เยือนบ้านมอญที่เกาะเกร็ด
หลายคนเวลาอยากเที่ยวต่างจังหวัดมักนึกถึงสถานที่ที่ต้องเดินทางไกลหลายชั่วโมง
ลืมไปว่าใกล้ๆ กรุงเทพฯ ก็มีที่เที่ยว ตั้งหลายแห่งให้เลือก
เดินทางไม่ทันเหนื่อยก็ถึงแล้ว อย่างเกาะเกร็ดที่นายรอบรู้จะชวนไปเที่ยวคราวนี้ไง
เกาะเกร็ดเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ขึ้นชื่อของเมืองนนท์รู้จักกันดีในฐานะแหล่งชุมชนมอญที่มีชื่อเสียงในเรื่องเครื่องปั้นดินเผา
และประเพณีวัฒนธรรมแบบเดิมที่ยังรักษาไว้ได้มาก เป็นที่น่าสนใจสำหรับคนต่างถิ่นต่างวัฒนธรรม
ไม่ว่าจะเป็นงานสงกรานต์งานตักบาตรทางน้ำ หรือการจุดลูกหนู
เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีชื่อเรื่องอาหารการกินด้วย
สามปีมานี้การท่องเที่ยวบนเกาะเกร็ด
เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าไปเที่ยวเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์จะพบ
นักท่องเที่ยวมากมาย ร้านค้า ร้านอาหารก็คึกคัก นอกจากเดินเที่ยวบนเกาะแล้ว
ยังมีบริการนั่งเรือพาชมรอบเกาะด้วย ส่วนการเดินทางไปเกาะเกร็ดก็ไม่ยากเย็นอะไร
จะเลือกนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาหรือนั่งรถก็ได้ ถ้าใช้ทางรถ
เมื่อไปใกล้ถึงท่าเรือปากเกร็ด ให้สังเกตห้างจัสโก้ทางซ้ายมือ
พอถึงห้างนี้แล้วก็เตรียมเลี้ยวซ้ายเข้าซอยแรก ขับรถเข้าไปจนถึงวัดสนามเหนือ
หลังวัดจะมีท่าเรือข้ามฟากไปเกาะเกร็ด ราคาคนละสองบาท
เรือจะพาเราข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปขึ้นฝั่งที่ท่าวัดปรมัยฯ
แล้วทริปท่องเกาะเกร็ดก็เริ่มขึ้นได้
ก่อนเที่ยวเราควรรู้ข้อมูลพื้นฐาน
เสียก่อนว่า เกาะใหญ่กลางแม่น้ำเจ้าพระยานี้มีพื้นที่ถึง
๒,๘๒๐ ไร่ เป็นตำบลหนึ่ง ของอำเภอปากเกร็ด แต่เดิมเกาะนี้เป็นแหลมที่ยื่นไปตามความโค้งของแม่น้ำ
ต่อมามีการขุดคลองลัดเกร็ดน้อย ขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย
แต่แรกคลองลัดกว้างเพียงหกวา ต่อมาด้วยความแรงของกระแสน้ำที่ลัดผ่าน
ทำให้ลำคลองกว้างขึ้นทุกที สภาพความเป็นเกาะจึงเด่นชัดอย่างทุกวันนี้
และคลองลัดที่ว่านี้ก็คือ แม่น้ำช่วงที่นั่งเรือข้ามฟากมานั่นเอง
คำว่า "เกร็ด" ในที่นี้จึงหมายถึงลำน้ำเล็กที่เป็นทางลัด
เชื่อมลำน้ำใหญ่สายเดียวกัน ทั้งสองข้าง
เกาะเกร็ดเป็นย่านชุมชนที่มีความเจริญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เนื่องจากเป็นเส้นทางผ่านจากปากน้ำ สู่กรุงศรีอยุธยา ในฐานะชุมทางการค้าขายและเป็นที่ตั้งด่านตรวจเรือต่าง
ๆ ส่วนชาวมอญซึ่งเป็นประชากรราวครึ่งหนึ่ง ที่อาศัยอยู่บนเกาะนั้นไม่ใช่คนถิ่นเดิม
แต่อพยพมาทีหลัง โดยมาสองครั้งด้วยกัน คือ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
และสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
จุดแรกและจุดใหญ่ที่จะพาไปเที่ยวชมคือวัดปรมัยฯ
เดิมชื่อวัดปากอ่าว เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ถูกทิ้งร้างไปหลังเสียกรุงครั้งที่
๒ ต่อมาพระเจ้าตากสินทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญมาตั้งบ้านเรือนบนเกาะนี้
