกษตร หรือ FAO ดำเนินโครงการศึกษา
     "กลุ่มที่ ๒ จะเป็นกลุ่มข้าราชการระดับสูง ระดับผู้วางแผนและผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ เช่น นักการเมืองระดับชาติ กลุ่มนี้มองเขื่อนในฐานะที่เป็นเครื่องมือของการพัฒนา บนแนวคิดที่ว่า โครงการยิ่งใหญ่เท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น ความคิดนี้เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากกรมชลประทาน การไฟฟ้าฯ และสภาพัฒน์
     "อีกกลุ่มคือกลุ่มอำนาจท้องถิ่น หรือ Local Power เป็นกลุ่มที่เริ่มเข้ามามีบทบาท ในช่วงที่พลเอกชาติชายมีอำนาจ กลุ่มนี้มีทั้งนักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มธุรกิจท้องถิ่น และกลุ่มจัดตั้งต่าง ๆ เช่น กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่ละกลุ่มก็จะสัมพันธ์กับอำนาจรัฐ หรือไม่ก็เชื่อมกับพรรคการเมืองระดับชาติ เมื่อธนาคารโลกถอนตัวจากเขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะชาวสะเอียบขัดขวางการสำรวจ พวกนี้ก็จะเข้าไปมีบทบาทสูง เขามีแนวคิดว่าหากมีการสร้างเขื่อน ก็จะทำให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัด ซึ่งมันสอดคล้องกับนโยบายรัฐ ที่ต้องการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค แน่นอนว่า การพัฒนาแบบนี้ กลุ่มของตนซึ่งครอบครองเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นจะได้ประโยชน์ กรณีเขื่อนปากมูลชัดเจนมาก เขื่อนแห่งนี้ถูกผลักดันสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย เพื่อพัฒนาอุบลราชธานีให้เป็นประตูสู่อินโดจีน โดยนอกจากจะสร้างเขื่อนปากมูลแล้ว ยังมีการสร้างสนามบินนานาชาติ ตั้งมหาวิทยาลัย สร้างถนนสี่เลนไปสู่ชายแดน เปิดประตูสู่อินโดจีน และจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม กรณีของเขื่อนแก่งเสือเต้นก็อยู่ในบริบทที่คล้ายกัน
     "นอกจากเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองข้างต้น เบื้องหลังการผลักดันยังมีผลประโยชน์แอบแฝงด้วย เราไม่สามารถบอกได้ว่า ทุกกลุ่มจ้องที่จะแสวงหาผลประโยชน์ แต่มันมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่จริง เช่นกลุ่มที่กว้านซื้อที่ดินในบริเวณอ่างเก็บน้ำจากชาวบ้านในราคาถูก เพื่อเก็งกำไรจากค่าชดเชย หรือกลุ่มทำไม้ที่ถึงกับมีการประชุมกันกับข้าราชการบางกลุ่ม เพื่อจัดสรรว่าหากมีการสร้างเขื่อน ใครจะได้ประโยชน์จากการทำไม้ พวกนี้ทำเป็นขบวนการ เราจะพบว่ามีชาวบ้านถูกหลอกให้ขายที่ดิน ที่ผ่านมามีทั้งกลุ่มอำนาจท้องถิ่น และข้าราชการระดับปฏิบัติงาน ที่เข้าไปกว้านซื้อที่ดินที่เขื่อนแม่มอกมาก่อน พอมาถึงแก่งเสือเต้น กลุ่มนี้ก็ย้ายฐานมาซื้อที่นี่ ทุกเขื่อนจะมีกลุ่มอำนาจท้องถิ่นบางกลุ่มเข้าไปกว้านซื้อที่ดิน ไม่ว่าที่ไหนพอมีการสร้างเขื่อนปุ๊บ เราก็จะพบว่ามีความไม่โปร่งใสของโครงการอยู่ 
