ในบรรดาชนกลุ่มน้อยชายขอบไทย - พม่า ชาวคะเรนนีหรือชาวกะเหรี่ยงแดง จัดเป็นกลุ่มชน ที่คนไทยรู้จักน้อยที่สุด ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร ์ - รัฐคะเรนนี อยู่ติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน เต็มไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน เหตุผลทางวัฒนธรรม - ประชากรในรัฐคะเรนนีส่วนใหญ่ เป็นชาวเขาต่างเผ่า กับชาวเขาในประเทศไทย เหตุผลทางเศรษฐกิจ - รัฐคะเรนนีไม่มีตลาดการค้าชายแดน หรือสะพานมิตรภาพ เชื่อมสองฝั่งประเทศเป็นหนึ่งเดียว เช่นสะพานมิตรภาพไทย - พม่าเชื่อมอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเมืองเมวดีในเขตรัฐกะเหรี่ยง หรือสะพานการค้า เชื่อมอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย กับอำเภอท่าขี้เหล็กในเขตรัฐฉาน สิ่งเชื่อมต่อผืนแผ่นดิน ระหว่างคะเรนนีและแม่ฮ่องสอน มีเพียงภูเขาและสายน้ำ แม้ว่าแผ่นดินคะเรนนี จะถูกรัฐบาลพม่ารุกราน จนลุกเป็นไฟมายาวนานกว่า ๕๐ ปี และชาวคะเรนนีหนีตายมาอยู่ในค่ายผู้อพยพ ชายแดนไทยนานนับสิบปีมาแล้ว คนไทย -- เพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับพวกเขาที่สุด กลับรับรู้เรื่องราวของพวกเขาน้อยเต็มที รัฐคะเรนนีอยู่ถัดจากรัฐฉานลงมาทางด้านใต้ ก่อนถึงรัฐกะเหรี่ยง จัดเป็นรัฐขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับรัฐชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ (พื้นที่ทั้งหมด ๑๑,๗๓๐ ตารางกิโลเมตร) ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสี่กลุ่ม คือ คะยาห์ กะยอ กะยาง (กะเหรี่ยงคอยาว) และปะกู กลุ่มที่มีมากที่สุดคือ คะยาห์ (บางครั้งรัฐคะเรนนี จึงถูกเรียกว่ารัฐคะยาห์ แต่คนคะเรนนีนิยมเรียกว่า รัฐคะเรนนีมากกว่า เพราะมีความหมายครอบคลุมถึง กลุ่มชาติพันธุ์อื่นด้วย) คนไทยมักเรียกชาวคะเรนนีว่า กะเหรี่ยงแดง แผ่นดินคะเรนนี อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีมูลค่ามหาศาล เฉพาะแร่ธาตุก็มีไม่น้อยกว่า ๑๐ ชนิด อาทิ ทองคำ ทองคำขาว เหล็ก ตะกั่ว พลอย ดีบุก วูลแฟรม และก๊าซธรรมชาติ ส่วนไม้สักยิ่งไม่ต้องพูดถึง เฉพาะไม้สักดำ ซึ่งเป็นไม้สักหายาก ก็มีมูลค่าไม่รู้เท่าไร ด้วยทรัพยากรมากมายดังที่กล่าวมา รัฐบาลพม่าจึงปรารถนา ที่จะครอบครองแผ่นดินคะเรนนี ที่ผ่านมา เพิ่งครอบครองได้แค่ โรงไฟฟ้าหนึ่งโรง กับเหมืองทังสเตนหนึ่งแห่งเท่านั้น แต่ชาวคะเรนนี ก็ไม่ยอมให้ศัตรู เข้ามายึดแผ่นดินเกิดง่าย ๆ กองทัพคะเรนนีต่อสู้อย่างเข้มแข็ง มาตลอดเวลากว่า ๕๐ ปี และจนถึงวันนี้ รัฐบาลพม่า ก็ยังไม่ได้ครอบครองทรัพยากร บนแผ่นดินผืนนี้อย่างที่ใจต้องการ
ในประวัติศาสตร์การสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อย กับรัฐบาลพม่า นักรบกะเหรี่ยงขึ้นชื่อว่า เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง ของรัฐบาลพม่า และขับเคี่ยวกันมายาวนานที่สุด ทั้งสองฝ่ายเริ่ม "สงครามความเกลียดชัง" กันมาตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครองพม่า ทหารพม่าแค้นทหารกะเหรี่ยง ที่เคยทำหน้าที่นายพราน นำทางทหารอังกฤษ มาตีกองทัพพม่า พอถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารพม่าจึงแก้แค้นชาวกะเหรี่ยง ด้วยการซุ่มโจมตีชุมชนกะเหรี่ยง แถวลุ่มน้ำอิระวดี และลุ่มน้ำสาละวิน จนชาวกะเหรี่ยงเสียชีวิตจำนวนมาก พอพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ พม่าก็ชำระแค้นครั้งที่ ๒ ด้วยการสังหารคนกะเหรี่ยง ๒๐๐ คน ขณะทำพิธีในโบสถ์ ก่อนวันคริสต์มาสเพียงหนึ่งวัน เหตุการณ์ทั้งสองครั้ง สร้างความหวาดกลัว เกลียดชัง และเคียดแค้น ฝังแน่นอยู่ในหัวใจคนกะเหรี่ยง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวกะเหรี่ยงรวมตัวกันตั้ง องค์กรดูแลประชาชน ของตนเองขึ้นในปี ๒๔๙๐ ในนามองค์กรสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU (Karen National Union) เด็กหนุ่มจำนวนมาก ที่เห็นภาพเหตุการณ์ทั้งสองครั้ง ต่างพากันสมัครเข้าเป็นทหาร เพื่อชำระหนี้แค้น หนึ่งในนั้นมีเด็กหนุ่มวัย ๑๗ ปี ซึ่งในเวลาต่อมา ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของ KNU และดำรงตำแหน่ง เป็นเวลานานถึง ๒๖ ปี ทั่วโลกรู้จักขุนพลผู้นี้ในนาม นายพลโบเมียะ (อ่านบทสัมภาษณ์ใน สารคดี ฉบับที่ ๑๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๗) "ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพพม่าอิสระ ฆ่าชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในหมู่บ้านของผม ข่มขืนกระทำชำเรา ปล้นทรัพย์สิน เผาทำลายบ้านเรือน ใครก็ตามที่เป็นกะเหรี่ยง จะถูกฆ่าทิ้งหมด เรื่องนี้ทำให้ผมทนไม่ไหว จึงตัดสินใจสมัครเป็นทหาร เพื่อต่อต้านพม่า "ผมเริ่มต้นชีวิตในกองทัพ เป็นเพียงทหารธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ผ่านสงคราม ผ่านการต่อสู้มาหลายครั้ง ทั้งแนวรบในป่า และในที่สุด ก็ไต่เต้าขึ้นมา จนได้เป็นผู้บัญชาการทหาร หลังจากนั้น ก็เริ่มเข้าสู่ชีวิตทางการเมือง ตอนนั้นผมอายุเพียง ๑๗ ปี หลังจากนั้น ก็เป็นทหารมาตลอดกว่า ๕๐ ปี ปี ๒๔๙๒ KNU ประกาศปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระ โดยต่อสู้แบ่งแยกดินแดนซีกตะวันออก ของพม่า ตลอดฝั่งน้ำเมย และลุ่มน้ำสาละวิน บริเวณชายแดนไทย - พม่า เป็นเขตปกครองตนเอง พวกเขาเรียกแผ่นดินผืนนี้ว่า กอทูเล--ดินแดนอันบริสุทธิ์ ปราศจากความชั่วร้ายทั้งมวล มีรัฐบาลแห่งชาต ิและกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติ เป็นตัวแทนทางการเมือง และการทหาร แบ่งเขตการปกครองออกเป็นเจ็ดเขต หรือเจ็ดจังหวัดตลอดแนวชายแดนไทย - พม่า ตั้งแต่รัฐคะเรนนี จรดรัฐมอญ มีมาเนอร์ปลอว์ -- ดินแดนแห่งชัยชนะ เป็นเมืองหลวงที่ขึ้นชื่อว่า เป็นยุทธภูมิที่ดีที่สุด ของชาวกะเหรี่ยง เป็น "ค่ายหิน" ที่พม่าพยายามทำลาย มาตลอดเวลา ๔๕ ปี
นักรบมอญ มีประวัติศาสตร์การต่อสู้ มายาวนานไม่แพ้ชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ แม้ว่ามอญ จะเจรจาหยุดยิงไปตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ แต่ก็ไม่ได้ความว่า นักรบมอญยอมแพ้ หากพวกเขาเลือกต่อสู้ ในวิถีทางที่เปลี่ยนไป -- จากเสียงปืนสู่การเจรจา เพราะเวลากว่า ๕๐ ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า เสียงปืนยังไม่ใช่ทางออก ของเสรีภาพในการปกครองตนเอง กองทัพกู้ชาติมอญ เริ่มต้นต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพ และแผ่นดินเกิด มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๔๙๐ ภายใต้ชื่อ พรรคสหแนวร่วมมอญ หรือ Mon United Front (MUF) นำโดยนายสเว จิน ๑๐ ปีต่อมา พรรคสหแนวร่วมมอญ พยายามรวมตัว กับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และพรรคคอมมิวนิสต์พม่า เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลพม่า แต่พม่าไหวตัวทัน จึงหาทางเจรจากับมอญอย่างลับ ๆ เพื่อไม่ให้ทั้งสามกลุ่มรวมตัวกันติด โดยรัฐบาลพม่า ยินยอมให้มีการจัดตั้งรัฐมอญ หากมอญยอมมอบอาวุธ ทหารมอญบางส่วน ยอมตกลงกับข้อเสนอครั้งนี้ แต่นายเสว จิน ไม่ยอม จึงแยกตัวออกมาตั้งกลุ่มใหม่ ในชื่อ พรรคมอญใหม่ หรือ New Mon State Party (NMSP) นับจากนั้นเป็นต้นมา พรรคมอญใหม่ ภายใต้การนำของบุรุษเหล็กชื่อ เสว จิน ก็กลายเป็นตัวแทน ทางการเมืองของมอญ ที่ต่อสู้กับรัฐบาลพม่ามายาวนานที่สุด เขตพื้นที่ที่กองกำลังพรรคมอญใหม่เคลื่อนไหว อยู่แถวตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า ตรงข้ามกับจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เรื่อยไปจรดประจวบคีรีขันธ์ จุดศูนย์กลางสำคัญ ที่เคยเชื่อมความสัมพันธ์ ระหว่างคนมอญ ไทย และพม่าอยู่ที่ด่านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี แผ่นดินบริเวณนี้ "เคยมี และเป็น" พื้นที่บันทึกความทรงจำ ของคนมอญมานานหลายสิบปี ที่นี่เคยมีหมู่บ้านมอญขนาดใหญ่ เคยเป็นสถานที่ฉลองวันชาติมอญ และเคยเป็นตลาดชายแดน ที่มีการค้าขายอย่างคึกคัก มานานหลายทศวรรษ หากเมื่อ ๑๐ ปีก่อน นายทุนชาวไทย จะไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากเกินไป วันนี้ด่านเจดีย์สามองค์ คงยังทำหน้าที่บันทึกความทรงจำดี ๆ ของคนมอญเหมือนเดิม
ที่เส้นขอบแดนไทย-พม่า ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย จนถึงจังหวัดระนอง มีค่ายผู้อพยพชนกลุ่มน้อย จากประเทศพม่าทั้งหมด ๑๘ ค่าย (รายงานล่าสุดจาก Burmese Border Consortuim หรือ BRC เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๓) แบ่งเป็นชาวคะเรนนีห้าค่าย ประชากรเกือบ ๑๗,๐๐๐ คน ชาวกะเหรี่ยง ๑๐ ค่าย ประชากรเกือบ ๙ หมื่นคน และชาวมอญ (ค่ายอยู่ในเขตพม่า) สามค่าย ประชากรกว่าหนึ่ง ๑ หมื่นคน ตัวเลขที่นำมาแสดงข้างต้นมีนัยสำคัญสองประการ ประการแรก ตัวเลขที่หายไปของผู้อพยพชาวไทยใหญ่ หมายความว่าอย่างไร ชาวไทยใหญ่ที่อพยพ จากตอนกลางรัฐฉาน ซึ่งมีกองกำลังสู้รบ ระหว่างเจ้ายอดศึก กับรัฐบาลพม่าหายไปไหน จากคำบอกเล่าของชาวไทยใหญ่ ในอำเภอฝางจังหวัดเชียงใหม่ ได้ความว่า ทุกวันนี้เฉพาะในเขตอำเภอฝางซึ่งเป็นอำเภอติดกับรัฐฉาน มีชาวไทยใหญ่อพยพ มาอยู่ตามท้องไร่ท้องนาไม่ต่ำกว่า ๑ แสนคน ถ้าเช่นนั้น เหตุใดคนไทยใหญ่ที่หนีตาย เข้ามาเมืองไทยเช่นเดียวกับผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง จึงไม่มีค่ายผู้อพยพ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งทำงานช่วยเหลือคนไทยใหญ่จากรัฐฉาน เล่าถึงปัญหาของชาวไทยใหญ่ ที่เดินทางมาจากรัฐฉานว่า "เราเคยพา UNHCR ไปดูสภาพชาวไทยใหญ่ ที่อาศัยอยู่ตามท้องนา ในอำเภอฝางหลายครั้ง เขาก็บอกว่ารัฐบาลไทย ไม่ยอมให้รับ เพราะถ้าอนุญาต ให้มีค่ายไทยใหญ่ รัฐบาลอเมริกา จะหาว่าเราช่วยเหลือขุนส่า แต่ที่จริงเขาน่าจะดูปัญหา ของผู้อพยพในด้านมนุษยธรรมมากกว่า เพราะชาวบ้านเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นเด็ก และคนแก่ที่หนีภัยสงคราม มาพึ่งแผ่นดินไทย
อ่านหน้าที่แล้วคลิกที่นี่
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี [ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]