|
|
|
กุลธิดา สามะพุทธิ : รายงาน / ฝ่ายภาพสารคดี : ภาพ |
ดูเหมือนผู้ที่เดินขึ้นไปบนตึกคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อร่วมการสัมมนาเรื่อง "กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรม" จะเตรียมใจไว้อยู่แล้วว่าโลกย่อมกลายเป็นสีดำจากสิ่งที่ได้ยินในวันนี้ แต่สำหรับ "วิทยากร" หลายท่านที่ถูกเชิญมาเล่าเรื่อง
โลกของเขาและเธอนั้นดำมืด
ด้วยความหม่นเศร้ามาเนิ่นนานแล้ว
และยังคงต้องอยู่กับมันต่อไปแม้เมื่องานสัมมนาจบลง
|
|
|
รัศมี ศุภเอม เด็กสาวที่กระโดดลงมาจากชั้น ๓ ของโรงงานเคเดอร์เพื่อหนีตายจากเหตุการณ์ไฟไหม้ (๑๐ พฤษภาคม ๒๕๓๖)
ยังจะต้องใช้ไม้เท้าค้ำยันร่างอันผอมบาง
ที่พิการเนื่องจากกระดูกสันหลังหักไปตลอดชีวิต,
คนงานที่ท่าเรือคลองเตย
ต้องอยู่ในสภาพที่แร้นแค้นและทนทุกข์
กับโรคภัยหลังเกิดเหตุคลังเก็บสารเคมีระเบิด (๒ มีนาคม ๒๕๓๔), การะเกตุ อดีตคนงานบริษัททรงชัยปั่นทอ
ต้องทนเหนื่อยแทบขาดใจ
แม้จะทำกิจกรรมเบา ๆ อย่างเดินหรือพูด ปอดของเธอถูกทำลายไป ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เหลือที่ใช้การได้เพียง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ด้วยโรคปอดอักเสบ บิสซิโนซีส
จากฝุ่นฝ้ายในโรงงานที่เธอเคยทำงานอย่างถวายชีวิต
เพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงแม่, เอกสิทธิ์ ชูจิต อดีตคนงานโรงงานอุตสาหกรรมกรดมะนาว
มีอาการแสบผิวหนังอย่างรุนแรงอยู่เสมอ
เนื่องจากได้รับพิษสะสมจากกรดมะนาวในโรงงาน
ทุกวันนี้ไม่สามารถออกนอกบ้าน
หรือโดนแสงแดดนาน ๆ ได้เลย เขาพูดถึงชีวิตเพียงสั้น ๆ ว่า "จะตายก็ไม่ตาย" และอีกหลายคนต้องกลับไปทำงานในโรงงานที่อับทึบ ชื้นแฉะ ร้อนอ้าว สูดเอาฝุ่นฝ้าย กลิ่นกำมะถันหรือสารเคมีอื่น ๆ เข้าสู่ปอดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ทั้งหมดนี้เป็นเศษเสี้ยวเล็ก ๆ ของ "โรคจากการทำงาน"
ที่เกิดขึ้นกับแรงงาน
ในภาคอุตสาหกรรมจำนวนหลายล้านคน
งานวิจัยของสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) บอกว่า
แรงงานในภาคอุตสาหกรรม
เพิ่มขึ้นจากประมาณ ๓ แสนคนในปี ๒๕๑๗ มาเป็นเกือบ ๖ ล้านคนในปี ๒๕๔๐ พร้อมกันนั้นจำนวนคนงานที่ประสบอันตรายจากการทำงานก็เพิ่มขึ้นถึง ๗๒ เท่า
จุดหมายของการสัมมนากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรม
ซึ่งจัดโดยองค์กรพัฒนาเอกชน
และนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องแรงงาน เช่น มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน
สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน
และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม
นอกจากเพื่อเรียกร้องให้มีการออกพระราชบัญญัติ
จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ,
เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการต่อสู้ของคนงานและชุมชน
ที่ได้รับผลกระทบจากโรงงาน
/ นิคมอุตสาหกรรมแล้ว
ยังเป็นการรำลึกครบรอบเจ็ดปี
ของโศกนาฏกรรมไฟไหม้โรงงานเคเดอร์
ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอีกด้วย
โลกของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม
เต็มไปด้วยเรื่องราวที่เกี่ยวกับความเป็นความตาย
อันเนื่องมาจากปัญหาความปลอดภัยในการทำงาน
และโรคที่เกิดจากการทำงาน เช่น อาการเจ็บป่วยของกล้ามเนื้อ, โรคผิวหนัง, โรคปอด,
ได้รับพิษจากสารอันตราย
เนื่องจากนายจ้างไม่จัดหาวัสดุสำหรับป้องกันให้ และความป่วยไข้ของคนงานย่อมส่งผลร้ายต่อครอบครัวด้วย ลูก ๆ ของพวกเขาต้องออกจากโรงเรียน ไม่มีเงินส่งกลับไปให้พ่อแม่ที่ชนบท
ครอบครัวแตกแยกจากความกดดันทางเศรษฐกิจ
และสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย ยิ่งไปกว่านั้น
ผู้ป่วยด้วยโรคจากการทำงาน
มักถูกคนใกล้ชิด
และนายจ้างกล่าวหาว่าขี้เกียจ ไม่ยอมทำงาน
ด้วยโรคที่เกิดกับคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม
มักมีผลต่อระบบการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย
ซึ่งไม่สามารถมองเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
เหมือนอย่างความพิการภายนอกร่างกาย
ที่เกิดจากอุบัติเหตุจากการทำงาน |
|
|
แต่เรื่องราวอันร้ายแรงเหล่านี้มักไม่เป็นที่รับรู้มากนัก เหตุผลคงไม่ได้เป็นเพียงเพราะ "คนไทยมีความอดทนสูงกว่าชนชาติอื่น
เมื่อเริ่มมีอาการเจ็บป่วย
และยังสามารถทำงานได้ก็จะทำงานต่อไปโดยไม่ไปพบแพทย์" ตามที่เจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนทดแทน กระทรวงแรงงาน เคยกล่าวไว้เมื่อหลายปีก่อน แต่นักวิจัยของ สกว. พบว่า
นายจ้างมักจะไม่ให้ความร่วมมือ
ในการตรวจสอบสภาพแวดล้อมของสถานประกอบการ
และมีการกดดันให้ลูกจ้างบอกข้อมูลเท็จกับแพทย์
เพราะกลัวภาพพจน์ของบริษัทเสียหาย
รวมทั้งทำให้ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกัน
ให้กองทุนเงินทดแทนเพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนคนงานเองก็ไม่กล้าไปพบแพทย์
เพราะกลัวจะรู้ว่าตัวเองป่วย
และไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งหมายถึงรายได้จะขาดหายไป ซ้ำร้าย
แพทย์ส่วนมากยังไม่ยอมวินิจฉัยให้ชัดเจนว่า
อาการของคนงานที่มาตรวจนั้น
เป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน ผลก็คือ จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคจากการทำงานมีน้อยกว่าความเป็นจริง
"โรคปอดชนิดหนึ่งมีชื่อว่า 'ซิลิโคซิส' ซึ่งเกิดจากการหายใจเอาฝุ่นซิลิกาเข้าไปเป็นประจำ กระทรวงแรงงานฯ คาดว่ามีคนงานป่วยด้วยโรคนี้มากกว่า ๑ หมื่นราย แต่กองทุนเงินทดแทนรายงานว่าในปี ๒๕๔๐ มีคนงานป่วยด้วยโรคนี้เพียงเจ็ดราย (น้อยกว่าที่ควรจะเป็นถึง ๑,๖๐๐ เท่า)" งานวิจัยของ สกว. ระบุ
"กองทุนเงินทดแทน" ที่งานวิจัยชิ้นนี้กล่าวถึง เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๑๗ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทดแทนปีละไม่เกิน ๕ เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างในปีนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพความเสี่ยงภัยของลูกจ้าง สกว. พบว่าล่าสุดจำนวนเงินที่นายจ้างจ่ายจริงคิดเป็น ๐.๒-๑ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
จากการสัมมนาในครั้งนี้เรายังได้รับรู้อีกด้วยว่า บ่อยครั้งที่ลูกจ้างไปเรียกร้องค่าชดเชยจากกองทุนทดแทน
แต่ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาลสูงเกินไป ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของแพทย์ที่ลูกจ้างไปตรวจรักษา ตัดสินว่าคนงานป่วยไม่หนักจริง เช่น กรณีของการะเกตุซึ่งเหลือปอดอยู่เพียง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ กองทุนเงินทดแทนไม่ยอมอนุมัติเงินค่าชดเชยเป็นเวลาห้าปีตามที่แพทย์ประเมินให้ โดยอ้างว่าการะเกตุยังสามารถดูทีวี ฟังวิทยุ เดินได้ กินได้
เงินชดเชยห้าปีจะจ่ายให้เฉพาะคนที่ตายแล้ว
หรือนอนอยู่บนเตียง ทำอะไรไม่ได้เลยเท่านั้น
"กองทุนเงินทดแทนปัจจุบันนี้มีไว้สวยหรู มีกระทรวงแรงงานใหญ่โตโอ่อ่า น่าอุ่นใจ มีกองตรวจความปลอดภัยอย่างดี แต่จริง ๆ แล้วช่วยอะไรพวกเราไม่ได้เลย คนงานไปเรียกร้องค่าชดเชยก็ยากเย็นเหลือเกิน สำนักงานกองทุนฯ
คิดแต่จะรักษาผลประโยชน์ให้นายจ้าง
และทำให้กองทุนฯ ใหญ่โตมาก ๆ จะจ่ายอะไรกับลูกจ้างอย่างเราต้องบวกลบคูณหาร ต้องให้ได้กำไร...