     "เมื่อแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาที่เชื่อว่าเขื่อน จะนำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ของท้องถิ่น ผนวกเข้ากับผลประโยชน์แอบแฝง กระแสผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมันจึงรุนแรง และกลุ่มต่าง ๆ ก็ช่วงชิงกันเข้ามีบทบาทสนับสนุนเขื่อน มีการหาเสียงเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง โดยการชูประเด็นเขื่อน ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการทำให้เขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นการเมือง ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ การจัดประชาพิจารณ์ โดยนักการเมืองเมื่อปี ๒๕๓๗ โดยอาศัยสถานการณ์ภัยแล้ง ปลุกระดมมวลชนให้สนับสนุนเขื่อน เวทีนี้มีนักการเมืองระดับประเทศ ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ข้าราชการ ตลอดจนกลุ่มอำนาจท้องถิ่น และมีการบิดเบือนการประชาพิจารณ์ โดยจัดเวทีประชาพิจารณ์ขึ้นมา แล้วเกณฑ์คนมาลงประชามติ เพื่อที่จะแสดงว่ามีคนสนับสนุนเขื่อนมาก วิธีการแบบนี้ยังถูกใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดน้ำท่วม เมื่อกระแสเป็นอย่างนี้ คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็คิดว่า เมื่อมีคนเดือดร้อนมากมาย ทำไมไม่ยอมให้สร้างเขื่อน ทำไมชาวบ้านสะเอียบไม่เสียสละ พวกนักอนุรักษ์ทำไมไปห่วงแต่นกยูง ห่วงแต่ป่าสัก ไม่เห็นแก่ชีวิตคน แต่สังคมไทยมันไม่ง่ายขนาดนั้น ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่ไม่ชอบมาพากล จึงออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน
     "เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ว่าจะมองจากด้านไหนมันก็ไม่คุ้ม ต้นทุนในการสร้างเขื่อนมันสูงมาก เพราะงบมันไม่ใช่แค่ ๓,๐๐๐ ล้านตามที่ระบุไว้ในรายงานการศึกษาความเหมาะสม แต่ตอนนี้มันไม่ต่ำกว่า ๘,๐๐๐ ล้าน เพราะต้องบวกค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาฐานรากของเขื่อนให้รองรับแผ่นดินไหวได้ เนื่องจากเขื่อนนี้มันจะถูกสร้างขึ้นบนรอยเลื่อนของเปลือกโลก
     "นอกจากนี้ถ้าเราไปดูเรื่องผลประโยชน์ทางด้านการชลประทาน ก็จะพบว่าโครงการนี้ไม่โปร่งใส เพราะมีการบิดเบือนข้อมูล จนทำให้ดูเหมือนว่าผลประโยชน์ของโครงการสูง จากการที่ธนาคารโลกได้แนะนำว่าควรปลูกถั่วเหลือง แทนการปลูกข้าวเหมือนเขื่อนอื่น ๆ ธนาคารโลกทำอย่างนี้ ก็เพื่อให้โครงการมันดูคุ้ม และนำมาเป็นเหตุผลสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อน 
     "ส่วนเหตุผลด้านการป้องกันน้ำท่วมนั้นฟังไม่ขึ้นเลย รายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการที่ทำโดย FAO เองก็ระบุว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นป้องกันน้ำท่วมได้เฉพาะพื้นที่ริมน้ำบริเวณลุ่มน้ำยม ตั้งแต่สบงาวถึงเด่นชัย ผลประโยชน์นี้คิดเป็นเงินเพียงปีละ ๓.๒ ล้านบาทเท่านั้น ส่วนตอนล่างลงมาน้ำท่วมจะเกิดจากอิทธิพลของแม่น้ำน่าน เพราะแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่าน มันอยู่ชิดกัน และไหลข้ามไปข้ามมาระหว่างกัน อีกทั้งน้ำท่วมยังมาจากลำน้ำสาขา ดังนั้นการที่บอกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ป้องกันน้ำท่วมไปถึงสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ จึงเป็นการยกเมฆที่ขัดแย้งกับข้อมูลของโครงการเอง 
