เดินป่าหน้าฝน เล่นน้ำตกที่เขาใหญ่
ถ้าอากาศไม่ผิดเพี้ยนไปนัก
ปลายเดือนนี้ สายฝนต้นฤดูคงโปรยปรายลงมาคลายร้อน ช่วยให้ธรรมชาติคืนสู่ความสดชื่น
อีกครั้ง หลังจากทนอยู่ในสภาวะแห้งแล้งเสียหลายเดือน ชักคิดถึงความสนุกตื่นเต้นในป่าเสียแล้ว
ตอนนี้เห็ดคงแย่งกันผุดขึ้นมาเต็มป่า สัตว์ป่าต่างพากันออกหากินอย่างคึกคัก
และน้ำตกก็งดงามยามน้ำหลาก นายรอบรู้จึงอยากชวนคุณไปเที่ยวป่าด้วยกัน
ไม่ได้ไปไกลหรอก แค่ที่เขาใหญ่ก็เต็มไปด้วยสิ่งน่าสนใจมากมายให้ค้นหา
อช.
เขาใหญ่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ถึง ๑,๓๕๕,๓๙๖ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ถึงสี่จังหวัดคือ
จ. นครราชสีมา จ. นครนายก จ. ปราจีนบุรี และ จ. สระบุรี
ธรรมชาติประกอบไปด้วยป่าดงดิบเขา ป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง
และป่าเบญจพรรณ และทุ่งหญ้าที่เกิดจากการหักล้างถางพงเมื่อครั้งอดีต
ป่าเขาใหญ่ยังเป็นเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าที่สำคัญ โดยเฉพาะช้างป่า
เสือโคร่ง และชะนี พวกเก้งกวางก็มีอยู่ชุกชุม พบได้ง่ายตามริมถนน
นอกจากนี้ยังพบนกป่าไม่ต่ำกว่า ๓๔๐ ชนิด รวมทั้งนกเงือกอีกถึง
๔ ชนิดที่ยืนยันถึงความสมบูรณ์ของป่าเขาใหญ่ได้เป็นอย่างดี
ป่าเขาใหญ่มีทางหลวงตัดผ่านทั้งทางด้าน
อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา และ อ. เมือง จ. ปราจีนบุรี
เลือกเดินทางได้สะดวกทั้งสองเส้นทาง แต่ด้าน จ. ปราจีนบุรีอยู่ใกล้กรุงเทพฯ
กว่า นักท่องเที่ยวจึงนิยมใช้เส้นทางนี้กันมาก จากกรุงเทพฯ
พอไปวงเวียนเนินหอมที่ จ. ปราจีนบุรี ให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข
๓๐๗๗ ประมาณ ๑๑ กม. จะถึงด่านตรวจหน่วยพิทักษ์ฯ ขญ. ๑๒
(เนินหอม) ผ่านด่านไปอีกประมาณ ๔๑ กม. ก็ถึงที่ทำการฯ
หากไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ให้นั่งรถประจำทางสายกรุงเทพฯ-ปราจีนบุรี
ที่สถานีขนส่งหมอชิต (ใหม่) แล้วไปลงที่วงเวียนเนินหอม
จากนั้นเหมารถสองแถวไปส่งที่ด่านเนินหอม ค่าจ้างประมาณ
๑๐๐ บาท แล้วรอขออาศัยรถที่ผ่านด่านขึ้นไปยังที่ทำการฯ
ถ้าให้รถขึ้นไปเขาใหญ่เลย ค่าจ้างก็ประมาณ ๕๐๐ บาทแล้วแต่จะตกลง
เมื่อผ่านด่านเนินหอม
ถนนเริ่มเข้าสู่ป่าและคดเคี้ยวขึ้นเขาไปเรื่อยๆ จนถึงบริเวณ
กม. ๒๕ ด้านซ้ายมือมีทางเข้าน้ำตกเหวนรก น้ำตกขนาดใหญ่ที่สุดบนเขาใหญ่
จากลานจอดรถ ต้องเดินเข้าไปอีก ๑ กม. จึงถึงน้ำตกเหวนรกชั้นบนสุด
และมีบันไดให้ไต่ลงไปประมาณ ๑๐๐ ม. เพื่อชมน้ำตกด้านล่าง
สุดทางมีลานให้ยืนชมน้ำตกชั้นแรกที่มีความสูง ๕๐ ม. ต้นฤดูฝนเช่นนี้
สายน้ำจะไหลตกลงมาจากผาสูงสวยงาม แต่ยังไม่แรงนัก ช่วงที่น้ำตกเหวนรกมีปริมาณน้ำมากที่สุดอยู่ในราวปลายฤดูฝนระหว่างเดือน
ก.ย.- พ.ย. สายน้ำตกลงมาเต็มหน้าผา จนเกิดเสียงดังก้อง
และละอองน้ำฟุ้งกระจายไปทั่ว กระแสน้ำมีความรุนแรงมาก
ท่ามกลางความสูงชันของผาสูงหลายร้อยเมตร จนน่ากลัว จึงเป็นที่มาของชื่อ
"น้ำตกเหวนรก"
จากน้ำตกเหวนรก
ก็มาถึงที่ทำการฯ ถ้าต้องการพักแรมบนเขาใหญ่ ต้องติดต่อขออนุญาตที่นี่เสียก่อน
พร้อมกับสอบถามข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้เคียงกัน
ภายในศูนย์บริการฯ ยังจัดนิทรรศการแสดงประวัติและสิ่งน่าสนใจที่
อช. เขาใหญ่ไว้อย่างน่าชม ด้านหลังศูนย์บริการติดกับห้วยลำตะคอง