ชาวมอญจึงช่วยสร้างวัดขึ้นใหม่อีกครั้ง วัดนี้ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่
๕ แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดปรมัยยิกาวาส ภายในวัดนี้มีสิ่งน่าสนใจหลายอย่าง
ได้แก่ เจดีย์มุเตา เป็นเจดีย์ทรงมอญที่ริมน้ำเจ้าพระยาด้านเหนือ
ปัจจุบันองค์เจดีย์ทรุดเอียงไปข้างหนึ่ง ผู้สัญจรทางน้ำจะแลเห็นเจดีย์นี้
โดดเด่นแต่ไกล เป็นเหมือนสัญลักษณ์หนึ่งของเกาะเกร็ด พระอุโบสถ
หน้าบันประดับตราพระเกี้ยว ภายในตกแต่งด้วยลายปูนปั้น
แบบตะวันตกผสมตะวันออก ผนังมีภาพจิตรกรรมแสดงเรื่องธุดงวัตร
๑๓ และพุทธประวัติ พระพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานในวิหาร องค์พระมีขนาด
๙.๕๐ ม. สร้างโดยเจ้าอาวาสองค์แรก พิพิธภัณฑ์วัดปรมัยฯ
มีสองชั้น ชั้นบนแสดงเครื่องสังเค็ด* และชิ้นสำคัญคือพระไตรปิฎกภาษามอญ
ซึ่งมีเพียงชุดเดียวในเมืองไทย ส่วนชั้นล่างแสดงเครื่องปั้นดินเผามอญโบราณ
เรื่องเครื่องปั้นดินเผานี้ถือเป็นอีกไฮไลต์หนึ่งของการมาเที่ยวเกาะเกร็ด
ด้วยคนมอญที่นี่มีฝีมือเป็นเลิศในทางนี้ มีชื่อเสียงมาแต่โบราณ
เดิมทำทั้งเครื่องใช้ประเภทโอ่ง อ่าง และประเภทสวยงาม
พวกกระปุก หม้อน้ำ ขัน ชาม ปัจจุบันของอย่างหลังนี้ได้รับความนิยมมากกว่า
ของแบบแรกก็เลยเลิกทำกันไป ถ้าอยากดูเครื่องปั้นดินเผาให้เต็มอิ่ม
ต้องไปที่ศูนย์เครื่องปั้นดินเผามอญโบราณหรือ "กวานอาม่าน"
เดินไปตามทางปูนหลังวัดปรมัยฯ ประมาณร้อยกว่าเมตร ส่วนร้านขายเครื่องปั้นดินเผานั้นมีอยู่มากมายนับแทบไม่ถ้วนตามสองข้างทางเรื่อยไปจนถึงบริเวณวัดไผ่ล้อม
หรือถ้าขึ้นจากท่าเรือวัดปรมัยฯ แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางปูนก็จะมีร้านประเภทนี้ไปตลอดทางเช่นกัน
ช๊อบปิ้งกันแล้วนึกหิวขึ้นมาก็ไม่ต้องห่วง
เพราะที่นี่มีของกินให้เลือกจนลายตา ทั้งของคาวของหวาน
ทั้งตำรับมอญโบราณและตำรับชาววัง ที่ว่าตำรับชาววังเพราะแต่ก่อนเจ้านายชั้นสูงมักแวะมาที่นี่บ่อย
วิชาทำอาหารจากในวังจึงแพร่มาสู่ชาวบ้าน อาหารที่ขึ้นชื่อของเกาะเกร็ดนั้นมีอยู่หลายอย่าง
เช่น ข้าวแช่ ก๋วยเตี๋ยวหน่อกะลา ทอดมันหน่อกะลา และอาหารมอญต่างๆ
ส่วนอาหารตำรับชาววัง เช่น หมูกระจกจิ้มน้ำพริกเผา หมี่กรอบ
ขนมหันตรา ขนมผักกาด ขนมจ่ามงกุฎ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีของกินและขนมแบบไทย
ๆ อีกหลายอย่างให้ลิ้มลอง ของกินพวกนี้มีขายทั่วไปตามสองข้างทางเดินปูนเล็ก
ๆ ที่ว่าข้างต้น หรือตรงท่าเรือวัดปรมัยฯ ซึ่งเป็นแหล่งรวมอาหารนานาชนิดก็มีขายเช่นกัน
หรือถ้าอยากนั่งสบาย ๆ ลักษณะเป็นร้านอาหารก็แวะไปที่ร้านครัวชาวเกาะหรือร้านอาหารเกาะเกร็ดก็ได้
การมาเที่ยวเกาะเกร็ดใช้เวลาแค่
๓-๔ ชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว นับเป็นการใช้เวลาช่วงวันหยุดพักผ่อนได้คุ้มค่าทีเดียว
เพราะนอกจากได้สัมผัสชีวิตวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายมอญแล้ว
ยังได้กินของอร่อยและได้ของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านด้วย
*ทานวัตถุที่ถวายแก่สงฆ์เมื่อเวลาปลงศพมีตู้โต๊ะเป็นต้น
รวมกันถวายแก่พระสงฆ์ผู้เทศน์หรือผู้ชักบังสุกุล
|