     "หากคิดในแง่สังคม ตอนนี้ไม่ต้องไปถามถึงขั้นว่าชาวสะเอียบ จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในโครงการนี้ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญได้อย่างไรหรอก เอาแค่เรื่องง่าย ๆ ว่า สร้างเขื่อนแล้วชาวบ้านจะเป็นอย่างไร จะอยู่อย่างไร กรมชลประทานและนักการเมืองก็ตอบไม่ได้แล้ว ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา กรมชลประทานไม่สามารถตอบได้เลยว่า จะเอาชาวบ้านไปไว้ที่ไหน ซึ่งปัญหานี้เกิดกับทุกเขื่อน ชาวสะเอียบเขาเห็นแล้วว่า การอพยพจากการสร้างเขื่อนมันล้มเหลวอย่างไร เขารับรู้ประสบการณ์จากการสร้างเขื่อนหลายต่อหลายแห่ง เมื่อครั้งที่มีการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ชาวสะเอียบก็พบว่าชาวบ้านที่ถูกอพยพจากเขื่อนนี้ ต้องมาขอปันข้าวสารที่สะเอียบ ชาวสะเอียบไปดูมาหมดไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพลก็ดี เขื่อนแม่กวงก็ดี รวมทั้งเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนปากมูล ชาวสะเอียบไม่เชื่อว่ารัฐจะแก้ปัญหาจากการอพยพได้ เพราะว่าภาพความล้มเหลวในการอพยพมันเกิดขึ้นกับทุกเขื่อน 
     "พื้นที่สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมันตั้งอยู่บนบริเวณรอยเลื่อนของเปลือกโลกที่เรียกว่า "กลุ่มรอยเลื่อนแพร่" ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวหรือยังมีชีวิตอยู่ ในช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา สถิติแผ่นดินไหวของกรมอุตุนิยมวิทยา ก็ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า พื้นที่ตรงนี้ยังเกิดแผ่นดินไหวอยู่เป็นระยะ คือมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า ๔๐ ครั้ง ครั้งที่รุนแรงเกิดขึ้นในปี ๒๕๓๘ มีระดับความสั่นสะเทือนถึง ๔.๒ ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางที่อำเภอสอง ซึ่งจะมีการสร้างเขื่อน ในทางวิศวกรรมนั้น แม้ว่าจะสามารถสร้างเขื่อนให้แข็งแกร่งขนาดไหนก็ได้ วิศวกรทำได้หมด แต่คำถามก็คือ ต้องใช้เงินเท่าไร และคุ้มไหมกับการที่ต้องลงทุนไปมหาศาล เพื่อสร้างเขื่อนไว้ป้องกันน้ำท่วมคิดเป็นเงินปีละ ๓.๒ ล้านบาท กับเอาน้ำมาปลูกถั่วเหลือง 
     "เวลาวิศวกรเลือกพื้นที่สร้างเขื่อน เขาจะมองแบบ bird eye view คือ เป็นการมองจากเครื่องบิน ดูว่าตรงไหนเป็นแอ่งกระทะ เป็นหุบเขา จากนั้นก็ขีดเส้นบนแผนที่ว่าจะสร้างเขื่อนตรงนี้ โดยที่มองไม่เห็นหัวคน มองไม่เห็นป่า และความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ แก่งเสือเต้นนั้น จะถูกสร้างขึ้นในใจกลางป่าแม่ยม ซึ่งเป็นผืนป่าสักที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งเดียว ที่เหลืออยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ ชาวบ้านเขาเรียกว่า "ป่าสักทอง" หรือ "ดงสักงาม" ถ้าเราไปยืนบนจุดที่สูงสุดของป่าแม่ยม แล้วมองลงมา จะเห็นแอ่งกระทะขนาดใหญ่ ที่เต็มไปด้วยป่าสักซึ่งมันหาที่อื่นไม่ได้อีกแล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงคุณค่าอย่างอื่น ทั้งความหลากหลายทางชีวภาพที่ชุมชน และคนทั้งประเทศได้จากป่าแม่ยม ทั้งทางตรงและทางอ้อม คุณค่าเหล่านี้นักสร้างเขื่อนมักจะมองไม่เห็น และกลุ่มคนที่รับจ้างทำรายงานอีไอเอ ก็ไม่มีองค์ความรู้ที่มากพอ หรือไม่มีความเข้าใจเพียงพอ ทั้งยังไม่ยอมรับองค์ความรู้ท้องถิ่นด้วย ชาวสะเอียบรู้เรื่องป่าแม่ยมทะลุปรุโปร่ง เพราะเขาอยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย แต่บริษัทที่ทำรายงานประเมินผลกระทบต่าง ๆ ไม่เคยลงพื้นที่ หรือถ้าลงก็ลงในเวลาสั้น ๆ ซึ่งไม่มีทางเข้าใจระบบนิเวศที่นั่นได้ ที่สำคัญก็คือรายงานพวกนี้ เขียนขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนเขื่อน ไม่ใช่เพื่อประเมินหาความเหมาะสมอย่างแท้จริง แต่รัฐบาลก็เอารายงานเหล่านั้นมาใช้ในการตัดสินใจ การต่อสู้ของชาวสะเอียบ นักวิชาการ และสมัชชาคนจน ที่ต้องการให้มีการทบทวนกระบวนการตัดสินใจ เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อน รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ส่วนหนึ่งก็มาจากการมองเห็นความบิดเบี้ยว ความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการตัดสินใจแบบนี้ 
     "ปัญหาขาดแคลนน้ำและน้ำท่วมในลุ่มน้ำยมตอนล่าง ยังมีวิธีการอื่นอีกมากมายโดยที่ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อน รากเหง้าของปัญหามันเกิดจากการที่พื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำยมตอนล่างถูกทำลาย ตั้งแต่สุโขทัยลงมาจนถึงพิษณุโลกเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นบึง เป็นแหล่งน้ำทั้งนั้น พิจิตรจังหวัดเดียวมีบึงกว่า ๓,๐๐๐ แห่ง บึงเหล่านี้มีประโยชน์คือเป็นแหล่งน้ำในหน้าแล้ง และเป็นพื้นที่รองรับไม่ให้น้ำท่วมในหน้าฝน ถ้าพื้นที่เหล่านี้ไม่ถูกทำลาย ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม กรุงเทพฯ ก็จะไม่เกิดน้ำท่วมหนัก แต่ที่ผ่านมาเวลาเราพูดถึงน้ำท่วม นักการเมืองและนักสร้างเขื่อน ก็จะชี้นิ้วว่ามันมีเหตุมาจากต้นน้ำ ทั้งที่มันไม่ใช่ ถ้าจะแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วนที่สุดก็ต้องหยุดทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำก่อน แต่ตอนนี้เรากลับไปถมมันจนเละเทะหมด กรมชลประทานเองก็มีส่วน เพราะเข้าไปขุดลอกบึง ทำคันดินล้อมรอบบึง ซึ่งเป็นการไปทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำ ที่เป็นบึงธรรมชาติกลายเป็นบ่อหรือสระ ทำให้บึงถูกตัดขาดออกจากระบบแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน ส่วนราชการก็ถมบึงสร้างสถานที่ราชการ สร้างสวนสาธารณะ นิคมอุตสาหกรรม เอาที่มาจัดสรรให้มีการเข้าไปตั้งถิ่นฐาน อย่างที่นิคมทุ่งสาน นายทุนก็ถมบึงทำบ้านจัดสรร พอฝนมามันก็ไม่มีที่เก็บ น้ำไม่มีที่ไป