" สมบุญ ศรีคำดอกแค ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน อดีตคนงานในโรงงานทอผ้า ซึ่งปัจจุบันป่วยเป็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ่ายอยู่เช่นกัน กล่าวในที่ประชุมด้วยความอัดอั้น
แต่ความทุกข์ของแรงงานเหล่านี้กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจ
และช่วยเหลืออย่างจริงจัง
บางครั้งก็ถูกรับรู้
ราวกับเป็นเพียงนิยายชีวิตต้องสู้สักเรื่องหนึ่งเท่านั้น
"เราใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบเส้นทางสายเดียว คือ เดินเข้าไปสู่โรงงาน" รศ. แล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้อำนวยการ ศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้ให้เห็นถึงที่มาของพิษภัยจากอุตสาหกรรม "อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในบ้านเราเป็นอุตสาหกรรมแบบต่อยอด
หรือเรียกว่าเป็นอุตสาหกรรมประเภท 'ยกโรงงานมาตั้ง' เราไม่คุ้นเคยกับมันมาตั้งแต่ต้น ไม่เคยลองผิดลองถูก เมื่อเกิดปัญหาจึงไม่รู้วิธีที่จะจัดการกับมัน ขณะที่ประเทศตะวันตกมีประสบการณ์ ๒๐๐ ปีในการลองผิดลองถูกกับมัน นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป
"คำว่า 'การพัฒนา' แปลว่า 'โรงงาน' เท่านั้น อย่างอื่นไม่สามารถเรียกได้เลยว่าเป็นการพัฒนา โรงงานเท่านั้นคือคำตอบ และในการสร้างโรงงานก็ต้องการทุน ประเทศไทยจึงเกิดอาการที่เรียกว่า 'โรคหิวทุน' เมื่อเกิดโรคนี้อย่างอื่นจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย
เป็นข้อยกเว้น ไม่มีความสำคัญไปเสียทั้งหมด"
ผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออุตสาหกรรมหลายคนที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในวันนั้น
ถือว่าเรื่องร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองนั้นเป็นผลมาจาก "เวรกรรม" ความพิการ
โรคร้ายและความยากไร้ที่ต้องพบเจอ
ก็เป็นเรื่องของการ "ชดใช้กรรม"
แต่นักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชน
ที่ทำงานด้านแรงงานต่างก็ยืนยันตรงกันว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม
แต่เป็นเรื่องของการที่ชนชั้นแรงงาน
ตกเป็นผู้ถูกกระทำ
ทั้งจากนายจ้าง
และจากนโยบายของรัฐ
ที่ไม่ใส่ใจกับสุขภาพและความปลอดภัยของคนงาน ทั้ง ๆ
ที่คนกลุ่มนี้
น่าจะเข้าใจในสิ่งที่ประธานสภาองค์การลูกจ้าง
สภาแรงงานแห่งประเทศไทย
เคยพูดไว้ว่า "แรงงานจะมีคุณภาพได้ แรงงานจะต้องมีสุขภาพที่ดี
การต่อสู้เพื่อให้แรงงานมีสุขภาพแข็งแรง
และมีความปลอดภัยในการทำงานย่อมเป็นประโยชน์ต่อนายจ้าง
และทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นด้วย"
แต่ทั้งนายจ้างและรัฐบาล
ก็ยังทำเหมือนไม่เข้าใจในเรื่องง่าย ๆ อย่างนี้ และปล่อยให้โศกนาฏกรรมเกิดขึ้นกับคนงานซ้ำแล้วซ้ำเล่า
|
|