ลองหลับตาลง แล้วค่อยๆ จินตนาการนะ...ในเพิงผาหินขนาดใหญ่ กลางแสงไฟที่ลุกโพลง
มีกลุ่มคนนับสิบนับร้อยกำลังขีดเขียนภาพบนผนังถ้ำ บ้างเอามือจุ่มสีแล้วทาบมือลงบนผนัง
บ้างตำหินก้อนแดงๆ กวนกับน้ำให้เข้ากัน...ปิ๊ง ได้เวลาลืมตาตื่นแล้ว

ใครกำลังวาดภาพอะไรหรือ นายรอบรู้ ขอตอบ คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์กำลังเขียนภาพสีไว้บนผนังถ้ำนั่นเอง
ถ้าบอกว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลายพันปีแล้ว บางคนอาจจะไม่เชื่อ เดือนนี้
นายรอบรู้ จึงอยากเชิญชวนคุณไปดูภาพเขียนเหล่านี้กัน
การจะดูภาพเขียนสีเหล่านี้ให้สนุก
มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับคนธรรมดาสามัญ ที่เห็นภาพขีดๆ เขียนๆ เป็นตัวยึกยือๆ
เห็นเป็นรูปคน รูปสัตว์ รูปมือ รูปเก้ง รูปนก สารพัดรูป บางภาพมีรูปทรงแปลกๆ
บางคนก็ว่าเป็นภาพมนุษย์ต่างดาวเสียอย่างนั้น นั่นก็แล้วแต่คิด เพราะคงไม่มีอะไรลึกล้ำและกว้างไกลได้เท่ากับจินตนาการแล้ว
ส่วนระดับวิชาการศิลปะเรียกภาพเขียนสีเหล่านี้ว่า
ศิลปะถ้ำ (Cave Art) หรือ ศิลปะบนหิน (Rock Art) แบ่งได้กว้างๆ คือ
ภาพแบบรูปลักษณ์ เช่น เป็นรูปคน รูปสัตว์ รูปสิ่งของ เป็นต้น มีทั้งเขียนแบบทึบ
หรือลายเส้น บางแห่งก็ผสมปนเปกันไป อีกแบบคือ ภาพสัญลักษณ์ ไม่มีรูปแบบแน่นอน
เป็นลวดลายที่อาจตีความไปได้ต่างๆ นานา

ภาพเหล่านี้มีทั้งภาพเหมือนจริงและภาพเหนือจริง ภาเหมือนจริงคือถ้าเขียนภาพคน
ก็เหมือนคนจริงๆ หรือภาพปลา ภาพเก้งกวาง มองแล้วก็เข้าใจทันทีว่าเป็นสิ่งนั้นๆ
ส่วนภาพเหนือจริงจะเขียนลวดลายลงไปบนตัวคนและสัตว์ ให้ดูสวยงามมากยิ่งขึ้น
พบได้หลายแห่ง เช่น ถ้ำผีหัวโต อ. อ่าวลึก จ. กระบี่ ผาแต้ม อ. โขงเจียม
จ. อุบลราชธานี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีภาพลายเส้นพอเห็นว่าเหมือนรูปอะไร
แต่ไม่ละเอียดนัก และยังมีภาพแบบนามธรรม ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน ก็คือภาพยึกยือที่ดูไม่รู้เรื่องนั่นเอง

แล้วภาพเหล่านี้เขียนขึ้นเพื่ออะไร
สิ่งที่นักโบราณคดีสันนิษฐานไว้
คือ อาจจะวาดเพื่อความสุนทรีย์ เป็นงานศิลปะ กับเพื่อประกอบพิธีกรรมสักอย่าง
บางภาพอาจแสดงถึงวิถีชีวิต สภาพสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ในยุคนั้น
บางภาพอาจแสดงถึงสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือปรากฏการณ์ที่คนสมัยก่อนไม่สามารถอธิบายได้

แต่ก็มีกลุ่มภาพเขียนหลายกลุ่มที่ดูแล้วสนุก ดูแล้วรู้เรื่อง อย่างภาพการล่าสัตว์
มีทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ ภาพบนบกนั้นมีทั้งการใช้หอก ธนู หน้าไม้ มีสุนัขช่วยล่าสัตว์
ภาพสัตว์น้ำก็มีทั้งปลา เต่า รวมถึงเครื่องมือจับปลาต่างๆ อย่างที่ปรากฏบนผาแต้ม
อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี บางแห่งก็เขียนภาพงานรื่นเริง ภาพคนฟ้อนรำ
แม้กระทั่งภาพที่สื่อไปถึงเรื่องเพศ ซึ่งอาจหมายถึงความเจริญงอกงาม
หรือความแตกต่างระหว่างเพศก็ได้
ภาพจำนวนมากมักเป็นเรื่องทางเกษตรกรรม
มีทั้งการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ อย่างที่ ผาหมอนน้อย อ. โขงเจียม มีภาพกลุ่มต้นข้าว
แปลงนา หรือการเลี้ยงสัตว์ทั้งวัว ควาย สุนัข สื่อถึงการนำสัตว์มาเลี้ยง
สำหรับภาพงานพิธีกรรม จะมีลักษณะพิเศษที่สังเกตได้ง่าย คือภาพสัตว์หรือคนจะมีลวดลายที่สวยงาม
หรือมีโครงสร้างที่แตกต่างจากภาพทั่วๆ ไปอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับสีที่ใช้เขียนผนังถ้ำส่วนใหญ่เป็นสีน้ำตาล
สีแดง หรือสีน้ำหมาก มีบ้างที่เป็นสีเหลือง หรือสีขาว แต่ก็พบน้อยมาก
นักวิชาการวิเคราะห์แล้วก็พบว่าสีที่ใช้เขียนส่วนใหญ่มาจากสารสองชนิด
ชนิดแรกคือ แร่เฮมาไทต์ (heamartite) ซึ่งนำมาบดละเอียดแล้วผสมน้ำหรือกาวพอให้ติดกัน
ใช้เขียนภาพหรือทาลงบนฝ่ามือแล้วทาบลงบนผิวของหิน อีกชนิดคือดินเทศหรือดินแดง
เป็นก้อนสีแดงเข้ม ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง นำมาบดละเอียดผสมกาว ยางไม้หรือไขสัตว์
ภาพส่วนใหญ่ที่นิยมใช้สีแดงนั้นมีผู้เสนอแนวความคิดว่า
สีแดงเป็นสีแห่งชีวิต ความแข็งแกร่ง และยังเกี่ยวข้องกับความเชื่อ
โชคลาง นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ มีความหมายแทนเลือด แทนชีวิต เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว
เมื่อไปเที่ยวชมตามเพิงผาที่มีภาพเขียนสี ลองจินตนาการถึงกลุ่มคนที่กำลังลงมือวาดภาพอยู๋
ว่าเขาทำอะไร อย่างไร และคิดอะไร การชมภาพเหล่านี้ก็จะดูสนุก มากกว่าเห็นเพียงสีที่ป้ายอยู่บนแผ่นหินเท่านั้น |