มันก็ไหลบ่าเกิดน้ำท่วม ถ้าจะแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็ต้องแก้ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง ไม่ใช่ชี้นิ้วว่าเป็นเพราะไม่มีเขื่อนแก่งเสือเต้น พูดแบบนี้มันง่ายไป ส่วนเรื่องปัญหาความแห้งแล้งก็เช่นกัน เราต้องแก้ปัญหาบนพื้นฐานของระบบนิเวศ ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ว่ามันเป็นอย่างไร ถ้าเป็นภาคเหนือเราจะต้องคิดถึงระบบที่ปู่ย่าตายายเราใช้ เช่น ระบบเหมืองฝาย นอกจากนั้นเรายังต้องคิดถึงระบบสังคมที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตอนนี้เรามุ่งไปที่เทคโนโลยีอย่างเดียว เราไม่พูดถึงระบบสังคมและระบบนิเวศ ถ้าเราจะแก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม เราต้องพูดถึงทั้งระบบนิเวศ ระบบสังคม และเทคโนโลยีไปพร้อม ๆ กัน
     "เราต้องเปลี่ยนวิธีการในการมองปัญหาเพื่อหาทางเลือกที่หลากหลาย ยิ่งไปสร้างเขื่อน ทำพนังกั้นน้ำ ทำให้ผิดธรรมชาติ ในที่สุดมันก็สู้ธรรมชาติไม่ได้ จะยิ่งเกิดวิกฤตมากขึ้น เราควรเปลี่ยนมาเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ แทนที่จะมุ่งเอาชนะธรรมชาติ องค์ความรู้เรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำเพิ่งจะมีคนพูดถึงไม่เกิน ๑๐ กว่าปีมานี้ แต่ในบางท้องถิ่นอย่างที่บางระกำ เขารักษาพื้นที่ที่เป็นหนองน้ำไว้ เป็นแหล่งความหลากหลายทางธรรมชาติ เป็นแหล่งทำมาหากินมานานแล้ว สิ่งเหล่านี้มันมีอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตของคนในท้องถิ่น แต่ถ้ามองว่ายิ่งโครงการขนาดใหญ่ยิ่งดี ต้องเอาชนะธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี ต้องสร้างเขื่อน มันก็จะมองไม่เห็นทางเลือกอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว ถ้ารัฐยอมรับทางเลือกที่หลากหลาย ความขัดแย้งเรื่องเขื่อนในสังคมจะลดลงไปได้มาก ดังนั้นนักการเมือง และข้าราชการ ต้องมีกระบวนทัศน์ในการจัดการเรื่องน้ำเสียใหม่ ไม่ใช่ยึดติดกับเขื่อน เราจึงจะพ้นไปจากความขัดแย้งได้
     "ที่ผ่านมา กรมชลประทาน มักจะยกเรื่องการอพยพชาวบ้าน ในพื้นที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มาเป็นตัวอย่าง และพยายามกดดันให้ชาวสะเอียบยอมรับแนวทางนี้ แต่ที่ชาวสะเอียบไม่ยอมรับก็เพราะมันเป็นวิธีการที่ใช้ไม่ได้ ทางฝ่ายปกครองจังหวัดแพร่ ก็เคยพาชาวสะเอียบไปดูการอพยพที่นั่น เห็นแต่เรื่องดี แต่ชาวบ้านเขาไม่เชื่อทางการ เพราะหลังจากนั้นเขาก็เดินทางไปกันเอง โดยไปในช่วงที่เริ่มมีการกักเก็บน้ำในปี ๒๕๔๑ และก็พบว่าสิ่งที่ทางการบอกว่าสำเร็จนั้น มันเป็นการจัดฉาก หลักฐานก็คือ มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ถูกบีบบังคับให้อพยพ โดยเฉพาะที่บ้านมะนาวหวาน ชาวบ้านถูกบังคับให้อพยพด้วยวิธีที่ทารุณมาก แรกสุดมีการเอาเจ้าหน้าที่เข้ามาปิดล้อม แต่ชาวบ้านก็ไม่ยอมย้าย ทางการจึงหันมาใช้วิธีตัดน้ำตัดไฟ แต่ชาวบ้านก็ไม่ยอมอพยพอยู่ดี ในที่สุดก็บีบบังคับด้วยการกักเก็บน้ำให้ท่วมหมู่บ้าน ทั้งที่หมู่บ้านและวัดมะนาวหวานยังไม่มีการย้ายออกไป ทำให้ชาวบ้านจำเป็นต้องอพยพ และที่ใหม่ซึ่งทางการจัดไว้นั้น โรงเรียนสำหรับเด็ก ๆ ก็ยังสร้างไม่เสร็จ วัดก็ยังไม่มี บ้านก็ไม่มี ชาวมะนาวหวานต้องช่วยเหลือตัวเอง ต้องสร้างเพิงพักอยู่กันตามยถากรรม สิ่งที่ชาวมะนาวหวานถูกกระทำนั้นมันเหมือนกับว่าเขาไม่ได้เป็นพลเมือง การเอาน้ำไปไล่ชาวบ้านแบบนี้ เขาเรียกกันว่า การไล่ดิบ