มีทางเดินปูด้วยอิฐให้เดินชมธรรมชาติริมห้วย และมีสะพานแขวนข้ามไปยังฝั่งตรงข้าม
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติลำตะคอง-กองแก้ว
ระยะทางประมาณ ๑.๒ กม. ไปสิ้นสุดที่น้ำตกกองแก้ว ซึ่งเป็นน้ำตกเล็กๆ
และมีสะพานแขวนอีกแห่งให้เดินข้ามกลับมา แม้ระยะทางจะสั้น
แต่ผ่านไปตามป่าดงดิบ และมีป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศตามจุดน่าสนใจเป็นระยะ
เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาไม่มากและไม่ชอบเดินไกล แต่ถ้าต้องการเดินเที่ยวชมธรรมชาติกันให้จุใจ
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติผากล้วยไม้-น้ำตกเหวสุวัตน่าสนใจที่สุด
ผากล้วยไม้และน้ำตกเหวสุวัตต้องย้อนกลับมาทางเดิมประมาณ
๓ กม. จนถึงสามแยกบริเวณศูนย์อบรมป่าไม้ แล้วเลี้ยวซ้ายไปประมาณ
๘ กม. ถนนไปสิ้นสุดที่น้ำตกเหวสุวัต น้ำตกที่สวยงามและมีชื่อเสียงที่สุดของเขาใหญ่
แต่ก่อนถึงน้ำตกเหวสุวัต ๒ กม. ทางขวามือจะเป็นจุดกางเต็นท์ผากล้วยไม้
ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จัดไว้ให้ นักท่องเที่ยวพักแรมบนเขาใหญ่
มีร้านอาหารบริการพร้อมห้องน้ำและสุขา เลือกจุดที่เหมาะสมแล้วกางเต็นท์ทิ้งไว้
หลังจากนั้นก็ออกเดินป่าตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติผากล้วยไม้-น้ำตกเหวสุวัตได้เลย
ทางเดินเส้นนี้เดินง่ายและสะดวก
เพราะส่วนใหญ่เป็นทางปูนเลียบไปตามห้วยลำตะคองด้านขวามือ
จึงไม่ค่อยมีทากมารบกวน ด้านซ้ายมีไม้สูงให้ร่มเงาตลอด
ต่ำลงมารกชัฏไปด้วยเถาวัลย์และหวาย พร้อมทั้งไม้คลุมดินนานาชนิด
ที่แย่งกันขึ้นมารับความชุ่มชื้นของสายฝนต้นฤดู รวมทั้งดอกเห็ดตามพื้นดิน
และขอนไม้ริมทางทั่วไป ต้นฤดูฝนเป็นช่วงที่เหมาะสำหรับการเกิดของเห็ดนานาชนิด
ใครชอบดูเห็ดมาเดินป่าช่วงนี้คงสุขนัก แต่ถ้าชอบดูนก เส้นทางนี้ก็มีนกป่าให้ดูอย่างเพลินใจ
เช่น นกปรอดโอ่งเมืองเหนือ นกปรอดทอง นกเขียวคราม รวมทั้งนกแก๊กตัวใหญ่
และอย่าลืมดูตามโขดหินกลางน้ำ นกกางเขนน้ำหลังเทามักปรากฏตัวพร้อมกับเสียงร้องแหลมใส
"ติ๊ง-ติ๊ง"
ทางเดินขึ้น
ๆ ลง ๆ ไปตามตลิ่งริมห้วยจนถึงชั้นบนสุดของน้ำตกผากล้วยไม้
และมีบันไดลงผ่านป่าไผ่ไปน้ำตกชั้นล่าง แวะเล่นน้ำตกที่นี่สักพัก
น้ำตกผากล้วยไม้มีลักษณะเป็นหน้าผาลดหลั่นลงมาสูงประมาณ
๑๐ ม. บริเวณหน้าผาน้ำตกมีกล้วยไม้ขึ้นอยู่หลายชนิด จึงเป็นที่มาของชื่อน้ำตกแห่งนี้
ถ้ามาช่วงหน้าร้อนคงได้พบหวายแดงกอใหญ่ ออกดอกสีแดงสดตามโขดหิน
เมื่อพ้นน้ำตกมาแล้ว
ทางยังเลียบลำห้วยเช่นเดิม ป่าดงดิบริมน้ำช่วงนี้สวยมาก
ยังคงมีนกให้ดูตลอดเวลา ตามพื้นดินก็เต็มไปด้วยเห็ด ในลำห้วยยังเคยมีคนพบนากว่ายน้ำเล่น
พยายามรักษาความเงียบไว้หน่อย อาจโชคดีก็ได้ แต่ที่พบเป็นประจำคือตะกอง--กิ้งก่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ให้มองหาตามแนวไม้ริมน้ำ ตะกองตัวสีเขียวชอบนอนพักนิ่งบนกิ่งไม้
แต่อย่าเข้าไปไกลจนมันตกใจ เพราะตะกองจะรีบกระโดดหนีลงน้ำอย่างรวดเร็ว
เส้นทางช่วงสุดท้ายจะผ่านป่าไผ่หลอด
แล้วไปสิ้นสุดที่ลานจอดรถน้ำตกเหวสุวัต รวมระยะทางประมาณ
๓ กม. แวะดื่มน้ำและทานอาหารให้หายเหนื่อย ค่อยไปเที่ยวเล่นน้ำตกเหวสุวัตกันต่อ
แล้วขออาศัยรถนักท่องเที่ยวกลัมาที่จุดกางเต็นท์ผากล้วยไม้
เพื่อแรมคืนในป่าเขาใหญ่
|