     "สิ่งที่กรมชลประทานพูดนั้น มันถูกที่ว่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นเขื่อนที่มีการจ่ายค่าชดเชยมากที่สุด โดยวิธีหนึ่งที่นำมาใช้ก็คือ การให้ชาวบ้านรับเป็นเงินสด มันดูเหมือนดี แต่มันไม่ได้หมายความว่าชีวิตของชาวบ้านจะดีขึ้น ตามที่กรมชลประทานสัญญาว่า การอพยพชาวบ้านจากพื้นที่สร้างเขื่อน จะไม่ทำให้ชีวิตชาวบ้านเลวลง จะดีขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็เหมือนเดิม แต่ไปดูซิทุกวันนี้ชาวบ้านเขาอยู่อย่างไร บ้านที่เคยสร้างสวย ๆ ตอนนี้ติดป้ายประกาศขายกัน เพราะเขาไม่มีอาชีพ ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีอะไรจะกิน
     "นอกจากนี้การสร้างเขื่อนป่าสักฯ ยังใช้เทคนิคลดจำนวนผู้อพยพ โดยการสร้างคันดินบริเวณขอบอ่างเช่นเดียวกับที่เขื่อนราษีไศล วิธีนี้ทำให้กรมชลประทานไม่ต้องอพยพชาวบ้านก็จริง แต่คันดินก็กลายเป็นเขื่อนซ้อนเขื่อน ชาวบ้านที่อยู่นอกคันดินก็ต้องถูกน้ำท่วมหลังการสร้างเขื่อน และยังเสี่ยงกับคันดินพัง โดยเฉพาะที่อำเภอชัยบาดาล ซึ่งก่อนการสร้างเขื่อนไม่เคยปรากฏว่าเคยมีน้ำท่วมมาก่อน เรื่องนี้ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรับผิดชอบ
     "สุดท้ายก็เรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง ขณะที่ชาวบ้านมะนาวหวาน เผชิญกับการอพยพที่ไม่ยุติธรรม แต่ในอีกด้านหนึ่ง กลับมีการเอาที่สาธารณะไปออกเอกสารสิทธิ์ เพื่อไปรับค่าชดเชย ซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันระหว่างข้าราชการในท้องถิ่น กับนายทุนท้องถิ่น ที่อำเภอแห่งหนึ่งปลัด และที่ดินอำเภอโดนไล่ออกก็มี เรื่องนี้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานก็รู้ดี บางกลุ่มยังมีการจัดฉากแต่งงาน และกินเลี้ยงย้อนหลัง เพื่อสร้างหลักฐานเท็จว่ามีครอบครัวแล้ว และนำหลักฐานนั้นไปรับเงินค่าชดเชยจากรัฐ จะเห็นได้ว่าเงินค่าชดเชยที่บอกว่านำไปให้ชาวบ้านนั้น แท้จริงแล้วมันไม่ถึงชาวบ้าน แต่กรมชลประทานก็ยังนำเอากรณีนี้ มาอ้างว่าประสบความสำเร็จ และนำมาใช้กับแก่งเสือเต้น ผมอยากจะบอกว่า ก่อนที่คุณจะพูดถึงเขื่อนแก่งเสือเต้น คุณไปแก้ปัญหาที่เขื่อนป่าสักฯ เสียก่อน ถ้าแก้ได้แล้วค่อยมาพูดกันเรื่องสะเอียบ"


 แสดงความคิดที่ สารคดีกระดานข่าว (Sarakadee Board) อ่านฝ่ายสนับสนุน คลิกที่นี่
จตุพล ชมภูนิช
พิธีกร, นักพูด

click hereอ่าน (ฝ่ายสนับสนุน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !
ต้องการ แสดงความคิดเห็นเพิ่ม คลิกที่นี่

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม: *
*